สะเดาะกลอนมาตรา 256 คีย์สำคัญแก้รัฐธรรมนูญ


เพิ่มเพื่อน    

 

     ขณะนี้หลายคนยังคงเข้าใจผิดคิดว่ารัฐสภากำลังจะยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งขอย้ำให้ชัดเจนก่อนว่าปัจจุบันยังคงเป็นเพียงการตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญ” ขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ยังไม่ใช่ว่าจะลงมือแก้ไขในรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นศึกษาก่อน

        ทว่า นักการเมืองหลายคนแสดงจุดยืนว่าต้องสะเดาะกลอนมาตราที่เป็นหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญนี้เสียก่อน คือ มาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เนื่องจากวางเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้มากมายจนแทบจะมองไม่เห็นหนทาง แต่จะแก้ไขให้เป็นรูปแบบใด อย่างไร ต้องติดตาม

                 สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค ระบุว่า “ประเด็นที่ควรจะแก้ไข ควรเริ่มจากหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะตรงนี้ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะนำไปสู่การเริ่มต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเริ่มต้นตรงจุดนี้ได้ จะเป็นส่วนช่วยทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นในอนาคตก็สามารถทำได้ หากไม่แก้ตรงนี้ การแก้รัฐธรรมนูญในอนาคต นอกจากต้องอาศัยเสียงข้างมากของรัฐสภาแล้ว ในเสียงข้างมากต้องประกอบด้วยเสียงของฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และเสียงของวุฒิสมาชิก ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และในบางประเด็นต้องนำไปสู่การทำประชามติด้วย ก็เหมือนกับจะเรียกว่าสะเดาะกุญแจที่ปิดประตูตาย เพื่อให้เข้าเงื่อนไขปกติที่รัฐธรรมนูญหลายฉบับในอดีตกำหนดไว้ โดยใช้แค่เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภาก็สามารถแก้ไขได้ เป็นการเริ่มสะเดาะกุญแจให้ประตูประชาธิปไตยเปิดออกได้ ต่อไปใครจะแก้ว่าอย่างไรก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น”

                อย่างไรก็ตาม มาตรา 256 ในปัจจุบัน กำหนดว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญต้องทำดังนี้

                (1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

                (2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

                (3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

                (4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย

                (5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสินแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

                (6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

                (7) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (6) แล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน แล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นําความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

                (8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (7) ต่อไป

                (9) ก่อนนายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (7) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิ์เข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญ ตาม (7) ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนําร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

                จากรายละเอียดข้างต้น หากรัฐสภาศึกษาเรียบร้อยแล้วมีเสียงพ้องต้องกันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เท่ากับว่าประเทศไทยต้องทำประชามติอีกครั้ง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"