รัฐบาล ชนะโหวต สภาล้มญัตติ สอบคำสั่ง คสช.


เพิ่มเพื่อน    

    ไม่เหนือความคาดหมายกับชัยชนะของฝ่ายรัฐบาล ที่สุดท้ายที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 4 ธ.ค. ก็มีมติด้วยเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากประกาศคำสั่ง คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 โดยที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบกับญัตติการตั้ง กมธ.วิสามัญดังกล่าวด้วยคะแนน 244 เสียง ส่วนเห็นด้วยให้ตั้ง กมธ.มี 5 เสียง และงดออกเสียง 6 คน

ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้วการพิจารณาญัตติดังกล่าว ชวน หลีกภัย ประธานสภา ได้ให้มีการนำญัตติที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันที่ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญมาศึกษาประกาศ คำสั่ง คสช.ในช่วงห้าปีของ คสช.ที่เสนอต่อสภามารวมไว้อภิปรายและลงมติในคราวเดียวกัน

ดังนั้น การพิจารณาลงมติของที่ประชุม ในความเป็นจริงจึงไม่ใช่การพิจารณาเพียงแค่ญัตติของ ปิยบุตรและ ส.ส.อนาคตใหม่ญัตติเดียวเท่านั้น เพราะอย่างของ ประชาธิปัตย์ ก็มีการเสนอญัตติในลักษณะเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ประธานที่ประชุมจึงให้มีการนำมาพิจารณาอภิปรายและลงมติในคราวเดียวกัน

พบว่า ส.ส.ปชป.มีการเสนอเข้าไปสองญัตติ คือ ญัตติของ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ที่เสนอให้ตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบและหาแนวทางแก้ไข ผลจากประกาศและคำสั่งคณะปฏิวัติคณะต่างๆ  รวมถึงประกาศและคำสั่งของ คสช. เพื่อปรับแก้ให้สอดคล้องกับ รธน.และสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วน อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรค ปชป. เสนอให้ตั้ง กมธ.ศึกษาข้อเท็จจริงในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกรณีประชาชนถูกทำร้ายและสูญหาย

ด้วยเหตุนี้ทั้งสองคน สาทิตย์-อันวาร์ จึงเห็นว่าตัวเองมีความชอบธรรมทางการเมืองในฐานะผู้เสนอญัตติ ด้วยการสวนมติวิปรัฐบาลโดยลงมติ เห็นด้วย ให้ตั้ง กมธ.ถึงสองรอบ คือเมื่อสัปดาห์ที่แล้วและเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยมีสองแนวร่วมเดิม คือ เทพไท เสนพงศ์ และพนิต วิกิตเศรษฐ์ ที่เคยลงมติสวนวิปรัฐบาลสัปดาห์ที่แล้ว ก็ยังคงทำแบบเดิมคือลงมติเห็นชอบให้ตั้ง กมธ. ขณะที่ ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก กับ กันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา ที่เคยลงมติแบบเดียวกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าตอนขานชื่อออกเสียงทั้งสองคนไม่ได้ออกเสียงในห้องประชุม

ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่ใช้วิธีไม่ขานชื่อออกเสียง แม้หลายคนจะอยู่ในห้องประชุม มีแค่  ส.ส.ฝ่ายค้านไม่กี่คนที่แหกโผอยู่ในห้องประชุมและอยู่ขานชื่อออกเสียง แต่ก็ใช้วิธีออกเสียงด้วยการขาน  "งดออกเสียง" นั่นคือ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา และ จารึก ศรีอ่อน 2 ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่ ที่เคยร่วมกันแหกมติพรรคด้วยการลงมติสนับสนุน พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ มาแล้ว หรืออนุมัติ  ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ

ชัยชนะของฝ่ายรัฐบาลดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่า แม้ความเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มี ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งมาไม่มาก แค่ราวๆ 4-7 เสียง แต่หากแกนนำรัฐบาลสั่งคุมเข้มเด็ดขาดให้เข้าประชุมและเช็กชื่อรายบุคคล ก็พอเข็นกันไปได้ แต่ต้องมีการเตรียมพร้อมล่วงหน้ามากเป็นพิเศษ

สิ่งที่น่าคิดในทางการเมืองอย่างหนึ่งก็คือ ชัยชนะของรัฐบาลในครั้งนี้มองในแง่มุมหนึ่ง การที่ฝ่ายแกนนำรัฐบาล ทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และอดีตหัวหน้า คสช. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และปัจจุบันเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พปชร. สั่งเด็ดขาดให้ ส.ส.รัฐบาลทำแท้งการตั้ง กมธ.ที่จะมาตรวจสอบคำสั่ง-การใช้อำนาจของ คสช. เพราะไม่อยากมีปัญหาทางการเมืองตามมา

โดยที่ก่อนหน้านี้ในสมัยประชุมสภารอบที่แล้ว ก็มีการสั่งให้ ส.ส.รัฐบาลล้มญัตติการตั้ง กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาการดำเนินการโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มี ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอเข้าสภาพร้อมกัน 4 ญัตติ โดยมี ส.ส.พปชร.และ ปชป.เสนอด้วย แต่สุดท้าย ญัตติดังกล่าวก็ถูกสกัด ท่ามกลางข่าวว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล สั่งเด็ดขาดให้วิปรัฐบาลล้มญัตติดังกล่าวให้ได้ เพราะไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบ-ท้วงติงโครงการอีอีซีจากสภา โดยเฉพาะจากฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายรัฐบาลใช้เสียงข้างมากในสภาเพื่อสกัดกั้นการตรวจสอบเรื่องต่างๆ บ่อยครั้งเกินไป รัฐบาลก็ต้องระวังเช่นกัน เพราะจะถูกมองได้ว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา!!!!!

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"