ตามรอย"ออเจ้า"ไปถึง"กรุงศรีอยุธยา"


เพิ่มเพื่อน    

(นักท่องเที่ยวชาวไทย จีน เกาหลี พากันใส่ชุดไทยระหว่างเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา)

 

    กระแสความนิยมของละครบุพเพสันนิวาสทำให้คนดูเคลิ้มคล้อย อยากไปสัมผัสสถานที่จริงที่กล่าวไว้ในละคร โดยเฉพาะอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา เพราะอาจทำให้รู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปสู่อดีตในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หรือเมื่อ 300 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งผู้ประพันธ์ได้ฉายภาพให้เห็นความรุ่งเรืองของอยุธยาทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ ศิลปะวิทยากร ศาสนา และวัฒนธรรม โดยเฉพาะการมีหนังสือจินดามณี ตำราเรียนเล่มแรกของไทยเกิดขึ้น บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ราวกับกรุงศรีอยุธยากลับมามีชีวิตอีกครั้ง และเป็นตัวจุดกระแสให้คนไทยอยากแต่งชุดไทยห่มสไบ

 

(วัดไชยวัฒนาราม)


    ที่สำคัญคือ โบราณสถานที่ใช้ถ่ายทำละครอย่างป้อมเพชร วัดไชยวัฒนาราม และที่อื่นๆ ที่ได้อ้างอิงมาจากสถานที่จริง มาถ่ายทอดภาพความยิ่งใหญ่ งดงาม ก่อนจะถูกเผาทำลายในเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

(ผู้ร่วมสัญจรฟังการบรรยายของวิทยากร)


    เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคมที่ผ่านมา ทางกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร จึงได้จัดโครงการวัฒนธรรมสัญจร "ตามรอยบุพเพสันนิวาส ศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมอยุธยา" พร้อมกับนำประชาชน 120 คน ร่วมศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ภาษา วรรณกรรม และจารีตประเพณีสมัยอยุธยา ณ โบราณสถานสำคัญในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาทิ โบราณสถานป้อมเพชร วัดถนนจีน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา วัดพระศรีสรรเพชญ์ หมู่บ้านโปรตุเกส วัดพุทไธศวรรย์ วัดนักบุญเซนต์โยเซฟ และวัดไชยวัฒนาราม เพื่อให้ทุกคนได้ตามรอยละครอย่างได้ความรู้มากยิ่งขึ้น

(วัดพระศรีสรรเพชญ์)


    นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เพราะละครบุพเพสันนิวาสที่ได้อิงประวัติศาสตร์ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นยุคที่มีความรุ่งเรืองทั้งในด้านการค้า ศาสนา วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ของชาวไทยและชาวต่างชาติในอดีต ที่อาจจะไม่ปรากฏอยู่ในละคร นำมาแทรกเป็นเกร็ดความรู้ในระหว่างการเข้าชมโบราณสถาน ให้คนที่ได้สัมผัสสถานที่จริงเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง และที่สำคัญคือ ไม่อยากให้เป็นเพียงแค่การมาเที่ยว แต่งกายด้วยชุดไทย มาถ่ายรูป และจะมีการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมสัญจรนี้อย่างต่อเนื่อง โดยได้วางแผนการดำเนินงานในช่วงต้นเดือนเมษายน ที่จะไปยังเมืองละโว้ จ.ลพบุรี เพราะเป็นเมืองที่สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงไปว่าราชการที่นั่นอยู่บ่อยครั้ง

 

(วัดพุทไธศวรรย์)                                                     (อุโบสถทรงเรือวัดพุทไธศวรรย์)


    “ถึงแม้ว่าละครจะจบ แต่ผมยังอยากจะสร้างกระแสต่อไปยังพื้นที่ที่มีโบราณสถานในต่างจังหวัด อย่างสุโขทัย พิษณุโลก และโบราณสถานแห่งอื่นๆ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้จะเร่งดำเนินการในการจัดสรรนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความรู้นักท่องเที่ยวประจำโบราณสถานต่างๆ ให้แตกต่างจากข้อมูลตามป้ายหรือแผ่นพับ ในส่วนของการดูแลโบราณสถานที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนที่มากขึ้นก็มีการจัดยามดูแล โดยหากนักท่องเที่ยวมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ยามก็จะเป่านกหวีด แต่ทั้งนี้ก็ไม่สามารถจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ทุกแห่ง จึงต้องอาศัยป้ายบอกในเรื่องของข้อห้ามในการเข้าชมโบราณสถาน และพี่น้องประชาชนไทยก็ต้องช่วยกันดูแลรักษาโบราณสถานด้วย” อธิบดีกรมศิลป์กล่าว
    การเดินทางเข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในช่วงนี้อาจจะได้พบเห็นผู้คนแต่งชุดไทยหลากหลายแบบ ที่มีทั้งนุ่งโจงกระเบน ผ้าถุง ห่มสไบ ทำผมเลียนแบบตัวละครในบุพเพสันนิวาส ซึ่งมีทั้งชายและหญิง เด็กเล็ก ดูแล้วเหมือนได้เดินทางหลงยุคเข้าไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา

(ป้อมเพชร)


    จุดเริ่มต้นพาผู้เข้าร่วมโครงการตามรอยละคร เข้าชมป้อมเพชรที่อยู่บริเวณบางกะจะเป็นแห่งแรก ซึ่งบริเวณนี้เป็นจุดที่แม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ป้อมเพชรนับว่าเป็นป้อมปราการสำคัญอย่างยิ่งในสมัยอยุธยา เพราะนอกจากจะใช้เป็นด่านปราการป้องกันข้าศึกรุกรานแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางในการค้า เป็นที่พบปะกันของชาวต่างชาติอีกด้วย ซึ่งจะอยู่ในฉากตอนที่พระเอกถูกเรือชนเข้าที่ศีรษะ หรือเป็นตอนที่นางเอกได้โบกมือให้กับทหารที่เฝ้ายามหน้าป้อม นอกจากนี้วิทยากรของกรมศิลป์ยังได้ให้ความรู้ในเรื่องของผังเมืองสมัยกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

(วัดถนนจีน)


    ไม่ไกลกันมากนักก็จะถึงโบราณสถานวัดถนนจีน ซึ่งในอดีตเป็นชุมชนคนจีนอาศัย มีการทำมาค้าขาย  ในตัวโบราณสถานเองยังเหลือร่องรอยการขุดพบโบราณวัตถุโลหะหรือพระพุทธรูปจีน ซึ่งบริเวณนี้เห็นในละครตอนที่แม่การะเกดได้มาขอให้จีนฮงทำกระทะเพื่อทำหมูกระทะ

(พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา)


    และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ยังเก็บรักษาโบราณวัตถุต่างๆ เอาไว้อย่างดี ซึ่งทุกคนก็ได้เข้าชมเครื่องกรองน้ำในอดีตที่มีลักษณะคล้ายกับที่นางเอกสั่งทำในละคร

(โครงกระดูกที่คาดว่าเป็นชาวโปรตุเกสที่ถูกขุดพบ)


    ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัญจรไม่น้อยก็คือ โครงกระดูกที่ขุดพบ ซึ่งคาดว่าเป็นพิธีกรรมการฝังศพของชาวโปรตุเกสที่มีให้ชมใหมู่บ้านโปรตุเกส เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ากรุงศรีอยุธยามีการติดต่อกับชาวยุโรปเป็นอย่างดี และยังแสดงให้เห็นว่าชาวโปรตุเกสยังเป็นชนชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกลับกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังมีวัดนักบุญเซนต์โยเซฟที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์อย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจจะอยู่ในส่วนของฉากแม่มะลิและคอนสแตนติน ฟอลคอน แต่งงาน ส่วนบริเวณด้านหน้าของโบสถ์ยังสันนิษฐานว่าเคยเป็นตลาดบ้านจีนที่เป็นสถานบันเทิงเริงรมย์ เรียกว่า "โรงชำเรา" หรือซ่องโสเภณีสมัยอยุธยานั่นเอง

(โบสถ์โปรตุเกส)


    อีกหนึ่งฉากที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเวทมนตร์คาถาที่เหล่าขุนนาง ทหาร ต้องมาฝึกฝนเพื่อไปทำสงคราม แต่แม่การะเกดก็สามารถผ่านประตูที่วัดพุทไธศวรรย์เข้าไปหาพระเอกได้ทั้งที่เป็นผู้หญิง ซึ่งวัดแห่งนี้ได้สร้างมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา นับว่าเป็นอีกวัดหนึ่งที่ยังคงหลงเหลือร่องรอยของความรุ่งเรืองทางศาสนา ทั้งตัวอาคารโบสถ์ที่เป็นทรงคล้ายกับเรือ หรือจิตรกรรมฝาผนังที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ให้ชม ซึ่งในอดีตเป็นสถานที่สำหรับฝึกวิชาดาบของสำนักดาบพุทไธศวรรย์ หลายคนจึงต่างจับจ้องที่จะถ่ายรูปประตูบานเดียวกับที่นางเอกเปิดเข้ามา
    ปิดท้ายเส้นทางตามรอยละครที่วัดไชยวัฒนาราม ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 24 ของกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นด้วยรูปแบบของกลุ่มปรางค์ 5 องค์ ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ซึ่งในแผนผังการก่อสร้างโบราณสถานภายในวัดแสดงให้เห็นพระราชนิยมของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่ทรงได้รับอิทธิพลความเชื่อในแบบเทวราชาของขอม ซึ่งเป็นวัดที่ชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะตั้งแต่เช้าจดเย็นก็ยังมีผู้คนเดินทางมาเข้าชมอย่างต่อเนื่อง เพราะนี่คือฉากช่วงแรกที่เรืองกับเกศสุรางค์ได้เข้ามาทำงานศึกษาวิจัย นับว่าผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้ไปสัมผัสยังโบราณสถาน ยังสถานที่จริงต่างๆ เข้าใจประวัติศาสตร์อย่างลงลึกมากขึ้น และได้ดูละครอย่างสนุกและอินมากยิ่งขึ้นด้วย

(ปวิตร ใจเลี่ยม)


    ด้านนายปวิตร ใจเลี่ยม นักวิชาการวัฒนธรรม สํานักอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่มาให้ความรู้ตลอดการเดินทางครั้งนี้ เล่าว่า การนำโบราณสถานไปอยู่ในฉากของละคร ซึ่งได้นำเสนอให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีต แม้ว่าในปัจจุบันโบราณสถานจะถูกทำลายไปแล้ว แต่ก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว หรือผู้ที่เพิ่งรู้จักก็เข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์มากขึ้น การเกิดกระแสละครเรื่องบุพเพสันนิวาสนี้ขึ้นมาก็ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี ทำให้มีจำนวนคนที่เข้ามาชมเนื่องจากตามรอยละครมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ประพันธ์และผู้จัดทำละครสามารถถ่ายทอดละครออกมาให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้ หากใครมาเที่ยวอยุธยาก็จะเห็นได้ชัด คือ มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาชมโบราณสถานอย่างเนืองแน่น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"