จับอาการตั้งรับ'ธนาธร-อนค.' ก่อนรู้ผลมติศาลรธน.20พ.ย.


เพิ่มเพื่อน    

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่ มีการเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในช่วงนับถอยหลัง ก่อนจะถึงวันพุธที่ 20 พ.ย. ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดลงมติและอ่านคำวินิจฉัยกลางในคำร้องคดีถือหุ้นสื่อก่อนการเลือกตั้งของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่”

                ซึ่งมติก็จะออกมาตั้งแต่ช่วงเช้าวันพุธที่ 20 พ.ย.แล้ว แต่ตุลาการศาล รธน.ทั้งหมด ก็ต้องใช้เวลาในการเขียนคำวินิจฉัยกลางประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อนำไปอ่านในห้องพิจารณาคดีของศาล รธน.ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ตามที่ได้นัดหมายผู้ร้องคือฝ่าย กกต. และฝ่ายผู้ถูกร้องคือนายธนาธร ซึ่งก็มีคำยืนยันอย่างเป็นทางการมาแล้วว่าวันดังกล่าวธนาธรจะเดินทางไปฟังการอ่านคำวินิจฉัยกลางด้วยตัวเอง

                การขยับในช่วงนับถอยหลังของธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ ก็คือการที่ ธนาธร มอบหมายให้ทีมทนายความไปยื่นฟ้องเอาผิด 7 กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คน ต่อศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ในวันเดียวกันคือ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ในข้อหาประพฤติมิชอบ โดยยกกรณี กกต.มีการเร่งรัดสรุปสำนวนเพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่รอให้การไต่สวนของอนุกรรมการฯ ที่ กกต.ตั้งขึ้น ดำเนินการจนจบสิ้นกระบวนความ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อ ธนาธร เพราะทำให้ถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และมีผลต่อชื่อเสียงของธนาธร

                โดยมีรายงานว่าหลัง ธนาธร มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปยื่นฟ้องดังกล่าว ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้นัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 3 ธ.ค.2562

                ทั้งนี้ “น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่” ระบุไว้ก่อนถึงวันตัดสินของศาล รธน.ว่า คาดว่าในวันที่ 20 พฤศจิกายน จะมีมวลชนมาให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง

                “ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร คงไม่ถึงขั้นลงท้องถนนกัน  แต่ก็คงจะมีอารมณ์กันนิดหน่อย แต่คงไม่ถึงขั้นลุกลามบานปลายอะไร”

                ทั้งนี้ ผลการลงมติของตุลาการศาล รธน. จะออกมาได้แค่สองทาง สองสูตรเท่านั้น คือ

                1.ยกคำร้อง ซึ่งก็คือศาล รธน.วินิจฉัยว่า ธนาธรไม่ได้ถือหุ้นสื่อบริษัทวีลัคมีเดียฯ ก่อนยื่นสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ต่อสำนักงาน กกต. เมื่อ 4 ก.พ.

                จึงไม่ขาดคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) จากนั้นศาล รธน.ก็จะแจ้งผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.ไปยังประธานสภาฯ ทันที และทำให้ธนาธรเดินกลับเข้าห้องประชุมสภาฯ ได้อีกครั้ง หลังที่ผ่านมาเป็นได้แค่หัวหน้าพรรคนอกห้องประชุมสภาฯ

                2.ศาล รธน.วินิจฉัยให้ธนาธรพ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.

                ซึ่งก็คือการที่เสียงส่วนใหญ่ของตุลาการศาล รธร.มองว่า บริษัทวีลัคมีเดียฯ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจสื่อ และยังคงประกอบการ จนถึงช่วงที่ธนาธรยื่นสมัครรับเลือกตั้ง โดยธนาธรได้ถือครองหุ้นบริษัทวีลัคฯ ตามเอกสารหนังสือบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือ บอจ.5 ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพราะยังปรากฏชื่อธนาธรเป็นผู้ถือหุ้น ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2562 จึงเท่ากับตอนที่ไปยื่นสมัครลงเลือกตั้งเมื่อ 4 ก.ย. ตัวธนาธรยังคงถือหุ้นไว้อยู่

                ซึ่งถ้าคำวินิจฉัยของศาล รธน.ออกมาโทนนี้ นั่นหมายถึง เสียงส่วนใหญ่ของตุลาการศาล รธน.เชื่อว่าธนาธรไม่ได้มีการโอนหุ้นบริษัทวีลัคฯ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ตามที่ ธนาธร เบิกความต่อศาล รธน.

                หากผลคำวินิจฉัยออกมาในสูตรดังกล่าว ก็หมายถึง ธนาธร ต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส.อย่างเป็นทางการ ไม่ใช่แค่หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นก็จะต้องมีการเลื่อนผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค อนค.ลำดับถัดไป ขึ้นมาแทน ธนาธร ต่อไป แต่ ธนาธร ก็ยังสามารถเป็นหัวหน้าพรรค อนค.ได้อีก และยังคงเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2563 อย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อีกทั้งหากมีการยุบสภาฯ ธนาธรก็ยังลงสมัครรับเลือกตั้งได้ต่อไป

                สำหรับที่มีกระแสข่าวต่างๆ ก่อนหน้านี้ เช่น ธนาธรอาจจะลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรค อนค. เรื่องดังกล่าวผู้คนในพรรค อนค.ก็มองว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นได้ เพราะคนในพรรค อนค.ก็ประเมินว่าสภาฯ ชุดนี้คงอยู่ไม่ครบเทอม ยังไงก็ต้องมีการยุบสภาฯ ก่อนครบสี่ปี และตัวของธนาธรวางบทบาทไว้ที่การเมืองระดับชาติ เช่นการเป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวแก้ไข รธน. ดังนั้น หากจะเปลี่ยนเส้นทางการเมืองไปลงท้องถิ่น  คงไม่เป็นผลดีต่อพรรค อนค.แน่นอน

                ส่วนผลพวงต่อจากนั้น หากศาล รธน.ตัดสินให้ ธนาธร  ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.แล้วจะมีผลอะไรตามมา ทั้งหมดก็ต้องไปดูที่ "ถ้อยคำในคำวินิจฉัยกลางของศาล รธน." ว่ามีการระบุเหตุผลที่เชื่อว่าธนาธรถือหุ้นก่อนลงเลือกตั้งฯ อย่างไร  โดยหากมีการระบุในลักษณะว่า ศาล รธน.เชื่อหรือเห็นว่าธนาธรมีเจตนาหรือจงใจในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่รู้ว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ เพราะถือหุ้นสื่อก่อนเลือกตั้ง อันเท่ากับเป็นการทำผิด พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.

                ก็ต้องดูกันต่อไปว่า กกต.จะขยายผลจากคำวินิจฉัยดังกล่าวหรือไม่ เพราะ พ.ร.บ.เลือกตั้งมาตรา 151 มีการบัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทําหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดยี่สิบปี”

                “ธนาธร” จะรอดหรือไม่รอด เสียงส่วนใหญ่ของตุลาการศาล รธน.จะลงมติออกมาแบบไหน จุดสำคัญคงไม่พ้นตัวคำวินิจฉัยกลางของศาล รธน. เพราะหากทุกบรรทัด ทุกตัวอักษร อธิบาย มติ-เหตุผล-ข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย ในการตัดสินของศาล รธน.ได้ แบบเคลียร์ทุกประเด็น

                หากเป็นแบบนี้ไม่ว่าผลคดี ธนาธรจะออกมาแบบไหน กองเชียร์ ธนาธรและกลุ่มไม่หนุน ธนาธร-อนค.ก็ยากที่จะไม่ยอมรับคำวินิจฉัย แม้อาจไม่ถูกใจก็ตามที. 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"