นครสวรรค์บูรณาการขับเคลื่อนสู่ “เมืองอาหารปลอดภัย” ด้วยภูมิปัญญาชุมชน


เพิ่มเพื่อน    

เกษตรบ้านดอนตะเคียน จ.นครสวรรค์ ไม่ง้อเคมี พลิกผืนนาใช้สารชีวภาพจาก “จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงท้องถิ่น” ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านที่น้อมนำศาสตร์พระราชา ในหลวง รัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เน้นใช้ทุกอย่างในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มาพัฒนาเป็นสารชีวภาพ 32 สูตร ไว้ทำการเกษตรแบบไร้สารเคมีครบวงจร ช่วยแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ ทั้งทนแล้ง ลดต้นทุน ปลดหนี้ และสร้างสุขภาวะ เตรียมพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ต้นแบบของ จ.นครสวรรค์ ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้

 

 

หน่วยจัดการ สสส. จ.นครสวรรค์ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จ.นครสวรรค์ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 3 นครสวรรค์ ร่วมกับ วิสหกิจชุมชนสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน และ ทีมสร้างเสริมสุขภาพคนนครสวรรค์  จัดงาน “ร้อยเคียวเกี่ยวข้าว เกษตรก้าวไกลด้วยศาสตร์พระราชา” ณ บ้านดอนตะเคียน ต.หนองยาว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ พื้นที่ตัวอย่างการทำเกษตรกรรมไร้สารเคมี หวังให้เป็นพื้นที่ต้นแบบสร้างสุขภาวะ จ.นครสวรรค์ สู่เมืองเกษตรอินทรีย์ในอนาคต ซึ่งมีหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ชาวบ้านทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก เมื่อเร็วๆ นี้

 

 

นางสาธิตา ศิลป์อยู่ รองประธานวิสาหกิจชุมชนสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งที่ยาวนานกว่า 7 ปี และแล้งหนักในช่วง 3 ปีหลังมานี้ ประกอบกับไม่มีชลประทานในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านบ้านดอนตะเคียน 40-50 ครัวเรือน ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเดือดร้อนหนัก โดยเฉพาะกลุ่มที่ปลูกข้าวซึ่งมีมากถึงร้อยละ 80-90 เนื่องจากข้าวยืนต้นตาย บางปีหว่านข้าวมากถึง 3 รอบ แต่ก็ตายทุกรอบ ส่งผลให้ทุกครัวเรือนมีหนี้สะสมตั้งแต่ 30,000-1,000,000 บาท ยังกระทบไปถึงอีก 40 ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ด้วย แต่เมื่อมีองค์ความรู้ในเรื่องการทำการเกษตรแบบไร้สารเคมีตามรอยศาสตร์พระราชา ในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งทางแกนนำของชุมชนไปอบรมเรียนรู้ และเชิญนักวิชาการ นักวิจัย และปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาให้ความรู้คนในพื้นที่ตั้งแต่ปีที่ 2561 และมีเกษตรกรประมาณ 10 ครัวเรือน สนใจวิถีดังกล่าวและทดลองปลูกข้าวรวมถึงพืชผักผลไม้อื่นๆ จนเริ่มเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ และกลายเป็นความเชื่อมั่นว่าเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ จะสามารถปลดหนี้สิน และสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนในพื้นที่รวมถึงผู้บริโภคได้

 

นางสาธิตา อธิบายเพิ่มเติมว่า การทำเกษตรแบบไร้สารเคมีของบ้านดอนตะเคียนนั้น จะใช้สารชีวภาพที่ผลิตขึ้นเองในพื้นที่ โดยร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นวิทยากรเกษตรทฤษฎีใหม่ และนักวิจัยพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าว จนได้น้ำชีวภาพ 32 สูตร ใช้ทำการเกษตรแบบครบวงจร และเลือกพันธุ์ข้าวที่ทนแล้ง แต่ให้ปริมาณผลผลิตและมีคุณภาพทางโภชนาการสูงอย่างข้าวหอมมะลิแดง “โกเมนสุรินทร์” ข้าวเจ้าต่างสีพันธุ์พื้นเมืองไวต่อช่วงแสงบริสุทธิ์ ที่สามารถเก็บผลผลิตไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ต่อได้มาปลูก ซึ่งเป็นงานวิจัยของ ดร.รณชัย ช่างศรี หัวหน้ากลุ่มวิชาการ ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนขั้นตอนจะเตรียมดินด้วยการใช้ปุ๋ยหมักผสมกับจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงท้องถิ่น หรือ “อีแดง” ร่วมกับสารชีวภาพตัวอื่นที่มีอีแดงเป็นส่วนผสม เช่น ไลลาและเอ็นวัน พอข้าวอายุได้ 3 วัน จะเริ่มฉีดสารชีวภาพคลุมเลนเพื่อยับยั้งการเติบโตของวัชพืช จากนั้นจะใช้สารชีวภาพอย่างเขียวแตกกอและเขียวใบใหญ่ ซึ่งเปรียบเสมือนวัคซีนและยังช่วยเพิ่มธาตุอาหาร และสารชีวภาพอื่นๆ จนกระทั่งเก็บเกี่ยว

 

 

“พิธีเกี่ยวข้าวในวันนี้ นับเป็นผลสำเร็จที่ยืนยันว่าการทำการเกษตรแบบไร้สารเคมีสามารถทำได้จริง ขนาดพื้นที่ภัยแล้งอย่างบ้านดอนตะเคียนเตี้ยยังได้ผล ฝนไม่ตกติดต่อกันเกือบ 60 วัน แต่ต้นข้าวไม่ตาย ทั้งที่ปกติหากต้นข้าวงอก 15 วัน ยังไม่ได้น้ำจะระอุตายหมด และยังให้ผลผลิตดีกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าหญ้า ที่ปกติจะได้ข้าวอยู่ที่ 30-35 ถังต่อไร่ แต่ตอนนี้คาดว่าจะได้ 60-65 ถังต่อไร่ และบางแปลงอาจได้สูงถึง 80 ถังต่อไร่ ทั้งที่ใช้เมล็ดพันธุ์แค่ 5 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ที่สำคัญต้นทุนลดลงกว่าครึ่ง ดังนั้น พื้นที่ชุ่มน้ำมีระบบชลประทานย่อมได้ผลดีมากกว่านี้แน่ๆ จึงอยากชวนให้เกษตรกรยุคใหม่ หันมาทำการเกษตรแบบไร้สารเคมีมากขึ้น เพื่อสร้างสุขภาวะให้ตัวเอง ชุมชน และสังคม” รองประธานวิสาหกิจชุมชนสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน กล่าว

 

 

ขณะที่ ร.อ.พงศักดิ์ บุตรเมือง วิทยากรเกษตรทฤษฎีใหม่ ปราชญ์ชาวบ้านผู้คิดค้น “อีแดง” กล่าวว่า ตนเองได้น้อมนำเอาศาสตร์พระราชาของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งก็คือเกษตรทฤษฎีใหม่ มาแนะนำใช้แก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ของเกษตรกร อย่างอีแดงที่จริงคือฮอร์โมนหรือสารตั้งต้นที่ใช้บำรุงพืช ได้จากการเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์จากน้ำสะอาดในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังใช้สมุนไพรและวัสดุในท้องถิ่นในการผลิต ดังนั้น สารชีวภาพที่ได้จึงเป็นจุลินทรีย์ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับการทำการเกษตรในพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะ ขณะที่การทำงานของสารชีวภาพจะช่วยบำรุงและเคลือบห่อหุ้มไม่ให้พืชคายน้ำ ส่งผลให้ต้นข้าวรอดตายและออกรวงสวยงามได้ผลผลิตดี

 

“นอกจากผลผลิตจะดีแล้ว ต้นทุนที่ใช้ในการทำการเกษตรแบบไร้สารเคมียังถูกกว่าเกือบครึ่ง เฉลี่ยแล้วต้นทุนการทำเกษตรแบบไร้สารเคมีอยู่ที่ 2,600 บาทต่อไร่ แต่หากเป็นเกษตรเคมีจะอยู่ที่ 5,700-6,500 บาทต่อไร่ ที่สำคัญเมื่อนำไปตรวจหาสารเคมีตกค้างกับแล็ปของมหาวิทยลัยต่างๆ ก็ไม่พบสารตกค้างที่ควรระวัง แม้จะเป็นพื้นที่การเกษตรที่เคยใช้สารเคมีมาก่อนก็ตาม” ร.อ.พงศักดิ์ ยืนยันพร้อมกล่าวต่ออีกว่า เมื่อต้นทุนลด ได้ผลผลิตดี ได้ผลผลิตปลอดภัย ก็อยากให้เกษตรกรทำการเกษตรในลักษณะตัวเองพอกินแล้วจึงแบ่งปันให้ชุมชน และหากมีเหลือจึงค่อยขาย และไม่นำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ในเชิงพาณิชย์

 

 

ด้าน นายวิสุทธิ บุญญะโสภิต รองผู้อำนวยการ สปสช. เขต 3 นครสวรรค์ กล่าวว่า เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ จ.นครสวรรค์ มีความเห็นร่วมกันให้ขับเคลื่อน จ.นครสวรรค์ ก้าวสู่การเป็นเมืองผลิตอาหารปลอดภัยตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมาจึงทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว  โดยในปี 2561 ได้ร่วมกับหน่วยจัดการ สสส. จ.นครสวรรค์ เข้าหนุนเสริม 6 พื้นที่ รวมถึงที่ชุมชนบ้านดอนตะเคียน ซึ่งจากการขับเคลื่อนงานโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ในระยะ 10 เดือน พิสูจน์ให้เห็นว่าชุมชนแห่งนี้สามารถปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากการใช้สารเคมีมาสู่วิถีไร้สารเคมี โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานในการดำเนินงานได้สำเร็จ ขณะที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมภายนอก คอยหนุนเสริมเพิ่มศักยภาพด้านการวิเคราะห์และวางแผนแก้ไขปัญหา จนนำไปสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติในที่สุด

 

“เราหวังว่าพื้นที่บ้านดอนตะเคียน จะกลายพื้นที่ต้นแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ ในเรื่องเกษตรปลอดภัย โดยเตรียมต่อยอดความสำเร็จนี้ขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัด ผ่านการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดนครสวรรค์ หน่วยงานของรัฐที่ส่งเสริมการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย เพื่อเกษตรกรในพื้นที่ปลอดภัย ผู้บริโภคปลอดภัย อันส่งผลต่อการมีสุขภาพดีในที่สุด และการผลักดันให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ก็จะเป็นไปได้จริงในไม่ช้า” นายวิสุทธิ กล่าว

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"