ภาวะ"อนาคตใหม่"เพลี่ยงพล้ำ "รัฐบาล"ยืนระยะรับมือโจทย์ใหญ่


เพิ่มเพื่อน    

      "ขณะที่ รัฐบาล อาจจะโล่งใจไปเปลาะหนึ่งกับการที่อนาคตใหม่ที่ต้องจัดการปัญหาของตนเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในระหว่างนี้จะบริหารประเทศได้แบบไร้ปัญหา ทว่ากลับเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเจอกับการรักษาภาวะของดุลอำนาจของประเทศในยุคที่มหาอำนาจกำลังโรมรันพันตูกันแบบเมามัน กลายเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ"

 

      ปรากฏการณ์ของ "พรรคอนาคตใหม่" ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา ถือได้ว่าเกินคาดหมายจากการวิเคราะห์ของผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคน  แต่จังหวะก้าว การทำงานในเชิงรุกภายใต้การตรวจสอบของอีกฝ่าย "ไม่ใช่เรื่องง่าย" ที่งานการเมืองของพรรคอนาคตใหม่จะเดินไปได้อย่างไร้อุปสรรค แม้กระทั่งในแผงการเมืองฝ่ายค้านด้วยกันเองก็มีปมประเด็นที่ขัดแย้งไม่ลงตัวอันเกี่ยวเนื่องมาจากการ "ทับที่" ในการส่งคนรับสมัครรับเลือกตั้ง และยังจ่อจะมีความขัดแย้งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้น

      ยังไม่นับปัญหาภายในพรรคอนาคตใหม่เอง ที่เกิดปรากฏการณ์ "ความเหลื่อมล้ำ" ในกลุ่มสมาชิกจนมีอดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคและสมาชิกจำนวนหนึ่งไปยื่นลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ส่งผลให้เห็นช่องโหว่ในการบริหารจัดการพรรค

      ยังไม่นับรวมกรณี อาทิ เรื่องที่ 70 ส.ส.ของพรรคลงมติไม่รับร่างพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ซึ่งมี ส.ส.ของพรรคส่วนหนึ่งที่โหวตสวนกับมติพรรค

      เลยไปถึง การแพ้การเลือกตั้งซ่อมที่นครปฐม ท่ามกลางความมั่นใจของแกนนำพรรคที่ถือธงประกาศด้วยความมั่นใจในการคว้าเก้าอี้คืนมา แต่ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามคาด

      ซ้ำด้วยกรณีของ "ช่อ" พรรณิการ์ วาณิช โฆษกพรรคฯ ที่ต้องมาตกม้าตายด้วยการถูกเปิดปมประเด็นเงินบริจาค "จุกอก" ยากที่จะอธิบายในตรรกะที่เป็นไปได้

      และจุดเปลี่ยนสำคัญกำลังจะมาถึง เมื่อปัญหาคดีความของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ในคดีถือหุ้นสื่อ ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 20 พ.ย.นี้ เป็นต้น

      การโพสต์ข้อความของ "ธนาธร" เมื่อช่วงดึกวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ระบุว่า "ขอโทษเพื่อนร่วมการเดินทาง เพราะเมื่อย้อนกลับไปพบว่าตัวเองสื่อสารกับเพื่อนร่วมทางน้อยกว่าที่ควรจะเป็น อาจเป็นเพราะขวากหนามที่คอยทิ่มแทงพวกเราตลอดเส้นทาง ที่ก้าวเดิน ..."

      เนื้อความตอนหนึ่งยังระบุว่า เราฝันจะสร้างพรรคการเมืองเพื่อภารกิจทางประวัติศาสตร์เหล่านี้แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า พรรคอนาคตใหม่ยังเยาว์นัก เรายังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบอยู่มาก เราต้องเรียนรู้และเติบโตจากอุปสรรคและความผิดพลาด นอบน้อมต่อประชาชน และซื่อตรงต่ออุดมการณ์บนเส้นทางที่ไม่ได้ราบรื่นสดใส

      กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของเหล่าบรรดา "แฟนคลับ" ที่สนับสนุนพรรคฯ และนายธนาธร ที่ได้อ่านข้อความที่ถูกโพสต์บนเฟซบุ้กแล้วอดคิดไม่ได้ว่านี่คือการ "สั่งลา" ล่วงหน้า ซึ่งหากมองในแง่จิตวิทยา ถือได้ว่า "ธนาธร" ก็ไม่พลาดที่จะใช้โอกาสนี้สื่อสารกับผู้สนับสนุนอย่าหวั่นไหว และให้สนับสนุนพรรคอีกต่อไป แต่หากมองในเชิงยุทธศาสตร์ ก็อาจตีความได้ว่า นี่คือ "การปลุกกระแส" ให้มวลชนออกมาปกป้องตนเอง

      ยังไม่นับการเดินสายขึ้นเวทีเสวนา โดยล่าสุดที่โรงแรมชัยคณาธานี จ.พัทลุง เวทีเครือข่ายภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ เขาบอกว่า ถ้าอยากเห็นงบประมาณถูกนำไปใช้เพื่อประชาชน ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

        "นี่คือเวลาที่เราต้องคิดอย่างทะเยอทะยานเพื่อคนรุ่นต่อไป เพื่อให้ปัญหานี้จบในคนรุ่นเรา ว่าอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรในประเทศนี้ควรอยู่ที่ประชาชน และเพื่อจะแก้ปัญหานี้ต้องทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย, ยุติระบบราชการรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง, การลดบทบาทของกองทัพ มีแต่การทำ 3 อย่างนี้เท่านั้น ประเทศไทยถึงจะเดินไปข้างหน้าได้ และจะทำอย่างนี้ได้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าก้าวแรกก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"

      สถานการณ์ที่ "พรรคอนาคตใหม่" ต้องสะดุดด้วยขวากหนามที่ทิ่มแทงระหว่างไปสู่เป้าหมายอย่างทะเยอทะยาน แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่า ระหว่างที่เดินไปสู่เป้าหมายนั้นก็มีเศษผงในรองเท้าของตนเองที่ส่งผลให้ตนเองเดินไม่ถนัด เป็นจังหวะก้าวที่ต้อง "ลุ้น" ต่อไปว่าชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่จะไปได้ไกลแค่ไหน ในเกมที่ "อนาคตใหม่" ยังแก้สมการโครงสร้างอำนาจประเทศไม่ได้ และปัญหาภายในยังคุกรุ่น

      ขณะที่ "รัฐบาล" อาจจะโล่งใจไปเปลาะหนึ่งกับการที่ "อนาคตใหม่" ที่ต้องจัดการปัญหาของตนเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในระหว่างนี้จะบริหารประเทศได้แบบไร้ปัญหา ทว่ากลับเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเจอ กับการรักษาภาวะของดุลอำนาจของประเทศในยุคที่มหาอำนาจกำลังโรมรันพันตูกันแบบเมามัน กลายเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

      ภูมิรัฐศาสตร์ของไทยนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคที่ต้องวางท่าทีให้เหมาะสม ดึง-กระตุก สองฝ่ายในช่วงเวลาที่ต่างกัน

      จากปรากฏการณ์ที่สหรัฐแสดงปฏิกิริยาอ้อมๆ หลังไทยแบน 3 สารพิษ แม้จะปฏิเสธว่าไม่ใช่ต้นเหตุในการตัด "จีเอสพี" แต่ก็ทำให้เกิดการจับเข่าคุยระหว่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กับอุปทูตสหรัฐ ทำให้เห็นว่าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้าย แต่เป็นการส่งสัญญาณให้มีการพูดคุยในเรื่องของผลประโยชน์ในภูมิภาคมากขึ้น

      ฟังการให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของไทย ดูเหมือนว่าสิ่งที่มหาอำนาจกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะได้นั้น ถูกเสนอให้มีการเจรจากันอย่างต่อเนื่องในแบบที่มีห้วงเวลาปล่อยฟรีไว้ จึงเป็นเรื่องที่ "ไทย" เองก็คงเดินเกมสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก 

      ส่วนการเมืองในประเทศ ที่ฝ่ายค้านจ่อจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น จะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปี แต่ก็ยังไมได้ข้อสรุป ทว่าประเด็นที่น่าจะเป็นหัวเชื้อให้เกิดแรงสนับสนุนจากคนในสังคมได้ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่น่าจะมีการขับเคลื่อนในปีกของฝ่ายค้านพอสมควร

      เพราะอย่าลืมว่า กติกาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเชิงที่เป็นรูปธรรมนั้นเป็นไปได้ยาก การนำไปโฆษณาหาเสียงเกินจริงทำให้เกิดความคาดหวัง ดังนั้นการรณรงค์และสร้างแนวร่วมเพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปธรรม โดยเฉพาะจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่ไม่เห็นด้วยในกติกาการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม ก็จะเดินหน้าไปสู่การแก้ไขได้จริง 

      นั่นเป็นจุดที่มีประโยชน์ร่วมกันของนักการเมือง ที่ไม่เห็นด้วยกับมรดก คสช.ที่ถูกวางไว้ในรัฐธรรมนูญ กำหนดกติกาลักลั่นในการแข่งขันชิงเก้าอี้ ส.ส. และน่าจะเป็นจุดเชื่อมโยงเดียวที่นำไปสู่การเคลื่อนตัวของ "มวลชน" ที่หนุนพรรคการเมืองออกมาขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การต่อรองกับผู้มีอำนาจ ในการ "ปลดล็อก" ในเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วนผสม สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ที่ทำให้เกิดปัญหา

      แต่อย่าลืมว่า "การแสวงหาแนวร่วม" นั้น ไม่ใช่การกระหน่ำซัดผู้ที่เห็นต่างจากฝ่ายเดียวกันเสนอ ยึดมั่นถือมั่นในการต่อสู้แบบ "ประกาศธงรบ" เพียงอย่างเดียว เพราะในความเป็นจริง "ยุทธวิธี" ในการต่อรอง พูดคุย แลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้ "พลัง" ก่อนไปต่อสู้ในเกมในสภานั้นสำคัญที่สุดในขั้นตอนเริ่มต้น

      ไม่มีสิ่งใดที่ "รัฐบาล" จะหวั่นเกรงเท่ากับกระแสสังคมที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ ส.ส.และ ส.ว.ที่แม้รัฐบาลคุมได้เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่เป็นคนของ คสช.เดิม แต่หากทอดระยะเวลายาวนานออกไป กระแสสังคมเล็งเห็นถึงกติกาที่บิดเบี้ยว ต้องการตบให้เข้ารูปเข้ารอย เมื่อการบริหารประเทศในสถานการณ์ปกติเดินหน้าไปได้ "มือในสภา" คงยกไม่สุดหากสวนทางกับความต้องการของประชาชน

      ขึ้นต้นปีงบฯ สถานการณ์รัฐบาลจึงอยู่ในภาวะ "ทรงตัว" โจทย์ใหญ่ที่รุมเร้าจากการวางตารางของฝ่ายค้าน อาจไม่ได้ส่งผลให้รัฐบาลสั่นคลอนได้ ยกเว้นการแก้ไข รธน.ที่จะเป็นหัวเชื้อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคมได้มากขึ้น

      แต่ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ประชาชนยังไม่พอใจ การเมืองระหว่างประเทศที่ไทยอยู่ระหว่าง "เขาควาย" มหาอำนาจที่ต้องบริหารอย่างสมดุล เลยไปถึงการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันภายใน ซึ่งเป็นสนิมเนื้อในอันทรงพลังที่ทำให้รัฐบาลล่มจมมาหลายชุด ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องรับมือต่ออีกหลายยก!!.

 

                                                ทีมข่าวการเมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"