รอยปริแยกใน 'พรรคร่วมรัฐบาล' กับข่าวลือรับเลี้ยง 'งูเห่า' เพื่อไทย


เพิ่มเพื่อน    

      รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำและมาจากหลากพรรค เริ่มสำแดงเดชกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังเพลี่ยงพล้ำให้กับฝ่ายค้าน ในการลงมติในญัตติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการใช้อำนาจ ตามมาตรา 44 จนนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เสนอให้นับคะแนนใหม่ โดยการขานชื่อ

      ถือเป็น “แท็กติก” ที่ฝ่ายรัฐบาลนำมาแก้เกม เพราะในข้อ 85 ของข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กำหนดให้สามารถนับคะแนนใหม่ได้ หากคะแนนระหว่างฝ่ายเห็นชอบกับไม่เห็นชอบห่างกันไม่เกิน 25

      เพียงแต่ทุกคนรู้ว่า เหตุที่เสนอแบบนี้เพราะฝ่ายรัฐบาลพลาดท่า ฝ่ายค้านจึงแก้เกมกลับด้วยการวอล์กเอาต์ ทำให้ไม่สามารถนับคะแนนใหม่ได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบตามที่ข้อบังคับกำหนด

      ญัตติที่เสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ จึง “ติดหล่ม” และเป็นเหตุให้ญัตติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งต่อแถวรออยู่ สะดุดไปด้วย

      นายวิรัช ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เตรียมจะนำญัตติดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 4 ธันวาคม โดยระบุเหมือนเชิงขู่ว่า หากญัตตินี้ไม่ผ่าน ญัตติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการฯ ชุดศึกษารัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายค้านต้องการอย่างมากก็ไปไม่ได้

      ต้องรอดูว่า ที่สุดวิปรัฐบาลกับวิปฝ่ายค้านจะประนีประนอมกันอย่างไร แต่ที่แน่ๆ สัญญาณจากผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีนั้นชัดว่า “แพ้ไม่ได้”

       เพราะประเมินแล้วว่า หากปล่อยให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ได้ขึ้นมา ตัว พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะถูกเรียกไปชี้แจงและให้ข้อมูลกับสภาอย่างไม่หยุดหย่อน

      หนักยิ่งกว่าที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ใช้อำนาจคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร พยายามตื๊อ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร

      อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตให้กับฝ่ายค้าน แต่เป็นครั้งที่ 3 แล้วนับตั้งแต่เปิดสมัยประชุมสภาฯ โดย 2 ครั้งที่ผ่านมา

      ครั้งแรก คือการลงมติในร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 9 (1) ว่าด้วยการทำหน้าที่ของประธานในที่ประชุม และครั้งที่สอง พ่ายแพ้ในการลงมติข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 13 ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร (1) สภาสิ้นอายุ หรือสภาถูกยุบ หรือไม่มีสภาเพราะเหตุอื่นใด โดย กมธ.เสียงข้างน้อย ได้แก่ นายอดิศร เพียงเกษ และนายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ขอสงวนความเห็นให้ตัดคำว่า "หรือไม่มีสภาเพราะเหตุอื่นใด" เนื่องจากเป็นคำที่สะท้อนให้นึกถึงการยึดอำนาจหรือการรัฐประหาร

      โดยทั้ง 2 ครั้งเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

      ปัญหาของฝ่ายรัฐบาลตอนนี้ นอกจากเสียงที่ปริ่มน้ำแล้ว โดยปัจจุบันฝ่ายรัฐบาลมีจำนวน 253 เสียง ฝ่ายค้าน 244 เสียง และฝ่ายค้านอิสระ 2 เสียง

      อีก 1 เสียงที่หายไปคือ นายนวัธ เตาะเจริญสุข อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ที่ถูกศาลขอนแก่นพิพากษาประหารชีวิต และไม่ได้รับการประกันตัว จนพ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดการเลือกตั้งซ่อม ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 ธันวาคม

      ใน 253 เสียงของรัฐบาล ยังต้องตัด 3 เสียงของประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาฯ คนที่ 1 และรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ออกไป เพราะต้องงดออกเสียง

       ทำให้เหลือ 250 เสียง มีช่องว่างกับฝ่ายค้านอยู่ 6 ที่นั่ง และในจำนวน 250 เสียงดังกล่าว ยังเป็น ส.ส.ที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีถึง 18 คน

      ซึ่งแม้ที่ผ่านมารัฐมนตรีเหล่านี้จะพยายามเข้ามาประชุมสภาฯ เพื่อทำหน้าที่ ส.ส. แต่บ่อยครั้งหลายคนก็ติดภารกิจทำให้ไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ เช่น ครั้งนี้ที่แพ้ให้กับฝ่ายค้าน มี ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรี 1 คน คือ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ติดภารกิจไปต่างประเทศกับนายกรัฐมนตรี

       นอกจากนี้ ปัญหาเสถียรภาพในรัฐบาลก็มักจะส่งผลต่อการทำงานในสภาฯ โดยเฉพาะการพิจารณาวาระสำคัญๆ

      มีการ “เอาคืน–แก้เผ็ด” กัน อย่างในครั้งนี้ที่มี ส.ส.ประชาธิปัตย์ 6 คน ลงมติเห็นด้วยไปทางเดียวกับฝ่ายค้านที่จะให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ แม้โดยหลักญัตตินี้จะมีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอ ย่อมต้องลงมติเห็นด้วย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ถึง 6 เสียง ซึ่งมันชี้ขาดผลแพ้–ชนะได้เลย

      จนถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการเอาคืนหลังพรรคพลังประชารัฐที่พยายามสกัดไม่ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและหาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

      ขณะเดียวกัน การทำงานระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐ ในฝ่ายบริหารก็ดูกระท่อนกระแท่น โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ต่างคนต่างสร้างอาณาจักรของตัวเอง

      ไม่ใช่แค่พรรคสีฟ้า ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคภูมิใจไทย ก็มีกลิ่นความไม่ลงรอยในบางเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่าคนในรัฐบาลร่วมมือกับสื่อค่ายดัง เพื่อโจมตีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหมายมั่นจะเอากระทรวงราชรถคืน

      หรือแม้แต่ล่าสุดที่มีการพลิกมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ให้ยกเลิกสารพิษทางการเกษตร 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส มาเป็นขยายระยะเวลาการใช้ออกไปก่อน จนพรรคภูมิใจไทยไม่พอใจ

      ซึ่งทั้งหมดมักจะมีอาฟเตอร์ช็อกไปยังสภาฯ อยู่เสมอ

      จึงไม่แปลกที่ตอนนี้จะมีข่าวลือออกมาว่า "บิ๊กรัฐบาล”  รับเลี้ยง “งูเห่า” จำนวน 20 ตัว จากพรรคเพื่อไทย

      เพราะก็เห็นแล้วว่า ในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ก็ไว้วางใจไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"