‘หวั่นวิตก’ โรคแทรกซ้อน ‘โคโรนา'  การตั้งรับ ‘ไทย’ ยังไม่อุ่นใจ ปชช.


เพิ่มเพื่อน    

 

        โรคไวรัสโคโรนา coronavirus (2019-nCoV) ที่มีแหล่งเริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อ และรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก กำลังสร้างความหวั่นวิตกให้คนในประเทศไทย หลังจากพบผู้ป่วยมากเป็นอันดับสอง รองจากจีน

                แม้ในประเทศไทยยังไม่พบการแพร่เชื้อจากคนสู่คน และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคไวรัสโคโรนา แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนภายในประเทศที่มีต่อมาตรการตั้งรับอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน้อย

                และแม้จะมีบทเรียนและประสบการณ์ในการรับมือ โรคซาร์ส (Sars) และเมอร์ส (MERS) ในอดีต หากแต่นั่นก็ยังไม่สามารถทำให้คนในประเทศอุ่นใจได้

                ขณะที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามออกมาสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังสามารถรับมือไวรัสมรณะนี้ได้อยู่ จากมาตรการที่มีอยู่

                ย้อนกลับไปในช่วงเกิดการแพร่ระบาดใหม่ๆ ภาครัฐเริ่มจากมาตรการคุมเข้มและเฝ้าระวังผู้โดยสารที่เดินทางมาในเที่ยวบินจากเมืองอู่ฮั่น ตั้งแต่ต้นทางที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไปจนถึงปลายทางภายในอากาศยานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานเชียงใหม่

                มีการกำหนดจุดเฉพาะให้เที่ยวบินลงจอด การติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนตรวจวัดอุณหภูมิเพิ่มเติมบริเวณจุดจอดอากาศยานดังกล่าว จัดเจ้าหน้าที่แปลภาษาจีน เพื่อคอยอำนวยความสะดวกด้านการแปลภาษา ติดตั้งถังขยะติดเชื้อนอกอาคาร

                กำหนดให้ทีมแพทย์ใส่หน้ากากอนามัยสำหรับห้องผ่าตัด (Surgical mask) หากพบผู้สงสัยป่วยให้เจ้าหน้าที่ทุกคนใส่หน้ากากอนามัย N95 รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เข็นเก้าอี้เข็น (Wheelchair) ให้ผู้ป่วย ต้องสวมชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หรือชุด PPE (Personal Protection Equipment) และเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องสวมถุงมือเพื่อป้องกัน

                ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเคยออกมาเปิดเผยตั้งแต่วันที่ 23 มกราคมว่า ไทยได้ใช้ “มาตรการสูงสุด” เพื่อรับมือ “ไวรัสโคโรนา” แล้ว แม้องค์การอนามัยโลกจะระบุเพื่อแจ้งเตือนเบื้องต้นเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ที่อาจจะกลายพันธุ์

                พร้อมกับให้ความเชื่อมั่นว่า ไทยเป็นประเทศที่ถูกยกให้เป็นอันดับ 6 ของโลก ที่มีความมั่นคงเกี่ยวกับมาตรการระบบสาธารณสุข คัดกรองผู้ป่วยและการรักษาพยาบาล

                นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานให้ทราบถึงจำนวนยอดผู้ป่วยที่พบ สถานะปัจจุบัน อยู่ตลอดเวลา

                ด้านกระทรวงอื่นๆ ได้ออกมาตรการป้องกันในส่วนงานที่ตัวเองรับผิดชอบ อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ออกประกาศเฝ้าระวังการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา ด้วยการให้นักศึกษาจีนที่เดินทางกลับบ้านที่ประเทศจีนในช่วงตรุษจีนและยังไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทยขอให้นักศึกษาจีนเหล่านั้นพำนักอยู่ในประเทศจีนต่อไปเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

                สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา เป็นต้น

                กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาใช้ 3 มาตรการเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนาในกลุ่มนักท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1.แจ้งไปยังผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีกลุ่มนักทัวร์ชาวจีน รวมถึงโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวจีนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว ให้ช่วยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ อาการติดเชื้อ หากพบว่ามีอาการจะต้องไปพบแพทย์โดยด่วน 2.เชิญผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม มาประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการเฝ้าระวังอาการป่วยในกลุ่มนักท่องเที่ยว และ 3.สำรวจข้อมูลบริษัททัวร์ เพื่อให้ทราบจำนวนคนไทยที่ไปเที่ยวเมืองอู่ฮั่นแต่ละสัปดาห์ รวมถึงเมืองใหญ่อื่นๆ ที่มีโอกาสพบการระบาด เพื่อที่จะทราบข้อมูลและหาแนวทางการป้องกันอย่างรัดกุม

                หรือแม้แต่กองทัพอากาศ ที่มีการเตรียมอพยพคนไทยที่อยู่ในประเทศจีนทันทีที่ได้รับการร้องขอ และทางการจีนอนุมัติ

                แต่ดูเหมือนความมั่นใจของคนในประเทศยังวิ่งสวนทางกันไป โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารมากมายทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงและคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ที่หลั่งไหลเข้ามาเกี่ยวกับไวรัสมรณะตัวนี้ ทำให้คนไทยตกอยู่ในสภาวะ

                “หวั่นวิตกเกินเหตุ”

                มันจึงทำให้มาตรการของรัฐที่คิดว่าเพียงพอแล้ว “ไม่พอ” และต้องการ “การแอคชั่น” ที่มากกว่านี้

                ไม่ว่าจะเป็นการให้ความเชื่อมั่นที่จับต้องได้ด้วย “มาตรการ” จนทำให้รู้สึกอุ่นใจว่ารับมือได้ หรือการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ซึ่งต้องยอมรับว่า วันนี้การประชาสัมพันธ์ไปคนละทิศละทาง เหมือนกับต่างคนต่างทำในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบ ข้อเสนอเรื่องการตั้ง “ศูนย์บัญชาการ” โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการอย่างที่จีนทำจึงดังขึ้นเรื่อยๆ

                ซึ่งแม้รัฐจะเชื่อมั่นในมาตรการที่ทำอยู่ หากแต่มาตรการเร่งด่วนที่ต้องรีบทำขนาบข้างกันไปคือ การรักษาอาการหวั่นวิตกที่เกิดขึ้น

                เพราะเมื่อมาตรการป้องกันเข้มข้นเฉียบขาดมากพอ มันจะเป็นการลดอาการตื่นตระหนกเหล่านั้นลงได้

                ยิ่งในยุคนี้มีโซเชียลมีเดียเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน การให้ข้อมูลข่าวสารของรัฐย่อมมีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนกว่าอะไร

                ต้องทำ “งานเชิงรุก” มากกว่า “ตั้งรับ”. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"