เครือข่ายชุมชนภาคกลางและตะวันตกจัดงาน ‘มหกรรมเศรษฐกิจชุมชน’ ขณะที่ พอช.ตั้งเป้าปี 2563 หนุน 500 กลุ่มทั่วประเทศพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน


เพิ่มเพื่อน    

นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นั่งด้านหน้าที่ 4 จากซ้าย) ร่วมงานมหกรรมฯ

 

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก 16 จังหวัดร่วมกับ พอช.และภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘มหกรรมเศรษฐกิจชุมชนคนภาคกลางและตะวันตกสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน’  แสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน  นิทรรศการ  พื้นที่รูปธรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน  ฯลฯ  และยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สนับสนุนการใช้เทคโนโลยี-พลังงานทดแทน-การท่องเที่ยวโดยชุมชน-เศรษฐกิจชุมชน-เกษตรอินทรีย์  ฯลฯ  ขณะที่ พอช.ตั้งเป้าปี 2563 สนับสนุนการพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจชุมชน 500 กลุ่มทั่วประเทศ 

 

ระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้   เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก 16 จังหวัดร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ และภาคีเครือข่าย  จัดงาน ‘มหกรรมเศรษฐกิจชุมชนคนภาคกลางและตะวันตกสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน’  ขึ้นที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีนายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน  ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานในการเปิดงาน  ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการ  การแสดงและจำหน่ายสินค้าชุมชน  นิทรรศการ  พื้นที่รูปธรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน  ฯลฯ   โดยมีสมาชิกเครือข่ายฯ และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน

 

 

นายพิพัฒน์   แก้วจิตคงทอง  คณะทำงานเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคกลางและตะวันตก   กล่าวว่า ที่ผ่านมาชุมชนท้องถิ่นประสบปัญหาต่างๆ  เช่น  ปัญหาด้านการผลิตสินค้าการเกษตร  พืชผลราคาตกต่ำ  การใช้สารเคมี  ทำให้ต้นทุนสูงและมีผลต่อสุขภาพ  ปัญหาด้านการตลาด  ขาดแคลนทุน  ฯลฯ  จึงได้รวมตัวกันขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา  โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนช่วยสนับสนุน  เช่น พอช. มหาวิทยาลัยราชภัฏ ฯลฯ นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทุนชุมชนในลักษณะเครือข่ายหรือคลัสเตอร์ (Cluster) โดยเน้น 4 ด้านหลัก  คือ    1.การแปรรูปสินค้าเกษตร  เพื่อเพิ่มมูลค่า  เพิ่มช่องทางการค้า  2.การทำเกษตรอินทรีย์  อาหารปลอดเคมี  3.การตลาด-ร้านค้าชุมชน  และ 4.การท่องเที่ยวโดยชุมชน 

 

“ที่ผ่านมาขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและภาคตะวันตก 16 จังหวัด  ได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา ค้นหาศักยภาพของชุมชน   จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่าย  และเชื่อมโยงเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนระดับจังหวัด  มีพื้นที่รูปธรรมทั้งหมด 250 ตำบล  และในปี 2563 จะขยายพื้นที่เพิ่มเติมอีก 100 ตำบล  เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทุนชุมชน มีเป้าหมายเพื่อให้ชาวชุมชนได้กินอิ่ม  นอนอุ่น   มีทุนทำกิน  หนี้สินหมด  และนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนต่อไป”  นายพิพัฒน์กล่าว

 

 

 

นายอัมพร  แก้วหนู  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  ขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมของโลกและประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป  เช่น  คนหนุ่มสาวจะแต่งงานช้าลง  เด็กเกิดใหม่จะน้อยลง  ทำให้โรงเรียนต้องยุบไปรวมกัน  และภายใน 10 ปีข้างหน้ามหาวิทยาลัยอาจจะต้องปิดตัวเอง  นอกจากนี้ธุรกิจถุงพลาสติกอาจจะต้องปิดตัว  เพราะหลายประเทศทั่วโลกจะเลิกใช้ถุงและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก  และการใช้กระดาษอาจจะเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนถุงพลาสติก   รวมทั้งศูนย์การค้าก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน  เพราะปัจจุบันมีการค้าขายสินค้าทางออนไลน์หลากหลายชนิด  ผู้ซื้อไม่ต้องไปที่ศูนย์การค้า  เพราะปัจจุบันมีระบบขนส่งสินค้าที่สะดวกและรวดเร็ว 

 

“ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อธุรกิจชุมชนเช่นเดียวกัน  ดังนั้นชุมชนต้องนำไปคิดต่อว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร  เช่น  ค้าขายสินค้าชุมชนทางออนไลน์ให้มากขึ้น  เน้นการผลิตสินค้าและอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ  เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีมากขึ้น  และยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์เพื่อจะได้กินอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ”  รองผู้อำนวยการ พอช.ยกตัวอย่าง

 

 

 

นายอัมพรกล่าวด้วยว่า  ปีที่ผ่านมา  พอช.สนับสนุนการจัดทำแผนธุรกิจชุมชนไปแล้วประมาณ 150 กลุ่ม/องค์กรทั่วประเทศ  ซึ่งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้จะต้องนำไปขยายผลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนต่อไป  ส่วนในปีนี้จะขยายพื้นที่เพิ่มอีก 500  กลุ่ม/องค์กรทั่วประเทศ  นอกจากนี้ในช่วง 10-20 ปีข้างหน้าต่อไปนี้  ชุมชนต่างๆ จะต้องวางเป้าหมายว่าจะขับเคลื่อนหรือพัฒนาชุมชนไปสู่เป้าหมายหรือทิศทางใด  เช่น  เป็นชุมชนผลิตอาหารปลอดภัย  ไร้สารเคมี  รวมทั้งต้องทบทวนการพัฒนาชุมชนในช่วงที่ผ่านมาว่ามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร  แล้วนำมาปรับปรุงเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า

 

การจัดงานมหกรรมฯ ในครั้งนี้  ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก 16 จังหวัด (นครสวรรค์  อุทัยธานี  ชัยนาท  สิงห์บุรี  ลพบุรี  สระบุรี  พระนครศรีอยุธยา  อ่างทอง  สุพรรณบุรี  กาญจนบุรี  นครปฐม  ราชบุรี  สมุทรสาคร  สมุทรสงคราม  เพชรบุรี  และประจวบคีรีขันธุ์)  ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทุนชุมชนฐานรากการสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  ภาคกลางและตะวันตก  ให้แก่นายสุรพร  ดนัยตั้งตระกูล  ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่มาร่วมงาน  รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อให้สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคประชาชนในด้านต่างๆ  รวม 7 ด้าน  เช่น

 

1.ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและการใช้พลังงานทดแทนด้วยระบบโซล่าเซลล์และไบโอแก๊สในภาคกลางและตะวันตก  จำนวน 23 พื้นที่  โดยให้กระทรวงพลังงานสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนในการแปรรูปสินค้าและการตลาด  ใช้พลังงานทดแทนโซล่าร์เซลล์และไบโอแก๊สในการผลิตเพื่อลดต้นทุน  ฯลฯ

2.ส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยชุมชน  ด้านเกษตรกรรม  เกษตรยั่งยืน ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม   (ป่าชุมชน  ประมงชายฝั่ง  ป่าชายเลน  ลุ่มน้ำเจ้าพระยา  ป่าสัก ฯลฯ)  โดยให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  องค์กรปกครองท้องถิ่น  ฯลฯ สนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยว  การพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนในการบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน

 

ผู้แทนขบวนชุมชนฯ ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อผู้แทน รมว.พลังงาน

 

3.สนับสนุนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน  ทั้งด้านการผลิต  การบริโภค  การจำหน่าย เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน  โดยเสนอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  กรมการพัฒนาชุมชน  สนับสนุนด้านการพัฒนาระบบโปรแกรมบริหารจัดการสินค้าชุมชน  ฯลฯ

4.ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรยั่งยืน  โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงสาธารณสุข  ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์  เกษตรปลอดภัย  ขยายพื้นที่และขยายครอบครัวเกษตรยั่งยืนให้มากขึ้น  ฯลฯ

5.การจัดการความรู้และสื่อสารสู่สาธารณะ  ให้กระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  สนับสนุนการจัดทำข้อมูล  ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ  และจัดทำเว็บไซต์เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการท่องเที่ยว  สินค้าชุมชน  สื่อสารสู่สาธารณะ

6.ยกระดับพื้นที่รูปธรรม  นวัตกรรม  เศรษฐกิจและทุนชุมชน  เสนอกระทรวงดิจิทัลฯ  ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาและยกระดับพื้นที่รูปธรรม

7.สนับสนุนการใช้ที่ดินในเขตพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้กับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน  จำนวน 6 พื้นที่ (กาญจนบุรี  สุพรรณบุรี  ลพบุรี  อุทัยธานี) เสนอให้กระทรวงพลังงาน  กระทรวงเกษตรฯ  กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สนับสนุนการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค  การจัดสรรน้ำ  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  พัฒนาอาชีพ  โดยใช้พลังงานทดแทน  ฯลฯ

 

 ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานชมนิทรรศการเศรษฐกิจชุมชนฯ

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"