‘ป้อม’ฮึ่ม!6บิ๊กทหารต้องนั่งส.ว.


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" ไม่มีความเห็นกับข้อเสนอ "ชวน" ให้ 6 ผบ.เหล่าทัพพ้นเก้า ส.ว. "บิ๊กป้อม" ฮึ่ม! คสช.ต้องการให้ผู้นำเหล่าทัพติดตามงานสภาแล้วไปบอกต่อกับลูกน้อง ขณะที่เพื่อไทยได้ทีหนุนนายหัว ไม่ควรให้ข้าราชการประจำเข้ามามีบทบาทในฝ่ายการเมือง "ภูมิธรรม" ซัด ส.ว.เป็นกลไกสืบทอดอำนาจ

    เมื่อวันที่ 2 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้โละทิ้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 6 คนว่า ก็ว่ากันไป เป็นเรื่องของนายชวนที่เสนอ ต้องไปถามท่าน ตนไม่มีความคิดเห็นในเรื่องนี้ และเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแก้ไขอะไรได้หรือไม่อย่างไร ตนไม่ได้ไปเกี่ยวข้องตรงนี้ เป็นเรื่องของกรรมาธิการไปศึกษา ว่ากันไปตามกระบวนการ
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แล้วแต่สภา เป็นความคิดของนายชวน แต่เหตุผลของ คสช.ที่ได้มีการเสนอ ผบ.เหล่าทัพเป็น ส.ว.ด้วยนั้น เพราะจะได้ติดตามงานในสภา เพื่อที่จะได้นำเรื่องราวในสภามาบอกต่อลูกน้องในแต่ละเหล่าทัพให้ทราบว่ากิจการในสภาเป็นอย่างไร และทำงานร่วมกับส.ส.และ ส.ว. ส่วนจะแก้ไขก็แล้วแต่สภา เพราะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายทหาร และไม่ต้องมีการพูดคุยกับ ผบ.เหล่าทัพ
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวสามารถทำได้ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนี้ก็สามารถเสนอผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 2560 เพื่อพิจารณา ซึ่งหากคณะกรรมาธิการฯ ไม่เห็นด้วยความเห็นก็ตกไป แต่หากเห็นด้วยก็สามารถเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาหาแนวทางดำเนินการอย่างไร เช่น เสนอเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเสนอมายังรัฐบาล โดยในชั้นกรรมาธิการนี้สามารถเสนอข้อแก้ไขได้ทั้ง 276 มาตรา
    ส่วนการทำประชาพิจารณ์ร่างหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ยังเป็นขั้นตอนอีกไกล เพราะหากไม่ผ่านวาระ 1, 2 และ 3 ก็จะไม่ถูกไปทำประชาพิจารณ์ที่เป็นขั้นตอนสุดท้ายได้ ส่วนจะสามารถนำมาทำประชาพิจารณ์ในระหว่างการพิจารณาในสภาได้หรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ว่าทำได้หรือไม่ได้ แต่ปกติไม่มีใครทำกัน พร้อมกันนี้ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลได้เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใดเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะไม่เคยได้คุยกัน
    นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านให้สัมภาษณ์ว่า ตนเห็นด้วยกับนายชวน เพราะไม่ควรให้ข้าราชการประจำเข้ามามีบทบาทที่ในฝ่ายการเมือง จะทำให้การทำงานในส่วนข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองทับซ้อนกัน จริงๆ แล้วฝ่ายการเมืองมีหน้าที่กำหนดนโยบายสะท้อนความต้องการของประชาชน ขณะที่ฝ่ายประจำต้องสนองนโยบายของฝ่ายการเมือง ตราบใดที่ยังไม่แยกสองอำนาจนี้อย่างชัดเจนจะเกิดความคลุมเครือสังคมโลกก็ยังไม่มั่นใจส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทย เห็นได้จากที่ผ่านๆ มานานาชาติยังไม่เข้ามามากนัก เพราะไม่มั่นใจในรัฐบาล 
    นายภูมิธรรมกล่าวว่า ที่จริงแล้วควรปล่อยให้สภามีพัฒนาการด้วยตัวสังคมโลกจะได้ยอมรับมากขึ้น ตนอยากให้ฝ่ายประจำ ผู้บัญชาการเหล่าทัพทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มากกว่ามายุ่งเรื่องการเมือง เพราะสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์เห็นได้ชัดคือตัว พล.อ.ประยุทธ์ ที่เติบโตมาจากกองทัพ มีความชำนาญด้านความมั่นคงแต่ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจและการบริหารประเทศก็ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้อย่างเหมาะสม หรือแก้วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้บอก ต้องแก้หน้าที่และที่มา ส.ว.ด้วย
กลไกสืบทอดอำนาจ
      นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า นอกจากประเด็นของนายชวนแล้วตนยังมองว่าบทบาทหน้าที่ของ ส.ว.ตอนนี้มีมากเกินไป และถูกวิจารณ์ว่าเข้ามายุ่งเกี่ยวในการเลือกตัวผู้นำประเทศ ทั้งที่ไม่ได้มาจากประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม 
    "ทุกวันนี้ ส.ว.ถูกมองว่าเป็นกลไกสืบทอดอำนาจของกลุ่มที่ทำรัฐประหารมาก็ยิ่งเป็นอุปสรรคทำให้ประเทศไม่ได้รับความไว้วางใจ ไม่ได้รับความเชื่อมั่น ก็อยากให้แก้เรื่องหน้าที่และที่มาของ ส.ว.ด้วย โดยให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากการไม่ยอมรับทั้งหลาย" นายภูมิธรรมกล่าว
    ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แนวคิดของนายชวนเป็นแนวคิดปกติธรรมดาของคนที่เดินทางสายประชาชน เพราะการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ผบ.ทั้งหลาย 6 ตำแหน่ง สามารถเป็น ส.ว.ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นคือคนที่จะเป็นนายกฯ ซึ่งมี ส.ว.ยกมือให้ 244 เสียง ต้องการกองกำลังมาคุ้มครองอีก 6 เสียง เลยกำหนดแบบนั้น ซึ่งสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องนี้อย่างยิ่ง เพราะเป็นการใช้แม่ทัพนายกองให้มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องการคุ้มครองกลุ่มตนเอง
         ส่วนที่มี ส.ว.บางคนออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย ที่จะโละแม่ทัพนายกองนั้น เป็นความเห็นของคนที่ได้ดีเพราะระบบนี้ และเป็นความเห็นแบบทาสที่ปล่อยไม่ไป โดยส่วนตัวตน นี่แค่ กมธ.วิสามัญฯ เพื่อศึกษาการแก้ไข ยังโดดอุ้มโดดขวางขนาดนี้ หากแก้ไขจริงคงวุ่นวายน่าดู อย่างไรก็ตาม ปัญหาปากท้อง ปชช.ที่ไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนหนึ่งก็มาจาก รธน.60 ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ได้สารพัดพรรคมาเป็นรัฐบาล หานโยบายที่แท้จริงไม่ได้ นอกจากแจกเงินกัน ประชาชนด่าทอ
    นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตามที่ ส.ว.บางรายได้ออกมาแสดงความเห็นขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยหมวด ส.ว.นั้น ตนเห็นว่าหัวใจสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือการแก้ไขวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 265 โดยเฉพาะอำนาจของ ส.ว.หากไม่แก้มาตรานี้ก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากไม่ได้ปลดล็อกเป็นประตูสำคัญในการเปิดทางให้มีการพิจารณาแก้ไขในบทมาตราอื่นที่เป็นปัญหา
    เขากล่าวว่า การออกมาแสดงความเห็นเพื่อตั้งเงื่อนไขมีข้อห้ามแตะหมวด ส.ว.โดยบอกว่าไม่ได้หวงอำนาจ และหากจะมีการแก้ไขก็เหมือน ส.ว.โดนยึดอำนาจ แต่คนพูดคงลืมคิดว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ถูกยึดอำนาจไปโดยคณะ คสช. การที่ ส.ว.ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช.แล้วกลัว ส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชน ยึดอำนาจเป็นเรื่องน่าตกใจ ที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมีตรรกะและหลักคิดได้ถึงเพียงนี้” 
ยอมรับแก้ไขยาก
    นายชุมสายยังกล่าวว่า จะเอาเหตุผลอะไรมาอ้างเพื่อไม่ยอมให้ ส.ส.ซึ่งได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนเลือกตั้งเข้ามาตามวิถีทางประชาธิปไตย มาแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วย สถานะ และอำนาจของ ส.ว.ที่มาจากคณะ คสช.เข้ามาโดยยึดอำนาจรัฐประหาร สำหรับกรณีที่ประธานวุฒิสภาออกมาระบุว่า หากไปแตะมาตรา 256 คงไม่ผ่านนั้น ชี้ให้เห็นว่าเป็นการตั้งเงื่อนไขไว้ล่วงหน้า อาจเป็นอุปสรรคในการแก้ไข ไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศทางการเมืองหลังเทศกาลปีใหม่ แต่คาดว่าเรื่องนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของ ส.ว.บางรายเท่านั้น ขณะที่ ส.ว.ส่วนอื่นอาจเห็นต่างเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤติความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น
    “ส่วนตัวมองว่าเป็นไปได้ยากมาก หรือเป็นไปไม่ได้ที่จะมี ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คนยอมให้มีการแก้ไขบทบัญญัติ ในส่วนของ ส.ว. เพราะไม่มีใครยอมสูญเสียสถานะ อำนาจและผลประโยชน์ ดังนั้นจึงเหลือเพียงทางเดียว คือการฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่ทางออกที่พึงประสงค์ แต่ไม่มั่นใจว่าเจตนารมณ์ของผู้ยกร่างต้องการให้เกิดสถานการณ์หรือไม่ เพราะเมื่อฉีกแล้วต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเชื่อว่าผู้ร่างยังต้องวนเวียนอยู่กับกลุ่มอำนาจเดิมในกองทัพ” รองโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว 
    ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จะมีการประชุมกรรมาธิการวิสามัญฯ ในวันที่ 14 ม.ค. และ 17 ม.ค. เนื่องจากรอพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ.2563 เสร็จสิ้นก่อน
    สำหรับการประชุมในวันที่ 14 ม.ค. และ 17 ม.ค. จะเปิดให้กรรมาธิการแสดงความเห็น เพื่อสรุปสาระ แต่ยังไม่พิจารณาเป็นรายมาตราว่าควรจะแก้ไขในมาตราใด ส่วนตัวจะเสนอต่อในสองส่วน คือ 
    1.ให้สื่อมวลชนเข้ามารับฟังการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อนำเสนอและสะท้อนข้อมูลของคณะกรรมาธิการวิสามัญออกไปได้ทั้งสองด้าน เพื่อให้สังคมได้เห็นว่าใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในประเด็นใดและอย่างไร ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแสดงความคิดเห็นเพียงฝ่ายเดียว โดยส่วนตัวมองว่าเมื่อเวทีคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้วก็ควรแสดงความคิดเห็นกันอย่างมีเหตุผล ไม่ควรปลุกกระแสให้เกิดความขัดแย้ง แต่ควรนำเหตุผลและข้อมูลมาอภิปรายแลกเปลี่ยนกัน
ไม่เอา ส.ส.ร.
    2.ไม่เห็นด้วยให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะเป็นการสร้างปัญหามากกว่าประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากการตั้ง ส.ส.ร. แต่ควรแก้ไขเป็นรายมาตรามากกว่า ซึ่งจะต้องมาจากความคิดเห็นที่ว่ามาตราดังกล่าวมีปัญหาโดยแท้ และสังคมยอมรับว่าควรจะต้องมีการแก้ไข โดยเทียบเคียงกับการแก้ไขประมวลกฎหมาย เช่น ประมวลรัษฎากร หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเวลาหนึ่งที่ประมวลกฎหมายดังกล่าวมีปัญหา ฝ่ายบริหารจะเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติแก้ไขเป็นรายมาตรา ไม่ได้มีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับแต่ประการใด
    "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากจะแก้ไขโดยอาศัยความเห็นฝ่ายเดียวย่อมจะนำมาซึ่งปัญหาได้ อีกทั้งที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปราศจากความคิดเห็นร่วมกันจะเกิดขึ้นมาได้แม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะประสบความสำเร็จได้จะต้องมาจากความคิดเห็นร่วมกันของทุกฝ่ายที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและไม่สร้างความขัดแย้ง" นายไพบูลย์กล่าว
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การออกแบบ ส.ว. ที่ให้มีข้าราชการประจำ 6 คนมาเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งนั้น มีประเด็นที่น่าพิจารณาหลายประการ 
    1) 6 ส.ว.ที่มาโดยตำแหน่งการเป็น ผบ.ของหน่วยคุมกำลังต่างๆ เช่น ทบ., ทร., ทอ., สส., ตร. และปลัดกลาโหม ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้เป็นข้าราชการประจำ และศักดิ์ศรีมิได้แตกต่างกับปลัดกระทรวงอื่น หรือตำแหน่งเทียบเท่าปลัดกระทรวงอีกมากมายที่ล้วนแล้วแต่สำคัญไม่น้อยเช่นกัน
    2) 6 ส.ว.ดังกล่าวจึงเป็นเหมือนอภิสิทธิ์ชน ที่นั่งสองเก้าอี้ รับเงินเดือนสองทาง ข้ามเส้นแบ่งไปมาระหว่างข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ และด้วยความสำคัญของงานประจำ จึงเชื่อว่าจะไม่สามารถทำงานในหน้าที่ ส.ว.ได้อย่างเต็มที่และเต็มเวลา
    3) การอ้างเหตุการดำรงตำแหน่งของ 6 ส.ว. ว่าเป็นการออกแบบมาเพื่อป้องกันการรัฐประหาร จึงไร้เดียงสายิ่ง เพราะจะอยู่นอกหรือในสภา หากคุมกำลังก็สามารถทำการรัฐประหารได้ ในอดีต ขนาดนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มยังรัฐประหารตัวเองเพราะเบื่อสภาได้
    4) ข้อเสนอของประธานสภาฯ ชวน หลีกภัย ที่ให้ทบทวน 6 ส.ว.ที่มาจากข้าราชการประจำ จึงเป็นข้อเสนอบนการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เป็นสากล ที่มุ่งให้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างข้าราชการประจำและฝ่ายการเมืองที่สมควรนำมาพิจารณายิ่ง
    การทบทวนควรตั้งอยู่บนหลักเหตุและผล อย่าหลับหูหลับตาเชียร์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนลืมสิ่งที่เป็นหลักการ หรือมาบอกให้ทนๆแค่ 5 ปี แต่ละวัน แต่ละเดือนที่ผ่าน ประเทศล้วนมีต้นทุนที่ต้องจ่าย
เป็นผลประโยชน์ขัดกัน
    รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อาจารย์พิเศษประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ข้อเสนอของนายชวนเป็นความเห็นที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่งหากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งนี้ เพราะ
         1) ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่างเป็นข้าราชการประจำ เฉกเช่นเดียวกับปลัดกระทรวงและอธิบดีอื่นๆ
        ข้าราชการประจำ 6 ตำแหน่งนี้ ไม่ควรทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบฝ่ายบริหาร และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกรรมการในองค์กรอิสระ ทั้งนี้ เพราะเป็นข้าราชการประจำต้องทำตามนโยบายของฝ่ายการเมือง และต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ
         การที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ข้าราชการประจำเฉพาะ 6 ตำแหน่งนี้เป็นสมาชิกวุฒิสภา จึงเป็นผลประโยชน์ขัดกันระหว่างตำแหน่งและหน้าที่
         2) การให้ความสำคัญกับ 6 ตำแหน่งเป็นพิเศษ ย่อมก่อให้เกิดความแตกต่างและแปลกแยกกับข้าราชการในระดับเดียวกันของกระทรวง ทบวง กรมอื่น ที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน และเป็นการเลือกปฏิบัติหลายมาตรฐาน
         3) การอ้างว่าบุคคลใน 6 ตำแหน่งมาอยู่ในวุฒิสภาจะเป็นการป้องกันการทำรัฐประหารก็ฟังไม่ขึ้น เพราะหาก ผบ.เหล่าทัพเหล่านี้จะยึดอำนาจก็สามารถทำได้ข้ออ้างที่ว่า มาทำหน้าที่ในวุฒิสภาจะได้ชี้แจงกำลังพลให้เข้าใจถูกต้อง ก็ยิ่งฟังไม่ขึ้น เพราะการไม่ได้สวมหมวก 2 ตำแหน่ง ก็สามารถชี้แจงกำลังพลให้เข้าใจได้อยู่แล้วกำลังพลมีสติปัญญาสามารถขวนขวายหาข้อมูลด้วยความรักชาติรักแผ่นดิน โดยไม่ต้องรอจากคน 6 ตำแหน่งนี้ก็ได้
        4) การให้ข้าราชการ 6 ตำแหน่ง ดังกล่าวรับเงินเดือน 2 ทาง ทั้งเงินเดือนของข้าราชการประจำและเงินเดือนค่าตอบแทนของสมาชิกวุฒิสภาเป็นการไม่เหมาะสมแล้วยังมีค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วย ส.ว. รวมกัน 8 คนต่อ ส.ว. 1 คนอีกด้วย
       5) ประชาชนจะขาดความเลื่อมใสศรัทธาที่ คสช.อันประกอบไปด้วยบุคคลทั้ง 6 ตำแหน่งสืบอำนาจไปอยู่ในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา กลับมามีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี และให้ความเห็นชอบในองค์กรอิสระ จะถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นรัฐซ้อนรัฐ โดยรัฐทหาร
         6) รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ยึดหลักสำคัญว่าข้าราชการประจำที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร ไม่สมควรไปเป็นสมาชิกวุฒิสภาเพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหาร
     จึงได้กำหนดให้ข้าราชการที่ปรารถนาจะลงสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องลาออกจากราชการเสียก่อน โดยไม่มีข้อยกเว้น ผมเองในฐานะข้าราชการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ยังต้องลาออกก่อนเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี 2543
"ปิยบุตร"ดิ้นเฮือกสุดท้าย
         7) สมาชิกวุฒิสภาในชุดปัจจุบันบางคนที่ออกมาโต้แย้งความเห็นของประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย เพราะเกรงว่าหากแก้ไขประเด็น 6 ตำแหน่งได้ ก็อาจจะแก้ไขอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในส่วนอื่นได้ เป็นการคิดแต่ประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นที่ตั้ง โดยมิได้คำนึงถึงหลักการในการบริหารประเทศและผลประโยชน์ของส่วนรวม."
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก ในลักษณะปลุกระดมให้ประชาชนออกมาโค่นล้มรัฐบาลโดยกล่าวหาว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมว่าเป็นการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของคนสิ้นหวังที่ยังยึดติดกับตำแหน่ง แต่ไม่พร้อมรับผิดชอบต่อการกระทำผิดของตัวเอง โดยพยายามปั่นหัวประชาชนเหมือนจิ้งหรีดให้สับสน งงงวย ในข้อมูล ใช้อารมณ์ปลุกเร้าให้ลุกขึ้นมาเป็นกำแพงปกป้องตัวเอง หลังหัวหน้าพรรคทำพลาดหลายอย่าง ไล่ตั้งแต่ปล่อยหุ้นสื่อไม่ทันจนสิ้นสภาพ ส.ส.ไปจนถึงคดีปล่อยกู้ 191 ล้านให้พรรคตัวเอง ซึ่งขัดทั้งกฎหมายพรรคการเมืองและขัดหลักการที่พรรคการเมืองต้องเป็นของประชาชนไม่ถูกใครคนใดคนหนึ่งครอบงำ สวนทางกับสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่พยายามโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นพรรคของประชาชน แต่กลับเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อสนองตัณหาของหัวหน้าพรรคและนายปิยบุตร เท่านั้น
    "คุณปิยบุตรอ้างว่าผู้ครองอำนาจกำลังใช้พละกำลังเฮือกสุดท้ายเพื่อรักษาอำนาจ ผมมองมุมกลับว่าคุณปิยบุตรต่างหากที่กำลังใช้ความพยายามเฮือกสุดท้ายหนีตายทางการเมืองด้วยการปลุกปั่นประชาชน ให้ออกมาปกป้องตัวเอง ซึ่งผมเชื่อว่าไม่มีใครหลงเข้าไปอยู่ในกลเกมที่เห็นแก่ตัวแบบนี้ น่าเสียดายว่าคุณปิยบุตรเคยเป็นอาจารย์สอนคนมาก่อน แต่วันนี้จะสอนตัวเองให้แยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากส่วนรวมก็ยังทำไม่ได้" นายสิระกล่าว
    นายสิระกล่าวด้วยว่า แม้รัฐธรรมนูญจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้างแต่ในขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ก็มีตัวแทนนั่งเป็นกรรมาธิการชุดนี้ด้วย จึงควรขับเคลื่อนประเด็นที่ต้องการแก้ไขผ่านกลไกที่สภาได้จัดตั้งไว้ให้ ไม่ใช่ไปปลุกระดมโดยหวังใช้ความสูญเสียของประชาชนมาสถาปนาอำนาจใหม่ให้กับตัวเองและพวก หากพรรคอนาคตใหม่ยึดมั่นประชาธิปไตย ต้องเคารพกลไกสภา ใช้กลไกนี้ในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาตามเจตจำนงทางการเมืองของตัวเอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"