USA vs. IRAN สงครามนอกรูปแบบ ไพ่ 4 ใบในมือ 'อิหร่าน'


เพิ่มเพื่อน    

     สถานการณ์ความตึงเครียด การเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน ถึงตอนนี้ทั่วโลก เริ่มคลายความกังวลลงไปบ้าง หลังผู้นำของสหรัฐฯ และอิหร่านมีท่าทีที่ผ่อนคลายลงในการเผชิญหน้ากัน หลังเกิดกรณีสหรัฐฯ ทำการสังหารนายพล Qassem Soleimani ผู้นำทหารของอิหร่านเสียชีวิต สิ่งที่ต้องจับตามองต่อจากนี้กับสถานการณ์ดังกล่าวที่ทั่วโลกยังคงเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด วันนี้มีมุมวิเคราะห์ที่น่าสนใจจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ที่เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองในสหรัฐฯ ตลอดจนความสัมพันธ์และนโยบายต่างประเทศของประเทศมหาอำนาจ ทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศระดับสูงและเหตุการณ์ปัจจุบัน "ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี อาจารย์ภาคสาขาวิชาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย"

                "ศ.ดร.ประภัสสร์" กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากปัญหาข้อพิพาทระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้หลายสิบปี และในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ใช้หลายมาตรการเพื่อตอบโต้อิหร่าน แต่อิหร่านกลับไม่มีท่าทีหวั่นเกรงใดๆ โดยเฉพาะกับการที่สหรัฐฯ ใช้ทั้งมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่อิหร่านกลับยิ่งแข็งกร้าว ก้าวร้าวมากขึ้นเพื่อตอบโต้มาตรการของทรัมป์ อย่างการไปมีข้อพิพาทกับซาอุดีอาระเบีย โจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย หรือการไปสนับสนุนผู้ก่อการร้ายในเยเมน รวมถึงการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายฮิซบุลเลาะห์ หรือการสนับสนุนรัฐบาลอิรักที่เป็นนิกายชีอะห์ด้วยกัน อิหร่านพยายามขยายอิทธิพลของตัวเองมากขึ้นไปอีก รวมถึงการทำ Cyber  Warfare หรือสงครามไซเบอร์ การโจตีเรือขนส่งน้ำมันในช่องแคบฮอร์มุซ เป็นต้น จนทำให้ทรัมป์ต้องพยายามทำให้อิหร่านยอมให้ได้ ก็อาจใช้มาตรการที่รุนแรงมากขึ้น เพราะมาตรการทางเศรษฐกิจคงไม่พอแล้ว คงใช้มาตรการทางทหารด้วย ก็เลยเป็นที่มาของการใช้โดรนโจมตี กอเซ็ม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของอิหร่านเสียชีวิต ก็ทำให้อิหร่านฮึดขึ้นมาจนมีการประกาศจะล้างแค้นสหรัฐฯ เช่นการยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรัก จนตอนแรกคนทั่วโลกเกรงจะเกิดความวุ่นวาย

                ...สิ่งที่อิหร่านทำก็คงแค่การโชว์ว่าอิหร่านล้างแค้นแล้ว แต่อิหร่านก็ไม่ต้องการให้เกิดสงครามใหญ่กับสหรัฐฯ เลยแค่ยิงเฉียดๆ ฐานทัพเพื่อไม่ให้ทหารสหรัฐฯ เสียชีวิต ขณะที่ทรัมป์เองก็คงคิดเช่นกันว่า หากไปทำสงครามเต็มรูปแบบกับอิหร่านก็คงสูญเสียเยอะ หากจะเข้าไปยึดเตหะรานเมืองหลวงของอิหร่าน ก็ไม่ง่ายเหมือนกับไปยึดกรุงแบกแดดของอิรัก เพราะอิหร่านมีกองกำลังที่แข็งแกร่งกว่าซัดดัม  ฮุสเซนมาก ขีปนาวุธก็มีมากสุดในตะวันออกกลาง เช่นเดียวกับอิหร่านก็คิดหนักเหมือนกัน หากไปทำสงครามเต็มรูปแบบกับสหรัฐฯ คงเสียหายหนัก ก็หายนะเหมือนกัน ทั้งสองฝ่ายจึงเลี่ยงที่จะไม่ทำสงครามเต็มรูปแบบ แต่ก็จะทำแบบนี้คือสงครามยืดเยื้อ เพื่อดูว่าฝ่ายไหนจะหมดแรงก่อนกัน เลยทำให้สถานการณ์คลี่คลาย จบลงแบบหลายคนตั้งตัวไม่ติด

                "ศ.ดร.ประภัสสร์-นายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย" มองว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้คิดว่าสงครามเต็มรูปแบบคงไม่เกิด แต่ก็ไม่ถึงกับจะร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะก็ยังจะมีเงื่อนไขที่ทำให้เกิดสงครามเต็มรูปแบบได้ แต่ว่าเงื่อนไขขณะนี้ยังไม่มี อย่างเช่นเงื่อนไขที่หากอิหร่านสามารถมีอาวุธนิวเคลียร์ หรือกำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์ที่ตอนนี้อิหร่านยังเงียบๆ อยู่ แต่หากสหรัฐฯ คิดว่าอิหร่านกำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯ ก็ไม่มีทางเลือก คือต้องไปบอมบ์โรงงานของอิหร่าน สหรัฐฯ อาจต้องตัดสินใจ แต่ทำแล้วจะลุกลามบานปลายหรือไม่ อิหร่านก็ต้องตอบโต้เพื่อยิงเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ที่ก็อาจทำให้ทหารของสหรัฐฯ เสี่ยงจะเสียชีวิต หากเป็นไปแบบนี้สถานการณ์ก็เสี่ยงที่จะรุนแรงเพราะทั้งสองฝ่ายจะตอบโต้ซึ่งกันและกัน เงื่อนไขที่สองที่อาจทำให้เกิดสงครามเต็มรูปแบบอาจจะเป็นคล้ายๆ อุบัติเหตุ เช่นอิหร่านไปโจมตีตามจุดต่างๆ แล้วทำให้ทหารสหรัฐฯ เสียชีวิต จนเกิดการตอบโต้จนสถานการณ์บานปลาย

                อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ประภัสสร์เชื่อว่าเงื่อนไขของสงครามเต็มรูปแบบโอกาสจะเกิดขึ้นมีน้อย แต่โอกาสที่จะเกิดสูงมากกว่าก็คือ "สงครามยืดเยื้อ" เพราะอิหร่านมีไพ่ในมือหลายใบที่จะทำกับสหรัฐฯ ที่เรียกว่า "สงครามนอกรูปแบบ" แบบสงครามกองโจร เช่นปั่นป่วนสหรัฐฯ ไปเรื่อยๆ เป็นยุทธศาสตร์สงครามแบบกองโจรที่สมัยสงครามเวียดนาม สหรัฐฯ เคยแพ้มาแล้ว อิหร่านก็อาจใช้รูปแบบนี้

                ...ไพ่ของอิหร่านที่มีหลายใบ เช่นไพ่ใบแรกคือ การสนับสนุนการทำสงครามตัวแทนในเยเมนและในอิรัก โดยอิหร่านไม่ได้รบเองแต่สนับสนุนพวกกลุ่มกบฏต่างๆ ไปรบกับรัฐบาลเยเมน หรือในอิรักก็พวกกองกำลังติดอาวุธนิกายชีอะห์ เพื่อให้บ่อนทำลายฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรัก เพื่อกดดันให้สหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกจากอิรัก เพราะหากทำสำเร็จอิหร่านจะทำอะไรต่างๆ ได้อีกมาก เพราะตอนนี้ก็มีฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรักที่มาจ่อคอหอยอิหร่านอยู่ แล้วรัฐบาลอิรักก็เป็นพวกอิหร่านเพราะเป็นพวกชีอะห์ด้วยกัน  อิหร่านก็ต้องใช้ให้เป็นแนวร่วมเพื่อต่อต้านสหรัฐฯ ที่ก็มีอยู่เยอะ เพราะอิหร่านเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้นำของนิกายชีอะห์ของโลก ที่นอกจากนี้ก็มีที่ซีเรีย, ปาเลสไตน์ รวมไปถึงทางเยเมนและอีกหลายประเทศ

                ...ไพ่ใบที่สองก็คือ สงครามไซเบอร์ ที่อิหร่านเคยใช้มาแล้วหลายครั้ง จนสหรัฐฯ ระบุเลยว่าศัตรูทางไซเบอร์ของอเมริกาคือ จีน, รัสเซีย, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ ซึ่งอิหร่านก็เคยแฮ็กทำลายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของสหรัฐฯ หลายครั้งแล้ว

                ...ไพ่ใบที่สามคือ การโจมตีเรือบรรทุกสินค้าและน้ำมันในช่องแคบฮอร์มุซ แล้วก็บ่อนทำลายเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศเล็กๆ ในอ่าวเปอร์เซียที่เป็นพวกเดียวกับสหรัฐฯ เช่น คูเวต,  บาห์เรน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ซาอุดีอาระเบีย เช่นการยิงขีปนาวุธเข้าไปอย่างที่เคยทำมาแล้ว แต่จะหนักขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงตึงเครียดแบบปัจจุบัน มาตรการเหล่านี้ก็อาจจะเข้มข้นและทำกันถี่มากขึ้น ที่หากเป็นแบบนี้อาจทำให้อเมริกาก็อาจอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะหากจะใช้ไม้แข็งตอบโต้ อิหร่านก็จะยิ่งกร้าวแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหากอเมริกาใช้วิธีการตอบโต้ก็จะมีปัญหาตามมาอีก จนอาจเกิดสงครามเต็มรูปแบบ ก็จะไม่คุ้มอีก อเมริกาก็อาจตกอยู่ในสถานะลำบาก ก็อาจทำให้สหรัฐฯ ต้องใช้ไม้อ่อนเช่นยอมกลับมาเจรจา

                ...สำหรับไพ่ใบที่สี่ก็คือ เรื่องของกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ เช่น Hezbollah, กลุ่มก่อการร้ายนิกายชีอะห์   ซึ่งจริงๆ ก็กระจายอยู่ทั่วโลก อย่าง Hezbollah ก็เคยมีข่าวว่ากลุ่มดังกล่าวจะเข้ามาก่อเหตุในกรุงเทพฯ  อันนี้ก็คือเครื่องมือของอิหร่านที่จะสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้นได้ ทำให้ปั่นป่วนไปหมดทั่วโลกจากกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นแนวร่วมของเขา

                "ศ.ดร.ประภัสสร์" ประเมินว่า อิหร่านก็อาจจะใช้มาตรการแบบยื้อไปเรื่อยๆ จนอาจทำให้อิหร่านมีเวลาในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จ ที่หากทำสำเร็จอเมริกาก็อาจไม่กล้าไปยุ่งกับอิหร่านแล้ว เหมือนอย่างเกาหลีเหนือ เพราะประเทศใดมีอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐฯ จะไม่กล้าไปยุ่ง อย่างรัสเซีย, จีน,  เกาหลีเหนือ หรืออินเดีย, ปากีสถาน อิหร่านถึงมุ่งมั่นมากในการที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้อิหร่านก็ใช้วิธีการซื้อเวลายื้อไปเรื่อยๆ สร้างความปั่นป่วนให้สหรัฐฯ แต่คำถามคือแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ จะยอมให้อิหร่านยื้อเพื่อให้มีอาวุธนิวเคลียร์หรือ เขาก็อาจต้องตัดสินใจทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงแต่ตอนนี้ มันยังไม่ชัดเรื่องอิหร่านมีการแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ อิหร่านก็อาจรอหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะคิดว่าหากเป็นพรรคเดโมแครตเข้ามา ก็อาจประนีประนอมกับอิหร่านมากขึ้น อาจคุยรู้เรื่องมากขึ้น

                ส่วนทิศทางสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร และท่าทีรัฐบาลไทยต่อสถานการณ์ดังกล่าวควรเป็นเช่นใด ในบทสัมภาษณ์ตอนที่สองจะนำมาเสนอให้เห็นทิศทางกันต่อไป. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"