“บ่มเพาะคนคุณภาพสู่สังคม” กับค่ายต้นกล้าตุลาการ รุ่นที่ 10


เพิ่มเพื่อน    

     การบ่มเพาะและการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้ผู้คนในสังคม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขนั้น ต้องเริ่มต้นจากกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่สุด เนื่องจากมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาชาติในอนาคต กฎหมายถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างบรรทัดฐานทางสังคม ที่จะช่วยให้ประชาชนอยู่ในระเบียบวินัย ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ส่งผลให้สังคมนั้นๆ มีความสงบเรียบร้อย ลดการก่ออาชญากรรมและความขัดแย้งในสังคมลงได้

                “ศาลยุติธรรม” ได้เล็งเห็นความสำคัญและคุณประโยชน์ของกฎหมายที่มีต่อกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งจะส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในปัจจุบันและการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มเด็กและเยาวชนได้ตระหนัก เรียนรู้ สร้างความเข้าใจ เข้าถึง ความสำคัญของกฎหมาย ระบบศาลยุติธรรม ตลอดจนกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมขึ้น

                นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดโครงการต้นกล้าตุลาการต่อเนื่องกันมาเป็นประจำทุกปีจนถึงปีที่ 9 แล้ว เป็นโครงการที่เราทำเพื่อน้องๆ เยาวชนอย่างแท้จริง นอกจากจะเพิ่มโอกาสให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและการดำเนินงานของศาลยุติธรรม เพื่อจะได้นำความรู้และประสบการณ์ไปใช้เป็นเกราะปกป้องสิทธิและเสรีภาพให้แก่ตนเองแล้ว ในโครงการยังมีการแนะนำแนวทางการศึกษาต่อในวิชาชีพกฎหมายอีกด้วย ซึ่งน้องๆ เยาวชนจะได้ใช้เวลาช่วงเข้าค่าย 6 วัน 5 คืน เพื่อเรียนรู้และค้นหาตัวเองว่าเหมาะกับวิชาชีพนักกฎหมายหรือไม่ ในขณะเดียวกันยังมีการนำวัฒนธรรมองค์กรและคุณธรรม จริยธรรมที่งดงามของศาลยุติธรรมและสังคมไทย เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต การทำงานเพื่อสังคม การเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เป็นต้น มาสอดแทรกในกิจกรรมให้น้องๆ เยาวชนนำไปปรับใช้ในชีวิตเพื่อให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดีของสังคม

                โครงการดังกล่าวมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ค่ายต้นกล้าตุลาการ” โดยในปีงบประมาณนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งปีนี้ค่ายต้นกล้าตุลาการได้ดำเนินการเป็นรุ่นที่ 10 แล้ว

                “ศาลยุติธรรมต้องการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนของชาติเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของสังคม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ตอบโจทย์การพัฒนาบ่มเพาะศักยภาพของเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของประชาชนตามกฎหมาย เมื่อรู้กฎหมายก็จะได้ไม่กระทำผิด และไม่ถูกผู้อื่นเอารัดเอาเปรียบ ขณะเดียวกันคุณธรรม จริยธรรมที่ปลูกฝังจะเป็นสิ่งคอยกำกับไม่ให้นำวิชาความรู้ทางด้านกฎหมายที่ได้รับไปใช้เป็นเครื่องมือในทางที่ผิด” นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว

               ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการค่ายต้นกล้าตุลาการ จะต้องเป็นเยาวชนที่มีอายุระว่าง 15-18 ปี กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าจากทั่วประเทศ จำนวน 120 คน สำหรับโครงการค่ายต้นกล้าตุลาการ จะเปิดรับสมัครในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2562 ถึงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2563 และจะทำการประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ผ่านทางเว็บไซต์กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ https://iprd.coj.go.th/th/page/item/index/id/1 และเฟซบุ๊กเพจสื่อศาล และเฟซบุ๊กค่ายต้นกล้าตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม

                โดยการจัดอบรมในครั้งนี้ จะประกอบไปด้วย การบรรยาย การอภิปราย และการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งภายในและหน่วยงานภายนอกศาลยุติธรรม มาให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน เช่น ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลยุติธรรม ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป กฎหมายที่จำเป็นสำหรับเด็กและเยาวชน การไกล่เกลี่ยและระงับข้อผิดพลาด แนวทางการศึกษาและประกอบอาชีพ เป็นต้น รวมทั้งการศึกษาดูงานศาลยุติธรรม การปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรมและการจัดกิจกรรมส่งเสริม เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้ารับการอบรมด้วยกัน

                นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ศาลยุติธรรมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการค่ายต้นกล้าตุลาการจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเด็กและเยาวชน ตลอดจนโครงการนี้จะได้รับการเผยแพร่จากกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมไปสู่ครอบครัว บุคคลใกล้ชิดในสังคม ซึ่งจะทำให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีและเป็นสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

                ขณะที่ นายพรชัย แจ้งชัด สมาชิก “ต้นกล้าตุลาการ รุ่นที่ 1” เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ความฝันของผมคืออยากเป็นนักข่าว อยากเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ หรือไม่ก็เป็นนักจัดรายการวิทยุ เพราะว่าเป็นคนชอบพูดชอบเจรจา แต่ด้วยที่เป็นคนจังหวัดระยอง โรงงานอุตสาหกรรมเยอะมาก จึงจำเป็นต้องสอบเป็นวิศวกรให้ได้ หากจบด้านนี้คงมีงานรองรับและไม่ตกงาน แต่เป็นความโชคดีของตนเองที่ได้ติดตามตัวแทนของโรงเรียนมาร่วมกิจกรรมการแข่งขันตอบปัญหากฎหมาย เนื่องในวันรพีของสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะทีมงานช่วยเตรียมข้อมูล จึงได้พบกับท่านสุริยัณห์ หงษ์วิไล ซึ่งท่านทำหน้าที่เป็นพิธีกรในงานวันนั้น ตนเองรู้สึกชื่นชม เพราะท่านพูดเก่ง สามารถทำให้ผู้ฟังสนใจได้ และผมก็นำวิธีการพูดของท่านมาเป็นแนวทางเรื่อยมา ก่อนจบกิจกรรมในวันนั้นท่านฝากแผ่นประชาสัมพันธ์โครงการค่ายต้นกล้าตุลาการมากับคุณครูของโรงเรียน ผมเห็นว่าชื่อโครงการมีคำว่าตุลาการน่าสนใจดี คิดว่าถ้าเข้าร่วมแล้วได้เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการตามชื่อโครงการคงดีไม่น้อย จึงได้ตัดสินใจสมัคร ขณะเดียวกันก็สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ได้ด้วย

                “ผมเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 และสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ก่อนเข้าเรียนปีแรกผมได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการต้นกล้าตุลาการรุ่นที่ 1 ผมจึงเริ่มเส้นทางชีวิตในฐานะนักกฎหมายนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ผมเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตลำดับที่ 4 ยังสอบเข้าทำงานได้ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินลำดับที่ 1 อีกด้วย ปัจจุบันผมเป็นทนายความอิสระ เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชน และเป็นหัวหน้าวิทยากรโครงการนิติโดมร่วมใจ พี่ให้น้อง ของสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตการเป็นนักกฎหมายของผมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะเป็นต่อไปในอนาคตเกิดขึ้นได้เพราะค่ายต้นกล้าตุลาการ” นายพรชัยกล่าว

                นอกจากนี้ นายพรชัยกล่าวอีกว่า ไม่ได้หมายความว่าคนที่เข้าค่ายนี้จะต้องไปเรียนกฎหมายเพื่อเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ หรือวิชาชีพสายกฎหมายเท่านั้น เพื่อนๆ และรุ่นน้องของตนเองจำนวนมากที่มาจากค่ายต้นกล้าตุลาการ ไปทำงานด้านวิศวกรรม แพทย์ ศิลปิน ดารา ก็มี โครงการต้นกล้าตุลาการจึงไม่ได้ให้คำตอบสำหรับว่า เมื่อจบจากโครงการไปแล้วเราจะต้องไปเรียนทางด้านไหน หรือประกอบอาชีพใด แต่โครงการให้ทุกอย่างที่พวกเราสามารถนำไปใช้หาคำตอบในการดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวเอง

                สำหรับค่ายต้นกล้าตุลาการ ได้จัดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน โดยรุ่นที่ 1 มีเยาวชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 263 คน ผ่านการคัดเลือกจำนวน 118 คน, รุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 จัดกิจกรรมขึ้นในปีเดียวกัน มีเยาวชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 528 คนผ่านการคัดเลือก รุ่นที่ 2 จำนวน 120 คน และรุ่นที่ 3 จำนวน 121 คน, รุ่นที่ 4 มีเยาวชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 415 คน ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 120 คน, รุ่นที่ 5 มีเยาวชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 230 คน ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 120 คน, รุ่นที่ 6 มีเยาวชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 504 คน ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 126 คน, รุ่นที่ 7 มีเยาวชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 494 คน ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 126 คน, รุ่นที่ 8 มีเยาวชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 888 คน ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 130 คน และรุ่นที่ 9 มีเยาวชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 1,115 คน ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 133 คน ซึ่งที่ผ่านมาเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมต้นกล้าตุลาการ รุ่นที่ 1-9 มีเยาวชนสนใจเข้าร่วมทั้งสิ้น 4,437 คน และผ่านคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,114 คน.

------------------------------------ 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"