ลงทุนอีอีซีหนุนดีมานด์โลจิสติกส์


เพิ่มเพื่อน    

 

“รัฐบาลควรทำให้มีการลงทุนจริงเกิดขึ้น เพราะหากมีการลงทุนต่างๆ มีโรงงานมาเซตอัพ ก็จะเกิดดีมานด์ในกลุ่มโลจิสติกส์ ทั้งการขนส่งรอแมททีเรียลและการขนส่งสินค้าออกนอกประเทศ ต้องดูว่ามีการลงทุนจริงๆ เมื่อไหร่ รวมถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถทำให้ระบบการขนส่งลื่นไหล่กว่าเดิม และลดต้นทุนทางด้านการขนส่ง ถามว่าเกิดไหมคงเกิด แต่ต้องใช้เวลาสักหน่อย”

ลงทุนอีอีซีหนุนดีมานด์โลจิสติกส์

        หากโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการลงทุนเกิดขึ้นในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้เร็วมากเท่าไหร่ ย่อมทำให้หลายอุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์ และมีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย โดยหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นธุรกิจบริการขนส่งหรือโลจิสติกส์ เนื่องจากเป็นตัวแปรในการนำสินค้าเข้าและส่งออกแก่บริษัทต่างๆ ที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว

        สำหรับ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร (International Logistics Services and Solutions Provider) ทั้งการนำเข้าและการส่งออกโดยการขนส่งทั้งทางทะเล (แบบเต็มตู้และแบบไม่เต็มตู้) ทางอากาศและการให้บริการด้านพิธีการศุลกากรและการขนส่งในประเทศเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า

        พร้อมกันนี้ ยังทำการให้บริการขนส่งสินค้าแบบประตูสู่ประตู (Door to Door) คือการให้บริการรับจัดการขนส่งระหว่างประเทศ ตั้งแต่หน้าประตูโรงงานลูกค้าต้นทางเพื่อส่งมอบไปยังหน้าประตูโรงงานลูกค้าปลายทาง โดยผู้ส่งออกเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าขนส่งและแบบ Exwork คือการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตั้งแต่หน้าประตูโรงงานผู้ส่งออกเพื่อส่งมอบไปจนถึงมือผู้รับปลายทาง โดยผู้นำเข้ารับผิดชอบภาระค่าขนส่ง

ลงทุนอีอีซีหนุนโลจิสติกส์

(ชูเดช คงสุนทร)

        นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเองก็มีลูกค้าที่อยู่ในเขตภาคตะวันออกค่อนข้างมาก หรือนับว่าเป็นกลุ่มหลักเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งมีโรงงานผลิตอยู่ทางแถบภาคตะวันออก แน่นอนว่าการที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว จะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งยังจะช่วยทำให้อีอีซีและพื้นที่แห่งนี้ได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากขึ้น จากนั้นก็จะทำให้ความต้องการขนส่งเพิ่มตามไปด้วย บริษัทมองว่าหากอีอีซีสามารถเดินหน้าและเกิดการลงทุนจากผู้ประกอบการ ก็ย่อมเป็นผลดีกับบริษัทเอง เนื่องจากได้ให้บริการในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว จึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับการให้บริการ เมื่อมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น อาทิ ลานรถ ลานคอนเทนเนอร์ คลังสินค้า และออฟฟิศ

        “รัฐบาลควรทำให้มีการลงทุนจริงเกิดขึ้น เพราะหากมีการลงทุนต่างๆ มีโรงงานมาเซตอัพ ก็จะเกิดดีมานด์ในกลุ่มโลจิสติกส์ ทั้งการขนส่งรอแมททีเรียลและการขนส่งสินค้าออกนอกประเทศ ต้องดูว่ามีการลงทุนจริงๆ เมื่อไหร่ รวมถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถทำให้ระบบการขนส่งลื่นไหล่กว่าเดิม และลดตุนทุนทางด้านการขนส่ง ถามว่าเกิดไหมคงเกิด แต่ต้องใช้เวลาสักหน่อย”

ปรับตัวรับปัจจัยลบ

        นายชูเดช กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งออกที่ปีนี้ไม่ค่อยดี  ซึ่งบริษัทเองทำโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ แน่นอนว่าดีมานด์ของการนำเข้าและส่งออกสินค้าย่อมเป็นปัจจัยสำคัญต่อธุรกิจของบริษัท ขณะเดียวกันสงครามการค้าและค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ก็มีส่วนต่อการส่งออกของประเทศไทยเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าบางอุตสาหกรรมของไทยได้รับปัจจัยลบจากเทรดวอร์ เพราะธุรกิจมีซัพพลายเชนหลายอย่างที่สามารถมีผลกระทบเชื่อมต่อกัน

        จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้บริษัทวางแผนขยายงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม โดยวางแผนเจาะตลาดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจของประเทศ จาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve) อาทิ  อุตสาหกรรมการบิน (Aerospace) และสินค้านำเข้าธุรกิจค้าปลีก (Retail Market) เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต จากก่อนหน้านี้บริษัทรับงานขนส่งในกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทชิ้นส่วนรถยนต์ (Auto Parts) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก

        นอกเหนือจากการหาธุรกิจใหม่แล้ว บริษัทยังมองว่าจากการที่ค่าเงินบาทแข็งนั้น ทำให้การนำเข้าสินค้ายังคงเป็นไปได้ดี เพราะในความเป็นจริงแล้วคนนำเข้าจะได้ประโยชน์จากค่าเงินดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะทำการเน้นนำเข้ามากขึ้น จากผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าต่างๆ ที่มาผลิตแล้วจำหน่ายต่อ นับว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างน่าสนใจกลุ่มหนึ่ง

มาตรการรับมือเทรดวอร์

        นายชูเดช กล่าวต่ออีกว่า บริษัทมองว่าภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ในปัจจุบันเกิดการชะลอตัวลง จากการค้าการขนส่งระหว่างกันของจีนและสหรัฐ ทำให้ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ทุกแขนงต่างได้รับผลกระทบ รวมถึงบริษัทด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มองเห็นถึงปัญหา จึงมีมาตรการป้องกันและกระจายความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อธุรกิจมาโดยตลอด

        “แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมจะยังไม่สดใส แต่บริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ จากการที่จีนย้ายฐานผลิตและกระจายการค้าการลงทุนมายังประเทศแถบเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่บริษัทได้วางกลยุทธ์เข้าไปขยายตลาดในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วก่อนหน้านี้ ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการขนส่งโลจิสติกส์ระหว่างประเทศของบริษัทในตลาดจีน ทำให้บริษัทมีโอกาสในการขยายฐานลูกค้าในจีนมากขึ้น และมีโอกาสรับงานขนส่งขาไปและขากลับได้ ส่งผลให้มีปริมาณงานในจีนเพิ่มขึ้น และบริษัทยังพยายามหาช่องทางการขนส่งในตลาดใหม่ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่หลากหลายในจีน เพื่อเพิ่มปริมาณงานให้มากยิ่งขึ้น”

ลุยส่งข้ามแดนขากลับ

        ขณะเดียวกัน บริษัทพยายามทำขนส่งข้ามแดน (Cross Border Transport Services) แต่ในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่างานส่วนใหญ่จะเป็นขาเดียว ทำให้กระทบรายได้ รวมถึงยังต้องลงทุนเยอะ ต้องมีอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูง มองว่าในส่วนนี้ต้องหาสินค้าขนส่งกลับมากขึ้น โดยทำการเพิ่มความสามารถการทำกำไร ลงทุนสั่งทำตู้ควบคุมอุณหภูมิขนาดพิเศษ 45 ฟุต จำนวน 20-30 ยูนิต มูลค่าลงทุน 20-30 ล้านบาท เพื่อรองรับงานขนส่งข้ามแดนขากลับให้มากขึ้น จากเดิมที่มีการรับงานขนส่งข้ามแดนขาไปกว่า 90% ขณะที่งานขากลับอยู่ที่ 10% ซึ่งเบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะสามารถบริหารจัดการสัดส่วนรับงานขากลับให้อยู่ที่ 50% ภายในไตรมาส 4/62

        “นับเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมากกับการขนส่งสินค้าข้ามแดน ซึ่งการเทรดของออกไปและเข้าแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน บริษัทจึงพยายามทำโซลูชั่นและทำตู้ขนาดพิเศษมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ ยกตัวอย่างเช่น หากมีงานลงไปสิงคโปร์ที่เป็นกลุ่มเดลี่โปรดักส์ แต่ขากลับไม่มีของเย็น ก็อาจจะใส่ของเหมือนขาไปไม่ได้ เลยต้องไปผลิตตู้ใหม่ รองรับของขากลับขึ้นมา เพื่อทำของทั้งขาไปและขากลับ ซึ่งแน่นอนว่าการลงทุนค่อนข้างสูง แต่มองว่าเป็นการลงทุนระยะยาว”

ตั้งบริษัทใหม่เสริมรายได้

        ล่าสุด บริษัทได้จัดตั้งบริษัทย่อยชื่อ "บริษัท ไวส์ ซัพพลายเชน โซลูชั่นส์ จำกัด" (WICE Supply Chain Solutions Co.,Ltd) ชื่อเดิมคือ บริษัท ซันเอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด  ซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือน ต.ค.2562 บริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนจำนวน 13,500,000 บาท ซึ่ง WICE ถือหุ้น 99.99% ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ให้บริการทางด้านการบริหารจัดการคลังสินค้า เคลื่อนย้ายสินค้าภายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการคลังสินค้าในพื้นที่ของลูกค้า พร้อมทั้งเป็นผู้ให้คำปรึกษาในด้านการบริหารจัดการภายในคลังสินค้าอีกด้วย

        “การจัดตั้งบริษัทย่อยในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายงานและยกระดับการบริการของ WICE ทำให้สามารถเพิ่มยอดขายจากงานบริการใหม่ๆ พร้อมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยงานบริการด้านต่างๆ และยังสร้างประโยชน์ให้ลูกค้าได้มีทางเลือกในการใช้บริการที่ครบวงจร โดยตั้งเป้ารับรู้รายได้ปีละ 100 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นไป”

        ขณะที่แผนการดำเนินงานช่วงต่อจากนี้ไปจะเป็นปีแห่งผลลัพธ์ที่ดีทั้งด้านรายได้และอัตรากำไร หลังจากที่บริษัทลงทุนเข้าไปขยายธุรกิจเพิ่มในตลาดจีน ผ่านเครือข่ายสาขาของ WICE ทั้ง WICE Logistics (Singapore) Pte.Ltd. (WICE SG), WICE Logistics (Hong Kong) Ltd. (WICE HK ), EUROASIA TOTAL LOGISTICS CO., LTD. (ETL) และ WICE Logistics (Shenzhen) Company Ltd. (WICE SZ) ด้วยแผนการร่วมโปรโมตงานบริการทุกรูปแบบในตลาดจีนและฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เซินเจิ้น โดยเฉพาะงานบริการขนส่งข้ามชายแดน (Cross border

        นายชูเดช กล่าวปิดท้ายว่า ภาพรวมธุรกิจปี 2562 ของ WICE บริษัทเชื่อมั่นว่ารายได้รวมทั้งปีจะเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่ 25% หรืออยู่ที่ 2,200 ล้านบาท และเป็นการสร้างสถิติการเติบโตสูงสุดต่อเนื่อง ตามแนวโน้มปริมาณงานภาคขนส่งในประเทศและต่างประเทศเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดในจีนมีปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น และไตรมาส 3/62 เป็นช่วงเข้าสู่ไฮซีซั่นต่อเนื่องจนถึงปลายปี ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น และธุรกิจโลจิสติกส์มีความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นตาม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"