ใกล้ระเบิดศึกซักฟอก นาทีทอง ต่อรอง-ปั่นราคา


เพิ่มเพื่อน    

 พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความชัดเจนลงตัวหมดแล้วว่ากลางเดือนหน้า (ธันวาคม) จะขอจัดหนักส่งท้ายปลายปีรัฐบาลประยุทธ์ ด้วยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยระหว่างนี้อยู่ในช่วงเก็บ-ประมวลข้อมูลต่างๆ ที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านและคณะทำงานแต่ละพรรคไปเสาะหาและได้รับแจ้งมาจากประชาชน

สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน โหมโรงไว้ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ คาดว่ายื่นญัตติได้อย่างช้าไม่เกิน 5 ธ.ค.

            "การอภิปรายครั้งนี้จะอภิปรายภายใต้คำจำกัดความของความไม่ไว้วางใจ ที่จะแบ่งเป็นกลุ่มความผิด เช่น กลุ่มทุจริต กลุ่มไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ กลุ่มความไม่เหมาะสม กลุ่มการละเมิดกฎหมายจนเป็นนิสัย กลุ่มการทำลายโอกาสประเทศ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ ส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าฝ่ายค้านอภิปรายเร็วไป ซึ่งต้องบอกว่า ถ้าทำให้บ้านเมืองเสียหาย วันเดียวก็ปล่อยไม่ได้ เราจึงต้องยื่นอภิปราย”

ทั้งนี้ ศึกซักฟอกที่กำลังมาถึง ประเมินดูแล้วรัฐมนตรีที่อยู่ในลิสต์โดนฝ่ายค้านเข็นมาเชือด เป้าหลักๆ ของฝ่ายค้านก็น่าจะเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงใหญ่ โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่เป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้ผลการอภิปรายแม้ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ แต่ก็ต้องให้มีผลสะเทือนทางการเมืองส่งท้ายปลายปี เช่น การลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล-เปิดแผลรัฐมนตรีบางคน

ขณะเดียวกันในทางการเมือง ด้วยสภาพการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มี ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งมาไม่มาก และ ส.ส.หลายพรรคโดยเฉพาะกลุ่มพรรคเล็ก 1-3 เสียง ก็มีร่องรอยความขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจทางการเมืองกันอยู่

เพราะบางพรรค อย่างพรรคพลังท้องถิ่นไท ของชัชวาลย์ คงอุดม หรือชัช เตาปูน ซึ่งมี ส.ส. 3 คน เท่ากับพรรคชาติพัฒนา แต่ไม่ได้โควตารัฐมนตรี ได้แค่เก้าอี้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลังคือ ชื่นชอบ คงอุดม ลูกชาย ชัช เตาปูน ขณะที่ชาติพัฒนาได้โควตารัฐมนตรี 1 เก้าอี้ คือ เทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี หรือก่อนหน้านี้ พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทยของดำรงค์ พิเดช ก็ต้องการโควตาผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ให้กับคนของพรรค แต่ก็ไม่ได้ตามที่ต้องการ

ทำให้ที่ผ่านมา กลุ่มพรรคเล็กในปีกรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยพอใจที่ไม่ถูกให้ความสำคัญจากแกนนำพรรคพลังประชารัฐเท่าที่ควร ท่ามกลางกระแสข่าว บางคนบางพรรคในกลุ่ม พรรคเล็ก พยายามจะรวมเสียงกันให้ได้จำนวนหนึ่ง เพื่อต่อรองกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก็คือการพยายามจะปั่นราคาตัวเองในรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำนั่นเอง เพียงแต่จะหาจังหวะไม่ได้ จนเมื่อตอนนี้ใกล้ช่วงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่รัฐมนตรีซึ่งถูกอภิปราย แม้แต่พลเอกประยุทธ์ นายกฯ เองก็ตาม ที่ฝ่ายค้านก็เล็งไว้อยู่ว่าอาจจะยื่นซักฟอกนายกฯ บิ๊กตู่ด้วย บรรดารัฐมนตรีที่โดนซักฟอก จำเป็นต้องพึ่งเสียงโหวตไว้วางใจให้เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสภาฯ ไม่เช่นนั้นหากเสียงไว้วางใจไม่เกินกึ่งหนึ่ง ก็ตายทางการเมือง โดนไม่ไว้วางใจกลางสภาฯ จะเป็นประวัติมัวหมองทางการเมือง

ช่วงจังหวะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตรงช่วงนี้แหละปฏิเสธไม่ได้ว่า ฝ่ายค้านก็จ้องใช้ช่วงดังกล่าวตอกลิ่มรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำให้มีปัญหาภายใน

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลพวกพรรคเล็กทั้งหลาย ก็พร้อมใช้ช่วงนี้เช่นกัน ในการสร้างราคาต่อรองทางการเมือง ซึ่งในอดีตหากรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลในอดีตคนไหนมีปัญหา เจอซักฟอกแล้วแจงไม่เคลียร์ และยังถูก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลข่มขู่จะไม่โหวตไว้วางใจให้ เช่น บอกไม่ขอพายเรือให้โจรนั่ง ในอดีตหากเป็นสภาพแบบนี้ รัฐมนตรีบางคนก็ต้องจำใจพึ่งบริการที่เรียกว่า ระเบิดตู้เอทีเอ็ม-เงินสะพัด ด้วยการอัดฉีด ใช้เงิน แลกกับเสียงโหวตไว้วางใจ

ช่วงนี้ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ถูกพูดถึงก็คือความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ณ บ้านพัก ชัชวาลย์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท เมื่อคืนวันอังคารที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการจัดงานคล้ายวันเกิดครบรอบ 76 ปี โดยมีแกนนำ 4 พรรคเล็กเข้าร่วมหารือแนวทางการทำงานการเมืองร่วมกัน ได้แก่ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ พิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรม ปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้มงคลกิตติ์กับพิเชษฐจับมือกันขอแยกตัวออกไปจากพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อเป็นฝ่ายค้านอิสระ แต่คนก็ไม่ค่อยให้ราคามากนัก เพราะมองว่าไม่ค่อยมีราคาทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากกลุ่มพรรคเล็กๆ ในรัฐบาลจะขยายเครือข่าย จับมือกันให้แน่นมากขึ้น เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทางการเมือง โดยเฉพาะช่วงก่อนเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากเป็นแบบนี้ แกนนำพรรคพลังประชารัฐจะไม่สนใจเลยคงไม่ได้แล้ว

ชัช เตาปูน บอกไว้ถึงความเคลื่อนไหวของพรรคเล็กว่า ส.ส. 8 คน จาก 5 พรรคเล็ก จะมารวมกลุ่มกันเพื่อให้เกิดความแข็งแกร่ง นำนโยบายแต่ละพรรคผลักดันให้เห็นผล เพราะที่ผ่านมานโยบายพรรคเล็กยังไม่ได้รับการผลักดันจากรัฐบาลเท่าที่ควร

“ถ้าเรามี 8 เสียง ยังไงรัฐบาลก็ต้องฟังเราบ้าง แต่ยืนยันว่าไม่ใช่การรวมกลุ่มกันเพื่อล้มรัฐบาล แค่ต้องการผลักดันนโยบายแต่ละพรรคให้เห็นผล ทั้งนี้ การลงมติของ 5 พรรคเล็กจะไปในทางเดียวกัน จะมาหารือกันก่อนที่จะลงมติทุกครั้ง อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าฟังแล้วเห็นว่ารัฐมนตรีชี้แจงได้มีเหตุผล จะยกมือให้ แต่ถ้าตอบไม่ดี เหตุผลฟังไม่ขึ้น ก็เอาไว้ไม่ได้ จะไปสวนความรู้สึกประชาชนได้อย่างไร”

          ประเมินสถานการณ์ไปข้างหน้า มือประสาน รัฐบาล-พปชร. คงต้องเตรียมออกแรง เปิดดีลเจรจา เช็กเสียงฝ่ายหนุนรัฐบาลให้พร้อม ก่อนศึกซักฟอกจะมาถึง โดยอาจต้องมีแผนสำรองต่างๆ ไว้ด้วย เพื่อปราบพยศ ส.ส.ปีกรัฐบาลปั่นราคา แต่จะถึงขั้นต้องอัดฉีด ใช้บริการงูเห่าจากฝ่ายค้านหรือไม่ ต้องรอประเมินสถานการณ์เมื่อใกล้ถึงช่วงศึกซักฟอกมาถึงเสียก่อน.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"