เปลือยเซเลบการเมือง'ธนาธร'คิดแบบ'มาร์กซ์-เลนิน'ปฏิบัติแบบทุนนิยม


เพิ่มเพื่อน    

19 มี.ค.61- นายธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ เซเลบการเมือง ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท หลานอานายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่้เคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยุครัฐบาลทักษิณ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ถึงผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างตำแหน่งรมว.อุตสาหกรรมกับบริทัษไทยซัมมิท กำลังได้รับความสนใจจากสังคมอย่างสูง ถึงแนวคิดที่ระบุว่าเป็นคนรุ่นใหม่ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สิ่งใหม่ๆ

ก่อนประกาศตัวเล่นการเมืองนายธนาธรเคยให้สัมภษณ์สื่อมวลชนหลายแขนง และหนึ่งในนั้นคือ นิตยสารสารคดี  ฉบับที่ 263 มกราคม 2550 ซึ่งนายธนาธรมีแนวคิดที่น่าสนใจทั้งในแง่ธุรกิจและการเมือง โดยสารคดีตั้งชื่อบทสัมภาษณ์ว่า  ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท “ผมถูกบังคับให้เป็นนายทุน”

บางตอนในสารคดีระบุว่า.....

ธนาธร หรือ เอก พาไทยซัมมิทกรุ๊ปทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดของธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ทำยอดขายสูงสุดถึง ๒๖,๐๐๐ ล้านบาท และยังขับเคลื่อนทุนไทยออกไปลงทุนนอกประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนและอินโดจีน อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีนเป็นลำดับต่อไป ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า

“เราจะไม่ยอมเป็นบริษัทที่อยู่ในทุนนิยมหางแถว แต่ต้องการเป็นบริษัทที่สามารถใช้ประโยชน์จากทุนนิยม วันนี้ globalization มาเคาะประตูบ้านคุณแล้ว ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม คุณหลีกหนีไม่ได้”

ผู้เป็นหลานแท้ๆ ของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และมีเพื่อนร่วมโรงเรียนเก่าคนหนึ่งที่ชื่อ พานทองแท้ ชินวัตร เราเรียนเตรียมอุดมศึกษามาด้วยกัน เขาเป็นรุ่นพี่ผมปีหนึ่ง หลังจากจบก็ไปเรียนต่อธรรมศาสตร์ด้วยกัน สมัยก่อนเป็นเพื่อนเที่ยวเพื่อนกินเหล้าด้วยกัน แต่ไม่ได้เจอกันหลายปีแล้ว

ตอนนั้นผมเริ่มรู้สึกท้อแท้กับการศึกษา ไม่อยากเรียนแล้ว รู้สึกว่าการศึกษามันเหลวแหลก การศึกษาทำให้คนเห็นแก่ตัว ณ วันนั้นก็รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ รู้สึกว่าการศึกษาทำให้เรามีมันสมองมีวิธีคิดแบบรับใช้ทุน การศึกษามันป้อนสิ่งที่เรียกว่ามาร์เกต ความเป็นตลาดนิยม ให้แก่วิธีคิดของเรา เราเชื่อว่าความรู้เป็นเรื่องจริง ปริญญาเป็นสิ่งหลอกลวง ไม่จำเป็นต้องมีปริญญาก็มีความรู้ได้ เป็นความรู้ที่เราสามารถแสวงหาเอง ไม่ต้องไปเรียนกับอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ได้ สรุปแล้วเรารู้สึกว่าการศึกษามันรับใช้กลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม วันนั้นก็ปฏิเสธการศึกษา

พอไปอยู่อังกฤษ ผมเริ่มอ่านแนวเศรษฐศาสตร์การเมือง ผมอ่านงานของเลนินชิ้นแรกตอนผมอยู่อังกฤษ ตอนอยู่เมืองไทยผมไม่เคยอ่านเลย มาร์กซ์พออ่านมาบ้าง แต่ก็ไม่ลึกซึ้ง ไปได้ยินชื่อพวกนี้ก็เวลานั่งเถียงกัน เพื่อนๆ ก็จะอ้างทฤษฎีมาร์กซ์บ้างเลนินบ้าง เราก็ได้แต่นั่งฟังเถียงไม่ออกเพราะไม่รู้จัก ผมเพิ่งได้อ่านงานของมาร์กซ์ของเลนินตอนอยู่ที่อังกฤษทั้งนั้นเลย แล้วตอนอยู่ที่โน่นผมยังไปสมัครเข้ากลุ่มที่อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ เคยอยู่มาก่อน คือ SWP-Socialist Worker Party เป็นองค์กรจัดตั้งใหญ่ องค์กรจัดตั้งระดับนักศึกษาเรียกว่า SWSS-Socialist Worker Student Society เป็นชมรมที่ค่อนข้างซ้ายซึ่งมีอยู่ชมรมเดียวในอังกฤษ ผมก็ไปเข้าชมรมนี้ ร่วมทำกิจกรรมกับพวกเขา รณรงค์แจกแผ่นพับ จัดงานวันเมย์เดย์ ฯลฯ ก็เป็นประสบการณ์อีกด้านหนึ่งที่ได้เรียนรู้

สารคดี:โดยพื้นฐานดูเหมือนว่าเป็นมาร์กซิสต์ แต่วันหนึ่งเมื่อมาทำธุรกิจของพ่อที่เป็นแนวทางแบบทุนนิยมเลย ชีวิตขัดแย้งมากไหมครับ

ธนาธร:การที่ไทยซัมมิทไปลงทุนที่อินเดียเป็นไอเดียเริ่มต้นของผม ณ วันที่ผมเริ่มเข้ามาทำงานที่นี่ การมีไอเดียเริ่มต้นที่จะต่อสู้กับโลกาภิวัตน์ในฐานะทุนชาติก็มาจากกระบวนการวิเคราะห์สังคม การวิเคราะห์โลกาภิวัตน์แบบเดียวกัน นั่นคือ เราเชื่อว่าทุนที่จะอยู่ได้ในการแข่งขันในกระแสโลกาภิวัตน์ คือกลุ่มทุนก้าวหน้าที่มีเทคโนโลยีและมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก สามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงานได้อย่างเสรีไปในที่ที่มีผลตอบแทนสูงกว่าและค่าแรงต่ำกว่า ดังนั้น เมื่อเผชิญหน้ากับทุนข้ามชาติที่ลุกขึ้นเอาเปรียบ ทุนชาติมีทางเลือก ๓ ประการ คือ หนึ่ง สยบยอมต่อทุนข้ามชาติ สอง ให้รัฐบาลออกมาตรการปกป้องตัวเองหรือสร้างวาทกรรมชาตินิยม หรือสาม พัฒนาจากทุนชาติให้กลายเป็นทุนข้ามชาติเหมือนกัน บริษัททุกบริษัทมีความจำเป็นต้องไต่บันไดโลกาภิวัตน์ จากสิ่งที่เรียกว่า national champion ให้กลายเป็น global player การที่เราพยายามขยายการลงทุนออกไปนอกประเทศก็มาจากฐานวิธีคิดแบบนี้ ดังนั้นกระบวนการวิเคราะห์สังคมที่เราได้เรียนรู้มาตั้งแต่สมัยยังทำกิจกรรมจึงไม่สูญเปล่า มันช่วยให้เราวิเคราะห์เศรษฐกิจหรือมองอะไรได้ลึกพอสมควร

ณ วันนี้ผมยังเชื่อในสังคมนิยม แต่ผมคิดว่าวิธีการบางอย่างของมาร์กซิสต์มันใช้ไม่ได้แล้ว เพราะว่าสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว ถามว่าขัดแย้งกับตัวเองไหม ถ้าเปลี่ยนคำถามว่า ขณะที่ในสังคมเรามีคนที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับมีนักธุรกิจด้วยนั้น ถามว่ามันขัดแย้งกันไหม สำหรับผม ในระดับหนึ่งผมคิดว่าขัดแย้ง ผมยกตัวอย่างเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ผมปิดโรงงานไปโรงงานหนึ่ง คนงานประมาณ ๗๐๐ คน เป็นครั้งแรกที่ผมปิดโรงงานเลย์ออฟคนงาน

ไม่ใช่เพราะขาดทุนครับ แต่เพราะว่าจากการประเมินแล้ว ถ้าเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ปิดโรงงานไป มันจะให้ productivity ที่ดีกว่า ถามว่าในฐานะผู้บริหารองค์กรทางธุรกิจ คุณรู้ว่าทำอย่างนี้แล้วบริษัทมีกำไรมากกว่า คุณไม่ทำคุณผิดไหม ถ้าผมทำอย่างนี้แล้วผมสามารถลดต้นทุนให้บริษัทได้ ผมไม่ทำ ผมผิดจรรยาบรรณนักธุรกิจ แต่เมื่อผมเลือกที่จะทำ ผมก็ผิดความเป็นมนุษย์ เพราะว่าคนงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานนั้นเป็นคนงานเก่าแก่ที่ทำงานในบริษัทมา ๑๐ กว่าปีทั้งนั้น พอปิดโรงงานเรียบร้อยผมขึ้นรถแล้วร้องไห้ เป็นครั้งแรกที่ผมร้องไห้กับการทำงาน ผมรู้สึกว่ามันเจ็บปวด แต่ในฐานะนักธุรกิจมันต้องทำ ในแง่นี้ผมรู้สึกว่าต้องขัดแย้งกันอยู่ระหว่างศีลธรรมของความเป็นมนุษย์กับจรรยาบรรณนักธุรกิจ นักธุรกิจไม่ต้องเป็นคนใจดี ยกตัวอย่างขณะที่ปัจจุบันมีคน ๑๐ คนสามารถผลิตสิ่งนี้ได้ ถ้าผมคิดว่า ๘ คนสามารถผลิตได้ ผมก็เอาอีก ๒ คนออกไป มันไม่เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม ว่า ๒ คนที่ออกไปนั้นจะมีลูกเรียนหนังสืออยู่หรือเปล่า แต่มันเกี่ยวกับว่าในการผลิตของชิ้นนี้ผมต้องการแค่ ๘ คน ไม่ใช่ ๑๐ คน มันก็มีความขัดแย้งในแง่ศีลธรรม

แต่มีอย่างหนึ่งที่เราสามารถทำได้โดยไม่รู้สึกขัดแย้ง คือ ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยม ทุนนิยม อะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าคนต้องมีงานทำและต้องได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า นี่เป็นปรัชญาการทำงานของผม และเป็นปรัชญาการทำงานของบริษัทนี้เลย คือ ให้ผลตอบแทนแก่พนักงานของเราสูงกว่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนที่บริษัทอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันจ่าย พูดง่ายๆ ว่าให้มากกว่าที่เขาไปทำงานที่บริษัทอื่น เพราะเราอยากจะให้คนของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นั่นคือปรัชญาของเรา

ถ้าผมสามารถฝันเห็นว่าสังคมในอนาคตเป็นแบบไหนได้ มีโมเดลแบบไหนได้ ผมคิดว่าผมคงไกลกว่ามาร์กซ์แล้วนะ ผมไม่คิดไปถึงขั้นว่าสังคมจะต้องเป็นอย่างไหน เอาง่ายๆ ถามว่าในสังคมอุดมคติเรามีตลาดหุ้นหรือไม่มี เพราะว่าเวลาเราพูดถึงตลาดหุ้น แง่หนึ่งมันเป็นสัญลักษณ์ของระบบทุนนิยม ผมคิดว่า สังคม ณ วันนี้ เราไม่สามารถหลีกหนีการแลกเปลี่ยนสินค้าและเงินตราได้ ประเด็นคือคุณสามารถคิดโมเดลการค้าระหว่างประเทศแบบใหม่ออกไหม ผมยอมรับว่าวันนี้ผมคิดไม่ออก และผมก็ยังไม่เคยเห็นใครที่สามารถนำเสนอโมเดลแบบนี้ออกได้ แต่สำหรับผมชัดเจนว่า โมเดลการค้าระหว่างประเทศที่เราต้องการไม่ใช่ทุนนิยมแบบเสรีนิยมแน่นอน

ผมไม่เชื่อว่าทุนนิยมจะล่มสลายด้วยตัวมันเอง ผมเชื่อว่าทุนนิยมจะล่มสลายด้วยการต่อสู้ของประชาชน ถ้าปล่อยมันไปเฉยๆ โดยที่เราไม่ลุกขึ้นสู้ เราไม่จัดตั้ง ทุนนิยมมันก็ไม่ล่มสลายลงเองหรอก อย่าลืมว่าทุนนิยมในตัวมันเองมันก็มีวิวัฒนาการ ทุนนิยมไม่ใช่ static ไม่ใช่อะไรที่นิ่ง มันมีพลวัตของมันตลอดเวลา ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เลยนะครับ การเมืองไทยช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงรัฐบาลทักษิณ ถ้าเกิดว่าภาคประชาชนไทย ถ้ามันมีจริงนะครับ ทำงานเย็น (งานจัดตั้งทางความคิด) มากพอ ผมว่าตรงนั้นเป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุดที่จะตั้งพรรคการเมือง แม้แต่เวลานี้ก็ยังอยู่ในช่วงตั้งพรรคการเมืองด้วยซ้ำ แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำงานจัดตั้งทางความคิดเลย พอสถานการณ์สุกงอม เราเองต่างหากที่ไม่สุกงอม ไม่สามารถใช้สถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ได้

ผมคิดว่าทุนนิยมสอนเราว่าเราต้องใหญ่ถึงจะอยู่ได้ ตอนที่ผมเข้ามาทำงาน เรามีโรงงานอยู่ที่มาเลเซีย แล้วพอมาดูที่อินเดีย ประเทศนี้มีประชากรราว ๑,๑๐๐ ล้านคน เราวิเคราะห์ว่าตลาดที่อินเดียมันใหญ่มาก ถ้าเราไม่เข้าไปลงทุนตอนนี้แล้วปล่อยให้เขาโต ผมคิดว่ามีโอกาสสูงมากที่สินค้าจากจีน อินเดีย จะมาตีเราภายใน ๕ ปี ๑๐ ปีหลังจากนี้ เราตัดสินใจเข้าไปลงทุนที่อินเดียปี ๒๕๔๖ วิธีคิดของเราตอนนั้นก็คือ เราจำเป็นจะต้องขยายฐานการผลิต เราจำเป็นจะต้องใช้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ในมือให้เป็นประโยชน์ มันเหมือนเอาไข่วางไว้ในประเทศไทยประเทศเดียว ถ้าเศรษฐกิจไทยพัง โอกาสที่ไข่จะแตกทั้งตะกร้าก็มีสูง

สารคดี:ธุรกิจของคุณเป็นธุรกิจที่รัฐบาลชุดที่แล้วให้การสนับสนุนมาก ตามนโยบายที่จะให้ประเทศไทยเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย ส่งออกให้มากที่สุด ขณะที่รัฐบาลชุดนี้ดูเหมือนจะมีนโยบายสวนทางกัน มองจุดเปลี่ยนตรงนี้อย่างไร

ธนาธร:คุณบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงแล้วคุณลงทุน ๗ หมื่นล้าน แม้แต่งบประมาณรัฐบาลที่แถลงออกมา สำหรับปีงบประมาณนี้อยู่ที่ ๑.๕ ล้านล้านบาท ขณะที่รายได้ของรัฐคือ ๑.๓ ล้านล้านบาท ผมถามว่าคุณรณรงค์เศรษฐกิจพอเพียง ทำไมคุณถึงใช้นโยบายขาดดุล ทำไมคุณถึงไม่ใช้นโยบายเกินดุล ณ วันนี้ผมถามว่าใครสามารถออกมานิยามเศรษฐกิจพอเพียงได้บ้างว่าเศรษฐกิจพอเพียงในกรอบของคุณคืออะไร วันนี้ใครพูดอะไรดี คุณตีขลุมหมดเลยว่าคือเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในแง่รูปธรรมมันขัดกัน

เฉพาะนโยบายที่ประกาศออกมากับการดำเนินนโยบายในทางปฏิบัติจริงก็สวนทางกันแล้ว ผมคิดว่าในความเป็นจริงแล้วเศรษฐกิจพอเพียง อย่างน้อยที่สุดในทางธุรกิจมันพอเพียงไม่ได้ มันต้องเติบโต ผมไม่เคยเห็นบริษัทไหนไม่เติบโตแล้วไม่เจ๊ง

สารคดี:ถ้านิยามว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือการพึ่งตนเองได้ และสร้างภูมิคุ้มกันในธุรกิจของตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เพิ่มการลงทุน

ธนาธร:ผมคิดว่ามีนักวิชาการคนหนึ่ง คือคุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พูดไว้ชัด คือทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง หรือแม้แต่กระแสชุมชนนิยม มันมีรากฐานอย่างหนึ่งคือ ข้างในมันดี และข้างนอกมันเลว อะไรก็ตามที่มันเลวมันมาจากข้างนอกหมด เราอยู่ข้างในเราก็ดีกันอยู่แล้ว โดยที่เราลืมไปอย่างหนึ่งว่า มันเป็นเพียงมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นมา เวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง พูดถึงชุมชนนิยม หรือแม้แต่ในประเทศไทย เราบอกว่าเราไม่เปิดเสรีเพราะเรารู้สึกว่าอะไรก็ตามที่มาจากข้างนอกมันสร้างกิเลส มันสร้างความโลภ มันเอาอะไรต่างๆ ที่ไม่ดีในเชิงจริยธรรมในเชิงศีลธรรมเข้ามา แล้วเราก็พยายามปลูกฝังความคิดแบบชาตินิยมขึ้นมา แท้จริงแล้วการชูเรื่องชาตินิยมก็เพียงเพราะคุณต้องการปกป้องทุนชาติ เพราะคุณรู้สึกว่าถ้าปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาคุณเสียประโยชน์ เพราะคุณแข่งขันสู้บริษัทยักษ์ใหญ่พวกนี้ไม่ได้ ถามว่าเศรษฐกิจพอเพียง คุณปิดประเทศหรือเปล่า ถ้าคุณไม่ปิดประเทศ บริษัทยักษ์ใหญ่พวกนี้เข้ามา ผมถามว่าคุณแข่งขันสู้เขาได้หรือเปล่า ดูธุรกิจใหญ่ๆ ของไทย วันนี้เหลือธุรกิจอะไรบ้างที่ยังเป็นของคนไทย ที่ยังเป็นของทุนชาติอยู่ ผมรู้สึกว่าเหลือไม่เยอะ

ถ้าถามผมเป็นนายทุนผมชอบไหม ชาตินิยม ชูเลยใช้ของไทย คุณผลิตรถยนต์คุณต้องซื้อของจากบริษัทคนไทย ผมแฮปปี้ แต่ถามว่าท้ายที่สุดใครล่ะได้กำไร ทุนชาติและทุนต่างชาติก็ได้กำไรเหมือนกัน การสะสมทุนก็กระจุกตัวอยู่แค่กลุ่มคนระดับสูงบางกลุ่มเหมือนกัน ถามว่าแล้วทุนชาติกับทุนต่างชาติต่างกันอย่างไร ไม่ต่างกัน เพียงแต่เรามีมายาคติ ท้ายที่สุดเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นวาทกรรมแบบหนึ่งเท่านั้นเอง

สารคดี : มองกลับไปที่รัฐบาลทักษิณที่ผ่านมา ทำไมธุรกิจของคุณถึงต้องมีระยะห่างจากรัฐบาลทักษิณ

ธนาธร: ผมคิดว่ารัฐบาลไหนเราก็เคลียร์นะ อย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ผมเข้าทำงานมา ๕ ปีให้หลัง เราไม่เคยเดินไปบอกรัฐบาลว่าคุณต้องทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ให้เรา ผมคิดว่าธุรกิจของเราค่อนข้างรักษาระยะห่าง รัฐบาลที่ขึ้นมาเราก็ไม่ได้สนิทกับรัฐบาลไหนเป็นพิเศษ ภาพที่คนทั่วไปมองอาจดูเหมือนว่าเราสนิทกับรัฐบาลทักษิณเป็นพิเศษเพราะว่ามีคุณอา (สุริยะ จึง-รุ่งเรืองกิจ) อยู่ในรัฐบาล แต่ถ้าถามว่ามีการล็อบบีเชิงนโยบายเพื่อบริษัทไหม ผมยืนยันได้ว่าไม่มี ธุรกิจของเราเสรีที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นถามว่าเรารักษาระยะห่างกับรัฐบาลทักษิณไหม ผมคิดว่าเราไม่ได้มองว่าคุณอามีสายสัมพันธ์อยู่ในรัฐบาล แล้วจะให้รัฐบาลออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือบริษัทเรา อันนี้เราไม่เคยมี

สารคดี:แล้วข้อครหาที่บอกว่ารัฐบาลชุดทักษิณทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์เจริญรุ่งเรืองมาก

ธนาธร: รัฐบาลไหนก็ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์รุ่งเรือง แม้แต่รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้าขึ้นมา อุตสาหกรรมรถยนต์ก็จะยังได้รับการส่งเสริมอยู่ เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของประเทศ คุณไม่สามารถขึ้นมาแล้วบอกว่าไม่เอาอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือจะไม่ให้ประโยชน์กับบริษัทรถยนต์ ณ วันนี้ผมคิดว่าโตโยต้าพูดอะไรรัฐบาลฟัง เพราะเขากลัวว่าพวกนี้จะย้ายฐานการลงทุนไปที่อื่น

อยากจะเล่นการเมืองหรือเปล่าครับ

ธนาธร:ผมคิดว่าผมเล่นถ้าจำเป็น ถ้ามีสถานการณ์ เพราะในท้ายที่สุดแล้วเราปฏิเสธการเมืองไม่ได้ คุณบอกว่าคุณจะสร้างประเทศสีเขียว สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองมันเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรมันเกี่ยวข้องกับความเป็นรัฐเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งหมด คุณจะทำอะไรก็ตามในที่สุดมันก็โยงไปที่รัฐ มันต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ เพราะว่าเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยแบบตัวแทน แม้แต่คุณต่อสู้เรื่องโรคเอดส์คุณยังชุมนุมหน้ารัฐสภาเลย ผมจึงคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ถ้าถาม ณ วันนี้ผมยังไม่มีความคิดที่จะเล่นการเมือง แต่ก็ไม่ปฏิเสธ จริงๆ แล้วผมรู้สึกว่าเราสามารถแสดงความเชื่อหรือทำกิจกรรมทางการเมืองต่างกันได้ ถ้าผมจะทำกิจกรรมการเมืองอะไรสักอย่าง ผมคิดว่ามันมาจากจิตสำนึกและก็มาจากความเชื่อของตัวเองโดยบริสุทธิ์ โดยที่ปราศจากอิทธิพลของญาติพี่น้อง ปราศจากอิทธิพลของนักการเมืองใดๆ แต่จะทำไปด้วยความเชื่อและความศรัทธาที่ตัวเองมีอยู่ นั่นเป็นจุดยืนของผม.
 

ขอบคุณนิตยสารสารคดี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"