ญัตติ 'ปิยบุตร-อนค.' โหมโรง เปิดสภาร้อน


เพิ่มเพื่อน    

 

       เริ่มเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเทอมสองกันวันแรก ตั้งแต่วันพุธที่ 6 พ.ย.กับหลายปมร้อนการเมืองที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาในเทอมนี้ ซึ่งจะไปปิดประชุมอีกทีก็เดือน ก.พ.ปีหน้า

                ไม่ว่าจะเป็นเรื่องญัตติร้อนๆ ที่หลายพรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไข รธน. ซึ่งดูแล้วการตั้ง กมธ.คงเกิดขึ้นแน่ แต่ข้อสรุป-เส้นทางการทำงานของ กมธ.คงไม่ราบรื่นเท่าไร เพราะท่าทีของพรรคแกนนำรัฐบาล พลังประชารัฐ และฝ่าย ส.ว.ยังไม่หนุนเต็มสูบให้มีการแก้ไข รธน. นอกจากนี้ฝ่ายค้านประกาศจองกฐินยื่นซักฟอกรัฐบาลแน่ช่วง 17-20 ธ.ค. จึงทำให้สมัยประชุมสภารอบนี้การเมืองเข้มข้นแน่นอน

                เมื่อตรวจแฟ้มระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้ 6-7 พ.ย. เปิดสภาวันแรก 6  พ.ย.คาดว่าที่ประชุมคงใช้เวลาหลายชั่วโมงไปกับระเบียบวาระตามลำดับ เช่น กระทู้ถามทั่วไป และรับทราบการพิจารณารายงานหลายเรื่อง อาทิ รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศฯ ที่วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จะเดินทางมาชี้แจงต่อที่ประชุมเอง

                อย่างไรก็ตาม เรื่องร้อนๆ ในสภาเรื่องแรกที่เปิดฉากมาก็น่าจะเข้มข้นดุเดือด และอาจได้เห็นการประลองฝีปากกันระหว่าง ส.ส.รัฐบาลกับฝ่ายค้าน นั่นก็คือญัตติด่วนเรื่อง ให้สภาผู้แทนฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของ คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กับส.ส.อนาคตใหม่ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติ โดยมี ส.ส.ฝ่ายค้านทุกพรรคเป็นแนวร่วมสนับสนุนญัตตินี้

                ประเด็นหลักของญัตติดังกล่าวก็คือ ปิยบุตรและพรรค อนค.ต้องการให้ตั้ง กมธ.วิสามัญฯ มาพิจารณาศึกษา ประกาศ-คำสั่ง ของหัวหน้า คสช.และ คสช.ทั้งหมด ตลอดจนทุกคำสั่งที่ออกโดยมาตรา 44 ของบิ๊กตู่สมัยเป็นหัวหน้า คสช.ตลอดช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อ กมธ.ชุดนี้ตั้งสำเร็จแม้จะเป็นแค่ กมธ.วิสามัญที่อำนาจน้อยกว่า กมธ.สามัญ แต่ก็จะมีการใช้ช่องทาง กมธ.ของสภาดังกล่าว มาศึกษาทุกคำสั่งของ คสช.และ บิ๊กตู่ ว่าคำสั่งใดออกมาโดยไม่ชอบ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ เอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ หรือเป็นการทำให้บางฝ่ายได้รับผลกระทบหรือไม่ เช่น คำสั่งย้ายด่วนข้าราชการโดยใช้มาตรา 44

                ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการเรียกคนที่เกี่ยวข้องทั้งสาย คสช.เดิม และคนที่ได้รับผลกระทบมาชี้แจงใน กมธ. โดยที่หากรายงานและผลสรุปของ กมธ.ที่ตั้งโดยมติของสภาทำรายงานสรุปมาว่า คำสั่งหรือประกาศของ คสช.และการใช้มาตรา 44 ของบิ๊กตู่หลายเรื่องกระทำโดยไม่ชอบ ก็ย่อมไม่เป็นผลดีทางการเมืองต่อ พลเอกประยุทธ์ และเครือข่ายอำนาจ คสช.ที่ยังคงอยู่ในรัฐบาล-กองทัพ-สมาชิกวุฒิสภา แน่นอน

                เบื้องต้น ปิยบุตร โหมโรงไว้ว่ามี ส.ส.อนาคตใหม่จะอภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าวร่วมสิบคน และคาดว่าสภาจะใช้เวลาอภิปรายญัตตินี้หลายชั่วโมง 

                “ครั้งนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คสช.ย้อนหลังถึงผลงานในอดีต ที่ยังส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน ญัตตินี้จะเน้นไปที่คำสั่ง คสช. ไม่เน้นตัวบุคคล เป็นการอุ่นเครื่องเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนธันวาคม”

                คาดกันว่าวิปรัฐบาลคงรอสัญญาณจากแกนนำรัฐบาลและแกนนำพรรค พปชร. ว่าจะยอมให้สภาเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าวหรือไม่ เพราะหากสภาตั้งได้ก็อาจมีผลในทางการเมืองระยะยาว ซึ่งนั่นอาจไม่เป็นผลดีต่อพลเอกประยุทธ์ได้ โดยหากมีสัญญาณให้ขวางการตั้ง กมธ. วิปรัฐบาลก็อาจต้องผนึกเสียง ส.ส.รัฐบาลให้เข้าประชุมพร้อมเพรียงเพื่อโหวตไม่เห็นชอบการตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว เหมือนกับที่เคยทำมาแล้วตอนโหวตคว่ำญัตติที่ฝ่ายค้าน เสนอตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบโครงการอีอีซี ที่ตอนนั้นแกนนำรัฐบาลกำชับวิปรัฐบาลให้ขวางจนสำเร็จ โดยมี ส.ส.ฝ่ายค้านโดยเฉพาะเพื่อไทยไม่อยู่ในห้องประชุมจำนวนมาก

                ญัตติร้อนๆ ของอนาคตใหม่จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ยังไม่มีใครกล้าการันตี โดยฝ่าย พปชร.ก็มีข่าวว่าพยายามจะขวางญัตติของปิยบุตรอยู่ เช่น การให้ ส.ส.กทม.พปชร.เสนอญัตติให้พิจารณาเร่งด่วนเรื่องให้สภาตั้ง กมธ.ศึกษาการใช้ข้อบัญญัติ ทำให้ดูไปแล้วเมื่อถึงคิวสภาพิจารณาวาระเรื่องญัตติโดยที่พรรค อนค.ไม่ยอม ที่ประชุมอาจระอุแน่นอน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"