นวัตกรรมของใช้บนโต๊ะอาหาร อุปกรณ์ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต


เพิ่มเพื่อน    

(เซตอุปกรณ์ของใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ)

      ดึงนวัตกรรมดีๆ ที่ถูกยกขึ้นหิ้งลงมาสู่ห้าง ล่าสุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในผลงานวิจัยสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท ออล แคร์ พลัส จำกัด โดยมี ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีลงนาม ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการอนุญาตให้บริษัท ออล แคร์ พลัส จำกัด โดย ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ประธานกรรมการบริษัท ออล แคร์ พลัส จำกัด ใช้สิทธิ์ในผลงานวิจัยสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ จำนวน 4 ผลงาน ได้แก่ ผลงานวิจัยสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เรื่องแก้ว เรื่องช้อน (มือขวา) เรื่องถ้วย และเรื่องจาน เป็นระยะเวลา 4 ปี

(รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต)

        รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต กล่าวว่า ผลงานดังกล่าวเป็นผลงานวิจัยที่ประดิษฐ์และพัฒนาร่วมกับนักออกแบบ พยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด และนักอาชีวบำบัด เป็นเวลากว่า 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดความภาคภูมิใจและรู้สึกมีคุณค่าในตนเองด้วยการพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่มีราคาไม่แพง น้ำหนักเบา กระชับมือ และมีความสวยงาม ปลอดภัย ซึ่งก่อนหน้านี้อุปกรณ์ของใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุมีราคาแพง เช่น หากนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ช้อนตักข้าว 1 คัน จะอยู่ที่ประมาณ 300-400 บาท แต่จากการที่เราคิดค้นและพัฒนาร่วมกับทีมงานที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ราคาจำหน่ายช้อนตักอาหาร 1 อัน อยู่ที่ประมาณ 100 บาท ไม่เกิน 150 บาท

      ส่วนวัสดุที่ใช้ดีไซน์อุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุ ถ้าหากช้อนตักอาหาร หรือเซตอุปกรณ์เสริมต่างๆ จะใช้พีพีหรือพลาสติกเบอร์ 2 ที่สามารถรีไซเคิลได้ ราคาถูกลง อีกทั้งมีน้ำหนักเบากว่าเมลามินประมาณ 4-5 เท่า ส่วนภาชนะที่ใช้ใส่อาหารอย่างถ้วยหรือจาน ยังจำเป็นต้องใช้เมลามินอยู่ เนื่องจากเรายังต้องการความหนัก และป้องกันไม่ให้อาหารไหลออกนอกภาชนะ ส่วนสีของภาชนะนั้น เป็นสีที่วิจัยกับผู้สูงวัยแล้วว่าเขาชอบโทนสี ส้ม สีเหลือง และสีเขียว เพราะมองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน ส่วนเหตุที่ภาชนะล็อตนี้เป็นกลุ่มสีเขียว เนื่องจากเราให้ผู้สูงอายุเลือก โดยการใช้มือสัมผัสโดยไม่มอง แล้วรู้สึกสบาย ไม่สะดุดมือ กระทั่งได้เป็นสีเขียวที่ทำให้มองเห็นได้ง่าย และรู้สึกสบายตาเมื่อหยิบมาใช้ครับ”

      สำหรับการพัฒนาอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นการออกแบบให้สอดคล้องกับสรีรวิทยาของผู้สูงอายุไทย เพื่อส่งเสริมความสามารถในการรับประทานอาหารด้วยตนเองในชีวิตประจำวันแม้กล้ามเนื้อมือและแขนอ่อนแรง โดยมีหลักการออกแบบ ดังนี้

      1.การออกแบบจานสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก แตกต่างจากจานทั่วไป กล่าวคือ จานสำหรับผู้สูงอายุจะมีความลาดเอียงที่ก้นจาน เพื่อให้อาหารไหลไปด้านที่ลึกกว่า ขอบจานจะเอียงเช่นกัน แต่เป็นด้านตรงข้ามกับส่วนที่ลึกของก้นจาน เพื่อลดอุปสรรคและสะดวกต่อการตักอาหาร ก้นจานออกแบบให้มีส่วนยื่นออกทางด้านข้าง เพื่อให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกสามารถใช้มือ/แขนที่ไม่ได้จับช้อนช่วยประคองจานให้อยู่กับที่ในขณะทานอาหาร จานอาหารมีขนาดกว้าง 23 x 20 x สูง 3.8 เซนติเมตร

      2.การออกแบบถ้วยซุปสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก แตกต่างจากถ้วยซุปทั่วไป โดยมีลักษณะการออกแบบเช่นเดียวกับจานอาหาร กล่าวคือ ถ้วยอาหารสำหรับผู้สูงอายุจะมีความลาดเอียงที่ก้นถ้วย เพื่อให้ซุปไหลไปด้านที่ลึกกว่า ขอบถ้วยจะเอียงเช่นกัน แต่เป็นด้านตรงข้ามกับส่วนที่ลึกของก้นถ้วย เพื่อลดอุปสรรคและสะดวกต่อการตักอาหาร เนื่องจากถ้วยมีความสูงกว่าจานและมีขอบที่ยื่นออกเล็กน้อย จึงทำให้ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกสามารถใช้แขนที่ไม่ได้ถือช้อนประคองให้ถ้วยอยู่กับที่ได้ ถ้วยซุปมีขนาดสูง 4 x กว้าง 15 x หนา 0.2 x ลึก 3 เซนติเมตร

      3.การออกแบบแก้วน้ำสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก มีความแตกต่างจากแก้วน้ำทั่วไป กล่าวคือ แม้แก้วน้ำจะมีความสูงกว่าปกติเพื่อให้รองรับกับขนาดของมือ แต่ภายในก้นแก้วจะสูงขึ้นเพื่อลดปริมาณน้ำในแก้วไม่ให้มากเกินไป ป้องกันการสำลัก และออกแบบให้ขอบแก้วด้านบนมีส่วนยื่น เพื่อช่วยพยุงทำให้อุ้งมือสามารถพยุงแก้วได้ง่ายและกระชับขึ้น โดยตัวแก้วไม่มีรอยเว้า เพื่อแก้ปัญหาการจับแก้วผิดด้าน

      4.การออกแบบช้อน (มือขวา) สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก มีความแตกต่างจากช้อนทั่วไป ได้แก่ ด้ามช้อนมีขนาดใหญ่กว่าช้อนปกติ ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการจับและการกำ (การกางของนิ้วมือ) เพราะสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อช่วงกลาง (middle range) ซึ่งเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนตัวช้อนและด้ามช้อนมีการโค้งหักมุม เพื่อให้สะดวกต่อการตักอาหารเข้าปากและลดการเหยียดของไหล่ สะบักและข้อศอก นอกจากนี้ยังออกแบบให้มีน้ำหนักเบาเนื่องจากผู้สูงอายุจะมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง แม้มีรูปทรงที่เหมาะสมกับอุ้งมือ แต่น้ำหนักเป็นปัจจัยสำคัญในการยกช้อนเพื่อทานอาหาร ปริมาณความจุของช้อนอยู่ที่ 5 ml. เพื่อป้องกันการตักอาหารมากเกินไปซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการสำลักได้ ด้านช้อนจะโค้งตัวสูงขึ้นเพื่อป้องกันการไหลของอาหารมาที่มือผู้ใช้ สำหรับผลงานการออกแบบช้อนได้รับรางวัลมาแล้ว 2 รางวัล ได้แก่ รางวัล Design Excellence Award (DEmark) 2019, ประเทศไทย และ รางวัล GOOD DESIGN AWARD (GMark) 2019, ประเทศญี่ปุ่น

(ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ)

      ด้าน ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ประธานกรรมการบริษัท ออล แคร์ พลัส จำกัด กล่าวว่า อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุที่บริษัทได้ตกลงขอใช้สิทธิ์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำไปผลิตสู่ผู้บริโภคนั้น ตนมีความมั่นใจที่จะได้รับการตอบรับจากผู้ใช้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากการวิจัยในสภาพแวดล้อมจริงและใช้ทดลองกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยจริงมาแล้ว อีกทั้งยังเป็นผลงานการประดิษฐ์ของคนไทย คือ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงของประเทศ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการใช้งาน โดยเฉพาะเรื่องราคานั้นจะมีราคาไม่แพง เพื่อให้ผู้สูงอายุไทยเข้าถึงการใช้อุปกรณ์ ทั้งนี้ อุปกรณ์ขายเป็นชุด ชุดละ 599 บาท ประกอบด้วย จาน ถ้วย แก้ว และช้อน ในเบื้องต้นผู้สนใจสามารถสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ และร้าน Scrap shop มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] โทรศัพท์ 09-8982-4481.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"