ป.อาญา ม.157 กับคดีฆ่า “บิลลี่” ข้อสังเกตในเส้นทางคดีที่ไปต่อ


เพิ่มเพื่อน    

     ถึงจุดสะดุด คดีฆ่า “บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ” นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง เมื่อ “อัยการสำนักงานคดีพิเศษ” พิจารณาสั่งไม่ฟ้อง “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” อายุ 56 ปี  ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ผอ.ทสจ.) ปัตตานี อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระหว่างปี 2551-2557 กับลูกน้อง 3 คน ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการฆ่า “บิลลี่” รวม 7 ข้อหา โดยสั่งฟ้องเพียง 1 ข้อหา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกสังคมและผู้เสียหายตั้งคำถาม ขณะที่ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)” ก็ต้องพิจารณาว่าจะเห็นแย้งหรือไม่ ถ้าเห็นแย้งก็จะนำไปสู่การชี้ขาดคดีโดยอัยการสูงสุดต่อไป

                ผู้ทำหน้าที่ตอบคำถามเรื่องนี้จากทางอัยการ ก็ไม่ใช่ใครอื่น “ประยุทธ เพชรคุณ” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ต้องออกหน้าแทนอัยการคดีพิเศษ ปฏิบัติตามหน้าที่ของทีมโฆษก ขึ้นโต๊ะแถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2563 ตามข้อมูลที่ได้รับมา อันมีเนื้อหาตอนหนึ่งสรุปถึงการสั่งไม่ฟ้องข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการฆ่า เนื่องจากคณะทำงานเห็นว่า “ทางคดีไม่มีประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมใดๆ เพียงพอที่จะเชื่อมโยงว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำผิด”

                เหตุผลประกอบที่อัยการอธิบายเพิ่มจากนั้น เราสามารถสรุปได้ 2 ประเด็น คือ 1.คณะทำงานอัยการพิจารณาเหตุการณ์ที่บิลลี่ถูกจับกุม เกิดเป็นคดีแรกที่ภรรยาและมารดาของบิลลี่ได้ยื่นคำร้องขอศาลจังหวัดเพชรบุรีให้ผู้ต้องหาปล่อยตัวบิลลี่ เพราะเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบตามกฎหมาย แต่ศาลพิจารณายกคำร้อง เพราะมีพยานเบิกความว่าเห็นบิลลี่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว และคดีนั้นถึงที่สุดทั้ง 3 ชั้นศาลให้ยกคำร้อง  ต่อมาพยานได้กลับคำให้การในชั้นดีเอสไอคดีใหม่นี้ ว่าไม่เห็นบิลลี่ได้ปล่อยตัว โดยคณะทำงานอัยการเชื่อคำเบิกความของพยานในชั้นศาลคดีเดิมมากกว่า

                2.คณะทำงานอัยการเห็นว่าการตรวจพิสูจน์กระดูก ซึ่งเป็นวัตถุพยานของกลางโดยวิธี “ไมโทรคอนเดรีย” เป็นเพียงการตรวจเพื่อทราบถึงสื่อสัมพันธ์สายมารดาเท่านั้น ไม่เพียงพอยืนยันตัวบุคคลที่ชี้ชัดได้ว่ากระดูกของกลางที่พบเป็นของบุคคลใด หมายความว่าคณะทำงานอัยการไม่เชื่อว่ากระดูกเป็นของบิลลี่จริง อัยการอธิบายวิธีการตรวจนี้ไม่ชี้ชัดตัวบุคคลได้เท่ากับการตรวจ “ดีเอ็นเอ” แต่การตรวจดีเอ็นเอในคดีนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะกระดูกถูกเผาด้วยความร้อนสูง และแช่น้ำเป็นเวลานาน

                ดังนั้น การพิจารณาทำความเห็นแย้งของทาง “ดีเอสไอ”  หัวใจจึงอยู่ที่ 2 ประเด็นนี้ ซึ่งเราสามารถตั้งข้อสังเกตในคดีได้ โดยประเด็นพยานกลับคำให้การนั้น เป็นจุดที่น่าสงสัยถึงรายละเอียด เหตุจูงใจในการกลับคำให้การว่ามาจากสิ่งใดกันแน่ การพิจารณาคดีอาญาโดยทั่วไป จะเชื่อคำให้การครั้งแรกมากกว่าครั้งหลัง โดยยึดหลักที่ว่าการกระทำครั้งแรกเป็นเวลาหลังเกิดเหตุทันทีหรือไม่นาน ย่อมยากที่จะปรุงแต่งสร้างเรื่องขึ้น อัยการคงพิจารณาไปตามหลักนี้ แต่กับกรณีของ “พยาน” อาจมิใช่เสมอไปก็ได้ เพราะหากพยานอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือแรงจูงใจอะไรบางอย่างจากฝ่ายผู้ต้องหา ก็อาจให้การที่เป็นประโยชน์กับผู้ต้องหาได้ด้วยความเกรงกลัวอำนาจ หรือมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน จนเวลาผ่านพ้นไปนานแล้ว จึงกลับคำให้การตามจริงก็เป็นไปได้ ส่วนประเด็นวิธีตรวจกระดูก ก็ต้องหาพยานผู้เชี่ยวชาญหรือพยานหลักฐานแวดล้อมเข้ามาหักล้างต่อไป

                อีกประเด็นที่กล่าวถึงกันน้อยเกินไป ทั้งที่เห็นได้ชัดว่าเป็นจุดที่ดีเอสไอและผู้เสียหายต้อง “ไม่หมดหวัง” เพราะอย่างน้อยข้อหาที่อัยการสั่งฟ้องไว้นั่นคือ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พฤติการณ์ที่อัยการสั่งฟ้องข้อหานี้มาจากกรณีที่ “ชัยวัฒน์” จับกุม “บิลลี่” ที่อ้างว่าเก็บน้ำผึ้งป่าแล้วไม่ดำเนินคดี ซึ่งหากกล่าวถึงพฤติการณ์เพียงแค่นี้ก็รู้สึกว่าคดี “เบาหวิว” มาก เป็นเหตุให้เกิดความหมดหวังขึ้นมา

                แต่ถึงที่สุด ถ้าพยานหลักฐานไม่เพียงพอให้อัยการเชื่อมโยงได้ว่ามีการฆ่าจริงๆ มาตรา 157 นี้ ก็เป็นกระสุนนัดเดียวที่ต้องเสริมศักยภาพ พุ่งให้ตรงเป้า โดยย้อนกลับไปประเด็นแรกว่า การควบคุมตัวบิลลี่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีการปล่อยตัวบิลลี่ไปจริงหรือไม่ หากพยานหลักฐานใหม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ และไม่เคยเกิดเหตุการณ์ปล่อยตัวบิลลี่ขึ้นเลย พิรุธต่างๆ ก็เป็นพฤติการณ์ที่อัยการสามารถเพิ่มบรรยายฟ้องให้มีน้ำหนักมากกว่าเดิม เพื่อให้ศาลพิจารณาความผิดตามมาตรา 157 ได้ แม้โทษจะไม่หนักเท่ากับข้อหาฆ่าคนตาย แต่เชื่อเถอะว่าการที่ผู้มีอำนาจได้ติดคุกแม้เพียงวันเดียว ก็ย่อมรู้สึกทุกข์เป็นเวรกรรมหนักหนาแล้ว.

 

นายชาติสังคม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"