เปิดเกณฑ์ลดวันต้องโทษ หลังเกิดเหตุฆ่าสลด


เพิ่มเพื่อน    

 

           กลายเป็นประเด็นใหญ่ เมื่อนายสมคิด พุ่มพวง หรือแจ็ค เดอะริปเปอร์เมืองไทย พ้นโทษ โดยหลังจากที่พ้นโทษออกมาไม่นานก็ได้ก่อเหตุซ้ำหลังจากพ้นโทษ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2562 โดยเริ่มเข้าเรือนจำเมื่อ 29 มิ.ย.2548 ซึ่งใช้เวลาอยู่ในเรือนจำเพียง 14 ปี ก็ได้มีการก่อเหตุซ้ำอีกครั้ง ฆ่าเปลือยนางรัศมี อายุ 51 ปี แม่บ้านในโรงแรมแห่งหนึ่งใน ต.หนองโก อ.กระนวน จ.ขอนแก่น จนสุดท้ายถูกเจ้าหน้าที่ สภ.ปากช่องจับกุมขณะกำลังนั่งรถไฟโดยสารขบวนที่ 234 สายสุรินทร์-กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา

                โดยก่อนที่นายสมคิดจะเข้าเรือนจำครั้งแรกได้ก่อคดีฆาตกรรมมาแล้วถึง 5 ศพ 1.ก่อเหตุฆาตกรรมชิงทรัพย์ น.ส.วารุณี พิมพะบุตร อายุ 25 ปี นักร้องคาเฟ่ในห้องพัก โรงแรม ต.มุกดาหาร อ.เมือง จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 30 ม.ค.48 2.เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.48 ฆ่า น.ส.ผ่องพรรณ ทรัพย์ชัย อาชีพหมอนวดแผนโบราณในโรงแรม ที่ ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง 3.เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.48 ฆ่าชิงทรัพย์นางพัชรีย์ อมตนิรันดร์ นักร้องคาเฟ่ ในห้องพักโรงแรม ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง 4.เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.48 ฆ่า น.ส.พรตะวัน ปังคะบุตร หมอนวดแผนโบราณ ที่โรงแรมใน อ.เมืองอุดรธานี 5.เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.48 ฆ่าชิงทรัพย์ น.ส.สมปอง พิมพรภิรมย์ อาชีพหมอนวดแผนโบราณ ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า แค่ภายในเดือนเดียว ก่อคดีฆาตรกรรมถึง 4 ศพ

                เดิมทีนายสมคิดถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำกลางบางขวาง หลังศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แต่เรือนจำกลางบางขวาง มีกฎว่าควบคุมตัวเฉพาะนักโทษในคดีที่มีโทษสูง คือ ต้องโทษจำคุก 25 ปีขึ้นไป จนถึงจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้นเมื่อสมคิดได้รับการลดโทษลงมาเรื่อยๆ ตามหลักเกณฑ์จากการที่ประพฤติตัวดี จนมีโทษเหลืออยู่ไม่ถึง 25 ปี เขาจึงถูกย้ายออกจากเรือนจำกลางบางขวาง กลับภูมิลำเนามาอยู่ที่เรือนจำหนองคาย ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว โดยถูกจำคุกจริงรวมประมาณ 14 ปี

                เหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นประเด็นร้อนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบในการปล่อยตัวนายสมคิด ซึ่งเจ้าตัวก็ออกมายอมรับว่ากระบวนการกลั่นกรองลดโทษมีความผิดพลาด  จนนำไปสู่คดีฆาตรกรรมรายที่ 6 ของนายสมคิด

                ซึ่งถ้าดูจากเกณฑ์การลดวันต้องโทษจำคุกในปัจจุบัน นักโทษที่จะได้รับสิทธิดังกล่าว จะต้องมีคุณสมบัติเป็นนักโทษเด็ดขาดที่จำคุกมาแล้ว ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป สำหรับนักโทษจำคุกตลอดชีวิตต้องจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี จึงจะได้รับวันลดโทษสะสม โดยจะลดโทษให้ตามชั้นของนักโทษ คือ ชั้นเยี่ยมจะได้รับวันลดโทษเดือนละ 5 วัน ชั้นดีมาก 4 วัน และชั้นดีเดือนละ 3 วัน และมีการประเมินหลายด้าน เช่น ประเมินความประพฤติ เคยทำผิดวินัยหรือไม่ ก่อความรุนแรงหรือไม่ เป็นขาใหญ่หรือไม่ ถ้าไม่มีความผิดเหล่านี้ก็ผ่าน

                ทั้งนี้ เรือนจำจะรวมวันลดโทษสะสมของผู้ต้องขังทุกราย  เพื่อนำเสนอคณะกรรมการกรมราชทัณฑ์พิจารณาอนุมัติให้ปล่อยตัวเมื่อมีวัดลดโทษสะสมเท่ากับโทษที่เหลือ การพิจารณาจะทำทุกเดือนหากไม่ไปกระทำผิดวินัยเสียก่อน

                การได้รับวันลดโทษจำคุกเมื่อออกไปทำงานสาธารณะ ผู้ที่จะได้รับการปล่อยตัวลดโทษจำคุกเมื่อออกไปทำงานสาธารณะนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับอนุญาตให้ออกไปทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ จะได้รับประโยชน์ลดวันต้องโทษจำคุกให้เท่ากับจำนวนวันที่ออกไปทำงาน คือออกไปทำงาน 1 วัน ก็จะได้รับวันลด 1 วัน

                โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการพิจารณาออกไปทำงานสาธารณะ จะต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และไม่เป็นผู้กระทำผิดในคดี ความผิดที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ส่วนความผิดอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมานี้ ทำงานสาธารณะได้ทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม การที่นักโทษเด็ดขาดคนใดได้ออกไปทำงานสาธารณะหรือไม่นั้น ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการคัดเลือกของเรือนจำเสียก่อน

                ทั้งนี้ ชั้นของนักโทษมีความสำคัญต่อนักโทษเด็ดขาดเป็นอย่างมากในระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำนักโทษเด็ดขาดจะต้องพยายามประพฤติตนให้ดีขึ้น และไม่กระทำผิดวินัย ในทางกลับกันหากกระทำผิดวินัยจะถูกลงโทษลดชั้นและถูกตัดประโยชน์ที่ตนพึงจะได้รับ

                ในส่วนระหว่างการคุมประพฤติจะมีเจ้าพนักงานคุมประพฤติ หรืออาสาสมัครคุมประพฤติไปเยี่ยมที่บ้านของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ ดูแลช่วยเหลือสงเคราะห์เมื่อมีปัญหา โดยที่ผู้ถูกคุมประพฤติจะต้องประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อ ตามที่กำหนดไว้ หากว่าประพฤติผิดเงื่อนไข จะถูกนำตัวกลับมาคุมขังไว้ในเรือนจำตามเดิม และจะถูกลงโทษทางวินัยด้วย

                แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ฝั่งกระทรวงยุติธรรมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้มีคิดทบทวนใหม่เรื่องกระบวนการพักโทษ เพราะหากดูจากต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา ฆาตกรโรคจิต ฆ่าข่มขืน กระทำชำเราเด็ก เป็นกลุ่มคนที่อาจจะต้องถูกคุมขังตลอดชีวิต หรือแม้จะได้รับการพักโทษออกมา ก็ต้องติดกำไลอีเอ็มตลอดชีวิต และหากไปอยู่บริเวณอย่างสถานศึกษา

                เพราะการพักโทษไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนที่มีสภาพจิตที่แตกต่างกัน ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์ก็ได้เร่งตรวจผู้ที่มีลักษณะไม่ปกติเช่นเดียวกับกรณีนายสมคิด ที่รับโทษในเรือนจำทั่วประเทศ โดยให้มีการจับตาดูพฤติกรรมต่างๆ ของนักโทษ อีกทั้งมีการจัดแพทย์ หรืออาสาสมัครที่มีความรู้ด้านสุขภาพจิตเข้ามาช่วยดูแล เพื่อจัดให้อยู่ในกลุ่มของนักโทษที่ไม่สามารถใช้กฎหมายปกติมาพิจารณาได้

                นี่คือสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทบทวนใหม่ว่าการลดวันต้องโทษจะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมด้านนอกรั้วคุก สำหรับนักโทษที่มีความประพฤติตัวดีได้หรือไม่ และจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดซ้ำขึ้นอีก เพื่อให้นักโทษได้ใช้ชีวิตใหม่โดยที่ไม่ถูกสังคมด้านนอกรังเกียจ.

 

วอชเชอร์

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"