"บิ๊กตู่" รุกรอบด้านสกัดพิษ "เศรษฐกิจ" ฉุด รบ.ดิ่ง


เพิ่มเพื่อน    

 

      ยังอยู่ในช่วงที่หลายฝ่ายจับตาการทำงานของรัฐบาล "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามกลไกประชาธิปไตย ที่นอกจากต้องเผชิญปัญหาในสนามการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว เวลานี้ "บิ๊กตู่" ยังต้องนำทัพฟันฝ่ากับปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่ภายนอกยังมีสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ ซึ่งส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงไทยก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

      นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่สหรัฐประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สำหรับสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และนั่นทำให้รัฐบาลต้องรุกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากภายในประเทศที่มีมาตรการออกมาเรื่อยๆ ตั้งแต่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ช่วยผู้มีรายได้น้อย

      กระทั่งล่าสุดโครงการ "ชิม ช้อป ใช้" ที่รัฐบาลหวังกระตุ้นการหมุนเวียนเงินให้กระจายไปสู่ฐานรากให้มากขึ้น โดยเปิดลงทะเบียนไปแล้วถึง 2 เฟส มีผู้ใช้สิทธิ์ถึง 13 ล้านคน ยอดการใช้จ่ายผ่าน G-Wallet ทะลุกว่า 10,000 ล้านบาท มีการใช้จ่ายยอดการทำธุรกรรมมากถึง 140,000 ธุรกรรมต่อวินาที และขณะนี้รัฐบาลกำลังเตรียมออกเฟส 3 ภายในปีนี้ หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

      นอกจากนี้ยังมีโครงการ "100 เดียวเที่ยวทั่วไทย" โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตามมาอีกหนึ่งโครงการ เพื่อเป็นของขวัญให้คนไทยได้เที่ยวในราคา 100 บาท ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนและเปิดให้เลือกของขวัญถึง 4 รอบ ในวันที่ 11, 12 พฤศจิกายน 2562 และ 11, 12 ธันวาคม 2562 ที่จะถึงนี้ โดยในแต่ละรอบจะมีของขวัญประชาชนให้เลือกซื้อ 10,000 รายการ แต่ละคนจะมีสิทธิ์เลือกซื้อของขวัญได้เพียงคนละ 1 รายการเท่านั้น และตลอดโครงการเลือกซื้อสินค้าได้ในทุกจังหวัดอีกด้วย

      ขณะเดียวกันยังมีมาตรการสกัดการแข็งค่าของเงินบาท จากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี หลังคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้นจากการส่งออกที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ และยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอีกหลายด้าน ดังนั้น นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นนี้ จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย

      โดยธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาล ได้สนองนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลทันที เพราะมีลูกค้ารายย่อยจนถึงระดับ SMEs เป็นจำนวนมาก จึงได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราเท่ากัน 0.125% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชีลดลงจาก 6.87% เหลือ 6.745% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา ปรับลดลงจาก 6.50% เหลือ 6.375% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป

      นอกจากนี้ ยังมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภายในประเทศที่มีส่วนสำคัญ ซึ่งนับเป็นโอกาสดีของไทยในการเป็นประธานอาเซียนปีนี้ ทำให้ได้พบปะกับนานาประเทศ ได้มีโอกาสเปิดบ้านขายของ โชว์ศักยภาพและชักชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะจุดขายของไทยอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ต่างประเทศให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก 

      และนอกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ที่ออกมาเรื่อยๆ แล้ว ล่าสุด “บิ๊กตู่” ยังเริ่มจัดทัพ ทยอยดึงมือดีที่มีความสามารถในด้านการเจรจาระหว่างประเทศมาเสริมทีมช่วยประสานผลักดันด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยมติ ครม.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่งตั้ง "นายบรรสาน บุนนาค" อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เพื่อให้มาช่วยประสานดึงนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย

      โดยที่ผ่านมา นายบรรสานมีผลงานโดดเด่นในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นได้อย่างใกล้ชิดรอบด้าน และยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ The Order of the Rising Sun ชั้น Grand Cordon จากสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น เพื่อแสดงความชื่นชมและขอบคุณที่ทำคุณประโยชน์ ในการส่งเสริมมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

      อีกทั้งก่อนที่นายบรรสานจะเกษียณอายุราชการ ครม.ยังได้ต่ออายุให้อีก 1 เดือน เพื่อรองรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะแห่งญี่ปุ่น ที่พล.อ.ประยุทธ์และภริยาเดินทางเข้าร่วมเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และที่สำคัญช่วงที่นายบรรสานดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ยังได้นำคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 600 คน มาเยือนไทยเพื่อสำรวจศักยภาพของอีอีซีอีกด้วย เรียกว่าเป็นสายตรงจากญี่ปุ่นก็ว่าได้

      และยังมีกระแสข่าวด้วยว่า ก่อนหน้าที่นายบรรสาน จะตัดสินใจมารับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกฯ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ก็ได้เคยประสานให้มาร่วมงานด้วยเช่นกัน

      นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ในเร็วๆ นี้จะมีการตั้งรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมืองเพิ่มเติมอีก เพื่อมาช่วยประสานกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นการเฉพาะ คือ "นายพิริยะ เข็มพล" อดีตเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง หลังจากเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา "บิ๊กตู่" ก็ได้เปิดทำเนียบรัฐบาลต้อนรับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ไปอย่างชื่นมื่น

      มีการหารือถึงการลงทุนในด้านต่างๆ ที่ฝ่ายจีนยื่นมือพร้อมอำนวยความสะดวกและดูแลภาคเอกชนไทย และฝ่ายจีนยังสนใจโครงการเด่นของไทยอย่างอีอีซี สนใจส่งเสริมความร่วมมือด้านข้าว และดันโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนด้วย รวมถึงการเยือนไทยของนายกฯ จีนครั้งนี้ ยังมีพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและจีนถึง 3 ฉบับ นั่นจึงเป็นอีกช่องทางที่สามารถผลักดันเรื่องการลงทุนระหว่างไทยและจีนได้ จึงต้องอาศัยผู้ที่รู้งานและมีสัมพันธไมตรีที่ดี สามารถประสานงานกับจีนได้

      ขณะเดียวกันในปลายปีนี้ยังต้องจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านของขวัญปีใหม่ ที่รัฐบาลจัดให้ประชาชนเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงการคลัง ที่ตอนนี้เผยแคมเปญแรก “บ้านในฝัน รับปีใหม่” เพื่อขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียน การโอนกรรมสิทธิ์ และลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนอง และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนที่อยากมีบ้านอีกด้วย

      ดังนั้น จากนี้คงต้องดูว่าผลสัมฤทธิ์ของการรุกจัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาทั้งหมดนี้ จะสามารถฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้พ้นขีดอันตราย และสามารถเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงต้องจับตาด้วยว่า “บิ๊กตู่” จะดึงมือดีคนใดมาเป็นฟันเฟืองเสริมทัพเรียกนักลงทุนเข้าประเทศอีกหรือไม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"