คำว่า “ใหม่” ทำไมมีเสน่ห์


เพิ่มเพื่อน    

 เป็นเวลามากกว่าทศวรรษที่คนไทยได้รู้ได้เห็นการทำงานของนักการเมืองบางคน (ย้ำ: บางคนนะ ไม่ได้ว่าทุกคน) ที่เป็นการทำงานการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง หลายเรื่องเป็นการโกงอย่างหน้าด้านๆ แบบที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้จากสถานการณ์ที่เป็นสภาพแวดล้อม แต่คนทำก็หัวหมอพอที่จะหาช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้การโกงของตนเองนั้นไม่มีความผิด หรือบางทีความผิดก็ไม่ถึงตัวนักการเมืองที่เป็นตัวการจริงๆ อาจจะมีผู้น้อยและข้าราชการเป็นผู้รับผิดแทน แม้ว่าพวกเขาจะหลุดพ้นจากการถูกดำเนินคดีโดยกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะหลุดพ้นจากความชิงชังของประชาชน การที่เรามีนักการเมืองที่มีอำนาจ และใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกต้องเป็นจำนวนมาก ทำให้คนบางคนก็เบื่อการเมือง ไม่ต้องการที่จะติดตามเรื่องราวของการเมือง ไม่อยากยุ่งกับการเมือง แต่สำหรับบางคนที่คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว ก็ยังคงติดตามการเมืองอยู่ และมีความรู้สึกโหยหานักการเมืองแบบใหม่ที่ไม่มีพฤติกรรมเหมือนนักการเมืองแบบเก่าบางคนที่พวกเขามองว่าเป็นพวกที่ทำลายประเทศชาติ

·       นักการเมืองบางคนริเริ่มโครงการบางโครงการ ไม่ใช่เพื่อยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ แต่ต้องการให้เกิดงบประมาณที่ตัวเองสามารถจะได้เงินทอนจากงบประมาณของโครงการดังกล่าว

·       นักการเมืองบางคนก็จ้องที่จะหารายได้ด้วยการรับเงินใต้โต๊ะจากเอกชนที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายกับหน่วยงานของรัฐบาล

·       นักการเมืองบางคนลายเซ็นของเขาจะมีค่ามาก ก่อนที่จะจรดปากกาเซ็นอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างอะไร ก็จะต้องมั่นใจว่าลายเซ็นจะต้องมีราคา

·       นักการเมืองบางคนก็มีการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย คือการแก้นโยบายเพื่อให้ธุรกิจของตนเองได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว เป็นนโยบายที่ไม่ใช่วาระแห่งชาติ แต่เป็นวาระแห่งตน

·       นักการเมืองบางคนก็มีการอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน อาจจะใช้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตนเข้ามารับงานของราชการ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ชอบธรรม

นอกจากประชาชนจะเบื่อนักการเมืองที่โกงกินแล้ว พวกเรายังเบื่อนักการเมืองที่ไม่มีความรู้ความสามารถ แต่ชอบให้สัมภาษณ์ แสดงความคิดเห็น ที่ทำให้เรารู้สึกว่าคนเราถ้ารู้เท่านี้ คิดได้แค่นี้มาเป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างไร หลายคนที่เป็นเช่นนี้ มักจะมีลักษณะของการ “เห่า” มากกว่าการพูด เพราะจะใช้ลีลาอารมณ์ในการสื่อสารที่รุนแรง สร้างวาทกรรม ตรรกะวิบัติและบิดเบี้ยว ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ ไม่รู้จริง แต่ขอให้ได้พูด ต้องการได้พื้นที่ข่าว ส.ส.กลุ่มนี้มักจะเป็นคนที่ใช้วาจาทิ่มแทงกันไปมาอย่างไม่สร้างสรรค์ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการทำงานการเมืองของคนเหล่านี้ แต่ก็อาจจะมีประชาชนบางคนชอบนักการเมืองแบบนี้ เพราะฟังการด่าทอต่อว่ากันไปมาแล้วสะใจ บางครั้งสื่อมวลชนก็เป็นคนที่ทำให้นักการเมืองพวกนี้มีพฤติกรรมของการใช้วาจาที่ไม่เข้าท่าอย่างต่อเนื่อง เพราะสื่อมวลชนจะเรียกเขาว่า “ดาวสภา” เป็นการยกย่องในเชิงปริมาณ คือเป็นคนที่พูดมาก เป็นคนที่พูดบ่อย ด้วยจำนวนครั้งและจำนวนเวลาที่พูด ทำให้สื่อมวลชนยกย่องให้เป็นดาวสภา โดยไม่มีการพิจารณา “คุณภาพ” ของเนื้อหาที่เขาพูด ทำให้ ส.ส.กลุ่มนี้เกิดอาการกระหยิ่มยิ้มย่องกับฉายาที่ได้รับจากสื่อมวลชน ก็จะมีพฤติกรรมที่โชว์โง่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนักการเมืองขี้โกงและนักการเมืองขี้เท่อ (บางคน) เหล่านี้ ทำให้ประชาชนโหยหานักการเมืองที่พวกเขาหวังว่าจะเข้ามาทำงานการเมืองแบบใหม่ เป็นนักการเมืองที่มีอุดมการณ์ ต้องการเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ ดังนั้นเมื่อมีพรรคที่ใช้คำว่า “ใหม่” อยู่ในชื่อของพรรค จะกลายเป็นพรรคที่มีเสน่ห์ ที่สำคัญคือ ทางพรรคสรรหานักการเมืองหน้าใหม่จริงๆ เป็นนักการเมืองที่ไม่มีอดีตที่ด่างพร้อย ไม่มีคดีติดตัว ไม่มีเรื่องราวที่ทำให้ประชาชนชิงชังหรือหวาดระแวงในความซื่อสัตย์สุจริต ทำให้เยาวชนที่เพิ่งจะมีโอกาสได้ลงคะแนนเสียงครั้งแรก มองว่าพรรคนี้แหละที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเมืองของประเทศไทย พวกเขาจึงเทใจให้ โดยไม่ได้พิจารณาเนื้อหาของอุดมการณ์และนโยบายอย่างถ้วนที่ แต่พอใจกับคำว่า “ใหม่” ที่พวกเขาอยากได้มานาน พวกเขาบางคนจะบอกกับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ว่า “อยู่กับนักการเมืองแบบเก่ามานาน ไม่เห็นอะไรดีขึ้น ไม่คิดจะลองของใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้างหรือ” นี่คือเสน่ห์ของความว่า “ใหม่” ที่เกิดขึ้นได้ เพราะพฤติกรรมของนักการเมืองที่เลวร้าย (บางคน) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั่นเอง

แต่บัดนี้เวลาผ่านไป ก็อยากจะขอเชิญชวนคนที่หลงเสน่ห์คำว่า “ใหม่” ให้ลองทบทวนดูว่าที่เราอยากได้นักการเมืองแบบใหม่นั้น เราได้นักการเมืองที่ดีกว่าเดิม เลวร้ายเท่าเดิม หรือเลวร้ายกว่าเดิม สิ่งใหม่บางอย่างก็เป็น “การพัฒนา” แต่บางอย่างก็เป็น “ความเสื่อม” ดังนั้นคำว่า “ใหม่” เพียงคำเดียวที่ทำให้ใครบางคนเชื่อว่าจะได้สิ่งที่ดีกว่าเก่านั้น อาจจะไม่ใช่ความจริงเสมอไป ดังนั้นก็จะตัดสินใจให้โอกาสกับนักการเมืองหน้าใหม่คงต้องดูเนื้อหาของอุดมการณ์และพฤติกรรมการทำงานการเมืองของพวกเขาให้กระจ่างชัด ก่อนที่จะตกหลุมรักคำว่า “ใหม่” อย่าไปสรุปง่ายๆ ว่าอะไรที่ใหม่จะต้องดีกว่าสิ่งที่มีอยู่เดิมเสมอไป

เวลานี้น่าจะมีนักการเมืองหลายคนที่มองว่าในแวดวงการเมืองของไทยยังยังมีช่องว่างอยู่ หมายความว่ายังมีนักการเมืองที่ประชาชนต้องการ แต่ยังไม่มีพรรคการเมืองใดตอบสนองได้ เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากให้โอกาสพลังประชารัฐ เพราะคิดว่าเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่น่าจะมาเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเมืองของประเทศได้ แต่แล้วประชาชนจำนวนหนึ่งก็ต้องตัดสินใจเลือกพลังประชารัฐด้วยความไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะพรรคพลังประชารัฐมี่ต้องการที่จะให้มีชัยชนะ และสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคพลังประชารัฐก็จำเป็นต้องรวบรวมนักการเมืองที่อยู่ในความเคลือบแคลงของประชาชนมาหลายคน และที่สำคัญบางคนที่ประชาชนไม่ค่อยจะพอใจนักก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย แม้ว่าเวลานี้ยังไม่มีเรื่องทุจริตใดๆ ออกมา ประชาชนก็ติดตามด้วยใจจดใจจ่อ ขออย่าให้มีเรื่องการโกงกินเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นพรรคที่เป็นพรรค “ใหม่” ทั้งสองพรรคอาจจะกลายเป็นพรรคที่ร้ายพอๆ กัน เพียงแต่เป็นความร้ายคนละทางเท่านั้น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"