เพิ่มทหารลงพื้นที่! บิ๊กตู่ปัดประกาศเคอร์ฟิว 'จุฬาราชมนตรี'ประณาม


เพิ่มเพื่อน    

09kom01.pol
เพิ่มทหารลงพื้นที่!
บิ๊กตู่ปัดประกาศเคอร์ฟิว
'จุฬาราชมนตรี'ประณาม
ไทยโพสต์ ๐ "บิ๊กตู่" ถก "กอ.รมน." ปรับแผนแก้ไฟใต้ ย้ำยังไม่ประกาศเคอร์ฟิว บอกถ้าใช้จะให้สั้นที่สุด พร้อมสั่งเพิ่มกำลังทหารเข้าพื้นที่ รปภ.หมู่บ้าน-ชุมชน ลั่นคุยสันติสุขเดินหน้าต่อเนื่อง "ผบช.ภ.9" เผยพบ 2 กลุ่มกว่า 50 คนร่วมก่อเหตุ มีตระกูล "หลำโซ๊ะ" นำทีม "ตร.-ทหาร" เตรียมเปิดปฏิบัติการเชิงรุกไล่ล่าคนร้ายภายใน 1-2 วันนี้ "จุฬาราชมนตรี" ออกแถลงการณ์ประณาม ชี้การฆ่าผู้บริสุทธิ์เป็นบาปใหญ่ "อังคณา" เสนอ 4 ข้อแก้ปัญหาความรุนแรง
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 8 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมว.กลาโหม) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นประธานการประชุม กอ.รมน. ครั้งที่ 2/2562 มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและผู้นำเหล่าทัพเข้าร่วมการประชุม  โดยไม่ให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการประชุมแต่อย่างใด
    สำหรับวาระการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ แผนปฏิบัติการเพื่อรองรับการประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ปัจจุบันสถานการณ์การก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลามีแนวโน้มดีขึ้น ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งในการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน 
    โดย กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับการประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไว้ 3 แนวทางปฏิบัติ คือ ด้านยุทธการ เน้นการมีส่วนร่วมประชาชน ใช้กำลังประชาชนดูแลพื้นที่ ทดแทนกำลังทหารรัฐ และการบังคับใช้กฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใต้การสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ด้านการเมือง มุ่งสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ รณรงค์ให้ผู้เห็นต่างจากรัฐ หันกลับมาต่อสู้ตามแนวทางสันติ ออกมารายงานตัวและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย ด้านการพัฒนา มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และตรงตามความต้องการ
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวภายหลังการประชุมถึงข่าวการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากเคหสถานในเวลาค่ำคืน หลังเกิดเหตุกลุ่มคนร้ายยิงถล่มชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ยังๆ เบื้องต้นยังไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา แต่ถ้าประกาศจะกำหนดเวลาให้สั้นที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนสอบสวนทางคดี และเพื่อเป็นการจำกัดพื้นที่ของคนร้ายในช่วงที่มีการไล่ติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุ 
    "ยืนยันไม่อยากให้มีผลกระทบต่ออย่างอื่น แต่เป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งหากเราปิดพื้นที่ไม่ได้ก็จะมีปัญหา ส่วนนี้ขอให้เข้าใจกันด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ถามว่า มีรายงานกลุ่มผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มคนหน้าขาว หลังก่อเหตุเสร็จสิ้นจะกลับไปนอนอยู่บ้าน ส่วนนี้จะมีการติดตามจับกุมอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า การสืบสวนสอบสวนวันนี้มีความคืบหน้า แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ ต้องใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่จะไปจับใครก็ได้ ต้องเอาหลักฐานในพื้นที่เกิดเหตุมาติดตาม ซึ่งเราก็มีข้อมูลอยู่แล้ว ทั้งอาวุธปืน กระสุนและปลอกกระสุน พร้อมมีข้อมูลอยู่แล้วว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายกลุ่มใด และมีกลุ่มใดเกี่ยวข้องบ้าง ก็จะต้องมาพิจารณาร่วมกัน คงจะได้รับทราบความคืบหน้าภายในเร็ววันนี้ ขอเวลาอีกหน่อย
    ซักว่าผู้ก่อเหตุมีการใช้วัตถุระเบิด จะถือเป็นการก่อการร้ายมากกว่าการก่อความไม่สงบได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า พวกเขาใช้กลยุทธ์เช่นนี้เป็นกลยุทธ์การก่อการร้าย คือการสร้างเหตุความรุนแรงเพื่อกดดันต่อรัฐ แล้วเราจะไปกดดันกันเพื่ออะไร ในเมื่อรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีด้วยการบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนา และสร้างการมีส่วนร่วม เราแก้ปัญหากันอย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ 
เดินหน้าเจรจาสันติสุข
    "การก่อการร้ายนั้นมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น การยึดพื้นที่ การใช้ความรุนแรง แต่เหตุการณ์นี้เข้าข่ายแค่ใช้อาวุธสงครามเพื่อกดดันรัฐ แต่หากเราตีความผิด การแก้ปัญหาก็จะผิดและเหตุการณ์จะรุนแรงขึ้น ท้ายสุดผลกระทบก็จะเกิดกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งวันนี้เราลดระดับผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้มากพอสมควร ประชาชนก็กลับมาให้ความร่วมมือ แม้แต่การบังคับใช้กฎหมายบางตัวประชาชนก็เห็นด้วย เพราะเขาดูแล้วว่าเกิดประโยชน์กับเขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่คนที่มักจะมีปัญหาในเรื่องนี้คือคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะมองในเรื่องของสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว" นายกฯ กล่าว
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในส่วนการพูดคุยถึงสันติสุขก็ได้รับรายงานตลอด ก่อนเขาไปตนก็ได้ให้นโยบายไป เมื่อเขากลับมาก็รายงานก็ให้มีการปรับแผนกันไป ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับกลุ่มที่มีบทบาทอย่างแท้จริง โดยจะเน้นในเรื่องของจะทำอย่างไรให้ในพื้นที่ปลอดภัยและมีสันติสุขอย่างยั่งยืน ต้องคุยกันและปรับวิธีต่อเนื่อง เพราะมีหลายกลุ่ม หลายฝ่าย หลายระดับ ทั้งผู้นำระดับการเมือง การทหาร ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ซึ่งคนรุ่นเก่านั้นค่อนข้างจะพูดคุยในด้านสันติวิธีมากขึ้น แต่คนรุ่นใหม่ก็พยายามสร้างคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาแทน เราต้องหาวิธีการว่าจะต้องแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร
    "จะต้องเจรจากับกลุ่มที่มีบทบาทแท้จริงในการก่อเหตุ แต่ปัญหาคือเขาจะคุยด้วยหรือไม่ เพราะบางกลุ่มก็ไม่อยากมาเจรจา เพราะคงอยากใช้วิธีเดิมต่อไป พวกนี้คือพวกหัวรุนแรง เราบังคับไม่ได้ ถึงต้องไปพูดคุยที่ต่างประเทศ แต่ไม่ใช่การเจรจา เพราะถ้าเจรจาหมายถึงเรารบกันแล้วจึงต้องเจรจาหยุดยิง แต่อันนี้ไม่ใช่ เป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย และทางมาเลเซียก็ตอบสนองด้วยดีตลอดมา แต่ก็ยังมีปัญหาอีกหลายอันที่ต้องแก้ควบคู่กันไป เช่น เรื่องบุคคลสองสัญชาติ การข้ามแดน เนื่องจากคนเหล่านี้ปลอมปนอยู่ในกลุ่มประชาชนทั่วไป เข้ามาหาก็ไม่รู้ เพราะหน้าตาก็เหมือนกัน ผมได้สั่งการบริหารเชิงรุกไป แต่ต้องระวังการใช้อาวุธต่างๆ และการบังคับใช้กฎหมาย ต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากเกินไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวถึงการใช้กำลัง ชรบ.ว่า ยังมีความจำเป็นต่อไป ถ้าไม่มีจะทำมาทำไม ซึ่งแต่ก่อนนี้กำลังตำรวจในพื้นที่และอาสาสมัครรักษาดินแดนมีกำลังไม่เพียงพอ จึงต้องจัดทหารข้างนอกมาช่วย เมื่อเรียบร้อยแล้วก็เอาทหารกลับ ส่วนตำรวจและทหารในพื้นที่ก็ทำงานปกติไป แต่เมื่อเหตุการณ์ไม่ปกติก็จะนำกองกำลังทหารเข้าไปเติม ทุกประเทศก็ทำแบบนี้ 
    "ระหว่างนี้เราจะต้องเสริมสร้างกำลังในท้องถิ่นให้มากขึ้น เพราะคนเหล่านี้จะรู้จักพื้นที่และสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี แต่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้น เพราะทางยุทธวิธียังไม่เข้มแข็งพอ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการฝึกทบทวนมาโดยตลอด" นายกฯ กล่าว
    ส่วน พล.อ.ประวิตรปฏิเสธที่จะกล่าวถึงรายละเอียดเหตุรุนแรงที่ จ.ยะลา ระบุเพียงว่านายกฯ ได้สั่งการไปหมดแล้ว ก็ขอแสดงความเสียใจด้วย อย่างไรก็ตาม ผบ.ตร.และแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว 
    ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองทัพภาคที่ 4 ชี้แจงข่าวกองทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศเคอร์ฟิวทั่วพื้นที่เพื่อตามล่ากลุ่มโจรบีอาร์เอ็นที่ก่อเหตุยิงถล่ม ชรบ.ลำพะยาว่า พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้บูรณาการกำลังเข้าบังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยปัจจุบันหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์สามารถระบุกลุ่มและตัวบุคคลที่ร่วมก่อเหตุได้แล้วจำนวนหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างเข้ากดดันและติดตามจับกุมในพื้นที่ต้องสงสัยในหมู่บ้านให้การสนับสนุน พื้นที่ป่าภูเขานางจันทร์ ช่วงรอยต่อ จ.สงขลา และบ้านเครือญาติ 
ทหารปัดใช้เคอร์ฟิว
    พ.อ.ปราโมทย์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยได้ 1 ราย เป็นราษฎรพื้นที่ ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับจุดที่คนร้ายก่อเหตุวางระเบิด โปรยตะปูเรือใบและเผายางรถยนต์เพื่อสกัดกั้นการเข้าช่วยเหลือ พร้อมยึดของกลางได้หลายรายการ ขณะที่หลบหนีไปซ่อนตัวที่ อ.ธารโต จ.ยะลา อยู่ระหว่างการซักถามเพื่อขยายเครือข่ายก่อเหตุที่หน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
    “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันจะใช้มาตรการทางกฎหมายภายใต้อำนาจที่มีอยู่ด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชน ปัจจุบันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภายใต้อำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่ ไม่ได้ถูกจำกัดโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล จึงไม่มีเหตุผลและความจำเป็นอันใดที่จะต้องประกาศใช้เคอร์ฟิวในพื้นที่ตามที่เป็นข่าว" พ.อ.ปราโมทย์กล่าว
    โฆษกกองทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า สำหรับมาตรการในการรักษาความปลอดภัย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ปรับแผนให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ทหารเข้าเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและชุมชนให้รัดกุมมากขึ้น 
    "ชรบ.เป็นเพียงประชาชนจิตอาสาที่เสียสละและอุทิศตน เข้ามาช่วยกันดูแลความปลอดภัยชุมชนของตนเอง ไม่ใช่เป็นกองกำลังติดอาวุธฝ่ายพลเรือนดังที่องค์กรแนวร่วมและกลุ่มเปอร์มาสนำมาบิดเบือนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น" โฆษกกองทัพภาคที่ 4 กล่าว
    พ.อ.ปราโมทย์กล่าวว่า สำหรับหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ เช่น ปลอกกกระสุนปืน เบื้องต้นเป็นกระสุนของปืนเอ็ม 16 และอาก้า มีมากกว่า 100 ปลอก ซึ่งจากการตรวจสอบผลปืน เบื้องต้นพบว่าสามารถเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่หลายเหตุการณ์ เช่น ปล้นร้านทอง ที่ อ.นาทวี จ.สงขลา, ปล้นเต็นท์รถยนต์ที่ อ.เทพา จ.สงขลา, เหตุยิง สภ.นาปะดู่ จ.ปัตตานี, เหตุปล้นตู้เอทีเอ็มที่หน้ามหาวิทยาลัยฟาตอนี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี      "เหตุการณ์ที่ผ่านมาดังกล่าว เจ้าหน้าที่สามารถออกหมายจับได้ 21 คน เป็นทีมของตระกูลหลำโซ๊ะที่เป็นแกนนำปฏิบัติการ ร่วมกับแกนนำก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่มีข้อมูลทั้งหมดแล้ว ส่วนผู้ต้องสงสัยที่สามารถควบคุมตัวไว้ได้ 1 ราย ขณะนี้อยู่ในกระบวนการซักถามของเจ้าหน้าที่ ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้”พ.อ.ปราโมทย์กล่าว
    ส่วนที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบช.ภ.9 พร้อมด้วย พล.ต.ต.ปราบพาล มีมงคล ผบก.ภ.จว.ยะลา ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการร่วมพิเศษทหารพราน และเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสอบสวน บก.ภ.จว.ยะลาและปัตตานี เพื่อติดตามความคืบหน้าเหตุคนร้ายยิงถล่มป้อม ชรบ.ลำพะยา ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง
    พล.ต.ท.รณศิลป์กล่าวว่า คดีนี้มี 2 จังหวัดที่มีความเชื่อมโยงกัน คือยะลาและปัตตานี รวมทั้งได้เชิญเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่มาร่วมประชุมแนวทางการสืบสวน โดยวันเกิดเหตุปรากฏว่ามีการโจมตี 1 จุด นอกจากนั้นอีก 5 จุดเป็นพื้นที่การโปรยตะปูเรือใบ ตัดต้นไม้ขวางถนน ระเบิดเสาไฟ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีพยานหลักฐานมากพอสมควร และจากจุดเกิดเหตุพบคนร้ายได้ทิ้งสิ่งของบางอย่างที่สามารถติดตามตัวคนร้ายได้ไว้ในหลายๆ จุด การไล่ล่าติดตามจากรอยเลือดหรือจากพยานหลักฐานต่างๆ
    "ในที่เกิดเหตุมีการใช้ปืนอย่างน้อย 25 กระบอก ซึ่งรวมกับปืนของเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งเมื่อตัดปืนของเจ้าหน้าที่ออกไป น่าจะเป็นของคนร้าย 18 กระบอก จึงเชื่อว่าคนร้ายที่เข้าโจมตีในจุดนี้ 18 คน แต่จุดอื่นที่เหลืออีก 5 จุด จะมีคนร้ายชุดอื่นปฏิบัติการ เชื่อว่าปฏิบัติการในครั้งนี้กลุ่มคนร้ายใช้กำลัง 40-50 คน" พล.ต.ท.รณศิลป์กล่าว
จุฬาราชมนตรีประณาม 
    นอกจากนี้ จากการตรวจนิติวิทยาศาสตร์ สามารถระบุกลุ่มคนร้ายได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มาจากยะหา กาบัง บันนังสตา จ.ยะลา และอีกกลุ่มมาจากพื้นที่โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งในการเชื่อมโยงของพยานหลักฐานพบว่ามีหลายเหตุการณ์ที่คนร้ายเคยใช้อาวุธปืนเหล่านี้ ขณะนี้ทางพิสูจน์หลักฐานกำลังเร่งตรวจสอบหลักฐาน ส่วนผู้ต้องสงสัยที่ควบคุมตัวเองไว้ 1 ราย เป็นบุคคลที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ แต่หลบหนีไปอยู่อีกพื้นที่ จึงได้ทำการเชิญตัวเข้าสู่กระบวนการซักถาม เบื้องต้นให้การปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ แต่รับว่าเคยก่อเหตุในเหตุการณ์อื่น
    “ผมได้พูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 4 แล้วว่าจะมีการเปิดปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อติดตามคนร้ายที่ก่อเหตุให้ได้ภายใน 1-2 วันนี้ โดยคนร้ายกลุ่มนี้เป็นคนร้ายที่ติดตามจับกุมจากคดีเก่าๆ มาโดยตลอด รู้ว่าเป็นใคร แต่หาตัวไม่เจอ เนื่องจากกลุ่มนี้จะอยู่ในพื้นที่ป่าเขา ซึ่งจะมีการปฏิบัติการในพื้นที่เหล่านี้ด้วย มีเป้าหมายแล้ว” ผบช.ภ.9 กล่าว
    มีรายงานว่า กลุ่มคนร้ายที่ถูกระบุ 2 กลุ่มนั้น กลุ่มจากปัตตานี และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จะมีนายบูคอรี หลำโซ๊ะ, นายซอบรี หลำโซ๊ะ, นายรอซาลี หลำโซ๊ะ 3 พี่น้องตระกูลหลำโซ๊ะ เป็นแกนนำกลุ่ม ส่วนกลุ่มของ อ.กาบัง อ.ยะหา อ.บันนังสตา จะมีนายอับดุลเลาะ โต๊ะเต้, นายรอกิ ดอเลาะ, นายฮูไบดีละห์ รอมือลี , นายอหมัด ตืองะ เป็นแกนนำกลุ่ม และร่วมปฏิบัติการกับกลุ่มเปอร์มูดอในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มเปอร์มูดอคือกลุ่มแนวร่วมกลุ่มใหม่ที่ผ่านการฝึกการปฏิบัติการ และทางฝ่ายความมั่นคงยังไม่มีข้อมูล โดย 2 กลุ่มหลักนี้รวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อปฏิบัติการในครั้งนี้
    วันเดียวกัน สำนักจุฬาราชมนตรีออกแถลงการณ์เรื่องขอประณามกรณีคนร้ายบุกยิงจุดตรวจชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ตอนหนึ่งระบุว่า สำนักจุฬาราชมนตรีเห็นว่าการใช้ความรุนแรงอย่างไร้ขอบเขตเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมและละเมิดกับหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาอย่างร้ายแรง และสำหรับศาสนาอิสลามนั้นการฆ่าผู้บริสุทธิ์ถือว่าเป็นบาปใหญ่ 
    "สำนักจุฬาราชมนตรีจึงขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าใช้สติในการเผชิญกับปัญหาเช่นนี้ ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ก่อเหตุที่มุ่งหวังให้เกิดความกลัวในชีวิตประจำวันและทำลายความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ และขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลและเอกชนทุกภาคส่วนเร่งสร้างความเข้าใจต่อประชาชนทุกศาสนา เพื่อให้ตระหนักถึงการรักษาสัมพันธภาพอันดีต่อกันและกันเอาไว้ เพื่อธำรงสันติสุขและความมั่นคงสืบไป" แถลงการณ์ระบุ
    ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนหนึ่งว่า ส่วนตัวในฐานะที่ติดตามปัญหา จชต.มายาวนาน มีข้อเสนอแนะต่อทุกฝ่าย คือ 1.นอกจากการฝึกใช้กำลังอาวุธ กองกำลังติดอาวุธฝ่ายพลเรือนควรได้รับ การฝึกเพื่อเสริมทักษะในดูแลความปลอดภัยของตัวเอง เช่น การไม่จัดประชุมหรือมีการรวมกลุ่มกันในเวลาเดิมๆ โดยเฉพาะในเวลาค่ำ จนทำให้ง่ายแก่การถูกจ้องโจมตี 2.กองกำลังฝ่ายพลเรือนควรมีวัสดุอุปกรณ์เพียงพอเพื่อปกป้องตนเอง เช่น เสื้อเกราะกันกระสุน ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
    3.การปฏิรูปงานการข่าว ปัญหาปฏิรูปงานการข่าวเป็นเรื่องที่พูดกันมานานมาก มีการของบประมาณเพื่องานการข่าวจำนวนมากในทุกปี แต่ยังเกิดเหตุร้ายขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่สามารถป้องกันได้ 4.การแก้ปัญหาโดยใช้การเมืองนำการทหาร ยอมรับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เปิดใจกว้างและอดทนอดกลั้นในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ไม่มองคนคิดต่างเป็นศัตรู หยุดสร้างวาทกรรมการเกลียดชัง เพราะอาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง ซึ่งยากจะแก้ไข
    "ทั้งหมดนี้น่าจะดีกว่าแค่การประณาม หรือการสร้าง IO เพื่อสร้างความเกลียดชังนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการโยนความผิดให้คนทำงานสิทธิ ทั้งที่รัฐเองมีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิในชีวิตของบุคคลทุกคน" นางอังคณากล่าว.    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"