รวมเลือดเนื้อเพื่อเดียนเบียนฟู


เพิ่มเพื่อน    

 
กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ร่วมแรงร่วมใจในยุทธการที่เดียนเบียนฟู

    “พิพิธภัณฑ์ชัยชนะแห่งเดียนเบียนฟู” คงจะเป็นชื่อที่เหมาะสมที่สุด เพราะภาษาอังกฤษใช้ “Dien Bien Phu Victory Museum” พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งในปี ค.ศ.1984 และได้สร้างใหม่ขึ้นในเวลาต่อมา กระทั่งเมื่อปีที่แล้วเนื่องในวาระครบรอบ 65 ปีของการขับไล่จักรวรรดิฝรั่งเศสออกไปจากแผ่นดินก็มีการปรับโฉมให้สมบูรณ์ขึ้นไปอีกขั้น

                 สัปดาห์ที่แล้วผมได้เขียนถึงเรื่องราวของยุทธการที่เดียนเบียนฟู การถอนตัวออกไปจากภูมิภาคอินโดจีน พ่วงด้วยการเสื่อมอำนาจของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสในดินแดนอื่นๆ ของโลก วันนี้จะขอเล่าถึงการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่ค้างไว้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน

                หลังจากซื้อตั๋วในราคา 15,000 ดอง หรือเท่ากับ 20 บาท จากห้องขายที่ตั้งอยู่หลังรั้วติดกับถนนใหญ่ก็เดินลงไปตามทางลาดเข้าสู่ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์รูปทรงคล้ายชามคว่ำ แม้ว่าต้องฝากกระเป๋าในล็อกเกอร์ตามกฎ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ห้ามนำกล้องถ่ายรูปเข้าไปด้วย ทว่าเดินดูอยู่ได้เพียงไม่กี่นาทีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเดินมาแจ้งว่าต้องปิดรอบเช้าในเวลา 11.30 น. ขณะนั้นเหลือเวลาประมาณ 10 นาที จึงต้องเดินออกตามคำเชิญ


​​​​​​​อ่างอาบน้ำของนายพลคริสติย็อง เดอ กัสทรี ระหว่างการรบที่เดียนเบียนฟู

                เธอบอกให้กลับมาใหม่ตอนบ่าย 2 โมง ผมแสดงอาการประหลาดใจ เธอก็พูดว่ากลับมาราวๆ บ่ายโมงครึ่งก็ได้ เท่ากับว่าต้องหากิจกรรมฆ่าเวลาถึง 2 ชั่วโมง เดินออกจากพิพิธภัณฑ์แล้วก็ข้ามไปยังสุสานวีรชนเดียนเบียนฟูที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนน พื้นที่ค่อนข้างกว้างขวาง ป้ายและข้อความทั้งหมดล้วนเป็นภาษาเวียดนาม ไม่มีการเก็บค่าเข้า และไม่มีเอกสารแจก เพราะไม่ได้ตั้งใจให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว อนุสาวรีย์อยู่ตรงปลายสุดของอาณาเขตสุสาน สร้างขึ้นเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายพีระมิด มีญาติวีรชนเข้าคารวะและวางพวงหรีดไม่ขาดสาย ตามหลุมฝังศพก็มีการจุดธูปเคารพดวงวิญญาณผู้พลีชีพเพื่อชาติกลางแดดแรง

                ผมเดินออกจากสุสาน เพราะทานความร้อนไม่ไหว ด้านนอกเป็นลานกล้าง ตามร่มไม้บริเวณริมๆ ของลานมีร้านขายน้ำอ้อยหลายร้าน ตั้งโต๊ะเก้าอี้พลาสติก กางร่มขึ้นกันแดดที่ส่องทะลุลงมา แต่ละร้านนอกจากจะมีน้ำอ้อยคั้นสดแล้วก็ยังมีเมล็ดทานตะวันในถุงตั้งไว้บนโต๊ะ คนเวียดนามนิยมแทะคลายเครียดยามว่าง บางร้านเสริมอาวุธด้วยบ้องยาสูบขนาดใหญ่ ผมสั่งน้ำอ้อยใส่น้ำแข็งมานั่งดื่มใต้ร่มไม้ใหญ่ ผ่อนคลายได้สักพักก็ออกเดินหามื้อเที่ยง

                ใกล้ๆ พิพิธภัณฑ์ชัยชนะแห่งเดียนเบียนฟูร้านอาหารมีอยู่หลายร้าน แต่ส่วนใหญ่ปิดพักเที่ยง และคงพักต่อเนื่องลามไปถึงการนอนในช่วงบ่ายตามวัฒนธรรมละตินยุโรปที่ฝรั่งเศสทิ้งไว้ให้ ผมเดินหาอยู่นานมากกว่าจะเจอร้านข้าวราดแกงที่กำลังเปิดขาย สั่งกับข้าวราด 2 อย่าง และซุปอีก 1 อย่าง น้ำเปล่า 1 ขวด ราคาประมาณ 50 บาทเท่านั้น


​​​​​​​ไกด์ของพิพิธภัณฑ์บรรยายประวัติศาสตร์แก่ผู้มาเยี่ยมชม

                เมื่อกินใกล้จะเสร็จมีผู้หญิงขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามาจอดหน้าร้าน มีเพื่อนซ้อนท้ายอีกคน ทั้งคู่พูดภาษาอังกฤษ หน้าตาออกคล้ายๆ คนไทย แต่ดูเหมือนว่าคุ้นชินกับเวียดนามเป็นอย่างดี ผมสันนิษฐานว่าเป็นชาวฟิลิปปินส์ ทั้งคู่สั่งอาหารเสร็จ คนอ้วนผู้ขี่มอเตอร์ไซค์กำชับพนักงานหนุ่มว่าเพิ่มข้าวสวยให้เพื่อนเธอคนผอมสูงให้เต็มจาน “เพื่อนฉันกินเยอะ” เธอว่า แล้วก็บอกกับเด็กเสิร์ฟอีกว่า “เอาอีกๆ” จนกระทั่งพูนจาน เธอก็พอใจ ฝ่ายคนผอมสูงได้รับข้าวมาก็กินอย่างเอร็ดอร่อย

                ผมถามหาร้านกาแฟในละแวกนี้กับหนุ่มพนักงาน ระหว่างทางที่เดินมามีร้านหน้าโรงหนังเดียนเบียนฟูเป็นร้านที่ดูดี แต่ปิดพักเที่ยง สาวอ้วนพูดขึ้นว่าร้านหน้าโรงหนังน่าจะเปิดแล้ว และผมก็ได้ทราบว่าเธอมาจากฟิลิปปินส์จริงๆ สาวอ้วนเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในเดียนเบียนฟู ส่วนสาวผอมสูงสอนภาษาอังกฤษอยู่ในเมืองอื่น เดินทางมาเดียนเบียนฟูเพราะมาร่วมฉลองวันเกิดให้กับสาวอ้วน


​​​​​​​สุสานวีรชนแห่งเดียนเบียนฟู

                ผมอวยพรวันเกิดให้เธอแล้วเดินกลับไปยังร้านกาแฟหน้าโรงหนัง ปรากฏว่ายังไม่เปิด โรงหนังก็ไม่เปิด เดินไปเข้าห้องน้ำในโรงหนังก็ไม่เจอใครสักคน แม้แต่เจ้าหน้าที่ รปภ.ก็ไม่มี เห็นได้ถึงความจริงจังในการพักเที่ยงและลากยาวจนถึงบ่าย 

                บริเวณป้ายรถโดยสารระหว่างโรงหนังและพิพิธภัณฑ์มีม้านั่งอยู่สอง-สามตัว ผมจึงใช้เป็นที่นั่งเขียนบันทึกรอพิพิธภัณฑ์เปิดรอบบ่าย มีแท็กซี่จอดอยู่ 1 คันริมถนน โชเฟอร์ก็นอนพักกลางวันเช่นกัน

                เวลาบ่ายโมงครึ่งได้เวลาเดินไปยังประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ใกล้ๆ ห้องขายตั๋ว เจ้าหน้าที่สาวคนเดียวกับที่แจ้งให้ผมออกจากพิพิธภัณฑ์เพื่อหยุดพักเที่ยงยืนอยู่กลางแดดบริเวณนั้น เธอกรุณาเดินไปบอกเจ้าหน้าที่ห้องขายตั๋วว่าไม่ต้องขายตั๋วให้ผมอีก นี่คือผู้เยี่ยมชมจากรอบเช้า ผมจึงขอบคุณเธอและเดินตามเข้าไปในตัวอาคาร หน้าที่ของเธอก็คือบรรยายให้กับผู้เยี่ยมชมชาวเวียดนามที่เข้าไปเป็นกลุ่ม ส่วนพวกเดินเดี่ยวอย่างผมสามารถอ่านคำบรรยายเอาเองได้ ข้างๆ สิ่งจัดแสดงมีข้อความเขียนอธิบายไว้ 3 ภาษา ได้แก่ เวียดนาม อังกฤษ และฝรั่งเศส

                การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีลักษณะเป็นนิทรรศการถาวร จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ อาวุธ ยุทธภัณฑ์ สิ่งเตือนความจำ จดหมายและเอกสารสำคัญ ภาพถ่ายเกี่ยวกับสงครามที่เดียนเบียนฟูและพื้นที่ใกล้เคียง ของเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในตู้กระจก นอกจากนี้ยังมีหุ่นจำลองในอากัปกิริยากำลังรบ การเคลื่อนพล การรักษาพยาบาลนักรบบาดเจ็บ สภาพสมรภูมิย่อส่วนอยู่ในเขตเชือกกั้น


​​​​​​​หลุมเพลาะและหลุมระเบิดบนเนินเขา A1

                สาระสำคัญที่พิพิธภัณฑ์ต้องการสะท้อนออกมาก็คือ การร่วมแรงร่วมใจของชาวเวียดนาม ทั้งทหารกล้าในแนวหน้าที่หลั่งเลือดสละชีวิตเข้าแลกกับยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่าของฝรั่งเศส (และพันธมิตร) การบากบั่นเคลื่อนทัพข้ามภูมิประเทศอันยากลำบาก ฝ่ายแนวหลังที่คอยส่งเสบียงและของใช้จำเป็น มีแรงงานผู้ชายและผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากความสามารถในการทำงานได้อย่างหลากหลาย ทั้งพี่น้องชาวเวียดและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

                มีการเปรียบเทียบอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น โต๊ะทำงานของคริสตียอง เดอ กัสทรี แม่ทัพฝรั่งเศสประจำยุทธภูมิเดียนเบียนฟูใช้โต๊ะเหล็กแบบมีขาพับอย่างดี ขณะที่โต๊ะของนายพล “ฮอง วัน ไถ” เสนาธิการของเวียดมินห์ใช้ขาโต๊ะทำจากต้นไม้หรือกิ่งไม้ที่ไม่สู้จะเหยียดตรงสักเท่าไหร่ อาวุธง่ายๆ ของเวียดมินห์เช่นหน้าไม้ เหล็กแหลมคล้ายๆ ทวนหรือหอก แต่สามารถสังหารศัตรูได้ ส่วนมากมีการระบุพื้นที่และจำนวนตัวเลขชีวิตข้าศึกที่สังเวยให้กับอาวุธเหล่านั้น ไหสุราที่ชาวบ้านผสมยาพิษให้ทหารฝรั่งเศสดื่มจนเสียชีวิตก็นำมาแสดงไว้ด้วย

                ในเรื่องการกินอยู่ ฝ่ายทหารฝรั่งเศสนั้นค่อนข้างจะอยู่ดีกินดี (ในช่วงแรกๆ) จาน ช้อนมีคุณภาพและทนทาน ขวดไวน์จำนวนมาก แต่ขวดไวน์นี้อาจสื่อได้ว่าทหารฝรั่งเศสคงตกอยู่ในสภาพจิตใจย่ำแย่ ต้องสร้างความรื่นรมย์และกล่อมกันหนักกว่าจะหลับลงไปได้ในแต่ละคืน


​​​​​​​ภาพที่เห็นจนชินตาในเวียดนาม การซื้อขายลอตเตอรี่ที่ออกให้ลุ้นกันทุกวัน

                ตอนท้ายๆ ของโถงทางเดินที่วนเกือบเป็นลักษณะวงกลมแสดงภาพถ่ายขณะบุกทำลาย ยึดอาวุธและป้อมค่ายของศัตรู ทหารฝรั่งเศสยกมือยอมแพ้โผล่ออกมาจากหลุมรูที่ซ่อนตัว ภาพนายทหารเวียดมินห์อธิบายการใช้ชีวิตในสถานะเชลยศึกให้ทหารฝรั่งเศสรับรู้ ภาพการต่อต้านสงครามในฝรั่งเศส มีทั้งคนดังที่ออกมาประณามรัฐบาลและกองทัพตัวเอง ประชาชนชาวฝรั่งเศสออกมาเดินขบวนประท้วงการทำสงคราม รวมถึงสนับสนุนเวียดนามด้วยซ้ำไป

                จากนั้นเป็นภาพการฉลองชัยชนะของฝ่ายเวียดมินห์ในเดียนเบียนฟู ในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงกรุงฮานอยที่คืนสู่มือรัฐบาลเวียดมินห์ ภาพการลงนามประวัติศาสตร์ที่กรุงเจนีวา ฝรั่งเศสยินยอมถอนทัพออกจากเวียดนาม ภาพการคืนสู่บ้านเรือนของชาวบ้านที่ทิ้งไร่นาไปเป็นแรมปีเพื่อเป็นกำลังเสริมในการขับไล่ศัตรู วัวควายได้กลับมาทำหน้าที่ไถนาตามถนัดแทนการแบกหาม ปิดท้ายด้วยภาพถ่ายของบรรดาวีรบุรุษคนสำคัญจัดแสดงอยู่ในกรอบอย่างดี และรูปปั้นผู้บัญชาการสูงสุด นายพลหวอ เหงียน ซาป โดยที่รูปปั้นของท่านผู้นำโฮจิมินห์นั้นตั้งไว้บริเวณปากโถงทางเข้าห้องจัดแสดง

                ด้านล่างของอาคารพิพิธภัณฑ์ยังมีนิทรรศการภาพและคำเกี่ยวกับยุทธการที่เดียนเบียนฟูวนเป็นวงกลมอีกชุดหนึ่ง ไฮไลต์อยู่ที่เรื่องราวของสตรีผู้มีส่วนร่วมในสงคราม ทั้งแนวหลังที่คอยสนับสนุนด้านเสบียงและยุทธภัณฑ์ และบางคนที่อยู่ร่วมสนามรบในฐานะแพทย์พยาบาล นักแสดงผู้ให้ความบันเทิงแก่ทหารกล้ายามจิตใจห่อเหี่ยว และเรื่องรักระหว่างรบ


สะพานเมืองแถง เป็นสะพานแบบเบลีย์ ใช้ข้ามน้ำยุม เข้าใจว่าฝรั่งเศสเป็นฝ่ายสร้างขึ้นระหว่างสงคราม

                นางเหงียน ที ง็อค ทีมแพทย์จากฮานอย ปัจจุบันอายุ 85 ปี เปิดลิ้นชักความทรงจำถ่ายทอดเรื่องราวว่า “ช่วงปลายปี 1953 ฉันและคู่หมั้นกล่าวคำลาก่อนแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ในสมรภูมิเดียนเบียนฟู เราให้คำมั่นกันว่าจะแต่งงานกันทันทีหลังวันมีชัยเหนือศัตรูผู้รุกราน เมื่อเราชนะศึกท่านนายพลหวอ เหงียน ซาป ได้จัดงานแต่งให้เราในวันที่ 22 พฤษภาคม 1954 ตรงบังเกอร์บัญชาการของนายพลเดอ กัสทรี งานแต่งของเราไม่ได้ประดับด้วยบุปผานานาพรรณ หากแต่เป็นร่มหลากสีสันของทหารพลร่มฝรั่งเศสที่ถูกผูกยึดเข้ากับบรรดารถถังไร้เจ้าของ พื้นที่ตรงนั้นเพียงพอสำหรับแขก 40 คน ชุดแต่งงานของเราคือแบบฟอร์มทหารสีเขียว เรากุมมือกันและกันท่ามกลางแสงจากตะเกียงไฟฟ้า รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และคำอวยพรที่ถูกกล่าวขึ้นในห้วงความสำราญแห่งการมีชัย”

                ชั้นล่างของอาคารพิพิธภัณฑ์ยังมีร้านขายของที่ระลึกอยู่หลายร้าน แต่ส่วนใหญ่ขายคล้ายๆ กัน และหลายอย่างก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับยุทธภูมิเดียนเบียนฟู ผมถามหาหนังสือประวัติการรบที่เป็นภาษาอังกฤษ แม่ค้าบอกว่าเพิ่งขายหมด จึงซื้อหมวกปีกกว้างใบหนึ่งมาแทน มีข้อความเขียนเป็นภาษาเวียดนาม เธอแปลให้เป็นภาษาอังกฤษว่า “ที่ระลึกจากเดียนเบียนฟู” ก่อนผมจะเดินออกไปเธอยังชวนให้มาเยือนใหม่ในปีหน้า พิพิธภัณฑ์จะสร้างเสร็จพอดี ว่าแล้วก็ชี้ให้ดูจุดที่กำลังก่อสร้างอยู่

                เวลาเกือบ 4 โมงเย็น ผมได้ดื่มกาแฟในร้านหน้าโรงหนังสมใจ แล้วเดินไปยังเนินเขา A1 ที่อยู่ไม่ไกลกัน ทว่าเข้าผิดทาง นั่นคือไปเข้าทางด้านหลัง เป็นที่ตั้งของร้านกาแฟชื่อ A1 Café ต้องเดินทะลุร้านกาแฟเข้าไปยังบังเกอร์ A1 ของฝรั่งเศส ซึ่งเรียกว่า Eliane 2 นอกจากเครือข่ายหลุมเพลาะและอุโมงค์แล้ว บนเนินนี้มีจุดสำคัญสำหรับถ่ายภาพก็คือหลุมขนาดใหญ่คล้ายหลุมอุกกาบาต ทหารช่างเวียดมินห์ได้ใช้ความพยายามอย่างหนัก เสียชีวิตไปมากมายกว่าจะฝ่าเข้าไปวางระเบิดได้ ถือว่าเป็นงานหินที่สุดของฝ่ายเวียดมินห์เลยทีเดียว จากนั้นเวียดมินห์จึงสามารถข้ามแม่น้ำยุมไปจับตัวนายพลเดอ กัสทรี ได้ในบังเกอร์บัญชาการ

                นอกจากบังเกอร์และหลุมอุกกาบาตนี้แล้วยังมีรถถังหลายคันให้ชมบริเวณด้านล่างเนินใกล้ๆ ทางออก รวมทั้งอาคารแสดงนิทรรศการขนาดย่อมเกี่ยวกับการรบบนเนินเขา A1 หน้าอาคารนี้มีโต๊ะขายตั๋วสำหรับการเยี่ยมชมภายในพื้นที่เนินเขา A1 ผมเข้าไปซื้อในราคา 15,000 ดอง ก่อนจะเดินออกจากประตูทางเข้า


​​​​​​​บังเกอร์บัญชาการของนายพลเดอ กัสทรี ​​​​​​​

                ไหนๆ ก็มาถึงขั้นนี้แล้ว ผมเดินต่ออีก 1 กิโลนิดๆ ไปยังบังเกอร์บัญชาการของเดอ กัสทรี ผ่านตลาดยามเย็น แวะดื่มน้ำมะพร้าว เจ้าแรกเขียนว่า 15,000 ดอง แม่ค้าไม่อยู่ เจ้าถัดไปไม่เขียนป้ายราคา แม่ค้านำปากกาสีเขียนลงบนฐานปูนในล้อรถสำหรับตั้งร่ม ระบุ 25,000 ดอง ผมก็ตกลง เป็นมะพร้าวลูกใหญ่ น้ำเยอะ และหวานอร่อย จากนั้นฝ่าตลาดริมถนนที่ยาวเฟื้อยไปจนถึงสะพานเมืองแถง (Muong Thanh Bridge) ตั้งขึ้นตามชื่อเดิมของเมือง ปัจจุบันเมืองแถงเป็นเขตหนึ่งในเดียนเบียนฟู สะพานนี้ใช้ข้ามแม่น้ำยุม ภาษาเวียดนามออกเสียงเป็นน้ำซม เขียนว่า Nm Rm (ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำหม่าตามที่ระบุในตอนที่แล้ว ต้องกราบขออภัยด้วยครับ) อนุญาตให้คน จักรยาน และมอเตอร์ไซค์เท่านั้นที่ผ่านได้ มีภาพจำสำคัญในประวัติศาสตร์การรบ นั่นคือภาพบรรดาทหารฝรั่งเศสชูมือขึ้นเหนือศีรษะรับชะตากรรมผู้แพ้

                ผมข้ามสะพานไปแล้วก็แวะซื้อถั่วคั่วจากแม่ค้าสาวที่นั่งเล่นโทรศัพท์มือถืออยู่ เธอไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ ผมจึงยื่นให้เธอ 10,000 ดอง เธอก็ตักถั่วให้ถุงหนึ่ง เป็นอันว่าสื่อสารกันพอรู้เรื่อง จากนั้นก็เดินอีกไม่ถึง 300 เมตรไปยังบังเกอร์เดอ กัสทรี ปรากฏว่าปิดบริการเรียบร้อยแล้ว ได้แต่มองดูจากภายนอก แล้วเดินกลับ ผ่านซอย Nguyen Chi Thanh ที่ได้เล็งไว้ตั้งแต่วันก่อน มีร้านอาหารและคาเฟ่จำนวนมาก แต่ได้กินแค่ข้าวราดแกงและเบียร์ Saigon กระป๋องเดียวจากร้านข้าวธรรมดาร้านหนึ่งที่เต็มไปด้วยลูกค้าคนท้องถิ่น

                ที่ปากซอยนี้ผมแวะร้านขายของชำร้านเดิม เข้าไปเปิดตู้เย็นหยิบเบียร์ Saigon ออกมา 1 กระป๋อง แม่ค้าชู 1 นิ้ว และ 2 นิ้วตามลำดับ บอกราคา 12,000 ดอง ผมจ่ายให้แก 14,000 ดอง ทำท่าทำทางให้รู้ว่ารวมกับที่ค้างไว้เมื่อวาน แกจำขึ้นได้ พูด “ก๋ามเอิน” ผมก็ “ก๋ามเอิน” แล้วก็เดินกลับที่พัก

                คืนนี้จิบเท่าที่ถือมา เพราะรุ่งขึ้นต้องรีบตื่นไปซาปาตั้งแต่เช้าตรู่.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"