การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในประเทศไทย


เพิ่มเพื่อน    


    การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในประเทศไทยในอดีต ตามหลักฐานที่ปรากฏพบว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างที่พระองค์ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ ที่ประชุมแห่งสมเด็จพระราชาคณะ พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ได้มีมติให้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (พ.ศ.2411-2416) 
    ต่อมาในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ครั้งที่ 1 (พ.ศ.2440) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (จากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนี้ ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยยศ เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ" ถือเป็นพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของไทย) 
    นอกจากนี้ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2450) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองในช่วงปลายรัชกาล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นผู้สำเร็จราชการพระนคร
    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นผู้สำเร็จราชการพระนคร ในระหว่างที่แปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล หัวหิน(พ.ศ.2475)และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระเนตร ณ ทวีปยุโรป (11 มกราคม 2476 - 2 มีนาคม 2477)

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในระหว่างที่พระองค์ ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ (7 มีนาคม 2477 -19 สิงหาคม 2478) สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และเมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์สิ้นพระชนม์ สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นใหม่ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และ เจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)
    ต่อมาเมื่อเจ้าพระยายมราชถึงแก่อสัญกรรม และเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินชราภาพสุขภาพไม่สมบูรณ์ สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นใหม่ (16 ธันวาคม 2484 - 31 กรกฎาคม 2487) ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
    ภายหลังจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงผู้เดียว (1 สิงหาคม 2487 - 20 กันยายน 2488) และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปอีก เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ยังไม่สามารถเสด็จนิวัตประเทศไทย เพื่อกลับมารับพระราชภาระในการบริหารพระราชอาณาจักรได้ (20 กันยายน 2488 - 5 ธันวาคม 2488) 
    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในหลายโอกาส ดังนี้
     ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ รัฐสภามีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี (25 มิถุนายน 2489 - 27 มิถุนายน 2492)

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ
     เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ยังไม่สามารถเสด็จฯนิวัตประเทศไทยเพื่อกลับมารับพระราชภาระในการบริหารพระราชอาณาจักรได้ รัฐสภามีมติตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี แต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปอีก (28 มิถุนายน 2492 - 2493)
    เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯนิวัตประเทศไทย แต่จะต้องเสด็จกลับไปรักษาพระอาการประชวรยังต่างประเทศอีก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกวาระหนึ่ง (6 มิถุนายน 2493 - 19 มีนาคม 2494)
    เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรสิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (พ.ศ. 2494)
    ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกผนวช ในปี พ.ศ.2499 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์(จากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" นับเป็นพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของประเทศไทย)
    ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ในหลายประเทศ ได้แก่ เวียดนาม (พ.ศ.2502) อินโดนีเซีย พม่า สหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป (พ.ศ.2503) ปากีสถาน สหพันธ์มลายู นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย (พ.ศ.2505) จีนและญี่ปุ่น (พ.ศ.2506) ออสเตรีย (พ.ศ.2507) อังกฤษ (พ.ศ.2509) อิหร่าน สหรัฐอเมริกา และแคนาดา (พ.ศ.2510) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (จากการปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี")
    นอกจากนี้ ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศฟิลิปปินส์ (พ.ศ.2506) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภ พฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกด้วย

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
    จากที่กล่าวมา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นับว่าเป็นบุคคลสำคัญของประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใช้สิทธิในการปฏิบัติพระราชภาระต่างๆ แทนองค์พระมหากษัตริย์ และหากจะกล่าวว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถือเป็นที่พึ่งหรือผู้เป็นที่พึ่งของพระมหากษัตริย์ ก็คงมิได้ทำให้ความหมายผิดไป อย่างเช่น การปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ซึ่งทรงเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เฉลิมพระอภิไธยจากพระบรมราชินีเป็น"พระบรมราชินีนาถ" 
    ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า"นาถ" แปลว่า"ที่พึ่ง หรือผู้เป็นที่พึ่งพิง" ดังนั้น "พระบรมราชินีนาถ" จึงมีความหมายว่าพระบรมราชินีผู้เป็นที่พึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ในการปฏิบัติพระราชภาระต่างๆ ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สุขต่อประเทศชาติและประชาชนนั่นเอง.
--------------------
ขอบคุณ : สถาบันพระปกเกล้า,เชษฐา ทองยิ่ง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"