ใช้ชีวิตวัยเก๋าให้มีความสุข ปลูกฝังลูกหลานทำดีช่วยสังคม 


เพิ่มเพื่อน    

      ถือได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในแวดวงสตรีสังคม กระทั่งในสนามการเมืองมานานหลายสิบปี กับบทบาทสมาชิกวุฒิสภา กระทั่งตอนนี้เจ้าตัวอายุเข้าวัย 73 ปี ที่งานนี้ คุณยุวดี นิ่มสมบุญ บอกว่า ปัจจุบันทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรเพื่อสังคมอยู่หลายแห่ง นอกจากนี้ทำธุรกิจส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเคมีภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว เพราะมองว่าการทำงาน นอกจากได้เพื่อนแล้ว ยังได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศเก่าๆ หรือได้พบเจอลูกน้องเก่าๆ ในฐานะของผู้ใหญ่ที่ดูแลพวกเขาเป็นอย่างดี และคุ้นเคยกันมานาน ที่สำคัญนอกจากหน้าที่การงานที่ควรเอาเป็นแบบอย่างแล้ว ทว่าการสอนลูกหลานให้รู้จักการแบ่งปันกับเพื่อนมนุษย์ก็เป็นเรื่องที่ควรปลูกฝัง เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับ ป้านิ่ม เจ้าตัวก็ไม่ลืมบอกเล่าเก้าสิบเกี่ยวกับเคล็ดลับการดูแลสุขภาพ การทำงาน อีกทั้งการเลี้ยงดูบุตรหลานให้อยู่ในโอวาทและเป็นคนดีมาบอกกัน   

(ยุวดี นิ่มสมบุญ)

 

      คุณยุวดี บอกว่า "การดูแลจิตใจในวัยกว่า 70 ปี อันดับแรกเราต้องรู้ว่าเมื่อชีวิตผ่านมาถึงวัยนี้แล้ว เวลาของเราก็จะเหลือน้อยลงไปทุกที ดังนั้นหากว่าเรายังมีภารกิจร่วมกับผู้อื่นอยู่ ก็ให้เคารพซึ่งกันและกัน เป็นต้นว่าการขอให้ผู้อื่นช่วยทำโน่นนี่ให้เราหน่อย เนื่องจากว่าเมื่อตอนที่เรายังอยู่ในวัยหนุ่มสาว หลายคนอาจจะมองว่าเราได้ทำงานซึ่งฟันฝ่าอุปสรรคมาอย่างมากมาย และเราก็ควรได้รับเกียรติยศต่างๆ ซึ่งในมุมของพี่ไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่ส่วนตัวจะคิดอยู่เสมอว่า ตอนที่เรายังเด็กไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ถือเป็นช่วงวัยที่เรามีพลังในการทำสิ่งต่างๆ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปก็ต้องเป็นเวลาของคนรุ่นใหม่ เพื่อเข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่า เช่น ก่อนหน้านี้พี่เคยเป็นอดีตประธานสภาสตรีฯ แต่เมื่อทุกอย่างจบไปแล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่สิ่งสำคัญพี่จะเลือกจดจำในสิ่งที่ดีเอาไว้ เพราะมันจะทำให้เรารู้สึกชื่นใจกับงานที่ได้เคยทำมาก่อนค่ะ

      “ที่สำคัญเลยเราต้องมีทั้งความรักและการให้อภัยเพื่อนมนุษย์ ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่คนรอบข้างทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ ก็ขอให้คิดว่าการที่เขาทำไม่ดีกับเรานั้น แท้จริงแล้วมันอาจจะมีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นกับตัวเขาก็เป็นได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจจะแก้ไขไม่ได้จริงๆ หรือถ้ามันแก้ไขได้ก็ทำ แต่ถ้าแก้ไม่ได้ ตัวพี่เองก็จะไม่นำความรู้สึกที่ไม่ดี ไม่ให้มันมาตกตะกอนอยู่ที่เรา เพราะสุดท้ายแล้วทุกอย่างต้องปล่อยวาง และต้องใช้ชีวิตในแง่ดี สนุกกับมันในทุกๆ วัน”     

      ส่วนการเลือกอาหารนั้น ก็จะให้ความสำคัญประมาณหนึ่งค่ะ ทั้งนี้ก็เพื่อสุขอนามัยของตัวเอง เพราะพี่เป็นคนที่ติดเชื้อได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้นจึงเน้นว่านอกจากความอร่อยแล้ว ต้องปรุงอย่างสะอาดปลอดภัย มีผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบ และเวลาจะรับประทานอะไรก็จะชอบเลือกด้วยตัวเอง เพื่อที่เราจะได้รู้ว่ามันปลอดภัยกับสุขภาพของเราจริงๆ นอกจากนี้เวลาที่พี่ไปต่างจังหวัดก็มักจะชอบไปหาของอร่อยๆ ที่ขึ้นชื่อรับประทาน หรือบางครั้งก็นัดกลุ่มเพื่อนไปเที่ยว และไปรับประทานอาหารกัน หรือบางทีก็นัดไปกินข้าวกับเพื่อนเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงทำให้เราเจริญอาหาร แต่ยังเป็นวิธีการสร้างความสุขเล็กๆ ที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเองค่ะ” 

      ไล่มาที่การออกกำลังกาย ที่ปรึกษาประธานสภาสตรีฯ บอกว่า “การออกกำลังกายก็ทำตามที่คุณหมอในโรงพยาบาลแนะนำ อีกส่วนหนึ่งก็ได้มีการศึกษาจากตำราต่างๆ บวกกับการชมรายการสอนออกกำลังกายทางทีวี และที่ทำเป็นประจำอยู่ทุกวัน คือการเดินด้วยอุปกรณ์ไอวอล์ก ซึ่งเป็นการเดินออกกำลังกายอยู่กับที่ เพราะหากจะออกไปวิ่งก็กังวลว่าจะหกล้ม ดังนั้นการเดินอยู่กับที่ก็ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพดังกล่าวได้

      ขณะที่การทำงานช่วงหลังวัยเกษียณ คุณยุวดี บอกว่า “ทุกวันนี้ยังทำงานอยู่ แต่อาจจะเบาลงมา โดยให้ลูกๆ เข้ามาช่วยทำธุรกิจที่เกี่ยวกับกับเคมีภัณฑ์ก่อสร้าง และมีโรงงานผลิตเอง ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวที่ทำมาประมาณ 40-50 ปี ดังนั้นเมื่อเรามอบหมายให้ลูกๆช่วยดูแล ตัวเองก็จะไม่เข้าไปวุ่นวายมากนัก เพราะเรื่องนี้เป็นงานของคนรุ่นใหม่ที่เราให้เขาทำแล้ว อีกทั้งเนื่องจากเรามีประสบการณ์ส่วนตัวอย่างการเป็น ส.ว.มาก่อน ซึ่งบางครั้งสิ่งที่คิดว่าใช่ แต่อันที่จริงแล้วมันไม่ใช่ ซึ่งตอนแรกก็จะรู้สึกงง แต่ตอนหลังก็เริ่มปรับตัวได้ไม่งง ดังนั้นถ้าอะไรมันไม่ใช่เราก็ต้องปล่อยวาง และมีความสุขกับชีวิตตามอัตภาพของเราไป นอกจากนี้พี่ก็ยังทำงานเป็นที่ปรึกษาสภาสตรีฯ และที่ปรึกษาสภาสังคมสงเคราะห์ฯ และทำงานที่บริษัทด้านเคมีภัณฑ์ก่อสร้างของตัวเองอย่างที่บอกไป คือทุกวันนี้ก็ยังเข้าไปบริษัทอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง ไปเจอลูกน้องเก่าๆ ที่ทำงานด้วยกันมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ก็ไปเลี้ยงข้าวเขา กินข้าวด้วยกัน พูดคุยกัน ส่วนหนึ่งเพื่อให้เขารู้สึกว่ามีผู้ใหญ่ที่ยังห่วงใยเข้าไปดูแลเขาอยู่”

      ปิดท้ายกันที่ ป้านิ่ม ฝากบอกไปยังลูกหลานว่า “เนื่องจากมีลูกชาย 2 คน และมีครอบครัวแล้วทั้งคู่ ในฐานะคนเป็นแม่ก็อยากบอกว่า อยากให้ลูกๆ ทำสิ่งที่ดีๆ ให้กับทั้งครอบครัวและสังคม รวมถึงประเทศและเพื่อนมนุษย์ และสิ่งที่ตัวพี่ปลูกฝังลูกตลอด คือการทำบุญทำทานให้มากที่สุด และปลูกฝังเขาตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ 1-2 ขวบ โดยเฉพาะเวลาที่ไปโบสถ์ เนื่องจากนับถือศาสนาคริสต์ ก็จะให้เด็กๆ นำเงินไปหยอดกล่องรับบริจาคไม่ว่าจะเป็น 5 บาท 10 บาท ก็ให้ทำสิ่งเหล่านี้จนเป็นนิสัยค่ะ”.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"