รัฐบาลแก้ปัญหา ศก. แบบตาบอดคลำช้าง


เพิ่มเพื่อน    

 ศก.ไทย 2563 ยังซึมยาว รบ.ล้มเหลว แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

                ในปีนี้ 2563 ยังเป็นปีที่คนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นห่วงและหวั่นวิตกต่อ ปัญหาเศรษฐกิจ เห็นได้จากผลสำรวจโพลทุกสำนักต่างก็บอกตรงกันว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนห่วงมากที่สุด และเป็นปัญหาที่อยากให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขเพื่อไม่ให้เรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนมากนัก

                สำหรับมุมมองของนักการเมือง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ พิชัย นริพทะพันธุ์-อดีต รมว.พลังงาน-อดีต รมช.การคลัง ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในลิสต์รายชื่อที่ฝ่ายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญและจับตามองทุกครั้งเวลาออกมาวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. โดยทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทยในปีนี้ ในทัศนะ พิชัย เขามองว่าปีนี้ 2563 ยังเป็นอีกหนึ่งปีที่เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาติดหล่มหลายอย่าง ทั้งเรื่องค่าเงินบาท-การส่งออก-การลงทุน-ความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ โดยสาเหตุหลักเกิดจากความล้มเหลวของทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ที่ทำงานและแก้ปัญหาแบบไม่ถูกจุด ทำให้เกิดสภาพแบบ ตาบอดคลำช้าง จนสุดท้ายทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในสภาพ กบต้ม ที่หากยังเป็นแบบนี้ มองว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว ถ้ารัฐบาลยังคงไม่สามารถทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้

                ความเห็นดังกล่าวข้างต้น พิชัย กล่าวลำดับความว่า ที่ผ่านมาได้ให้สัมภาษณ์เรื่องสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านไทยโพสต์มาหลายปีติดต่อกัน จึงอยากให้รัฐบาล โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจได้อ่านดู เพราะทุกปีที่ให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์ถึงสิ่งที่คาดการณ์และสิ่งที่เตือนไว้ถูกต้องหรือไม่ ผมเชื่อว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ที่ให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์ ถูกต้องเกือบเก้าสิบถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดกับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี 2562 ที่ผ่านไป ที่เกิดจากการสะสมของปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดเกือบ 5 ปีติดต่อกันในยุครัฐบาล คสช.จนปัจจุบันยิ่งพบว่า ปัญหามีแต่จะยิ่งสะสมมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ 

                "เศรษฐกิจไทยในปีนี้ 2563 สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือสิ่งที่ผมพูดมาตลอด 5 ปีในยุครัฐบาล คสช. คือประเทศไทยจะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ จะเป็นเหมือนพม่าในอีกรูปแบบหนึ่ง ผมพูดมาตลอด เราไปคิดกันว่าไม่เป็นไร แต่ความเสื่อมมันจะเกิดขึ้น ความไม่เชื่อถือมันจะเกิดขึ้น ประเทศไทยก็จะแย่ลงไปเรื่อยๆ ถามว่าโคม่าไหม ก็เหมือนกับเป็นมะเร็ง มันจะค่อยๆ แย่ ทรุดลงไปเรื่อยๆ มารู้ตัวอีกทีก็แย่แล้ว ตอนนี้เราเริ่มรู้สึกตัวว่าแย่ แต่จริงๆ แย่มานานแล้ว แต่เพิ่งจะมาส่งผลตอนนี้

                เหตุเพราะการลงทุนในไทยหากไปหลายปีแล้ว แล้วจะเอาอะไรไปส่งออก ในเมื่อไม่มีการลงทุนเพิ่ม โดยธุรกิจเดิมก็หมดสมัยแล้ว ธุรกิจไม่ย้ายออกก็เจ๊งแล้วการลงทุนใหม่ก็ไม่มี ก็เหมือนกับเลือดไหลออกหมด โดยเลือดใหม่ไม่เข้ามา คุณก็รอวันตาย แต่ถามว่าจะแย่ วูบเลยแบบปี 2540 หรือไม่ ก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่จริงๆ ปี 2540 สถานการณ์จะดีกว่าตอนนี้ เพราะแย่แล้วประมาณ 2-3 ปี ก็ฟื้นกลับมาได้เลย แต่สถานการณ์แบบนี้ แย่แล้วมันจะซึมยาว โดยรัฐบาลชุดนี้ที่อยู่มา 5 ปี ได้แต่สร้างปัญหา ไม่ได้สร้างความมั่นใจอะไร แล้วจะอยู่ต่อไป ก็จะเป็นปัญหาให้กับประเทศต่อไปเรื่อยๆ ประเทศก็จะเสื่อมลงไปอีก อันนี้คือความจริง ผมพูดไม่ได้เพื่อจะด่า แต่ผมยังไม่เห็นทิศทางอะไรเลยที่ประเทศจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กลับมาได้ และตอนนี้ความเชื่อถือที่มีต่อรัฐบาลไม่มีแล้ว วิธีแก้คือคุณต้องออก แล้วย้ายออกไปจากประเทศนี้เลย ไม่มีอิทธิพลอะไรด้วยซ้ำ ประเทศจะได้เริ่มต้นใหม่ ก้าวหน้าต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นถ้ารัฐบาลยังเป็นแบบนี้ต่อไปอีก ประเทศก็ไปต่อยาก          สิ่งที่ผมพูดไม่ใช่การโจมตี แต่เป็นข้อเท็จจริง เพราะก็รอดู หากคุณยังอยู่แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ คุณก็จะสร้างปัญหาให้กับประเทศไปเรื่อยๆ แล้วประเทศก็จะเสื่อมไปเรื่อยๆ แล้วมารู้อีกที คนก็แย่กันไปหมดแล้ว"

                พิชัย-อดีต รมว.พลังงาน กล่าวลงรายละเอียดถึงการวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจไทยข้างต้น โดยย้ำว่า ปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจที่ได้ให้ความเห็นมาตลอดก็คือสภาวะเศรษฐกิจของไทยที่เรียกกันว่าสภาวะ กบต้ม ซึ่งปัจจุบันเห็นชัดเจนว่าทฤษฎีกบต้มที่ผมเสนอจริงขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยยิ่งเสื่อมลงเรื่อยๆ ทิศทางต่างๆ ยิ่งเสื่อมลงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยยังไม่มีทิศทางว่าจะฟื้นได้เมื่อใด ทั้งที่เป็นสภาวะที่เรียกว่าน้ำเพิ่งอุ่นๆ เริ่มจะร้อน ยังไม่ทันจะเดือด ถ้าเดือดขึ้นมา ความเดือดร้อนของประชาชนจะยิ่งมากขึ้นไปอีก ตอนนี้ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นที่ผมเห็นว่ามันกำลังมีปัญหาเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากเช่นโรงงานอุตสาหกรรมตอนนี้ปิดไปพันกว่าโรงงานแล้ว อันนี้แค่ขนาดเพิ่งเริ่มต้น

                การมองเศรษฐกิจไทย อันดับแรกต้องมองเศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งเศรษฐกิจโลกไม่ได้แย่อย่างที่คาดการณ์เอาไว้ อย่างเมื่อ 3 เดือนก่อนสิ้นปี 2562 ภาพรวมดูแล้วค่อนข้างจะแย่ คนมองกันว่าจะเกิดสภาวะถดถอยเกือบทั้งโลก ผลตอบแทนระยะยาวจะน้อยกว่าผลตอบแทนระยะสั้น ซึ่งเป็นสัญญาณไม่ค่อยดี แต่ตอนนี้พบว่าสัญญาณเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาดีขึ้น เศรษฐกิจในสหรัฐไม่ได้แย่อย่างที่คิด แต่กลับจะดีด้วยซ้ำ จนมีการบอกกันว่าอาจจะดีที่สุดในรอบ 10 ปีเลยก็ได้

                พิชัย ชี้ประเด็นว่า ถ้าเป็นเช่นนี้คือเศรษฐกิจสหรัฐไม่แย่ ก็แสดงว่าเศรษฐกิจโลกก็จะไม่แย่ ส่วนในยุโรปเองทำท่าจะทรงๆ แต่ก็เริ่มดีขึ้นเล็กน้อย แต่ขณะเดียวกันจีนก็พบว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลง จากที่เคยโต 7% กว่าก็อาจจะเหลือ 6.5 หรือ 5% กว่า ซึ่งก็อาจเป็นความต้องการของสหรัฐที่ต้องการให้จีนโตช้าลงเพื่อที่จะไม่ให้จีนแซงโตแซงหน้าสหรัฐเร็วนัก เพราะจีนโตมานานแล้ว ส่วนเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนพบว่ายังไปได้ดี ยกเว้นไทยที่ยังแย่อยู่ เวียดนามยังคงมีความสามารถในการเจริญเติบโตเป็นดาวเด่นของอาเซียนต่อไป จะเป็นเหมือนไทยในอดีต ที่การเติบโต การลงทุนจะไหลเข้าประเทศเวียดนามจำนวนมาก

                ...หลายปีที่ผ่านมา โลกได้มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเยอะ สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น มีการอัดเงินเข้าไปเยอะ ทำให้เงินในระบบมีเยอะมาก ทำให้การพลิกเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นใจอะไรให้เกิดขึ้นจึงสามารถเปลี่ยนได้เร็ว ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่เงินมันจำกัด แต่ระยะหลังเงินมันเยอะมาก ทำให้คนรวยก็รวยขึ้น แต่คนจนกลับไม่ดีขึ้น ทำให้ประเทศไหนก็ตาม ธุรกิจใดก็ตาม ถ้าสามารถสร้างความมั่นใจได้ เงินก็จะไหลเข้ามา ทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้เร็ว ตรงนี้เป็นบทเรียนของไทย คือหากไทยเราสามารถสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมาได้ โอกาสที่ไทยจะฟื้นก็มีสูง เพราะเงินในโลกมันเยอะ แต่กลับกันหากไทยยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้อย่างที่เป็นอยู่มาเกือบ 5-6 ปี โอกาสที่ไทยจะฟื้นก็ทำได้ยาก

                พิชัย-อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า จากปัจจัยข้างต้น เมื่อมาดูสภาพเศรษฐกิจไทย 5 ปีที่ผ่านมาชัดเจนว่า หากกลับไปดูการบริหารงานจะพบว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสื่อมถอยตลอด แต่รัฐบาลก็พยายามจะปฏิเสธ พยายามอ้างโน่นอ้างนี่ ทั้งที่ตัวเลขเศรษฐกิจ มันโกหกไม่ได้ แล้วรัฐบาลก็พยายามจะปิดกลั้นการแสดงความคิดเห็นของคนที่พิสูจน์แล้วว่า การที่รัฐบาลพยายามปิดกลั้นไม่ให้คนวิจารณ์เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ สุดท้ายไม่ได้ ทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น รัฐบาลพยายามจะหลอกตัวเองไปทุกวัน ซึ่งมันทำไม่ได้ เพราะหากดูในอดีต การปิดกลั้นการวิจารณ์ การแสดงความเห็นได้ สหภาพโซเวียตคงไม่พัง ทั้งที่สหภาพโซเวียตเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ แต่เพราะความเสื่อมในระบบเศรษฐกิจ ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย แตกตัวออกมาเป็นหลายประเทศ ก็เพราะเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ

                อยากสะท้อนว่า รัฐบาลและตัวผู้นำรัฐบาล ความรู้ด้านเศรษฐกิจมีน้อย คือไปเข้าใจว่าการวิเคราะห์เศรษฐกิจ การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเศรษฐกิจแล้วทำให้เศรษฐกิจแย่ ทั้งที่รัฐบาลควรเอาความคิดเห็นต่างๆ มาปรับปรุงแก้ไข เพราะประเทศต่างๆ อย่างจีน รัสเซีย เขาก็รับฟังว่าทิศทางของเขาจะไปอย่างไร มีข้อผิดพลาดอย่างไร ควรต้องแก้ไขอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เพราะมันมีบทเรียนของโลก

                ...ขอถามพลเอกประยุทธ์ที่ได้ฉายาจากสื่อเป็น อิเหนาเมาหมัด ว่า ที่เคยถามผมว่า “จบอะไรมา?” ถึงมาวิจารณ์เศรษฐกิจ ทั้งที่ผมจบเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจมา ผมจึงอยากถามอิเหนากลับว่า “จบอะไรมา? ถึงมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แล้วผลการบริหารเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ประชาชนถึงได้ลำบากจนต้องร้องกันระงม และทำหน้าเบื่อใส่อย่างเปิดเผยกันแล้ว ทั้งนี้ เพราะอิเหนาไม่ได้มีความรู้และไม่ได้จบมาทางนี้เลยใช่หรือไม่ แล้วอย่างนี้จะไม่เรียกว่า “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” ได้อย่างไร แถมยังเมาหมัดโม้ว่าตัวเองมีความรู้เศรษฐกิจดี ทั้งที่จบอะไรก็ไม่ได้จบ แถมพูดอะไรก็ผิดหลักการทางเศรษฐศาสตร์ และไม่เข้าใจเศรษฐกิจเลย เศรษฐกิจไทยถึงได้ย่ำแย่ขนาดนี้ และจะย่ำแย่ลงไปอีกถ้าอิเหนายังไม่รู้ตัวและไม่ยอมเปลี่ยนตัวเองออกไป

                พิชัย ยืนยันว่า การปิดปากคนวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น ไม่เช่นนั้นโซเวียตรัสเซียคงไม่ล่มสลายหรอก การวิพากษ์วิจารณ์จะยิ่งช่วยสะท้อนและปรับปรุงตัวเอง การที่รัฐบาลพยายามจะปิดกลั้น ไม่ให้ผมพูด ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ ผลสะท้อนที่ออกมาก็เห็นชัดเจนว่าปัญหาเศรษฐกิจของไทยมีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ โดยรัฐบาลเองไม่ฟังและไม่แก้ไข จากปัญหาที่สะสมมานาน จนทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วง 5 ปีของยุครัฐบาล คสช.เติบโตต่ำสุด แม้แต่หลังการเลือกตั้งแล้ว อัตราการเติบโตก็ยังต่ำอยู่อีก โดยการเกิดขึ้นของรัฐบาลมีปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้นตลอด ตั้งแต่สูตรการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์-การมีรัฐมนตรีที่สื่อมวลชนต่างประเทศเสนอข่าวว่ามีปัญหาเกี่ยวข้องกับเรื่องปัญหายาเสพติด ซึ่งในอดีตคนที่ถูกนำเสนอข่าวต้องออกจากตำแหน่งทันที แต่รัฐบาลกลับเฉยเมย ก็ยิ่งทำให้ความมั่นใจต่อประเทศไทยหายไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ยังมีกรณีถูกสื่อต่างประเทศระดับโลกอย่าง The Washington Post - The Economist - Financial Times วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนัก เช่น บอกว่าไทยเป็นผู้ป่วยของอาเซียนและยังจะเป็นต่อไปอีก รวมถึงปัญหาทางการเมืองอีกหลายเรื่อง เช่น ส.ส.รัฐบาลบุกรุกที่ป่า แต่ไม่ถูกจับ แต่ประชาชนธรรมดาถูกจับดำเนินคดี แสดงให้เห็นถึงสองมาตรฐาน ซึ่งถ้ารัฐบาลยังเข้าใจว่าสิ่งที่ทำถูกต้องและยังจะทำต่อไปอีก โดยไม่สำนึกว่าตัวเองทำอะไรผิด ไม่ยอมแก้ไข ผมว่าประเทศไทยก็จะแย่ลงไปเรื่อยๆ เสื่อมลงไปเรื่อยๆ อย่างที่ผมบอกว่าเป็นกบต้ม สิ่งนี้ก็จะเกิดขึ้น

                พิชัย กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกไม่ได้แย่อย่างที่คิด แต่เศรษฐกิจไทยจะมีแต่จะแย่ลง ผมมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 ก็จะยังไม่ดี จากปัจจัยต่างๆ เช่น การลงทุนที่หายไปในช่วง 5 ปีของรัฐบาล คสช. เห็นได้จากตัวเลขการลงทุนกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุนที่มีน้อยและลงทุนไม่มาก ขณะเดียวกันการลงทุนที่ทำอยู่เดิมก็มีปัญหา โรงงานปิดกิจการไปพันกว่าแห่ง และยังมีแนวโน้มจะปิดกิจการกันอีก โดยเฉพาะหากในอนาคตใช้รถยนต์ไฟฟ้า ก็จะทำให้อุตสาหกรรมเกี่ยวกับรถยนต์ในประเทศไทยก็จะหายไปเรื่อยๆ เพราะตอนนี้โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ก็ประสบปัญหาปิดกิจการไปเยอะ

                 การที่ผมประเมินว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะไม่ดี ก็ไม่ใช่ว่าผมมองแบบนี้ฝ่ายเดียว เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยก็มองแบบเดียวกันเช่นเดียวกับ World Bank และกองทุน IMF ก็บอกว่าเศรษฐกิจไทยจะโตแค่ประมาณ 2% กว่า ซึ่งถือว่าต่ำมาก แตกต่างจากที่พลเอกประยุทธ์เคยบอกว่าจะโต 4 เปอร์เซ็นต์ ที่สะท้อนว่านายกฯ ไม่ได้มีความรู้อะไรเลย ไม่ได้พิสูจน์ตัวเองว่ามีความรู้ความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ แล้วมาเป็นประธานการประชุม ครม.เศรษฐกิจ แต่สิ่งที่นายกฯ พูดผิดตลอด ทั้งที่เรื่องไหนนายกฯ ไม่รู้ ก็ไม่ควรพูด หากพลเอกประยุทธ์เชื่อว่าตัวเองรู้เศรษฐกิจจริง ก็ขอท้าพลเอกประยุทธ์ออกทีวีสดให้ผมสัมภาษณ์ โดยจะส่งคำถามให้ก่อนด้วย ถ้าไม่กล้าก็อย่าพยายามแสดงความรู้ในสิ่งที่ตนเองไม่รู้แล้วให้ผมซัก จะได้รู้กันว่ารู้จริง หรือรู้ไม่จริง เพราะถ้ารู้จริง แล้วทำไมเศรษฐกิจถึงพังขนาดนี้ เพราะการออกมาแสดงความไม่รู้ในสิ่งที่พูด ทำให้ความเชื่อถือเสียหาย

                ...หากดูในอดีตเช่นสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ท่านก็บอกว่าเศรษฐกิจผมไม่รู้ ผมเป็นทหาร ให้ไปถาม ดร.วีรพงษ์ รามางกูร จนเรื่องจบแล้วถึงค่อยมาอธิบาย แต่ปัญหาคือรัฐบาลชุดนี้ ตัวทีมเศรษฐกิจอย่าง ดร.สมคิด, ดร.อุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ก็ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก ก็ไม่รู้ว่าเพราะบิดเบือนหรือเพราะภาวะการเมืองบีบบังคับให้ต้องพูดบิดเบือนไปเรื่อยๆ ทั้งที่ตลอด 5 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่สมคิดคุมได้ทุกอย่าง ยังทำได้ไม่ดีเลย แต่ตอนนี้ต้องแบ่งงานในกระทรวงเศรษฐกิจให้พรรคร่วมรัฐบาล ผมบอกแต่แรกแล้วว่า ขนาดที่ผ่านมาคุมเองหมดยังทำได้แย่ แล้วตอนนี้ต้องแบ่งงานให้พรรคร่วมรัฐบาลด้วยจะมีอะไรเหลือ ก็มีแต่จะยิ่งแย่แล้วจะมาบอกว่าไม่ต้องห่วงสามารถคุมได้ แล้วตอนนี้จะมาโทษว่าพรรคอื่นมาแย่งได้ เลยทำให้ออกมาไม่ดี ซึ่งไม่เกี่ยวเลย เพราะก่อนหน้านี้เกือบ 5 ปีก็ทำไว้ไม่ได้ดีอยู่แล้ว แล้วยิ่งมาเปลี่ยนให้พลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่ยิ่งไม่รู้เรื่องอะไรเลย มันยิ่งเป็นปัญหาใหญ่เลย

                "ทิศทางเลยยิ่งเป็นเหมือนตาบอดคลำช้าง เรื่องเศรษฐกิจสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ก็เหมือนตาบอดคลำช้างจริงๆ เพราะรัฐบาลไม่ได้มองภาพใหญ่ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือต้องมองภาพใหญ่ให้ชัดเจน ว่าประเทศไทยมีปัญหาอย่างไรและจะแก้ไขอย่างไร เพราะการขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกมุมของเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่สิ่งที่รัฐบาลทำตอนนี้เหมือนกับทำเป็นจุดๆ แล้วมาบอกว่าสิ่งที่ทำไว้มันดี"

                พิชัย กล่าวต่อไปว่า ยกตัวอย่างการทำโครงการชิมช้อปใช้ ซึ่งโดยหลักการแล้วการช่วยเหลือประชาชนโดยการแจกเงิน มันก็ไม่ใช่ว่าไม่ดี หากว่าประชาชนเดือดร้อนมาก ก็ควรต้องแจกบ้าง แต่ควรทำตั้งแต่ปีแรกๆ แล้วที่ประชาชนลำบาก แต่แจกแล้วต้องคิดวิธีการที่จะพัฒนาประเทศต่อ ไม่ใช่ว่าแจกไปเรื่อยๆ เพราะหากคิดจะแจกอย่างเดียวก็แสดงว่ารัฐบาลไม่มีความคิดอื่นๆ แล้ว จน World-bank และ IMF ก็ออกมาเตือนว่าแจกเงิน แต่ไม่พัฒนาประเทศ ไม่สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ

                เรื่องนี้ผมได้เคยออกมาเตือนแต่แรก โดยแสดงความเห็นบนหลักการว่าทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะใช้ไปแล้วเงินก็หายไป เป็นการแจกแบบไม่มีวิธีคิด เพราะหากแจกแล้วทำให้เกิดการผลิต การจ้างงาน ทำให้คนมีรายได้ ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่รัฐบาลใช้วิธีแจกแล้วหาย ไม่ได้สร้างอะไรให้ดีขึ้นเลย แจกแบบสะเปะสะปะ ซึ่งหากเป็นรัฐบาลเพื่อไทยทำแบบนี้ ถามว่าจะถูกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติสั่งให้หยุดหรือไม่ ทั้งที่เคยตั้งยุทธศาสตร์มาบอกว่าไม่ต้องการให้มีการแจกเงินซี้ซั้ว เคยบอกว่าประชานิยมทำลายชาติ แจกเงินสะเปะสะปะ แต่สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำยิ่งกว่าสะเปะสะปะกว่าร้อยเท่า ยิ่งปัจจุบันเศรษฐกิจแย่ มันก็ยิ่งลงหนักไปอีก แล้วรัฐบาลจะนำเงินที่ไหนมา ตอนนี้ก็มาบอกว่ารัฐไม่มีเงิน นอกจากนี้จะพบว่าสิ่งที่รัฐบาลเคยสัญญาจะทำให้กับประชาชน สุดท้ายก็ทำไม่ได้ โดยที่ผมบอกแต่แรกแล้วว่าทำไม่ได้ เช่น บอกจะขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400-425 บาท จะไปทำได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมา 5 ปี ไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนเลย การที่รัฐบาลจะไปขึ้นค่าแรงเป็น 400-425 บาท เป็นไปไม่ได้แน่นอน หากยิ่งไปขึ้นค่าแรง แล้วใครจะมาลงทุน จนสุดท้ายก็ขึ้นไม่ได้ ทำไม่ได้ รวมถึงที่เคยไปหาเสียงไว้เช่นการลดภาษีบุคคลธรรมดาที่เคยหาเสียงไว้ เป็นการสัญญาไปหาเสียงโดยไม่คิด เพราะพอถึงเวลาแล้วก็ทำไม่ได้ เป็นการสะท้อนการด้อยความสามารถในการบริหารจัดการ

                -มองว่าที่คนในรัฐบาลพยายามสื่อสารออกมาว่าที่เศรษฐกิจประเทศไม่ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัยต่างประเทศ เช่น สภาวะเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า ค่าเงินบาท ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่อย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้าง?

                ใช่ เป็นเรื่องของฝีมือ ที่เกิดจากการสะสมปัญหาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่บริหารเศรษฐกิจมาตลอด 5 ปี แล้วเศรษฐกิจโลกมาซ้ำเติม เมื่อตอนนี้เศรษฐกิจโลกไม่ได้แย่แล้ว รัฐบาลก็ต้องทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมาได้ แล้วคอยดูว่าจะฟื้นหรือไม่ ก็เชื่อว่าไม่ฟื้น เพราะเรามีทิศทางที่แย่มาตลอด เหมือนกับกบต้ม คือแย่ไปเรื่อยๆ เสื่อมลงไปเรื่อยๆ โดยรัฐบาลก็ไม่รู้ตัว แล้วมาอ้างโน่นอ้างนี่ มาหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะอย่างตอนเศรษฐกิจโลกดี ไทยก็ไม่ดี อย่าง 5 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจสหรัฐดีมาก โต 4% แต่ของไทยกลับไม่ดี โตแค่ 2-3% ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจโลกจากที่อาจไม่ดี ตอนนี้กลับมาดีแล้ว แต่ของไทยเราจะยิ่งแย่

                ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลักคือความไม่มั่นใจ เพราะคนไม่เชื่อรัฐบาลชุดนี้แล้ว นักลงทุนต่างประเทศก็ไม่มั่นใจ แล้วคุณอยู่ไปก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยจะยิ่งแย่ไปเรื่อยๆ หากยังไม่สามารถฟื้นความมั่นใจให้กลับมาได้ ซึ่งดูแล้วก็ยาก เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้ดีไม่ได้ เพราะอย่างของสหรัฐเขาให้เวลาประธานาธิบดี 4 ปี หาก 4 ปีแล้วทำงานได้ไม่ดี ประชาชนเขาก็ไม่เลือกกลับมาอีก แต่รัฐบาลชุดนี้ทำมาแล้ว 5 ปีกว่าแล้วเป็นแบบนี้ ต่อไปมันก็มีแต่จะยิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ

                -จากที่มองว่าทีมเศรษฐกิจทำงานแบบตาบอดคลำช้าง แก้ปัญหาไม่ถุกจุด แล้วมีข้อเสนอว่ารัฐบาลควรดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว?

                ลำดับแรกรัฐบาลต้องมองภาพให้ชัดเจนว่าเวลานี้สภาวะของโลกเป็นอย่างไร แล้วไทยจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปกับโลกได้ เราไม่ใช่เป็นเห็บเป็นมดแบบที่พลเอกประยุทธ์คิด เช่นจะเป็นเห็บสยามไปเกาะจีนเกาะสหรัฐฯ จากที่เมื่อก่อนไทยจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย แต่ตอนนี้จะกลายเป็นเห็บ แล้วจะมาเป็นมดที่จะไปคอยแคะขี้หูให้ช้าง เสือ สิงโตของจีน           คือนับวันจะยิ่งถอยตัวเองออกไปเรื่อยๆ ในสภาวะที่เป็นแบบนั้นจริง ซึ่งมันไม่ได้ เราต้อง position ตัวเอง และเมื่อ position แล้วไทยจะมีนโยบายอย่างไรในการที่จะปรับตัวให้ก้าวไปตรงนั้น

                พิชัย ยังได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพกว้างต่อรัฐบาลว่า สิ่งที่รัฐบาลควรต้องทำมีด้วยกันหลักๆ 7 เรื่อง คือ 1.จะมาโกหกตัวเองไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไม่ดี จะมาบอกว่าดีไม่ได้ รัฐบาลเองก็สับสน วันหนึ่งบอกว่าเราทำได้ดีแล้ว แต่วันหนึ่งก็บอกว่าไม่ดี คือหากคุณยังไม่ยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจแย่ แล้วไม่ยอมหาทางแก้ไข รัฐบาลก็ไม่มีทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เพราะก็ยังหลอกตัวเองอยู่ เหมือนกับพวกติดเหล้าที่บอกว่าตัวเองไม่ติดเหล้า แต่จริงๆ ก็กินเหล้าทุกวัน มันก็เป็นปัญหาคล้ายๆ กันกับกรณีรัฐบาล หากไม่ยอมรับว่ามีปัญหาก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ สิ่งเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือต้องยอมรับตัวเองก่อนว่ามีปัญหาทางเศรษฐกิจ แล้วจะแก้ไขอย่างไร

                2.เรื่องหลักๆ ที่เราต้องทำคือ ห้าปีที่ผ่านมาเราเจรจาการค้าไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว  ไทยเราควรต้องเร่งเจรจาการค้าได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทวิภาคี พหุภาคี ต้องเจรจาหมด แต่รัฐบาลกลับเฉย จะวิ่งแต่ไปขายของอย่างเดียว โดยไม่ต้องมองถึงความสำคัญของการต้องเจรจาทางการค้า เพราะหากไม่ทำก็เจอปัญหาเช่นเรื่องมาตรการทางภาษี ที่หากเจอเรื่องภาษีก็จะส่งผลทั้งเรื่องการส่งออกและการลงทุน เพราะไม่มีใครแน่ใจว่ามาลงทุนแล้ว พอจะส่งออกก็ไม่แน่ใจว่าจะเจอเรื่องมาตรการทางภาษีเต็มๆ  หรือไม่ ซึ่งก็ไม่แน่ใจจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์เข้าใจหรือไม่ อย่างการที่สหรัฐฯ ตัดจีเอสพีเรา  แทนที่จะมาโอดครวญก็ควรไปเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ ไปเลย ไปคุยเรื่อง FTA เจรจาแลกเปลี่ยนจะได้ไม่ต้องห่วงว่าไทยจะเจอปัญหาเรื่องจีเอสพีอีก รวมถึงการเร่งเจรจาการค้ากับกลุ่มประเทศในยุโรปด้วย ไม่ใช่จะไปหวังอย่างกรณีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ใช้เวลาการพูดคุยนานกว่าจะได้ข้อยุติ

                ...เห็นว่าระหว่างนี้อะไรที่ทำได้ก็ควรทำไปก่อน เพราะการส่งออกผ่านเขตการค้าเสรีมันโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ต้องเสียภาษี ก็ทำให้สินค้าของเราแข่งกับต่างประเทศได้ หากเราต้องถูกกำแพงภาษีแบบเต็มๆ ก็ทำให้สินค้าของไทยแข่งขันลำบาก สุดท้ายการส่งออกก็เจอปัญหายอดส่งออกลดลงจนเกิดผลกระทบ เช่นมีการย้ายการลงทุนไปประเทศใกล้เคียงอย่างเวียดนาม ที่ไปทำ FTA ลงนามกันหมดเรียบร้อยแล้ว เรื่องแบบนี้ที่ควรเข้าใจง่ายๆ แต่กลับไม่เข้าใจ แค่นี้ก็แย่แล้วกับการบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

                ...เรื่องที่ 3 ก็คือเรื่อง ค่าเงินบาทแข็ง สภาวะดังกล่าวควรที่จะต้องมีวิธีในการจัดการให้ค่าเงินบาทอ่อนลง จะมาบอกว่ามีเงินไหลเข้ามาเยอะ ก็ต้องหาวิธีที่จะควบคุมให้ได้ หากเป็นผู้ว่าฯ ธปท.แล้วทำไม่ได้ก็แย่แล้ว ประเทศที่เจริญอย่างเกาหลี ญี่ปุ่นมีเงินเข้ามามาก แต่ของเขาทำไมค่าเงินไม่แข็งเท่าของไทย ของเขาอ่อนลงแต่ของเรากลับแข็งขึ้นมาเกือบ 7-8% แล้ว มาอ้างอะไรต่างๆ โดยหากยังปล่อยให้ผู้ส่งออก suffer หากจำได้ประเทศที่ค่าเงินแข็งๆ สุดท้ายจะมีปัญหาทุกราย

...การที่ค่าเงินบาทแข็ง ไม่ใช่แค่ภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบ เรื่องการท่องเที่ยวก็มีปัญหา เมื่อค่าเงินหยวนอ่อนลงแต่ค่าเงินบาทไทยแข็ง ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนจ่ายแพงขึ้นกว่า 16% แล้วเขาจะไหวหรือ ใครอยากจะมาเที่ยวประเทศไทย 

                พิชัย-อดีต รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 4 ที่เห็นว่าสำคัญคือ ประเทศไทยไม่ใช่แย่ทั้งหมด เรายังมีเงินทุนสำรอง คือประเทศไทย เศรษฐกิจของคนมีปัญหา แต่เศรษฐกิจของไทยยังไม่แย่ ยังมีดุลการค้าเกินดุล ยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในปริมาณที่สูงมาก สิ่งที่รัฐต้องทำคือต้องเร่งให้มีการลงทุนเยอะๆ เพราะเรามีเงินทุนถึงสองแสนล้านเหรียญ เท่ากับเงินไทยประมาณหกล้านล้านกว่าบาท ไม่ใช่ไม่มี แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะภูมิใจว่าเรามีเงินสะสมเยอะ แต่ต้องมองว่าเราไม่มีประสิทธิภาพในการลงทุนเท่าที่ควร เราควรต้องปรับปรุงประเทศให้มากขึ้น แต่เราไม่ได้ปรับปรุงประเทศมานานแล้ว

                รัฐควรต้องลงทุนให้มากในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ไม่ใช่การแจกเงิน แต่นี้คือสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ ก็ไม่อยากสอนเขา แต่เขาควรคิดเองได้ว่าประเทศทิศทางควรต้องเดินไปอย่างไร อย่างหากผมมอง ผมก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความฉลาดของคน ต้องทำให้ประชาชนฉลาดขึ้น ไม่ใช่จะเอาแต่แจกเงินอย่างเดียว หรือมุ่งแต่ใช้งบไปกับการจัดซื้ออุปกรณ์การศึกษา แต่ต้องมีหลักคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความฉลาด เพราะโลกแข่งกันด้วยปัญญา ความฉลาด อย่างในอดีตเราเคยมีทุนให้การศึกษาส่งคนไทยไปศึกษาต่างประเทศ เรื่องแบบนี้เราควรต้องนำกลับมาสนับสนุนต่อ คนไทยคนไหนที่มีศักยภาพก็ส่งไปเรียนเลย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, ออกซ์ฟอร์ด, ฮาร์วาร์ด หากสามารถไปเรียนได้รัฐออกค่าใช้จ่ายให้เลย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องกลับมาประเทศไทยเพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เรียนจบแล้วมองว่าประเทศไทยไม่ดีแล้วไม่ยอมกลับมา

                พิชัย กล่าวต่อไปว่า ข้อเสนอแนะเรื่องที่ 5 คือ รัฐบาลควรช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าครองชีพ   โดยการพิจารณาว่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อไปลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ของประชาชน ทำให้เขาทำมาค้าขายได้มากขึ้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ไม่ใช่ไปเน้นแต่เรื่องการแจกเงิน เพราะการแจกเงินแจกแล้วก็จบไป เพราะเท่าที่ทราบมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง ดูเหมือนรัฐบาลจะแจกไปร่วมเกือบแปดแสนล้านบาทแล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ หากรัฐบาลแจกมากขนาดนี้แล้วเศรษฐกิจยังแย่ขนาดนี้ แสดงว่าสะเปะสะปะแล้ว      

                ...ยกตัวอย่างการลดการเก็บภาษีน้ำมันดีเซล ที่จะลดค่าใช้จ่ายประชาชน ลดค่าขนส่ง เพราะราคาน้ำมันโลกตอนนี้ก็ทรงๆ อยู่แล้ว เรื่องนี้จึงน่าจะลดลงมาได้จะได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน หรือการลดค่าบริการสาธารณะ เช่น รถไฟ รถเมล์ ไฟฟ้า น้ำประปา ซึ่งจริงๆ รัฐบาลก็เคยหาเสียงอยู่ก็ควรต้องนำกลับมาทำใหม่ หากทำก็จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดค่าครองชีพให้ประชาชน ทำให้คนทำมาหากินกันได้คล่องตัวมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

                ...เรื่องที่ 6 ที่ผมเห็นว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญ คือตอนนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว การแข่งขันของเศรษฐกิจไปอยู่ที่เศรษฐกิจใหม่ ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี เพราะ disrupt เกิดขึ้นเร็วมาก มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามามากจนไป disrupt ธุรกิจอื่นๆ ให้ประสบปัญหาจนเลิกกิจการไปเยอะมาก ประเทศไทยต้องส่งเสริมให้ประชาชนเข้าไปสู่การแข่งขันในธุรกิจใหม่ เพื่อไป disrupt อันอื่นไม่ใช่ว่ามัวแต่ตั้งรับรอแต่ว่าเขาจะมา disrupt เราเมื่อใด อย่างรถยนต์ ต่อไปรถยนต์ไฟฟ้าก็กำลังจะเข้าไป disrupt รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ที่ต่อไปก็อาจเป็นรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า ที่แล้วแต่ว่าทิศทางรูปแบบไหนจะเกิดขึ้น หากเรายังคงอยู่แต่รถยนต์ใช้น้ำมัน ถึงเวลามีการ disrupt ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของไทยก็จะประสบปัญหาจนอาจเจ๊งเร็วขึ้น

                ไทยเราจึงต้องมองว่าต่อไปนี้เราจะสร้างเศรษฐกิจใหม่กันอย่างไร ซึ่งไม่ใช่แค่ธุรกิจรถยนต์อย่างเดียว แต่รวมถึงธุรกิจกลุ่มอื่นๆ ที่เรียกว่ายูนิคอร์น (บริษัทหรือธุรกิจด้านเทคโนโลยี ที่มีมูลค่าการระดมทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาห์สหรัฐฯ) ซึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนจะมีบริษัทยูนิคอร์นในต่างประเทศเยอะมาก เช่น GO-JEK สตาร์ทอัพผู้ให้บริการเรียกรถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์ของอินโดนีเซีย ที่เจ้าของตอนนี้ถูก โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเชิญเข้าไปเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล จะเห็นได้ว่าเขานำคนฉลาดๆ เข้าไปทำงาน จากคนที่ฉลาดคิดคือการให้บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างธรรมดา แต่กลับมีมูลค่าทางการตลาด 2,000-3,000 ล้านเหรียญ หรืออย่าง Traveloka ก็ของอินโดนีเซีย หรือ Grab  taxi ของมาเลเซียที่แข่งกับ Uber ได้

                ...ที่รัฐบาลไม่เข้าใจและตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าเข้าใจหรือยังก็คือว่า มีการขยายฐานที่สูงและเมื่อขยายไปเรื่อยๆ ก็จะมีธุรกิจต่อเนื่อง ซึ่งหากไทยยังไม่เร่งสร้างบริษัทที่ทำธุรกิจลักษณะดังกล่าวให้เกิดขึ้นในประเทศไทย แล้วเราก็ยังไปเอื้อประโยชน์ให้บริษัทในต่างประเทศ เช่น Aliibaba ที่เข้ามาตั้งแล้วเหมือนกับกินประเทศไทยทั้งหมดแล้ว อีกหน่อยธุรกิจจะเป็นเหมือนของ Aliibaba, Lazada หมด แล้วธุรกิจของไทยจะเกิดได้อย่างไร เพราะสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ภาษีก็มีการให้กับเขา ก่อนหน้านี้ผมเคยให้ความเห็นว่าหากไทยเป็นศูนย์กลางของ Aliibaba ในอาเซียน เราก็คุ้มเพราะเหมือนกับเป็นศูนย์กลางของธุรกิจทั้งอาเซียน แต่ตอนนี้ไม่ใช่เพราะเราแค่เป็นส่วนหนึ่งของ Aliibaba เพราะศูนย์กลางเขาอยู่มาเลเซีย แต่เราไป offer เขาเต็มที่เลย แต่เขาให้เราเป็นแค่สาขา ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะถ้าเราไป offer เขาเยอะ ไทยเราต้องเป็นศูนย์กลางให้ได้ เพราะถ้าไทยเป็นศูนย์กลางเราจะได้ข้อมูลทุกอย่าง ได้เป็นจุดกระจายสินค้า จะมีธุรกิจต่างๆ ที่เป็นธุรกิจต่อเนื่องเพิ่มขึ้นอีกเยอะ แต่เราก็ไม่ได้เป็นทั้งที่ไป offer  เขามากเช่นเรื่องภาษี แล้วคนไทยจะแข่งอย่างไร ก็กลายเป็นว่าคุณไปฆ่าธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของคนไทยเอง สิ่งนี้คือเรื่องที่รัฐบาลทำให้เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

เราก็ต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทของคนไทยในธุรกิจแขนงนี้ต้องทำให้เกิดให้ได้ เพราะหากทำแล้วจะมีธุรกิจเกิดขึ้นต่อเนื่อง อย่าง Grab เขาก็มองอนาคตในเรื่องของการปล่อยกู้ ทำเรื่อง banking  ผ่านธุรกิจของเขา แต่จะพบว่ารัฐบาลไม่ได้มีวิสัยทัศน์ที่จะมองออก

ผมมีความเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องปรับปรุงก็คือ ต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องหลักเลย ที่รัฐบาลพยายามพูดก่อนหน้านี้เรื่อง Thailand 4.0 แต่ผ่านมาห้าปียังไม่เห็นอะไรที่เป็น 4.0 อย่างธุรกิจ SME ที่เห็นว่าควรได้รับการส่งเสริม ก็คือ Startup ที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี ที่จะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้ ภาครัฐต้องส่งเสริมกลุ่มเหล่านี้เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับอนาคต

                ส่วนแนวทางการเก็บภาษีพวกแพลตฟอร์มต่างประเทศ ก็เห็นด้วยที่ควรต้องจัดเก็บ เพราะอนาคตสิ่งเหล่านี้จะมีการใช้กันมากขึ้นเพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ภาษีก็ต้องก้าวให้ทัน ส่วนรูปแบบการจัดเก็บจะทำในรูปแบบใดก็ต้องดูว่าต่างประเทศเขาทำอย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นก็กลายเป็นว่าเงินไหลออกหมด โดยรัฐไม่ได้อะไร แล้วก็จะกลายเป็นว่าแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ของต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาดแข่งขันกับบริษัทของไทยที่ทำแพลตฟอร์มเช่นกัน แต่หากบริษัทของต่างประเทศไม่ต้องจ่ายภาษี ก็ทำให้บริษัทของคนไทยก็ต้องเจอปัญหา จะไปแข่งขันกับต่างประเทศก็ยาก

                ...เรื่องต่อไป ข้อเสนอเรื่องที่ 7 คือต้องสร้าง Rule of Law ที่แท้จริง เพราะความเชื่อถือของต่างประเทศต่อ Rule of Law ของไทยมีน้อยมากและเป็นปัญหาค่อนข้างเยอะ อย่างหากดูตัวอย่างประเทศอังกฤษ ที่ก่อนหน้านี้มีประเทศในอาณานิคมมากมาย ทำให้อังกฤษก็เจริญ เพราะมีรายได้เข้ามามาก  อาณานิคมเยอะ แต่พอนานไปประเทศอาณานิคมต่างๆ ก็ค่อยๆ หลุดออกไปเรื่อยๆ ก็มีผลต่อเศรษฐกิจ  จนต่อมาอังกฤษก็ปรับตัวเอง โดยทำให้ลอนดอนกลายเป็นเมืองหลวงศูนย์กลางที่มี Rule of Law  ชัดเจน ใครมาทำธุรกิจเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ฯ คนก็ให้ความเชื่อถือ เพราะเขามีความชัดเจนว่าอะไรคือเรื่องที่ผิด สิ่งไหนคือเรื่องที่ถูก ก็ทำให้คนเข้าไปลงทุนในอังกฤษมากมาย ทำให้ลอนดอนกลายเป็นเมืองระดับโลก

                ผิดกับของไทย คนก็ไม่อยากมาลงทุน เพราะไม่รู้ว่าจะคิดกันอย่างไร เวลาจะยกเลิกการทำเหมืองทองก็ยกเลิก จะแก้กฎอะไรก็แก้ อย่างผมเคยคุยกับบริษัทญี่ปุ่น เขาบอกตรงๆ เลยว่าบริษัทของญี่ปุ่น คงไม่ลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นมาก จะลงทุนเท่าที่จำเป็น เพราะเขาไม่มั่นใจในภาวะของไทยว่าในอนาคตไทยจะเป็นอย่างไร เขาเล่าตรงๆ เลย แล้วเขาบอกอีกว่าก่อนการเลือกตั้ง บริษัทญี่ปุ่นใหญ่ๆ หลายแห่ง ถูกบังคับให้ไปบริจาคเงินเข้ามูลนิธิที่สนับสนุนรัฐบาล มีใบหักภาษีให้ ก็ทำให้เขาไม่พอใจ อันนี้คือข้อมูลที่ญี่ปุ่นให้มา ไม่ใช่ผมพูดเอง เรื่อง Rule of Law เพื่อทำให้ประเทศมีความน่าเชื่อถือด้านกฎหมาย จึงเป็นสิ่งสำคัญและต้องเร่งทำ เรื่อง Rule of Law สำคัญมาก เพราะถ้า Rule of Law ของประเทศไม่มั่นคงก็จะทำให้ประเทศเดินยาก

                -จากที่มองว่ารัฐบาลล้มเหลวเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าจะใช้วิธีการทางการเมืองด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี จะทำให้ดีขึ้นหรือไม่?

                ถึงตอนนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าควรต้องปรับ และคนแรกที่ควรโดนปรับออกก็คือ ดร.สมคิด รองนายกฯ  เพราะถึงตอนนี้พิสูจน์แล้วว่าผ่านมาห้าปีไม่ได้ทำอะไร แล้วมาตอนนี้มาบอกว่ามีขาเดียว โดยที่ก็มีรัฐมนตรีในสายงานคือ ดร.อุตตม สาวนายน รมว.คลัง ถามว่าแล้วอุตตมไม่มีความคิดหรือ หากไม่มีความคิดก็ต้องออกไป หรือไม่เช่นนั้น ดร.สมคิดก็ต้องออกไป ปัจจุบันบอกว่าตอนนี้มีขาเดียว แต่รัฐบาลชุดที่แล้ว ดร.สมคิดมีครบทุกขาก็ยังเดินกะเผลกๆ

                ...ช่วงสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัว ดร.สมคิดออกมาวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเวลานั้นเป็นฉากๆ เช่นเรื่องการส่งออก แต่พอเขาเข้ามาทำงานเอง ผ่านไปห้าปีกลับทำแย่กว่าสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เป็นร้อยเท่า เห็นได้จากสภาวะการส่งออก การลงทุนที่มีปัญหา ทุกอย่างเหลวแหลกแย่หมด ซึ่งผมเคยออกมาทวงเรื่องนี้ที่ ดร.สมคิดเคยพูดไว้ ก็มีการไปลบคลิปสิ่งที่ ดร.สมคิดเคยออกมาวิจารณ์รัฐบาลเพื่อไทยเอาไว้ คลิปนี้มีคนดู 5-6 แสนคน ก็มีการถูกลบทิ้ง หากละอายจนอายไม่กล้าพูดถึงสิ่งที่เคยไปวิจารณ์คนอื่นไว้ก็แสดงว่าคุณ fail แล้ว ต้องพิจารณาตัวเอง การปรับ ครม.หากจะรื้อใหม่หมด มันก็ยากเพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ถ้ายังปล่อยให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ก็จะไปยาก 

                นอกจากนี้ พิชัย-อดีต รมว.พลังงาน ยังให้ความเห็นเรื่องทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการแสดงออกของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่นกิจกรรม วิ่งไล่ลุง ที่จะจัดขึ้นช่วงวันอาทิตย์ที่ 12 ม.ค.ว่า เรื่องการแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองต้องเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นความเห็นที่ชอบหรือไม่ชอบรัฐบาล รัฐบาลก็ต้องเปิดรับความเห็น และต้องกลับมาพิจารณาตัวเองว่าที่ผ่านมาได้ทำให้คนไม่พอใจอะไรหรือไม่ และจะต้องแก้ไขอย่างไร หากแก้ไขไม่ได้ก็ต้องเอาตัวเองออกไป

                กิจกรรมวิ่งไล่ลุง ผู้จัดกิจกรรม กลุ่มคนรุ่นใหม่เขาอาจเห็นว่าเคยมีคนชอบพูดกันว่า คนรุ่นใหม่แสดงความเห็นการเมืองกันแต่ในโซเชียลมีเดีย บางทีแฮชแท็กกันเป็นแสนเป็นล้าน แต่เวลาลงถนนไม่กล้ามากัน ก็จะเป็นการพิสูจน์ของพวกเขาว่าการแสดงความเห็นของเขาสามารถออกมาเดิน ออกมาให้ความเห็นทางการเมืองที่เป็นตัวเป็นตนได้ ซึ่งถ้าเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย ก็ต้องมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ก็ห่วงว่าถ้ามีการสร้างสถานการณ์โดยฝ่ายใดก็ตามที่ไม่หวังดี ก็เป็นสิ่งที่น่าห่วงเหมือนกัน เพราะมีการพูดกันว่าม็อบที่เกิดมามี proxy crisis ก็ยิ่งชัดเจนเลยว่าในอดีตที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวชุมนุมของบางกลุ่ม เช่น พันธมิตรฯ, กปปส. พวกนี้คือ proxy crisis ใช่หรือไม่ เป็นร่างทรงของใครที่ออกมาเพื่อปฏิวัติหรือไม่ เป็นการสารภาพไปในตัวหรือไม่.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"