มติ 7 ต่อ 2 ธนาธร มีพิรุธ 3 ปมสำคัญ ตอกฝาโลงฉากสองหนักอาจพักยาว 20 ปี!


เพิ่มเพื่อน    

 

ประเด็นสำคัญในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 20 พ.ย.ที่มีมติ 7 ต่อ 2 ให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พ้นจากการเป็น ส.ส. ก็คือการที่ศาล รธน.เห็นว่า ข้อต่อสู้ทางคดีของธนาธร ที่อ้างว่าได้มีการโอนหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เมื่อ 8 ม.ค.2562 ก่อนยื่นเอกสารลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อ 6 ก.พ.2562 เป็นนิติกรรม ที่มี ข้อพิรุธหลายประการ

 

โดยเมื่อศาล รธน.ชี้ประเด็นไว้ว่า กระบวนการไต่สวนของ กกต.ที่ยื่นเรื่องมายังศาล รธน.ให้ตัดสิทธิ์การเป็น ส.ส.ของธนาธร ทำโดยชอบด้วยกฎหมาย และบริษัท วี-ลัคฯ แม้จะมีการเลิกจ้างพนักงาน ปิดกิจการไปเมื่อ พ.ย.2561 แต่บริษัท วี-ลัคฯ ที่แจ้งวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่อ  ซึ่งการผลิตนิตยสารของบริษัทจึงเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ดังนั้น แม้ธนาธรจะอ้างว่าบริษัทวี-ลัคฯ ได้เลิกกิจการไปแล้วแต่ศาลเห็นว่ายังไม่มีการจดทะเบียนแจ้งยกเลิกกิจการ จึงสามารถประกอบการกิจการอีกเมื่อใดก็ได้ จึงย่อมถือว่าบริษัท วี-ลัคฯ ยังเป็นนิติบุคคลที่ยังทำกิจการสื่ออยู่

 

ไฮไลต์สำคัญที่เป็น ปมตอกฝาโลง ให้ธนาธรพ้นจากการเป็น ส.ส.ก็คือ การที่ศาล รธน.ชี้ว่า ข้ออ้างการโอนหุ้นก่อนลงเลือกตั้งของธนาธรมีข้อพิรุธหลายประการ สรุปได้ดังนี้

 

1.การยื่นเอกสารสมุดบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นหรือ บอจ.5 ของบริษัท วี-ลัคฯ ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่มีการโอนหุ้นระหว่างธนาธร กับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา รอบสุดท้าย มีความล่าช้าผิดปกติ

 

โดยศาล รธน.ระบุว่าได้ตรวจสอบย้อนหลัง 3 ปีก่อนหน้านี้พบว่า บริษัท วี-ลัคฯ ทุกครั้งหลังมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ทางบริษัทจะมีการส่งเอกสารให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอย่างรวดเร็ว โดยจะใช้เวลาในการยื่นเอกสารหลังมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นแค่ 42-45 วัน แต่การโอนหุ้นของธนาธรกับนางสมพรที่อ้างว่าโอนเมื่อ 8 ม.ค. กลับไม่มีการปฏิบัติให้รวดเร็วแบบเดียวกัน

 

ศาล รธน.จึงระบุว่าเป็นความล่าช้าที่ผิดปกติ ทั้งที่หากมีการโอนหุ้น 8 ม.ค. การเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นรอบนี้จะมีความสำคัญมากกว่าทุกครั้ง เนื่องจากตัวธนาธรจะลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว เมื่อมีการโอนหุ้นให้นางสมพรแล้ว จึงควรต้องรีบแจ้งโดยเร็ว เพราะหากทำล่าช้าจะต้องขาดคุณสมบัติการลงเลือกตั้ง อีกทั้งในความเป็นจริงก็สามารถส่ง บอจ.5 ดังกล่าวทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบริษัท วี-ลัคฯ ก็เคยทำในการส่งงบดุลช่วงปี พ.ศ.2559-2561

 

2.การขึ้นเช็คที่นางสมพรจ่ายเป็นค่าโอนหุ้น หลังได้รับหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ จากธนาธรและนางรวิพรรณ ภรรยา วงเงิน 6,750,000 บาท

 

คำวินิจฉัยชี้ประเด็นไว้ว่า การขึ้นเช็คดังกล่าวใช้เวลานานผิดปกติ แตกต่างจากที่ผ่านมา เพราะนางรวิพรรณนำเช็คไปขึ้นเงินเมื่อเดือน พ.ค.2562 หลังอ้างว่า จ่ายเช็คทันทีในตอนรับโอนหุ้นเมื่อ 8  ม.ค. ทั้งที่เป็นเช็คซึ่งสามารถมอบอำนาจให้คนอื่นไปดำเนินการแทนได้หรือนำเช็คเข้าบัญชีธนาคารของตัวเองในวันรุ่งขึ้น 9 ม.ค.ก็ยังทำได้ ไม่จำเป็นต้องรอถึงสี่เดือนกว่า คือเดือน พ.ค. ถึงค่อยนำเช็คไปขึ้นเงิน ฯ

 

ศาลจึงเห็นว่า ข้ออ้างของนางรวิพรรณตอนมาเบิกความต่อศาล รธน.ว่า ที่ทำธุรกรรมเช็คดังกล่าวล่าช้าเพราะอยู่ระหว่างการเลี้ยงดูลูกที่เพิ่งคลอด จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้

 

3.การโอนหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ ของนางสมพร ที่อ้างว่าหลังรับซื้อหุ้นมาจากธนาธร ต่อมาโอนให้กับ ทวี จรุงสถิตพงศ์ หลานชาย แต่กลับพบว่าการโอนหุ้นรอบดังกล่าวกลับไม่มีการจ่ายเงินค่าหุ้นให้แก่กัน อันจะเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ได้จริงถึงช่วงเวลาการโอนหุ้น อีกทั้งเอกสารต่างๆ ที่ต่อมาฝ่ายธนาธร นำมาสู้คดีว่านางสมพรโอนหุ้นให้หลาน ก็เป็นเอกสารของบริษัท วี-ลัคฯ ที่ทำย้อนหลังได้

 

ที่สำคัญ ศาล รธน.ระบุตอนหนึ่งสรุปความได้ว่า นางสมพรรับโอนหุ้นจากธนาธร ที่เป็น บุตรชาย แต่นางสมพรกลับต้องจ่ายเงินให้ ธนาธร-ลูกชาย หกล้านกว่าบาท แต่นางสมพรกลับอ้างว่าได้โอนหุ้นให้กับหลาน โดยหลานไม่ต้องจ่ายค่าหุ้นให้ จึงย้อนแย้งกับการที่นางสมพรต้องจ่ายเงินหกล้านกว่าบาทให้กับธนาธร ที่เป็นลูกแท้ๆ

 

ศาล รธน.จึงเห็นว่าการโอนหุ้นดังกล่าวมีข้อพิรุธหลายจุด หลายประการ ทำให้ธนาธรต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.

 

และเมื่อผลคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปก็คือ จากผลคำวินิจฉัยดังกล่าวที่มีหลายวรรคหลายตอนระบุไว้ว่า การทำนิติกรรมโอนหุ้นดังกล่าวของธนาธรมีพิรุธ จึงต้องรอดูว่าฝ่าย กกต.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะท่าทีของฝ่าย กกต.ก็พบว่า คนในสำนักงาน กกต.อย่าง พ.ต.อ.จรุงวิทย์  ภุมมา เลขาธิการสำนักงาน กกต. ก็ระบุชัดว่า กกต.จะดำเนินการสอบสวนกรณีของธนาธรต่อไป ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ มาตรา 151

 

ทั้งนี้ มาตรา 151 ที่บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 20 ปี"

 

หากสุดท้าย กกต.เห็นว่า ธนาธรมีเจตนาทำผิดตามมาตรา 151 แล้วส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ตัวธนาธรก็ต้องไปสู้คดีในชั้นศาลดังกล่าวต่อไป

 

เดิมพันรอบต่อไปจึงสาหัสกว่าตอนสู้คดีในชั้นศาล รธน.หลายเท่า เพราะของศาล รธน.ก็แค่พ้นจากการเป็น ส.ส. แต่หากส่งไปถึงศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งแล้วเกิดแพ้ อาจถึงขั้นต้องออกจากการเมืองยาว 20 ปี หรือโดนโทษอาญาจำคุกกันเลยทีเดียว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"