กมธ.สภา ดาบในมือฝ่ายค้าน รุก-ไล่-บด หวังผลศึกซักฟอก


เพิ่มเพื่อน    

     หลังหลายคนได้เห็นรายชื่อประธานคณะกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 35 คณะ โดยเฉพาะในซีกฝ่ายค้าน เช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน กมธ.สามัญ ป้องกันปราบปรามการทุจริต ซึ่งฝ่ายค้านต้องการโควตามากที่สุด, พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เป็นประธาน กมธ.สามัญ ความมั่นคงแห่งรัฐฯ, ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค. เป็นประธาน กมธ.สามัญ กฎหมาย การยุติธรรมฯ, ศิริกัญญา ตันสกุล มือเศรษฐกิจพรรค อนค. เป็นประธาน กมธ.สามัญ พัฒนาเศรษฐกิจ หรือจิรายุ ห่วงทรัพย์ จากเพื่อไทยเป็นประธาน กมธ.สามัญ กิจการองค์กรศาลฯ เป็นต้น

               เมื่อวิเคราะห์การจัดวางกำลังคนดังกล่าวของฝ่ายค้านไปนั่งเป็นประธาน กมธ.สามัญชุดต่างๆ ทำให้หลายคนพอเห็นเค้าลางการเมืองแล้วว่า ฝ่ายค้านน่าจะใช้ช่องทาง กรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ในการเดินหน้าตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น ทั้งการเรียกรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงในหน่วยราชการมาชี้แจงต่อ กมธ.สามัญ ตลอดจนการขอเอกสารหลักฐานต่างๆ ทางราชการ ภายใต้ดาบที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายเปิดช่องให้ คือรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ที่บัญญัติว่า “คณะกมธ.สามัญมีอํานาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลง ข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทําหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นได้ และให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในกิจการที่คณะกมธ.สามัญสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษา ที่จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกํากับ ให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็น ตามที่คณะกมธ.สามัญเรียก" ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่น พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภา พ.ศ.2554

               ในความเป็นจริงแล้ว การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ใช้ช่องทางกรรมาธิการของสภา ถือเป็นระบบตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องดีและหลายครั้ง ข้อมูลที่ กมธ.ได้มาทั้งคำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน หรือเอกสารหลักฐานต่างๆ ก็นำไปเป็นข้อมูลสำคัญในการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมาแล้วเกือบทุกยุคสมัย

อย่างยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร พรรคฝ่ายค้านเวลานั้น คือ ประชาธิปัตย์ ก็ใช้ช่องทางของ กมธ.หลายคณะขุดคุ้ยหาข้อมูลต่างๆ นำไปใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เช่น กมธ.สื่อสารและโทรคมนาคม ในการอภิปรายเรื่องดาวเทียมไอพีสตาร์, กมธ.ศึกษาฯ เรื่องข้อสอบเอนทรานซ์รั่ว, กมธ.ปกครองเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์, กมธ.เกษตรและสหกรณ์ฯ เรื่องทุจริตจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ 300 ล้านบาท เป็นต้น โดยหลายเรื่องเป็นข้อมูลที่ถูกนำไปต่อยอดสอบสวนเอาผิด จนเป็นคดีความขึ้นโรงขึ้นศาล

                ซึ่งในการพิจารณาตรวจสอบเรื่องสำคัญๆ ที่เป็นประเด็นการเมือง โยงถึงแกนนำรัฐบาลและถูกลากโยงเข้ามาอยู่ใน กมธ.ชุดต่างๆ ก็ทำให้ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่อยู่ใน กมธ.ชุดนั้นๆ ก็จะต้อง ขับเคี่ยวกันพอสมควรในการทำหน้าที่คนละบทบาท ดูง่ายๆ อย่างกรณีที่ ส.ส.พลังประชารัฐพยายามขวางไม่ให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค.มาเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบ 2563  ก็คืออีกหนึ่งแท็กติกทางการเมือง ที่แต่ละฝ่ายก็ต้องขับเคี่ยวต่อสู้กันตั้งแต่ในห้องประชุมใหญ่สภา จนถึงแม้แต่ห้องประชุม กมธ.ของสภาเพื่อกุมสภาพฝ่ายตนไม่ให้เพลี่ยงพล้ำ อันเป็นเรื่องปกติทางการเมือง

               ดังนั้นกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พยายามใช้ช่องทาง กมธ.สามัญ ป้องกันปราบปรามการทุจริตฯ เรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ เมื่อวันพุธที่ 30 ต.ค. แต่ก็เป็นไปตามคาดทั้งบิ๊กตู่-บิ๊กป้อมไม่ได้เดินทางไปชี้แจง แต่ก็ยังไม่ลดละจะเชิญให้มาอีกรอบ 6 พ.ย. และ  พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ยังจะใช้ช่องทางตรวจสอบอีกหลายประเด็นที่โยงถึงคนในซีกฝ่ายรัฐบาล เช่น การตรวจสอบเรื่องคดีความที่ประเทศออสเตรเลียของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ จนมีข่าวอาจส่ง กมธ.ในซีกฝ่ายค้านบินไปเอาข้อมูลถึงออสเตรเลีย เพื่อเตรียมนำมาใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ธรรมนัส หรือการตรวจสอบ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อดีตโฆษกรัฐบาลบิ๊กตู่ กรณีงบก่อสร้างอาคารของกรมประชาสัมพันธ์ ตลอดจนรุกไปถึงขั้นจะขอตรวจสอบผลสรุปของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ยกคำร้องไม่เอาผิดพลเอกประวิตร กรณีครอบครองนาฬิกาหรู

               การรุกตรวจสอบคนในซีกรัฐบาลของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ฝ่ายค้านสายฮาร์ดคอร์ แสดงให้เห็นถึงการใช้ช่องทาง กมธ.สามัญของสภาเพื่อรุกไล่รัฐบาลไปเรื่อยๆ เรียกได้ว่าหากมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับรัฐบาลที่เป็นข่าวทางลบ รับรองได้ว่า "เสรีพิศุทธ์" ไม่มีพลาดโอกาสทอง รอหวดรัฐบาลไม่ยั้ง แม้สังคมจะเริ่มตั้งคำถามว่าเรื่องที่ กมธ.ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบเกี่ยวข้องกับเนื้องานของ กมธ.จริงหรือไม่?

               ขณะเดียวกัน พบว่าช่วงนี้ฝ่ายค้านตีปี๊บจองกฐินจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลช่วง 17-19 ธ.ค. ทำให้ฝ่ายค้านก็ต้องพยายามใช้ช่องทางกรรมาธิการฯ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการเก็บข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลจากภาครัฐ เช่น การใช้งบประมาณของกระทรวงต่างๆ มาเก็บไว้เป็น primary  source เพื่อนำไปประมวล วิเคราะห์ แยกแยะว่าจะนำไปสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีบางคนได้หรือไม่

               เห็นได้จากกรณี กมธ.ป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติฯ ที่มีคนของพรรคเพื่อไทย  วุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายกเป็นประธาน รวมถึง วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงรายและอดีต รมช.มหาดไทย ที่เป็นตัวหลักใน กมธ.ชุดนี้ ที่มาตรวจสอบงบ 15,800 ล้านบาทของมหาดไทย ที่จัดสรรไว้เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ที่ฝ่ายค้านอ้างว่าอาจมีการทุจริต จนมีการเรียก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดมหาดไทย ไปชี้แจงต่อที่ประชุม กมธ.เมื่อ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา

               ทั้งหมดคือการพยายามใช้ดาบที่มีอยู่ในมือของฝ่ายค้าน คือช่องทาง กมธ.ของสภาฯ เพื่อตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น อันเป็นเรื่องที่ดี บนหลัก checks and balances เพียงแต่หลักสำคัญก็คือ กมธ.ของสภาต้องทำงานภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนจริงๆ ไม่ใช่ทำเกินขอบเขตเพื่อหวังผลทางการเมือง

อย่างที่ตอนนี้คนเริ่มสงสัยบทบาทของ กมธ.บางคณะกันแล้วว่า ต้องการตรวจสอบรัฐบาลจริง หรือแค่อยากชวนทะเลาะกันแน่! 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"