คลังฟุ้งฐานะ 5 เดือนแกร่งรายได้เข้าหีบเฉียด 9 แสนล.


เพิ่มเพื่อน    

คลังฟุ้งฐานะ 5 เดือนแกร่ง รัฐบาลส่งรายได้เข้าหีบเฉียด 9 แสนล้านบาท เงินคงคลังแกร่ง 1.89 แสนล้านบาท “สรรพากร-ศุลกากร” ผลงานยังแผ่ว รีดรายได้หลุดเป้าหมาย

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. 60 – ก.พ. 61) ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 8.94 แสนล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 1.37 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล ทั้งสิ้น 2.14 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2561 อยู่ที่ 1.89 แสนล้านบาท

“ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็งเพียงพอต่อการเบิกจ่าย โดยรัฐบาลยังสามารถจัดเก็บรายได้สูงขึ้นและสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ” นางสาวกุลยา กล่าว

นางสาวกุลยา กล่าวอีกว่า ในส่วนของการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ 9.08 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 3.94 หมื่นล้านบาท หรือ 4.5% เนื่องจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 1.48 หมื่นล้านบาท หรือ 30% และการนำส่งรายได้ของหน่วยงานอื่น สูงกว่าประมาณการ 1.48 หมื่นล้านบาท หรือ 18.8% ขณะที่การจัดเก็บรายได้จากภาษีที่สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม สูงกว่าประมาณการ 5.94 พันล้าบาท หรือ 283%, ภาษีรถยนต์ สูงกว่าประมาณการ 3.75 พันล้านบาท หรือ 8.9% และรายได้อื่นของกรมสรรพสามิต จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1.9 พันล้านบาท หรือ 394.6%

สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ในช่วง 5 เดือนของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. 60-ก.พ. 61) อยู่ที่ 3.65 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2.59 พันล้านบาท หรือ 0.4% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ 6.65 พันล้านบาท หรือ 2% และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ 1.99 พันล้านบาท หรือ 1.6%

ส่วนกรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 274 ล้านบาท หรือ 0.1% โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีรถยนต์ และรายได้อื่นของกรมสรรพสามิต เนื่องจากการนำส่งเงินค่าใช้จ่ายจัดเก็บภาษีท้องถิ่นคืนเป็นรายแผ่นดิน รวมถึงภาษียาสูบ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1.87 พันล้านบาท หรือ 7.3% ส่วนภาษีน้ำมัน จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่ 4.65 พันล้านบาท หรือ 5.4% และภาษีเบียร์ ต่ำกว่าประมาณการ 2.2 พันล้านบาท หรือ 7.4%

ขณะที่กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวมที่ 4.6 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 922 ล้านบาท หรือ 2% เนื่องจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าประมาณการ 1.3 พันล้านบาท หรือ 2.8% จากการนำเข้าสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้การจัดเก็บอากรขาเข้าไม่ขยายตัวตามที่คาดการณ์ โดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลล่าร์ ช่วง 4 เดือนของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. 60-ม.ค. 61) ขยายตัว 16.9% และรูปเงินบาท ขยายตัว 9.1% โดยสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าในช่วง 3 เดือนแรกได้สูงสุด ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม และของที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า

อย่างไรก็ดี รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้รวม 6.45 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.48 หมื่นล้านบาท หรือ 30% โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงสุด ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กองทุนรวมวายุภักษ์ บมจ.ท่าอากาศยานไทย และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ส่วนหน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวมที่ 9.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.48 หมื่นล้านบาท หรือ 18.8%  ขณะที่กรมธนารักษ์ จัดเก็บรายได้รวม 4.25 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 366 ล้านบาท หรือ 9.4%


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"