ฝุ่นฟุ้งกระจายรัฐสภา 2 พรรคเสียบบัตรแทนกัน


เพิ่มเพื่อน    

    กลายเป็นงานช้างเสียแล้ว ไม่เพียงแต่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีต ส.ส.พัทลุง จั่วหัวหอบหลักฐาน กล่าวหา ฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง ผู้ล้มแชมป์เก่าอย่าง "นิพิฏฐ์" ว่าตัวไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่กลับมีชื่อลงมติในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท

               เมื่อวานนี้ ด้วยแรงแค้นแห่งการถูกหยามเหยียดจาก "ศุภชัย ใจสมุทร" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ที่ต่อว่า "นิพิฏฐ์" เป็นสุนัขพันธุ์พิตบูล เลยตัดสินใจจัดเซตใหญ่ซ้ำอีกรอบให้ นาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยมาแถลงที่รัฐสภาเป็นเรื่องลักษณะเดียวกับ "ฉลอง" ที่ตัวไปปรากฏอยู่ที่อื่น  แต่ดันมีชื่อลงมติในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ

                เท่านั้นไม่พอ วันเดียวกันมีคลิปเผยแพร่ในสื่อสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เป็นภาพ ส.ส.ชายแห่งพรรคภูมิใจไทย กำลังถือบัตรลักษณะเดียวกันหลายใบอยู่ในมือ และทยอยเสียบบัตรที่ถืออยู่ทั้งหมดทีละใบ

               นอกจากนี้ยังมีอีกคลิป เป็น ส.ส.หญิงจากพรรคพลังประชารัฐ เสียบบัตรที่วางอยู่บนโต๊ะจำนวน 2 ใบอีกด้วย

                คำถามคือ มีการฝากบัตรเพื่อให้ผู้อื่นกดลงมติแทนตัวเอง ใช่หรือไม่?

               งานนี้ปัดกันพัลวัน โดยนายฉลองยอมรับว่าออกมาจากห้องประชุมจริง แต่รีบไปทำธุระสำคัญจึงลืมเสียบบัตรคาไว้ แต่ไม่ทราบจริงๆ ว่าใครหวังดีกดลงมติให้ ส่วน "นาที" ชี้แจงว่าวันดังกล่าวลาไปต่างประเทศ ส่วนกรณีของ ส.ส.ชายจากภูมิใจไทย และ ส.ส.หญิงจากพลังประชารัฐ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ

                อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ส.ส.ได้เข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยใน 3 ประเด็น คือ 1.กระบวนการตราร่างกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 120  หรือไม่

2.หากมีปัญหาจะมีปัญหาทั้งฉบับหรือเฉพาะมาตราที่มีปัญหา 2.หากขัดจะเป็นผลให้ร่าง พ.ร.บ.งบ  63 ต้องตกไปทั้งฉบับ หรือเฉพาะมาตราที่พบว่ามีการออกเสียงแทนกัน ทั้งนี้หากร่าง พ.ร.บ.งบ 63 ต้องตกไป จะเข้าข่ายว่าสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบ 63 ไม่แล้วเสร็จภายใน 105 วันนับตั้งแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งมาถึงสภาตามมาตรา 143 ระบุไว้หรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นให้ถือว่าสภาเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.งบ 63 ใช่หรือไม่

และ 3.หากร่างกฎหมายตกทั้งฉบับหรือบางมาตราที่มีปัญหาจะดำเนินการอย่างไร

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.นี้มีมลทินก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงจำเป็นต้องส่งให้ศาลวินิจฉัยให้ชัดเจนว่าถูกต้องตามกฎหมาย หรือหากผิดรัฐธรรมนูญจะต้องทำอย่างไร

จากการซาวเสียงฝ่ายรัฐบาล ข้อแก้ต่างในกรณีของ "ฉลอง" และ "นาที" น่าจะต่อสู้ว่าหลักฐานไม่ชัดเจนว่าใครเป็นคนกดบัตรให้ แต่ก็มีเสียงท้วงติงว่าหากทั้งสองคนรอดด้วยการต่อสู้ในประเด็นนี้ ต้องตอบสังคมให้ได้ด้วยว่าตัวไม่อยู่ ทำไมถึงมีชื่อลงมติ

สำหรับกรณีของ ส.ส.หญิง พปชร. บรรดาเพื่อนๆ ในพรรคแก้ต่างแทนว่า เนื่องจากช่องเสียบบัตรมีไม่เพียงพอกับจำนวน ส.ส. จึงต้องฝากให้เสียบแทน

ทว่า ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีเสียบบัตรแทนกันเมื่อครั้งโหวตร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.จำนวน 2 ล้านล้านบาท เคยตัดสินไว้ว่า สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน

ดังนั้น จะเทียบเคียงกับเคสนี้ได้หรือไม่?

นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังมีประเด็นเรื่องตัวบุคคลด้วย โดย ส.ส.สามารถไปร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าบุคคลเหล่านี้ผิดอาญา มาตรา  157 ทุจริตในหน้าที่หรือไม่

ในกรณีนี้หากมีคนไปร้อง คนที่จะหนักใจมากที่สุดคงเป็น "นาที" เพราะก่อนหน้านี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยพิพากษาให้จำคุก 1 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุก ให้รอลงอาญา 1 ปี ฐานจงใจแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทรา

หรือหมายความว่าในระยะเวลา 1 ปี นับจาก ก.ค.62 ห้ามกระทำความผิดซ้ำ ถ้ากรณีเสียบบัตรแทนกันเป็นความผิดอาญา นั่นเท่ากับ "นาที" ต้องเดินเข้าห้องขังทันที

เรียกว่าฝุ่นตลบพอๆ กับฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เสียจริง และหวังว่าจะไม่ไปไกลถึงขั้นร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นโมฆะจนรัฐบาลอยู่ไม่ได้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"