จัดงบปี 63 เติมเต็มการศึกษา จชต. สานต่อ 'รินน้ำใจสู่น้องชาวใต้'


เพิ่มเพื่อน    

     จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปัจจุบันตัวเลขความถี่ของความรุนแรงค่อนข้างลดลง แต่ยังมีผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจ รวมถึงด้านการศึกษาในพื้นที่ที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างปกติ เนื่องจากครูขอย้ายออกนอกพื้นที่ ทำให้นักเรียนไม่ได้รับการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพ คุณภาพการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงลดลง

กระทั่งกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการเรียนการสอนเสริม โดยจัดครู อาจารย์ และวิทยากรที่มีความรู้และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ไปจัดให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547  เป็นต้นมา และมีผลการดำเนินงานเป็นที่พึงพอใจ

และเพื่อเพิ่มศักยภาพนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพิ่มโอกาสในการสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย จึงได้จัดโครงการ รินน้ำใจสู่น้องชาวใต้

ซึ่งล่าสุด บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงไปในพื้นที่ในช่วงประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ "ครม.สัญจร" ที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อดูผลสำเร็จของการจัดการศึกษา และลุยขับเคลื่อนการดำเนินงานในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

โดยในปีนี้ได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษา ครูผู้สอนในส่วนกลาง และติวเตอร์ภาคเอกชนที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของนักเรียนในพื้นที่ เดินทางไปจัดการสอนเสริมในรายวิชาที่จำเป็นต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย อาทิ ครูสอนคณิตศาสตร์จากวัดสุทธิวราราม ครูสอนดาราศาสตร์จากโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม

 ครูสอนภาษาต่างประเทศจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ครูสอนภาษาไทยจากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และครูแนะแนวจากโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ เป็นต้น พร้อมดำเนินการควบคู่กับการแนะแนวการศึกษา และพัฒนาเทคนิคการสอนให้แก่ครูในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2563 ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา 5 อำเภอ คือ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอสะเดา

โดยจัดให้มีศูนย์วิทยากรทั้ง 5 จังหวัด เพื่อจัดทำหลักสูตรและสื่อการสอนเสริมต้นฉบับ และจัดวิทยากรที่มีความชำนาญจากส่วนกลางและภูมิภาคอื่น หรือติวเตอร์ภาคเอกชนเดินทางไปสอนเสริม (ติว) ให้ความรู้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดให้มีศูนย์การสอนเสริมทั้ง 5 จังหวัด เพื่อจัดกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ จัดสถานที่การสอนเสริมให้แก่นักเรียน จัดทำเอกสารการสอนเสริมให้นักเรียน อำนวยความสะดวกให้คณะวิทยากรในจังหวัดที่รับผิดชอบ

ทั้งนี้ มีการจัดการสอนเสริมใน 5 วิชาหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการยกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของนักเรียนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดให้มีการแนะแนวการศึกษา เช่น การแนะแนวการศึกษาต่อและอาชีพ, กิจกรรมทดสอบบุคลิกภาพโดยแพทย์และนักจิตวิทยา, บริการให้คำปรึกษา

นอกจากนี้จัดให้มีการสอนเสริมความรู้อื่น เช่น O-NET, GAT และโครงการวิทยาศาสตร์แก่นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยครูจากโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมหรือความต้องการของผู้เรียนในพื้นที่ จัดให้มีการฝึกทักษะด้านกีฬาให้นักเรียนในโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้

ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้นักเรียนสังกัดอื่นๆ เข้าร่วมโครงการตามความต้องการและบริบทความพร้อมของแต่ละศูนย์การสอนเสริมจังหวัด และในการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามความพร้อมและบริบทของแต่ละศูนย์จังหวัดด้วย

สำหรับหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการการทำงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้, สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1, 2, 3, 6, 15 และ 16, ประธานศูนย์วิทยากรประจำศูนย์การสอนเสริมโครงการรินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ทั้ง 5 จังหวัด และประธานศูนย์จังหวัดโครงการรินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ทั้ง 5 จังหวัด

โดยกลุ่มเป้าหมายที่ร่วมโครงการ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะผู้บริหาร คณะวิทยากร และติวเตอร์ภาคเอกชน จากส่วนกลางและภูมิภาคอื่น และนักเรียนในโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้

ทั้งนี้ในส่วนของผลสำเร็จที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้คือ นักเรียนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา จะต้องได้รับการพัฒนาด้านวิชาการอย่างเต็มศักยภาพ มีความพร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาและสถาบันการศึกษาอื่นเพิ่มขึ้น สามารถสร้างโอกาสในการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาและสถาบันการศึกษาอื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้คุณภาพการศึกษาของจังหวัดสูงขึ้น และคุณภาพชีวิตของนักเรียนดีขึ้น

ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การศึกษา เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ในยุทธศาสตร์ที่ 1 การศึกษา เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง และยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางการศึกษา

และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การสอนระหว่างครูผู้สอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับครูที่มีความชำนาญ และติวเตอร์ภาคเอกชนจากส่วนกลาง เพื่อสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้ครูในพื้นที่ ให้สามารถพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันยังใช้งบประมาณปี 2562 ไปพลางก่อน และเมื่องบปี 2563 ผ่านขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว ก็เชื่อว่าการขับเคลื่อนด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การนำของรัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์" จะลุล่วงไปอีกขั้น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"