ทิศทาง-เส้นทางการเมือง 'พลังชล'


เพิ่มเพื่อน    

 

         แม้เลือกตั้งครั้งล่าสุด (24 มีนาคม 2562) พรรคพลังชล ขอเว้นวรรคชั่วคราว ไม่ได้ส่งผู้สมัครลงชิงชัยในสนามเลือกตั้ง แต่พรรคยังอยู่ในสารบบการเมือง ไม่ได้ถูกยุบ เลิกทำกิจกรรมการเมือง เพียงแต่เปลี่ยนจากผู้เล่นมาเป็นผู้เฝ้ามองสถานการณ์แทน ทีมข่าวมีโอกาสได้ร่วมสนทนากับ สุระ เตชะทัต  เลขาธิการพรรค ที่ได้มาบอกเล่าถึงการขับเคลื่อนพรรคตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน รวมไปถึงเส้นทางการเมืองในอนาคตของพรรคพลังชล

                สุระ บอกว่า พรรคพลังชลยังเป็นพรรคการเมืองอยู่ ยังดำเนินกิจกรรมการเมืองตามรัฐธรรมนูญ  ตามระเบียบ กติกา ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง และตามข้อบังคับพรรคทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องสาขาพรรค ยอดสมาชิกพรรค การจัดประชุม การดำเนินกิจกรรมการเมือง แม้เลือกตั้งครั้งที่แล้ว (24 มี.ค.62) จะไม่ได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง เพราะตอนนั้นยังพูดคุยไม่ตกผลึก มีความเห็นแตกต่างกันอยู่  ประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีหลายประเด็นหลายข้อที่ทำให้มองกันคนละแบบ แต่เมื่อเลือกตั้งผ่านไปแล้ว รัฐธรรมนูญถูกใช้มาระยะหนึ่ง หลายฝ่ายก็เริ่มมองถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดดี จุดอ่อน มีข้อจำกัดอย่างไร ซึ่งก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย เลยนำมาสู่ความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ก็เห็นสภาผู้แทนฯ ตั้งกรรมาธิการศึกษาวิธีที่จะแก้ไขอยู่

                พรรคพลังชลแม้จะไม่ได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง แต่เราก็ติดตามสถานการณ์การเมืองอยู่ตลอด ทั้งเรื่องเกี่ยวกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ เรื่องเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ปัญหาปากท้อง ภัยแล้ง เรื่องที่จะกระทบกับชาวบ้าน บางครั้งก็มีข้อเสนอผ่านสื่อ สื่อไปถึงหน่วยงาน บุคคลที่เกี่ยวข้องบ้าง

                ชลบุรี แม้เป็นฐานการเมืองใหญ่ของพรรคพลังชล จนถูกมองว่าเป็นพรรคของคนชลบุรีนั้น เรื่องนี้ต้องย้อนไปตั้งแต่การตั้งพรรค ได้มาคุยกัน เราไม่ได้คิดว่าพลังชลเป็นพรรคของคนชลบุรีเท่านั้น แต่ "ชล" ตัวนี้ สะกดด้วย "ล" ซึ่งแปลว่า สายน้ำ แม่น้ำ ตรงกับที่พวกเราคิดว่า แม่น้ำคือชีวิตของคน เป็นหัวใจสำคัญ น้ำก็คือชีวิตของคน และไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคก็ล้วนเกี่ยวกับชีวิตประชาชน ที่เรามุ่งเน้นที่จะแก้ไขให้ประชาชน น้ำท่วมก็ต้องมาดูจะจัดการอย่างไร น้ำแล้งก็ต้องมาดู จะบริหาร กักเก็บอย่างไรให้เพียงพอ ให้คนมีน้ำพอใช้ รวมทั้งภาคธุรกิจก็ต้องไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งชลตัวนี้ก็พ้องกับ "ชลบุรี" พอดี แต่พรรคเราไม่ได้มีเพียงแค่ฐานสมาชิก ฐานเสียงในชลบุรีเท่านั้น ในจังหวัดอื่นๆ เช่น ภาคเหนือ ในเชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน อีสานก็มีที่นครราชสีมา มีสมาชิกอยู่เป็นจำนวนมาก แม้แต่ในตอนไปหาสมาชิกพรรค คนที่มาสมัครก็มาด้วยความเต็มใจ อยากมาเป็นสมาชิก

                แต่เราก็จะปรับเปลี่ยนทำให้พรรคเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งต้องมาพูดคุยกัน เพราะพลังชลก็คือพลังแห่งน้ำที่เกี่ยวกับประชาชนและพร้อมรับใช้ประชาชนอยู่แล้ว เราไม่ได้มุ่งเน้นที่ชลบุรีเท่านั้น ในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ที่ไม่ใช่การเลือกตั้งเมื่อปี 62 ก็ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดต่างๆ เหมือนกัน แม้จะไม่ครบทุกเขต แต่ก็ไม่ใช่มีเฉพาะที่ชลบุรีเพียงแห่งเดียว

                ส่วนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แม้การเลือกตั้งเมื่อปี 62 เราจะไม่ส่งผู้สมัคร แต่ด้วยการขับเคลื่อนตระกูล "คุณปลื้ม" กลับเสียพื้นที่ไป 2-3 เขตให้พรรคการเมืองอื่น จนถูกมองว่ารักษาฐานเสียงเดิมไม่ได้ สุระอธิบายว่า สำหรับเรื่องนี้จะมองอย่างนั้นก็ไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งล่าสุด พรรคพลังชลไม่ได้ส่งคนลงแข่ง  และพรรคพลังชลก็ไม่ได้ไปก้าวก่ายการทำงานแต่ละคน ให้แต่ละคนไปดำเนินกิจกรรมการเมืองกันเอง  ภายใต้รัฐธรรมนูญ กติกาฉบับใหม่ พรรคพลังชลไม่ได้เข้าไปยุ่งเลย แต่ถ้าพรรคพลังชลส่งผู้สมัครก็อาจจะได้มากกว่านี้ก็ได้ เพราะประชาชนยังให้ความรัก ความเมตตากับพรรคพลังชลอยู่

                เลือกตั้งครั้งหน้าพลังชลจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง เลขาธิการพรรคพลังชลระบุว่า ก็ต้องมาดูรัฐธรรมนูญ กติกา กฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง การเลือกตั้งจะมีการแก้ไขอะไรในส่วนนี้บ้าง ถ้าไม่ส่งพรรคจะสิ้นสภาพหรือไม่ หรือถ้าจะส่งก็ยังต้องดูไปตามสถานการณ์การเมืองในเวลานั้น แล้วคณะกรรมการบริหารพรรค สมาชิกพรรคจะต้องมาประชุมหารือกัน เพราะเราเป็นพรรคการเมือง ต้องมาคิดร่วมกันตัดสินใจ

                เขายังกล่าวไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งขณะนี้มีความพยายามที่จะแก้ไขกัน "อยากฝากไปถึงการแก้ไข ขอให้ดูในเรื่องสิทธิ ความเสมอภาค ความเท่าเทียมกัน เราก็อยากเห็นเสียงส่วนใหญ่ยอมรับเสียงส่วนน้อย พร้อมกับการรักษาอำนาจประชาชนด้วย อย่างไรก็ดี หลังจากได้ใช้รัฐธรรมนูญที่ผ่านจากการเลือกตั้งมาแล้วในระบบบัตรใบเดียว ซึ่งต่างจากเดิมที่เลือกตั้งบัตรสองใบ สำหรับเขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือเรื่องการนับคะแนนที่อาจเป็นปัญหาบ้าง ส่วนตัวก็มองคล้ายๆ หลายฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องบัตรใบเดียว ทำให้พรรคเล็กเสียเปรียบ เพราะพรรคขนาดเล็กอาจจะไม่สามารถส่งผู้สมัครครบทุกเขตได้  แต่ถ้าบางเขตคนอยากจะเลือกผู้สมัครของพรรคที่เขาศรัทธา ชอบในพรรคนี้ ผ่านระบบบัญชีรายชื่อ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะมีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว และให้เลือกได้เฉพาะคนที่ลง ส.ส.เขตเท่านั้น ก็เหมือนไปบังคับเขาให้จำเป็นต้องเลือก"

                บทบาท เส้นทางการเมืองพรรคพลังชลในวันข้างหน้า หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ในความที่เป็นพรรคขนาดเล็กถึงขนาดกลาง จะย่างก้าวในเส้นทางการเมืองอย่างไร จะกระโดดเสนอตัวเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในสนามการเมืองหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องตามติดกันต่อไป. 

อุดรบูรพา

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"