รัฐบาลไร้เสถียรภาพ-สภาโรงเหล้าเถื่อน ฉุดการเมืองไทยจมดิ่งความขัดแย้ง


เพิ่มเพื่อน    

        การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติด่วนเรื่องการให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (มกธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 องค์ประชุมสภาไม่ครบ ทำให้สภาล่มติดต่อกันถึง 2 ครั้ง

        สะท้อนถึงปัญหารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำเริ่มมีปัญหาเสถียรภาพอย่างที่มีการคาดการณ์  และจะส่งผลกระทบกับองคาพยพอื่นๆ ตามมา

         โดยการประชุมสภาผู้แทนฯ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากมีการโหวตลงมติว่าจะให้ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจาก คสช. ผลคะแนนพลิกล็อกเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ด้วยคะแนน 234 ต่อ 230 งดออกเสียง 2 และไม่ลงคะแนน 1 (ลงชื่อเพิ่มภายหลังเป็น 236 ต่อ 231 งดออกเสียง 2 เสียง)

        แต่ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล รีบแก้เกมทันทีด้วยการเสนอให้นับคะแนนใหม่ โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ในฐานประธานที่ประชุม อ้างบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 85 ในกรณีมีคะแนนแพ้ชนะกันไม่เกิน 25 เสียง แต่การลงคะแนนใหม่ต้องใช้วิธีการขานชื่อทีละคน ทำให้ฝ่ายค้านไม่พอใจ เกิดการประท้วงกันวุ่นวาย บางคนตะโกนเสียงดังต่อว่าด้วยความไม่พอใจ จน นายชวน ต้องเตือนว่า "ให้รักษามารยาทด้วย สภาไม่ใช่โรงเหล้าเถื่อน" ขณะที่ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอนับองค์ประชุม แต่ ส.ส.ฝ่ายค้าน กลับเดินออกจากห้องประชุม จากนั้นนายชวนขานองค์ประชุมเหลือเพียง 82 เสียง จึงสั่งปิดการประชุม   

        ในส่วนของผลโหวต 236 ต่อ 231 งดออกเสียง 2 เสียง ปรากฏว่า มี ส.ส. 33 คน ไม่ได้มาร่วมโหวต ที่น่าสนใจ เสียงข้างมาก 236 เสียง เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ส่วนใหญ่เป็นเสียงของฝ่ายค้าน และมีเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งเป็นเสียงของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 6 เสียง คือ นางกันตวรรณ ตันเถียร, นายเทพไท เสนพงศ์, นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์, นายอันวาร์ สาและ, นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย

       ต่อมาในการประชุมสภาฯ วันที่ 28 พ.ย. ก่อนเข้าสู่วาระโหวตตั้งคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการใช้มาตรา 44 โดยนายชวนทำหน้าที่ประธานที่ประชุมฯ ได้กดเรียกสมาชิกเพื่อนับองค์ประชุม ในขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านบางส่วนออกจากห้องประชุม บางส่วนยังอยู่ในห้องประชุม แต่ไม่กดบัตรแสดงตน ซึ่งนายชวนแจ้งว่าองค์ประชุมมี 240 เสียง ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม จึงปิดการประชุมสภา

        ภายหลังสภาล่มครั้งที่ 2 นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล แถลงว่า คำสั่ง คสช.มีมากกว่า 500 ฉบับ ได้รับการแก้ไขไปแล้ว 400 กว่าฉบับ เหลืออยู่ที่กระทรวงและกรมพิจารณา เตรียมเสนอเป็นพระราชบัญญัติอีก ส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างสิ้นสุดไปตามอายุคำสั่ง อะไรเป็นปัญหา เรามี กมธ.สามัญซึ่งเกี่ยวกับกฎหมายอยู่แล้ว ก็ให้เสนอเข้าไปใน กมธ.ดังกล่าว ซึ่งวิปรัฐบาลมีมติยืนยันว่าเราจะไม่ตั้ง กมธ.วิสามัญ

        นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปรัฐบาล ยืนยันว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายค้าน แต่อยู่ที่ฝ่ายรัฐบาลจัดการไม่ได้เอง ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยทั่วไปรัฐบาลจะเป็นคนหาทางออก เพราะต้องรับผิดชอบต่อการบริหารประเทศ และสภา

        ส่วน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่โหวตให้ตั้ง กมธ.วิสามัญ ยืนยันว่า แม้จะให้มีการลงคะแนนใหม่ ตนก็จะลงคะแนนเหมือนเดิม เนื่องจากเป็นผู้เสนอญัตติคล้ายกับของฝ่ายค้าน เพียงแต่ของตนรวมถึงคำสั่งคณะปฏิวัติคณะอื่นด้วย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่เป็นเรื่องของสภาที่มีหน้าที่ศึกษาความไม่สอดคล้องของกฎหมายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุง

        ในการประชุมสภาวันเดียวกันนั้น นายอรรถกร ศิริลัทยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอเปลี่ยตัว กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ แทน นายดล เหตระกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา ที่ลาออกไป โดยเสนอ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็น กมธ.แทน

        ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธาน กมธ. ลุกขึ้นอภิปรายว่า กมธ.นี้มีข่าวทุกวัน มีการเปลี่ยน กมธ.จากพรรคพลังประชารัฐ 2 คน ล่าสุดมีลาออกเพิ่มอีก 1 คน ทราบว่าถูกบีบให้ออกและส่งชื่อคนอื่นเข้ามาแทน ขณะนี้รายชื่อที่เสนอมาแทนนายดลอยู่ระหว่างการพิจารณาของตนตามข้อบังคับข้อที่ 109 หากส่งชื่อให้ประธานสภาเลยโดยไม่กลั่นกรองก็จะถือว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่เลว

        ทำให้ นายชวน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการลงมติ กมธ.วิสามัญ จากนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ก็ยังอภิปรายต่อว่า "ขอให้ประธานวินิจฉัยความถูกต้อง ตอนนี้มียิงกันในศาล ขออย่าให้ยิงกันในสภาอีกเลย"

        ด้าน นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า "ประธาน กมธ.พูดข้อมูลด้านเดียว ส่วนคำพูดที่ว่าจะยิงกันในสภาขอให้ถอน เพราะจะไม่มีการยิงกันในสภา จะยิงกันที่ไหนก็ได้ แต่อย่ายิงที่นี่" นายชวน จึงกล่าวว่า “ยิงด้วยหนังสติ๊กหรือยิงปืน และขอให้มือปืนทั้งหลายอย่ามาที่นี่นะครับ"

        นี่คือบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราฎร ตัวแทนของปวงชนชาวไทย ที่เรียกกันว่า ผู้ทรงเกียรติ แต่กลับพูดจาท้าทายกันเหมือนใน "โรงเหล้าเถื่อน" อย่างที่นายชวนกล่าวตักเตือน

        ในส่วนของการประชุมคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ในฐานะประธาน กมธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก็มีความวุ่นวายอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายสัปดาห์

        โดย .ส.ปารีณา ไกรคุปต์.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ กมธ. ไม่พอใจกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ปล่อยให้ที่ปรึกษาประธาน กมธ.นั่งประชุมด้วย ทำให้ น.ส.ปารีณาลากเก้าอี้ไปนั่งข้างๆ ประธานฯ ท่ามกลางการจับจ้องของทุกสายตา กลายเป็นภาพวิดีโอเผยแพร่ไปทั่ว

        ขณะเดียวกัน ในเรื่องการแบน 3 สารพิษก็เกิดปัญหาขึ้นมาจนได้ เมื่อ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุม คณะกรรมการวัตถุอันตราย แถลงภายหลังการประชุม เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์จากจำนวนผู้เข้าประชุม 24 เสียง ให้เลื่อนการยกเลิกการใช้ สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส คือการปรับระดับสารเคมีทั้ง 2 จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ออกไปอีก 6 เดือน คือในวันที่ 1 มิ.ย.2563 จากเดิมที่กำหนดไว้ให้ยกเลิกการใช้ตั้งแต่ 1 ธ.ค.2562 ในส่วน สารไกลโฟเซต ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ใช้ได้ต่อไป แต่ต้องจำกัดการใช้ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดเดิมเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2561

        ทำให้แกนนำพรรคภูมิใจไทย นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กับ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไม่พอใจกรมวิชาการเกษตร ทั้งที่เป็นหน่วยงานในการดูแลของ รมช.เกษตรฯ กลับไม่เสนอเอกสารมาให้ตรวจก่อนที่นำเข้าในการประชุม กก.วัตถุอันตราย ซึ่งเอกสารดังกล่าวลงนามโดย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ และปลัดกระทรวงเกษตรฯ นำส่งเข้าที่ประชุมทันที กระทั่งจะขอคืนกรมวิชาการเกษตรให้ รมว.เกษตรฯ แลกกับกรมชลประทาน

        นอกจากนี้ยังจี้ กก.วัตถุอันตรายตีความใช้ผลการประชุมพิจารณาสารเคมี หลังมติแบน 3 สารพิษ วันที่ 22 ต.ค.จากกรรมการทั้งหมดยังไม่ถูกหักล้าง แต่วันที่ 27 พ.ย. นายสุริยะอ้างมติเอกฉันท์ เลื่อนแบนสารเคมี แต่กรรมการยืนยันไม่ได้ลงเป็นมติ

        จากปัญหาดังกล่าวเห็นชัดเจนว่าพรรคร่วมรัฐบาลทำงานไปคนละทิศทาง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลแบ่งออกเป็น 3 ก๊ก คือ ก๊กของพรรคพลังประชารัฐ นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ก๊กพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พานิชย์ และก๊กพรรคภูมิใจไทย ที่นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข

        โดยแต่ละก๊กก็เร่งสร้างผลงานตามนโยบายของพรรคตัวเอง เนื่องจากมองรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำไม่มีหลักประกันว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน ต่างฝ่ายจึงต้องชิงดีชิงเด่นกันเองเพื่อใช้เป็นผลงานหาเสียงหากมีการเลือกตั้งครั้งหน้า ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ก็ไม่สามารถกำกับนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ บางเรื่องควรเด็ดขาดกลับไม่ทำ แต่บางเรื่องควรให้เป็นไปตามกระบวนการ กลับสั่งการเด็ดขาด

        อีกด้านหนึ่ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงลาออกจากที่ปรึกษา กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 และทุกตำแหนงในสภาฯ โดยอ้างว่า "เขาไม่ต้องการให้อยู่" พร้อมลงพื้นที่พบมวลชนตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.นี้ และเดินหน้ารณรงค์เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ร่าง พ.ร.บ.ปกป้องสิทธิแรงงาน และร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. เป็นต้น  เป็นที่น่าสังเกตว่า ธนาธร เสนอตัวเองมาเป็นที่ปรึกษา กมธ.งบฯ ท่ามกลางการถกเถียงว่า นายธนาธรถูกศาลสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.สามารถเป็นกรรมาธิการได้หรือไม่ ขณะที่ภารกิจการตรวจสอบการใช้งบประมาณก็ยังไม่เสร็จสิ้น แล้วบอกว่าลาออกไปอยู่กับประชาชน เท่ากับว่าธนาธรจะพร้อมเล่นในบทบาทนอกสภาเต็มตัว อยู่ที่ว่าจะเดินนำหน้ามวลชนสู้แบบสุดซอยหรือไม่ แค่นั้นเอง

        ในขณะที่บรรยากาศการเมืองในสภา ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ โต้เถียงกันเหมือนในโรงเหล้าเถื่อน รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำก็เริ่มปริแตก รอยร้าวเริ่มขยายกว้างมากขึ้น นายธนาธรเล่นบทใหม่ ออกจากสภา เดินหน้าลงถนนปลุกมวลชนลุกขึ้นสู้ ไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการ และอภิสิทธิ์ชน ความขัดแย้งก็ปะทุไปทุกด้าน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"