พลังงานทดแทน...ฝันไกลของ กฟผ.


เพิ่มเพื่อน    

        ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยฝ่ายประชาสัมพันธ์ กฟผ. และคณะสื่อมวลชนรวมกว่า 30 ชีวิต บินลัดฟ้าเพื่อไปเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงาน ณ ราชอาณาจักรสเปนและสาธารณรัฐโปรตุเกส

        การเดินทางข้ามซีกโลกไปยุโรปก็ใช้เวลาเกินครึ่งวัน เนื่องจาก “การบินไทย” ไม่มีการบินตรงไปยังแดนกระทิงดุ โดยต้องเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ทำให้เมื่อออกจากสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงค่ำ ก็ถึงช่วงค่ำผ่านอีกวันในสเปน

        ถึงสถานที่ค้างอ้างแรม “นายพัฒนา แสงศรีโรจน์” รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. ก็ได้บรีฟเบื้องต้นของภารกิจกิจดูงานใน 2 ประเทศทันที โดยนายพัฒนาได้ไล่เรียงปูพื้นฐานระบบการไฟฟ้าของโลกและของไทยที่ว่ากำลังก้าวเข้าเจเนอเรชั่นที่ 2 หรือการใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งจากสายลม แสงแดด และชีวมวล จากยุคเจเนอเรชั่นที่ 1 ที่ใช้พลังงานหลักจากฟอสซิลทั้งน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน

        “จะทำอย่างไรให้ประเทศเราปรับ หันมาใช้พลังงานเจเนอเรชั่น 2 ทดแทนเจเนอเนชั่น 1 ได้อย่างมั่นคง” คำถามที่รองพัฒนาตั้งโจทย์ไว้ถึงการเข้ามาดูงานครั้งนี้

        ต้องยอมรับว่า “ของดี” มักสวนทางกับ “ราคา” แบบในอัตราที่ผกผัน ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกที่อัตราค่าไฟของไทยที่อยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อหน่วย แต่ประเทศอย่างสเปน-โปรตุเกส ซึ่งมีรายได้ต่อหัวประชากรมากกว่าไทย 6 เท่า จะมีค่าไฟอยู่ที่ประมาณ 9 บาท/หน่วย ในขณะที่เยอรมนีนั้นราคายิ่งห่างไกลเข้าไปอีกอยู่ที่ 12 บาท/หน่วยโดยประมาณ

        แต่เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่าง “เวียดนาม” และ “มาเลเซีย” นั้นกลับพบราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยของไทยแพงกว่า เพราะพี่ไทยนั้นใช้ “ถ่านหิน” น้อยกว่าในการผลิตนั่นเอง

        มาถึงตรงนี้จึงเห็นภาพเริ่มชัดๆ ว่าการจะเปลี่ยนแปลงไปสู่เจเนอเรชั่นที่ 2 นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะ “ต้นทุน” การเปลี่ยนผ่านทั้งในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบพลังหมุนเวียน และที่สำคัญคืออัตราค่าไฟฟ้าที่จะคิดกับผู้ใช้บริการ ซึ่งคือคนไทยทั้งประเทศจะยอมรับกันได้หรือไม่ อย่างไร!!!

        ตอบได้ตรงนี้ทันทีว่า “No Way” เพราะในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือในนโยบายพลังประเทศ หรือแผน PDP 2018 ได้กำหนดอัตราค่าไฟไว้อยู่ที่ประมาณ 3.5 บาท/หน่วยเท่านั้น  และยิ่ง กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือคือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน คือ รัฐเป็นผู้ควบคุมด้วยแล้ว “ค่าไฟ” ตลอดจนค่าสาธารณูปโภคต่างๆ จึงต้องผูกติดกับ “การเมือง” ไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ต่างจากประเทศยุโรปและประเทศพัฒนาแล้วที่รัฐบาลจะเป็นแค่เพียงผู้วางนโยบาย และควบคุมห่างๆ  แต่ “เอกชน” กลับเป็นผู้จำหน่ายและผู้ผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชน

        เรียกว่ามี “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” ที่แตกต่างกันไป เพราะทำให้ค่าไฟของไทยไม่ได้มีราคาสูงตามกลไกตลาดเสรี และต้นทุนมากนัก แต่ก็ทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการไปด้วยประกาศหนึ่ง หรือต้องบอกว่าถูกบีบกลายๆ ก็เป็นได้

        หันกลับมาการบรีฟของ “รองพัฒนา” กันต่อ ก็ได้เล่าถึงการดูงานครั้งนี้ว่า เพื่อนำมาปรับใช้และพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) และเพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบาย Energy for all ของกระทรวงพลังงาน  เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ ราคามีความเหมาะสม รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานมาปรับใช้อย่างสอดรับกับทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของโลกในอนาคต

        โดยก่อนจบการบรรยายในวันแรก รองพัฒนายังได้เล่าถึงโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบที่ อ.แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ หรือ “แม่แจ่มโมเดล” ไว้ด้วย ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบเพื่อช่วยเหลือชุมชน และยังเป็นหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แม้ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะแพงกว่า 2 เท่าของโรงไฟฟ้าปกติ  และเมื่อคิดเป็นค่าไฟต่อหน่วยจะแพงกว่าประมาณ 1 บาทก็ตาม แต่ก็เรียกว่าช่วยแก้ปัญหาฝุ่นจากการเผาซังข้าวโพดในพื้นที่ ที่สำคัญยังสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้

        ล่าสุด “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พลังงานเองก็ได้เปิดตัวโครงการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนออกมาแล้ว ว่าเตรียมเสนอร่างหลักเกณฑ์ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และตั้งเป้าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563 เรียกว่า “แม่แจ่มโมเดล” กำลังกระจายไปทั่วประเทศ และตอกย้ำว่ารัฐบาลต้องการปลุกปั้น “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” มากกว่าแค่ทำแบบเด็กขายของ

(โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ Vakke 1 และ Valle 2 ที่เมือง Cadiz ประเทศสเปน)

      Day 1 แล้วก็มาถึงการดูงาน Valle1-2 Concentrated Solar Plant หรือโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ Valle 1 และ Valle 2 ที่เมือง Cadiz ประเทศสเปน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า 2x50 เมกะวัตต์ (MW) ในพื้นที่ขนาดพื้น 6,336 ไร่ โดยจุดเด่นของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนแสงอาทิตย์นั้น เป็นระบบทำงานร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานโดยใช้เกลือเหลว (Molten Salt) ทำให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่องแม้ในช่วงไม่มีแสงอาทิตย์ ซึ่งแตกต่างจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบ PV โดยใช้เงินลงทุน 540 ล้านยูโร หรือ 17,966 ล้านบาท ซึ่ง Torresol Energy เป็นเจ้าของ

        ทั้งนี้ “Mr.Fernando Gonzalez Allende” ซึ่งเป็นผู้จัดการด้านบริหารธุรกิจเล่าถึงความเป็นมาของโรงไฟฟ้าตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างใน พ.ค.2552 และแล้วเสร็จใน ก.ย.2554 ซึ่ง “Torresol” เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง SENER (บริษัทกึ่งรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลสเปน) 60% และ Masdar (40%) สามารถจ่ายไฟฟ้าให้ประชาชนได้ถึง 40,000 ครัวเรือนต่อโรง รวม 2 โรง เป็น 80,000 ครัวเรือน โดยที่ต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าเป็น 50 เมกะวัตต์ (MW) จำนวน 2 โรง เนื่องจากระเบียบของสเปนกำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลต้องมีขนาดโรงละไม่เกิน 50 MW

        สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแสงอาทิตย์นั้นจะมีประสิทธิภาพ และจุดคุ้มทุนมากที่สุดที่ 200 MW แต่โรงไฟฟ้าแห่งนี้สร้างได้เพียง 100 MW เท่านั้น เนื่องจากความสามารถของระบบส่ง (Grid Capacity) ที่รับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังไม่เพียงพอ แต่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากแสงอาทิตย์โรงนี้ก็มีข้อดีกว่าโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ (PV) เพราะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง มากกว่าโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่ปัจจุบันแม้ทำงานร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ก็ยังไม่สามารถเก็บกักพลังงานเพื่อจ่ายไฟฟ้าได้ 24 ชม.

        “รองพัฒนา” ยังได้เล่าหลังฟังบรรยายและดูโรงงานพลังงานความร้อนดังกล่าวแล้ว ว่าไทยเองก็มีโรงฟ้าลักษณะใกล้เคียงเช่นกัน โดย กฟผ.ได้นำร่องระบบกักเก็บพลังงานที่ผลิตได้จากกังหันลมมาเก็บไว้ในรูปแบบไฮโดรเจน (Wind Hydrogen Hybrid) เมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจะนำก๊าซไฮโดรเจนไปผ่านเซลล์เชื้อเพลิงผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จ.นครราชสีมา รวมถึงการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์-ชั่วโมง และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์-ชั่วโมง เนื่องจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงทั้งสองแห่งนี้อยู่ในพื้นที่ที่มีพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เชื่อมต่อเข้าระบบไฟฟ้าปริมาณมาก เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเตรียมพร้อมให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าทันสมัยมากขึ้น มีความมั่นคง เชื่อถือได้  โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 1 ก.ค.2563

(Mr.Goncalo Lacerda ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระหว่างประเทศของ EDP ได้บรรยายขอบข่ายงานและศักยภาพของ EDP)

Day 2 คณะกว่า 30 ชีวิตได้ขึ้นเครื่องที่สนามบินเซบิยาข้ามประเทศไปยังสนามบินลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ซึ่งจะเป็นการเข้าเยี่ยมชมและรับฟังบรรยายที่ EDP (Energias de Portugal) Headquarter ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมากว่า 40 ปี โดยทำหน้าที่จัดหาพลังงานไฟฟ้าและก๊าซให้ลูกค้ามากกว่า 10 ล้านคน ในหลายทวีป รวม 15 ประเทศทั่วโลก โดยในปี 2519 EDP ยังเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ก่อนจะแปรรูปเป็นเอกชนในปี 2535 โดย “Mr.Goncalo Lacerda” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระหว่างประเทศของ EDP ได้บรรยายขอบข่ายงานและศักยภาพของ EDP ซึ่งระบุว่า ปัจจุบัน EDP มีกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดทั้งในประเทศ และการลงทุนในต่างประเทศที่นอกจากลงทุนหลักในโปรตุเกสและบราซิลแล้ว ยังสยายปีกมาลงทุนทั้งในแอฟริกาและในจีน รวมถึงเอเชีย รวม 27,000 MW เป็นพลังงานหมุนเวียน 21,000 MW ที่ประกอบด้วยพลังงานลมและแสงอาทิตย์ 55% และน้ำ 45% โดยในส่วนพลังน้ำ EDP มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับประมาณ 3,000 MW 

ที่น่าสนใจของ EDP นอกจากการเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจพลังงานในยุโรปแล้ว EDP ยังมีบริษัทลูกต่างๆ ที่ทำหน้าที่แยกย่อยลงไป ซึ่ง Mr.Goncalo Lacerda ก็ได้นำพาคณะขึ้นไปรับฟังและเรียนรู้ที่หน่วยซื้อขายที่ใช้ชื่อว่า “UNGE's Energy Management Dispatch Center” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “อุ๊ง” ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยซื้อขายพลังงานล่วงหน้า!!! ซึ่งมีการซื้อขายใน 3 รูปแบบ ได้แก่ Daily Market หรือ Day Ahead Market ที่เป็นการซื้อขายล่วงหน้า 1 วันก่อนการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าในวันถัดไป โดยต้องซื้อขายภายในเวลา 11.00 น. ซึ่งการซื้อขายพลังงานไฟฟ้ารูปแบบนี้คิดเป็นประมาณ 80%-90% ของพลังงานไฟฟ้าที่ส่งมอบในแต่ละวัน และ “Intraday Market” เป็นการซื้อขายระหว่างวัน โดยมีการปรับเปลี่ยนราคาทุกๆ 4 ชั่วโมง ซึ่งราคาจะมีความผันผวนสูงมาก สุดท้ายเป็น “Ancillary Service Market” เป็นการซื้อขายแบบทันที ลักษณะคล้าย Spot ซึ่งมีขึ้นในกรณีจำเป็นเท่านั้น เพื่อสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้า โดยการซื้อขายในตลาดนี้จะมีการซื้อขายกับตลาดซื้อขายไฟฟ้าในยุโรป (XBID) โดยมูลค่าการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดโปรตุเกสอยู่ที่ 5 ล้านยูโรต่อวัน หรือ 1-3 พันล้านยูโรต่อปี

การจัดตั้งตลาดล่วงหน้าซื้อขายพลังงานดังกล่าว กฟผ.เองก็มีแนวคิดเช่นกัน โดย “นายพัฒนา แสงศรีโรจน์” แย้มว่า  “ได้พูดคุยกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไว้แล้ว โดยตั้งเป้าว่าจะมีการซื้อขายพลังงานในเอเชีย แต่ในช่วงต้นอาจต้องเริ่มจากประเทศ CMLV (ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ก่อน โดยน่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ชัดเจนในปี 2563 นี้” ถือเป็นเรื่องใหม่ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ไทยและระบบพลังงานในอาเซียนทีเดียวถ้าหากเกิดได้

(EDP Renewables Dispatch Center หรือ EDPR บริษัทลูกในเครือของบริษัท EDP ซึ่ง Mr.Ricardo Rodrigues ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของศูนย์ควบคุม และสั่งการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อธิบายถึงศูนย์ควบคุมและสั่งการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ Real time)

Day 3 คณะได้เดินทางมาดูงานที่ “EDP Renewables Dispatch Center” หรือ (EDPR) บริษัทลูกในเครือของบริษัท EDP ที่เน้นธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยพัฒนาและผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ในหลายประเทศทั่วโลก โดย EDPR เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมรายใหญ่ที่สุดลำดับที่ 4 ของโลก มีกำลังผลิตติดตั้งพลังงานลมรวมทั้งหมดในทุกประเทศ 10,600 MW ซึ่งที่นี่ก็ได้รับคำอธิบายและชี้แจงจาก Mr.Ricardo Rodrigues ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของควบคุม และสั่งการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งนอกจากการอธิบายถึงการทำงานและการลงทุนใน 14 ประเทศแล้ว เขายังได้นำคณะเข้าไปดูการทำงานของศูนย์ควบคุม และสั่งการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ Real time โดยได้ลงลึกอธิบายแบบเจาะลึกในรายละเอียดด้วย

(เขื่อนพลังงานน้ำแบบสูบกลับ หรือ Frades II Pump Storage ณ เมืองบรากร้า)

Last Day เป็นการดูงานที่เขื่อนพลังงานน้ำแบบสูบกลับ หรือ Frades II Pump Storage ณ เมืองบรากรา ซึ่งเป็นเมืองในทางตะวันตกเฉียงเหนือของโปรตุเกส โดยเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกมากที่สุดในโปรตุเกส ซึ่ง EDP เป็นเจ้าที่มีกำลังผลิตติดตั้ง 780 MW (เครื่องละ 390 MW จำนวน 2 เครื่อง) ซึ่งที่นี่นอกจากได้ความรู้เรื่องพลังงานไฟฟ้าแบบสูบกลับแล้ว ยังได้ลงไปชมจุดตั้งโรงไฟฟ้าที่ลึกลงไป 400 เมตรจากพื้นดินด้วย ซึ่งจุดเด่นของโรงไฟฟ้านี้ คือ การปรับเปลี่ยนความเร็วในการทำงานหรือยืดหยุ่นได้ ในขณะที่ของไทยนั้นยังเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่เป็นประเภทความเร็วคงที่!!!

“นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์” รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ.ยอมรับว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับช่วยรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ยังขาดเสถียรภาพและมีความไม่แน่นอน ซึ่งจะเป็นตัวเลือกสำคัญในการช่วยบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียน แต่ราคาอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับประเภทปรับเปลี่ยนความเร็วในการทำงานได้นั้น มีราคาแพงกว่าอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบคงที่ 2-3 เท่า ซึ่งสำหรับประเทศไทยต้องดูว่าเหมาะสมในการลงทุนหรือไม่ และต้องดูสภาพภูมิประเทศด้วย       “ความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่มีศักยภาพ คือเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ และเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี แต่จะสร้างได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล” นายเทพรัตน์ระบุไว้

ที่สำคัญหากรัฐบาลจะทำโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับจริง หากทำ ณ วันนี้ก็ต้องใช้เวลาถึง 5-10 ปีกว่าจะสำเร็จ เพราะต้องไม่ลืมว่าการก่อสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าใหม่ๆ หรือเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เนื่องจากต้องมีนโยบายจากรัฐบาลแล้ว ก็ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) ทั้งหลาย งานนี้ กฟผ.แม้จะมีการศึกษา และเตรียมความพร้อมไว้ในหลายต่อหลายโครงการในเรื่องพลังงานทดแทนในหลายรูปแบบ แต่ก็เป็นฝันที่ค่อนข้างไกลเลยทีเดียว ยิ่งใน “ยุคดิสรัปชัน” ก็หวังแต่ว่ารัฐบาล ประชาชน และเอ็นจีโอจะหันมาปรับตัว หากอยากให้ไทยได้ใช้พลังงานทดแทนอย่างแท้จริง นอกเหนือจากการสร้างวาทกรรมสวยหรูเท่านั้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"