ทรงห่วงใยเหยื่อไฟใต้ ในหลวงพระราชทานสิ่งของครอบครัวผู้เสียชีวิต


เพิ่มเพื่อน    

 "ในหลวง-พระราชินี" พระราชทานตะกร้าสิ่งของพร้อมพระราชกระแสรับสั่ง ทรงห่วงใยและเป็นกำลังใจให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุคนร้ายยิงถล่มป้อม ชรบ.ลำพะยา จ.ยะลา จนมีผู้เสียชีวิต 15 ราย บาดเจ็บ 5 ราย "ญาติ" ร่ำไห้รับศพผู้กล้าบำเพ็ญกุศล "มทภ.4" ลั่นตามล่าถึงที่สุด "โฆษก กอ.รมน." เผยรวบแนวร่วมต้องสงสัยแล้ว 1 ราย "วันนอร์-นัจมุดดีน" หนุนรัฐบาลเร่งเดินหน้าเจรจาสันติสุขชายแดนใต้ "พท." แนะรีบตั้ง กสม.เป็นคนกลางพูดคุย

    เมื่อวันที่ 7 พ.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายนิมะ มะกาเจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เชิญตะกร้าสิ่งของพระราชทานมอบแก่ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ณ บ้านเลขที่ 19 ม.3 ต.กาลอ อ.รามัน จ.ยะลา โดยมี น.ส.พีอ๊ะ กาปานาตู เป็นผู้รับมอบตะกร้าสิ่งของพระราชทานในครั้งนี้
    ในการนี้ นายนิมะได้เชิญพระราชกระแสรับสั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ซึ่งทรงห่วงใยและเป็นกำลังใจให้ครอบครัวของนางพีอ๊ะ กาปานาตู ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2562 เวลา 23.25 น. ที่คนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงจุดตรวจชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านทางลุ่ม ม.5 ต.ลำพะยา อ.เมืองฯ จ.ยะลา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และได้รับบาดเจ็บ 5 ราย สร้างความปลาบปลื้มและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่ครอบครัว รวมถึงญาติพี่น้องของนางพีอ๊ะ กาปานาตู อย่างหาที่สุดมิได้
    ที่โรงพยาบาลยะลา นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ได้เดินทางเข้ามายังโรงพยาบาลยะลา เพื่อเยี่ยมอาการของผู้บาดเจ็บจำนวน 5 ราย ประกอบด้วย นางสายัน  ปานทอง, นายเนาวรัตน์ รัตนเสถียร, นายมะรอรี มะแซ, นายณรงค์ฤทธิ์ สิทธิพันธ์ และนายอาหาหมัด รัตนตัญญู โดยมีทีมบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลดูแลให้การรักษาอย่างใกล้ชิด
    นพ.สุขุมกล่าวว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหลายคนมีอาการดีขึ้น สามารถนำเอาท่อช่วยหายใจออกแล้ว ก็คงจะย้ายออกจากห้องผู้ป่วยหนักไปยังห้องผู้ป่วยธรรมดา 
    ส่วนบริเวณหน้าห้องสุขนิรันดร์ (ห้องดับจิต) โรงพยาบาลยะลา ซึ่งได้เก็บร่างของผู้เสียชีวิตจำนวน 3 ราย จากเหตุคนร้ายยิงถล่มป้อม ชรบ.ลำพะยา โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 15 รายนั้นเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม 2 ราย ญาติได้นำศพกลับไปทำพิธีทางศาสนา ณ ภูมิลำเนา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 13 รายนั้น ทางญาติได้แยกกันฝากศพไว้ที่โรงพยาบาลยะลา 3 ราย,  โรงพยาบาลสิโรรส 3 ราย และโรงพยาบาลสิริรัตนรักษ์ อีก 7 ราย
    โดยทางญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้งหมดเริ่มทยอยเดินทางมารับศพ และเคลื่อนย้ายไปบำเพ็ญกุศลตามวัดต่างๆ คือที่วัดสิริปุณณาราม หรือวัดลำพะยา จำนวน 9 ราย, วัดบ้านไร่ ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี 2 ราย, วัดป่าสวย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี 1 ราย และที่วัดลำใหม่ ต.ลำใหม่ อ.เมืองฯ จ.ยะลา 1 ราย เพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนา ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจ
มทภ.4 ลั่นตามล่าถึงที่สุด
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14.00 น. พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางมาเป็นประธานในพิธีรดน้ำศพ ชรบ.ที่เสียชีวิตจำนวน 9 ราย ประกอบด้วย นายฉลอง ทองงาม, นายสุนทร ยอดแก้ว, นายพูนสวัสดิ์ พูลแก้ว, นายเนตร จอมทอง, นายบรรจบ ทองกลิ่น, นายวิรัช เพ็ชรปล้อง, นายธวัชชัย สุพงษ์, นางนัยนา โพธิ์เตี้ยเทียม และนางรัชนก ยอดแก้ว ซึ่งญาติของผู้เสียชีวิตนำศพมาบำเพ็ญกุศลที่วัดสิริปุณณาราม หรือวัดลำพะยา โดยมีนายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา หัวหน้าส่วนราชการ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และพี่น้องประชาชน เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเศร้าสลด เสียงร้องไห้ระงมจากผู้สูญเสีย บางคนถึงกับเป็นลมต้องช่วยกันปฐมพยาบาลโกลาหล
    นอกจากนี้ พล.ท.พรศักดิ์ยังได้มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 9 ราย และนายชัยสิทธิ์ได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิตรายละ 5 แสนบาท
    พล.ท.พรศักดิ์กล่าวว่า ตนไม่ได้นิ่งนอนใจ ขอยืนยันว่าจะตามล่าให้ถึงที่สุด ไม่ว่าบนภูเขาหรือในพื้นที่หมู่บ้านตำบลที่ต้องสงสัย ซึ่งก็ต้องขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชนด้วยในความไม่สะดวกช่วงนี้ เพราะจะมีการตรวจค้นและตั้งจุดตรวจในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น 
    "คดีมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะผลตรวจกระสุนปืนก็พบเป็นปืนกระบอกเดียวกันที่ใช้ยิงป้อมจุดตรวจ อส.เสียชีวิต 2 นาย ในพื้นที่ ม.7 ต.ลำพะยาที่ผ่านมา และลอบวางระเบิดที่หน้าวิทยาลัยอิสลามปัตตานี เป็นกลุ่มที่ก่อเหตุในพื้นที่ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นกลุ่มเดียวกันที่ปล้นร้านทองที่ อ.นาทวี จ.สงขลา เป็นกลุ่มเดิมๆ ที่มีอยู่ประมาณ 20 คนที่วนเวียนก่อเหตุอยู่ในพื้นที่ อ.จะนะ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา กลุ่มโจรกลุ่มนี้จะต้องเร่งดำเนินการปราบปรามให้สิ้นซาก เพราะหากไม่ดำเนินการใดๆ พวกนี้ก็จะออกมาก่อเหตุอีก” แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุ
    ขณะที่ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9(ผบช.ภ.9) กล่าวถึงความคืบหน้าทางคดีว่า เบื้องต้นได้ส่งพยานวัตถุที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุให้กับฝ่ายพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ เพื่อเปรียบเทียบกับผู้ต้องสงสัยที่มีหลักฐานในแฟ้มประวัติ และส่งปลอกกระสุนปืนไปตรวจสอบเปรียบเทียบอาวุธปืนที่เกี่ยวกับคดีในพื้นที่ที่ไหนบ้าง เพื่อจะได้เบาะแสว่าเป็นการกระทำของกลุ่มไหน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะทราบผล
    มีรายงานว่า ชุดสืบสวนของตำรวจและทหารได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกล้องวงจรปิดในเส้นทางหลัก เส้นทางรอง ซึ่งเข้ามายังจุดที่เกิดเหตุ ซึ่งในเบื้องต้นพบว่ากล้องวงจรปิดส่วนใหญ่ใช้ไม่ได้ แต่ก็มีบางส่วนที่สามารถจับภาพรถยนต์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นรถยนต์ที่คนร้ายใช้ในการเข้าโจมตี ซึ่งขณะนี้พบรถยนต์ต้องสงสัยแล้ว 3-5 คัน และจักรยานยนต์อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งชุดสืบสวนอยู่ระหว่างการแกะรอยเส้นทางและการเชื่อมโยงไปสู่ตัวบุคคล
    หน่วยงานด้านความมั่นคงระบุว่า จากการตรวจสอบวัตถุพยาน เบื้องต้นพบอาวุธปืนอาก้า, เอ็ม 16 และเอสเค อาวุธที่ใช้มีลักษณะคล้ายกับเหตุถล่มจุดตรวจ ชคต.บ้านกอแลปิเละ ต.ปะกาฮะรัง จ.ปัตตานี ทั้งการใช้อาวุธ ลักษณะการโจมตี เชื่อว่าน่าจะเป็นคนร้ายกลุ่มเดียวกัน คือกลุ่มของนายมะยะโก๊ะ หรือโต๊ะบัง ลาเต๊ะ แกนนำชุดปฏิบัติการก่อเหตุไม่สงบในพื้นที่ อ.ยะรัง โคกโพธิ์ แม่ลาน หนองจิก สะบ้าย้อย และถูกออกหมายจับพร้อมพวกอีก 14 คน ในคดียิงถล่มป้อมจุดตรวจ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา 
    "ขณะนี้เจ้าหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานได้มากพอสมควร พร้อมทั้งติดตามภาพจากกล้องวงจรปิด และส่งตรวจปลอกกระสุนทั้งหมดแล้ว เชื่อว่าจะทราบข้อมูลอาวุธที่ใช้ก่อเหตุภายในวันที่ 8 พ.ย.นี้" แหล่งข่าวระบุ
จับผู้ต้องสงสัยแล้ว 1 ราย
    ต่อมา พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แถลงความคืบหน้าทางคดีว่า เบื้องต้นขณะนี้สามารถติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยที่คาดว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดครั้งนี้ได้แล้ว 1 คน โดยทางเจ้าหน้าที่กำลังติดตามขยายผลและจะมีความก้าวหน้าผลการปฏิบัติ ส่วนผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์นั้น พบว่าปลอกกระสุนปืนมีผลยืนยันว่ายิงจากอาวุธปืนกระบอกที่เคยใช้ก่อเหตุในหลายพื้นที่ เช่น ยิง อส.ที่บ้านปะกาฮารัง อ.เมืองฯ จ.ปัตตานี, คดีปล้นตู้เอทีเอ็มที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยฟาตอนี, คดีปล้นร้านทองที่ อ.นาทวี จ.สงขลา
    พล.ต.ธนาธิปกล่าวว่า ส่วนผลการตรวจดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัยที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุ คาดว่าจะทราบผลภายใน 1-2 วัน ซึ่งคาดว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุมาจำนวนหลายคน ทั้งการเข้าโจมตี-การตัดต้นไม้ การวางตะปูเรือใบ เพื่อขัดขวางการติดตามของเจ้าหน้าที่ โดยมีลักษณะของพื้นที่เกิดเหตุ เป็นพื้นที่หมู่ที่ 5 ซึ่งจุดตรวจดังกล่าวตั้งลึกเข้าไปในป่าสวนยาง ถือเป็นหมู่บ้านเข้มแข็งในการระวังป้องกันตนเอง เป็นหมู่บ้านย่อยที่ห่างจากชุมชนใหญ่ มีบ้านเรือนกระจายเพียงไม่กี่หลังคาเรือน (ประมาณ 5-6 หลัง ) และชาวบ้านเป็นอาสาสมัครที่เสียสละร่วมกัน มีการระดมกำลังพี่น้องจากหมู่บ้านอื่นมาร่วมจุดตรวจนี้ตลอดมา
    "การเยียวยาเป็นไปตามระเบียบของทางราชการในการเยียวยาให้ความช่วยเหลือ ซึ่ง ศอ.บต.จะเป็นผู้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อขวัญกำลังใจและบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัวผู้สูญเสีย จะมีเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตจากเหตุการณ์รายละ 500,000 บาท, เงินช่วยเหลือการจัดการศพ, เงินช่วยเหลือบุตรจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดยะลา และเงินยังชีพผู้พิการเป็นรายเดือน" โฆษก กอ.รมน.กล่าว
    วันเดียวกัน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจและขอให้มีการค้นหาความจริง นำคนผิดมาลงโทษ เยียวยาผู้เสียหาย ต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ลำพะยาทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย
    แถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า มูลนิธิฯ ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสืบสวน สอบสวน นำผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเร่งด่วน มีความถูกต้อง และเป็นธรรม โดยผ่านกระบวนการพิจารณาคดีอาญาและการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมประจักษ์ต่อผู้เสียหาย รวมทั้งดำเนินการเยียวยาผู้เสียหายทุกรายอย่างเหมาะสม
    "การสืบค้นหาความจริงเกี่ยวกับสาเหตุรากเหง้าของปัญหาการใช้ความรุนแรงโต้ตอบกันต้องพึงกระทำทั้งในระดับกรณี ชุมชน และภาพรวมของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานมีความจำเป็นที่จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง เพื่อลดความรุนแรงและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงโต้ตอบกัน อีกทั้งทุกฝ่ายต้องมีการเสริมสร้างให้เกิดความอดทนอดกลั้น และความรู้ในการจัดการกับข้อมูลข่าวสารในโลกดิจิทัลที่เผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางในลักษณะที่มีการสร้างความเกลียดชังให้หมดไป" แถลงการณ์มูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุ
    ส่วนกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี ( PerMAS) เป็นองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสันติภาพปาตานีโดยยึดหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์ขอเรียกร้องให้การเมืองนำการทหารและทบทวนการติดอาวุธให้พลเรือน
    โดยเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 1.รัฐไทยต้องทบทวนการติดอาวุธให้พลเรือน การพยายามดึงพลเรือนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางอาวุธ และขอให้คู่ขัดแย้งหลักคำนึงถึงหลักกฎหมายมนุษยธรรมสากล 2.ให้รัฐไทยและคู่ขัดแย้งหลักทบทวนปฏิบัติการที่อาจเป็นเงื่อนไขขยายเวลาการทำสงคราม และให้กลับสู่การแสวงหาทางออกของความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการเมือง เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและเพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างเสรี และ 3.ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองต่างๆ ร่วมกันผลักดันให้เกิดการเจรจาเป็นวาระแห่งชาติ ที่อยู่บนหลักการสากลและเคารพเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง
หนุนรัฐเร่งเจรจาสันติสุข
    ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธาน ซึ่งก่อนจะเข้าสู่วาระการประชุม นายชวนได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้แจ้งขอให้สมาชิกยืนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์บุกยิงป้อมจุดตรวจของชุด ชรบ.ลำพะยา จ.ยะลา
    โดยนายชวนชี้แจงแนวทางการปฏิบัติว่า โดยปกติแล้วสภาผู้แทนราษฎรจะไม่ได้ยืนไว้อาลัย เว้นแต่จะเป็นกรณีพิเศษ สมาชิกก็ต้องช่วยกันรักษามาตรฐานการประชุม บางอย่างสมาชิกอาจจะเคยชิน แต่ทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันให้ได้  จึงอยากให้สมาชิกเข้าใจร่วมกันทำงานในสภา และปัญหาในอดีตที่เคยเกิดขึ้นจะได้หมดไป 
    "ขอขอบคุณนายสิระที่มีความหวังดี ต้องการให้สมาชิกยืนไว้อาลัย แต่สมาชิกรัฐสภาสามารถทำได้เพียงส่งเรื่องไปยังรัฐบาลให้ช่วยดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เกิดเฉพาะเมื่อวานนี้วันเดียวเท่านั้น แต่เกิดมานานแล้ว ไม่ว่าผู้เสียชีวิตจะมีเพียง 1 คนหรือ 15 คน ย่อมมีความหมายทั้งสิ้น" นายชวนกล่าว
    ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ยิง ชรบ.ลำพะยาว่า ขอประณามการกระทำ ไม่ว่าจะโดยผู้ใด กลุ่มใด ที่ก่อเหตุทำลายชีวิตและความสงบ ทั้งนี้อยากให้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่ดูแลความสงบเรียบร้อบให้ติดตามจับกุมผู้ที่ทำผิดมาลงโทษให้ได้โดยเร็ว และอยากให้รัฐบาลเร่งเยียวยาทั้งผู้ที่เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ รวมถึงดูแลญาติพี่น้องให้ได้รับความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งพื้นที่ลำพะยานี้เป็นพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือและตื่นตัวในการรักษาความสงบเรียบร้อยมาโดยตลอด แต่อาจจะเผลอในการป้องกันเหตุ เพราะพื้นที่นี้สงบมานาน ช่องว่างจึงเกิดขึ้น จากนี้ก็คงจะต้องมีการระมัดระวังกันให้มากเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง
    "คนที่กระทำเป็นผู้ที่ต้องการทำลายกระบวนการเกิดสันติสุข ดังนั้นรัฐบาลต้องเดินหน้าต่อไปในเรื่องของการเจรจา และเรื่องการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
    นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาสหลายสมัย และเป็นหนึ่งนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กล่าวเช่นกันว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังอาวุธประหัตประหาร และขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ แต่ขอเน้นย้ำให้คณะหัวหน้าเจรจาคนใหม่เร่งพูดคุยกระบวนการสันติภาพให้เร็วขึ้น เพราะมีผลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 
    "ลำพังเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ได้ทั้งหมด ควรเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังภัย เป็นหูเป็นตากับทางเจ้าหน้าที่แบบบูรณาการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการพูดคุยสันติภาพ ที่มี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยคนใหม่ ควรเปิดโต๊ะเจรจาพูดคุยกับกลุ่มขบวนการเห็นต่างผ่านผู้อำนวยความสะดวกให้เร็วที่สุดจะยิ่งดี เพราะจะเกิดผลดีต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรง ความไม่สงบที่เกิดขึ้น" นายนัจมุดดีนกล่าว
    ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวว่า การดับไฟใต้อย่างยั่งยืนต้องใช้การเมืองและวัฒนธรรมนำการทหาร เนื่องจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนส่วนใหญ่มีอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของตนเอง การปราบปรามด้วยกำลังอาวุธของทหารไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ตนเห็นว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ น่าจะเป็นองค์กรกลางหรือคนกลางที่จะทำให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาพูดจากัน 
    "อยากเสนอแนะไปยังวุฒิสภา ขอให้รีบดำเนินการตรวจสอบประวัติของว่าที่กรรมการสิทธิฯ 5 คน และดำเนินการให้แล้วเสร็จตามขั้นตอน เพื่อจะนำไปรวมกับอีก 2 คน ที่ผ่านความเห็นชอบของ สนช.ไปแล้ว ประธานรัฐสภาจะได้นำรายชื่อทั้ง 7 คน เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กสม.ให้เข้ามาทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ระดับชาติ อย่างกรณีความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังรอการแก้ไขปัญหาอยู่" รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าว.

    

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"