ความนิยมต่อ "ภาวะผู้นำ" พิสูจน์ "บิ๊กตู่" ในภาวะวิกฤติ


เพิ่มเพื่อน    

 

   สิ่งที่โพลหรือผลสำรวจความคิดเห็นสะท้อนออกมา แม้จะไม่ใช่ ฉันทามติ ที่สังคมทั้งหมดเห็นไปตามนั้น แต่ก็เป็นตัวบ่งชี้ทิศทางและความพึงพอใจได้พอสมควร ที่สำคัญหากนำ "โพล" ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็จะทำให้แนวทางการทำงานและนโยบายที่ออกมาตอบสนองต่อประชาชนมากขึ้น

                ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ตำรวจ ต้นทางของกระบวนการยุติธรรม กลายเป็นบุคลากรด้านความมั่นคงที่ประชาชนไม่พึงพอใจในการปฏิบัติหน้าที่ มีการเรียกร้องให้ "ปฏิรูป" มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานกันแบบ "จุดพลุ" แล้วก็หายไป กลายเป็นเรื่อง "ลอยลม" ที่ไร้ผลในทางปฏิบัติ

                องค์กรสีกากียังอยู่ใน เงา ของการเมือง และถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางอำนาจ บดบัง "ฝีมือ" และ "ผลงาน" ในการพิทักษ์รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำหน้าที่ ที่ประชาชาพึงพอใจในงานด้านนี้ ตามแนวทางของ "รัฐสมัยใหม่" ที่ตำรวจควรจะเป็น 

                สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความคิดเห็นต่อผลงานตำรวจ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศต่อกรณีตำรวจสามารถจับคนร้ายปล้นยิงชิงทองที่ลพบุรี ได้จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,062 คน ระหว่างวันที่ 23-24 มกราคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมาพบว่า

                ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.5 ทราบข่าวตำรวจจับคนร้ายปล้นร้านทองลพบุรีได้ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.9 ของคนที่ทราบข่าวมีความสุข พอใจ ที่ตำรวจรวบตัวคนร้ายได้ นอกจากนี้ส่วนใหญ่ระบุคำคมตำรวจที่เป็นจริงคือ ร้อยละ 82.6 ระบุ ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ และร้อยละ 81.3 ระบุ หลับเถิดปวงประชา ตำรวจกล้าจะคุ้มภัย

                ที่น่าสนใจคือ ผลเปรียบเทียบความเชื่อมั่นของประชาชนต่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ระหว่างก่อนและหลังจับคนร้ายปล้นยิง ชิงทองที่ลพบุรี พบว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 91.0 ในช่วงก่อนจับคนร้าย มาอยู่ที่ร้อยละ 97.4 ในช่วงหลังจับคนร้ายได้

                ผลที่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังมองเรื่องศักยภาพของภาวะผู้นำ ในการเข้ามาแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ที่สังคมให้ความสนใจ ตามบทบาทหน้าที่ที่ควรจะเป็น

                ขณะที่โพลหลายสำนักสะท้อนให้เห็น ทัศนคติ ของคนในสังคม ที่เริ่มไม่นิยม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เหมือนเมื่อก่อน ปัจจัยสำคัญยังเป็นเรื่อง เศรษฐกิจ ที่มีผลต่อปากท้อง ความเป็นอยู่ของคนในประเทศ

                แม้ประชาชนจะเข้าใจว่า รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จะพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ และเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นในพริบตา อีกทั้งปัจจัยภายนอกและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีมีผลต่อเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นโดยเร็ว แต่ในแง่ความรู้สึกและการแสดงออกของผู้นำต้องมีผลในเชิงจิตวิทยาในการทำให้คนในสังคมรู้สึกอุ่นใจมากขึ้น

                ความไม่พอใจพื้นฐานถูกซ้ำด้วย วิกฤติ อันเกิดจาก ธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นตัวแปรที่มีผลอย่างยิ่งต่อความรู้สึกนึกคิดของคน

                โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบในกรุงเทพมหานครในช่วงเวลานี้เป็นประจำ ซึ่งรัฐบาลก็เพิ่งประกาศแนวทางแก้ไขปัญหาเป็น "วาระแห่งชาติ" หลังประชุมคณะรัฐมนตรี

                มีการออกมาตการหลายข้อ ทั้งระยะสั้น-ระยะยาว แต่นั่นก็เกิดขึ้นหลังจากสถานการณ์ PM 2.5 เลยจุด "พีก" ไปแล้ว 2 วัน โดยระหว่างที่จะมีการ "ขยับ" ก็ต้องใช้เวลาในห้วงปกติ ทั้งที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นผ่านเลยมาถึง 2-3 วันแล้ว

                ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังคง โฟกัส แต่คำวิจารณ์ทางลบ และใช้เวลาตอบโต้-ชี้แจง แบบรายวัน สาละวนกับปมการเมือง และเฟกนิวส์ ทั้งที่ควรจะเลิกสนใจ และเรียกประชุมเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที แม้จะเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เลิกทำงานรูทีน ตามวันเปิด-ปิดราชการ อีกทั้งลดความสำคัญกับ "อีเวนต์" การประชาสัมพันธ์ที่ไร้ประโยชน์   เปลี่ยน "โฟกัส" ในการทำงาน มุ่งไปข้างหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเดียว

                "เรามีแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหา แต่ทั้งหมดอยู่ที่ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและประชาชน เพราะปริมาณรถยนต์ใน กทม.มีมากถึง 10 ล้านคัน ต้องไปดูว่ารถประเภทใดสร้างปัญหามลพิษมากที่สุด ซึ่งปริมาณรถที่ทำให้เกิดปัญหาจราจรถือเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของปัญหาฝุ่น เราก็ต้องแก้ไขต่อไป ซึ่งพี่น้องประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนก็อาจจะได้รับความเดือดร้อน เพราะต้องไปเข้มงวดกับรถเก่าที่มีควันดำ รัฐบาลก็ต้องแก้ไขปัญหาแบบวัวพันหลักไปเรื่อยๆ แต่แนวทางยังมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ แต่จะทำอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศก็มี PM 2.5 สูง เช่น จีน แต่สามารถคุมได้ ซึ่งต่างจากของไทยที่สั่งไม่ได้ เพราะมีเรื่องสิทธิมนุษยชน เหล่านี้คือความแตกต่าง" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

                ยังไม่เอ่ยถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจเกิด "วิกฤติ" จากสถานการณ์หลากหลายรูปแบบ จากสภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไรในการรับมือ ทั้งปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง ไฟป่า ควันไฟ การแพร่กระจายของเชื้อโรคสายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะไวรัสโคโรนาที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ที่แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยังบอกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาแบบ "วัวพันหลัก"

                ถ้า "ภาวะผู้นำ" ของ พล.อ.ประยุทธ์โดดเด่นแต่เรื่องการเมือง ความสงบเรียบร้อย และประชาชนยังไม่เห็นว่า ได้ใช้ "อำนาจ" และศักยภาพเหล่านั้นอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ก็เชื่อว่า ความนิยม ในตัว พล.อ.ประยุทธ์ก็จะตกลงไปเรื่อยๆ

                และถ้ายิ่งชอบฟังแต่ "ขุนพลอยพยักจมื่นรักษ์สอพลอ" สื่อที่เชลียร์เพื่อหวังผลประโยชน์ ไม่ใช่ให้กำลังใจด้วยใจจริง ก็ยิ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่แก้ไข หรือปรับตัว และมองเสียงสะท้อนที่หวังดีว่าเป็นปฏิปักษ์และเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไปเสียหมด

                แม้ทุกวันนี้พรรคร่วมรัฐบาลยังมีเสียงที่เหนียวแน่น และก็ยังมีแนวโน้มที่จะมีนักการเมืองจากฝ่ายค้านไหลมาอยู่กับฝ่าย "บิ๊กตู่" อีกเป็นระลอก แต่นั่นไม่ใช่เครื่องการันตีว่า "รัฐบาล" จะมั่นคง เพราะเสถียรภาพด้วยเสียงในมือ หากไม่มีเสียงของประชาชนเป็นลมใต้ปีก และเป็นปราการหนุนหลังก็ใช่ว่าจะอยู่ได้ยาว

                มิพักต้องเจอกับปัญหาภายในอันเกิดจากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ส่อเค้าเกิดปัญหา และต้องล่าช้าในการประกาศใช้ไปอีก 1-2 เดือน หลังจากที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งความผิดพลาดบกพร่องคงโทษใครไม่ได้ แม้แต่คนที่ออกมาแฉ ในฐานะที่เป็นคู่แข่งทางการเมือง เพราะความผิดพลาดเหล่านั้นก็เกิดจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเอง สะท้อนให้เห็นการทำหน้าที่ของวิปรัฐบาล-วิปพรรค ที่ไม่สามารถควบคุมดูแลการทำงานของ ส.ส.รัฐบาลที่เสียงปริ่มน้ำอยู่แล้วให้อยู่ในกรอบการทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์

                ยังไม่นับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าการอภิปรายในสภาฯ ของ ส.ส.หน้าใหม่ ทำการบ้านในเชิงข้อมูล ชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่องได้อย่างเห็นผล ไม่ต้องหวังพึ่ง ส.ส.หน้าเก่า ที่ส่อเสียด-เล่นเกม จนประชาชนเบื่อหน่ายมาแล้ว

                ที่แน่นอนว่าต้องมีการ "จี้ปม" ภาวะผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้มี ม.44 หรือมีทหารหนุนหลังอย่างชัดแจ้งเหมือนตอนทำหน้าที่ควบตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เหมือนก่อนมีรัฐบาลชุดนี้

                และวิกฤติเดียวที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำได้สำเร็จคือ แก้ไขวิกฤติการเมืองที่เกิดจากการเผชิญหน้าระหว่างคนสองขั้วความคิดทางสังคม จนนำไปสู่การรัฐประหาร แต่ปัญหาอันเกิดจากโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยังมองว่าเป็นความไม่พอใจอันเกิดจากขั้วการเมืองอย่างเดียว โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นปัญหาจริงๆ ที่ต้องใช้ศักยภาพของ "ผู้นำ" รับมือ  ก็ยิ่งทำให้ปัญหาถูกแขวนไว้กับระบบราชการ

                จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องตั้งสติ และเดินหน้าแก้ไขวิกฤติในแต่ละเรื่องด้วย "ภาวะผู้นำ" เลิกกังวลกับปมการเมืองจนเสียเวลา  เพราะในที่สุดเมื่อผลลัพธ์ในการแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรม กระแสสังคมและคนที่ไม่ได้มองแค่เรื่องการเมืองก็จะกลับมาเป็นปราการหนุนหลังให้รัฐบาลเดินต่อไปได้อย่างเข้มแข็งเอง!!.           

 

 ทีมข่าวการเมือง

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"