ซัดญัตติซักฟอกเท็จจี้ชวนแก้ไข


เพิ่มเพื่อน    

  “บิ๊กป้อม” ยืดอกลั่นตอบความจริงอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จบ วิษณุชี้ช่องหากพ่นน้ำลายนอกประเด็นเสนอปิดประชุมได้ เพราะเป็นสิทธิ์ทั่นผู้ทรงเกียรติ วิปรัฐบาลเคาะ 25-27 ก.พ.พร้อมเสนอ  “ชวน” วินิจฉัยให้ฝ่ายค้านแก้ญัตติ มองเป็นเรื่องเท็จ เขินตั้งองครักษ์ป้อง “ลุงตู่-ลุงป้อม” ชี้แค่หน่วยปกป้องฝ่ายนิติบัญญัติ “ปารีณา-สิระ” มาแพ็กคู่ พรรคร่วมฝ่ายค้านย้ำลากถึงยุค คสช.แน่เพราะเป็นนายกฯ  มา 6 ปี ปูดจับตาขนกล้วยมาเป็นเครือแน่

    เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (นายกฯ และ รมว.กห.) ตอบคำถามสั้นๆ ถึงการเตรียมข้อมูลรับมืออภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า "การอภิปรายก็คงต้องเตรียมการไว้แหละนะ"
    ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวเรื่องนี้ว่า "ไม่ต้องเตรียมตัว จะพูดแต่เรื่องจริง  จบละ ชี้แจงเรื่องจริง ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ใช่"
    ต่อมา พล.อ.ประวิตรกล่าวย้ำเรื่องนี้อีกครั้งว่าไม่หนักใจอะไรเลย ก็ไม่มีอะไร จะไปทำอะไร ตอบเรื่องจริงไป ไม่เห็นมีอะไร
    เมื่อถามว่าจะต้องจัดทีมหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่ต้องทีมหรอก ไม่ต้องจัด ไม่มีอะไร ไม่ได้ทำอะไรเลย ทำแต่งาน
    ถามว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เตรียมสมาชิกไว้ช่วยสนับสนุน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่รู้ ส่วนต้องขอความร่วมมือพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น พรรคร่วมรัฐบาลต้องร่วมกัน ทุกพรรคต้องร่วมกันทำงาน 
    เมื่อถามว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 6 คน การลงมติคะแนนควรเท่ากันหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่รู้ จะไปรู้ได้อย่างไรก็พรรค พปชร.ทั้งหมด 
    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ได้ขอความร่วมมือพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ว่าการลงมติต้องมีเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า แน่นอนอยู่แล้ว ต้องร่วมมือกัน ทุกพรรคต้องร่วมมือกัน ไม่เช่นนั้นจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้อย่างไร ส่วนหากไม่เป็นไปในทิศทางเดียวจะทำอย่างไรนั้น เรื่องยังไม่เกิด ให้เกิดเสียก่อน
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกำหนดวันและกรอบเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่ายังไม่ทราบ ซึ่งรัฐบาลก็จะหารือว่าพร้อมวันไหน แต่ไม่ใช่เรื่องตายตัวว่าต้องเป็นตามที่รัฐบาลบอก เนื่องจากต้องหารือกันกับวิปฝ่ายค้าน และประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องดูความเหมาะสม ความสะดวก และความจำเป็นของสภาด้วย ส่วนที่ฝ่ายค้านระบุอยากอภิปรายในวันที่ 19 ก.พ.นั้น ต้องอยู่ที่ประธานสภาถามมาและรัฐบาลเป็นผู้ตอบด้วย จะเป็นวันไหนได้ทั้งนั้นก่อนปิดสภา
    “จำนวนวันอภิปรายนั้นผมตอบไม่ถูก ต้องหารือในคณะรัฐมนตรีก่อน และต้องดูว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายมากขนาดไหน วิปสองฝ่ายคงต้องหารือกันว่าผู้อภิปรายมีกี่คน จะใช้เวลาประมาณเท่าไร ส่วนที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไปถึงช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ก็อยู่ที่ประธานสภา ถ้าประธานสภาอนุญาตให้ถามก็ต้องมีคำตอบ” นายวิษณุกล่าว  
    เมื่อถามว่าถ้าฝ่ายค้านย้อนไปถึงช่วง คสช.จะเสนอปิดประชุมได้หรือไม่ นายวิษณุตอบว่าหากจะเสนอปิดประชุมอยู่ที่สมาชิก เพราะเป็นอำนาจของสมาชิกเป็นผู้เสนอและมีผู้รับรองญัตติ แล้วจึงโหวตกัน เป็นไปตามข้อบังคับ ซึ่งไม่ได้ชี้นำ ทุกอย่างขอให้ว่ากันตามข้อบังคับ และไม่ถือเป็นญัตติซ้อนญัตติ เพราะมีข้อยกเว้น ส่วนการคุมเกมเป็นเรื่องของประธานสภา แต่จะเอาอย่างไรต่อไปเป็นเรื่องของสมาชิก  ที่ผ่านมาเคยอภิปรายกันมาหลายครั้ง วิธีปฏิบัติเป็นธรรมเนียมที่อยู่ตัวของมันว่าเป็นอย่างไร และต้องเชื่อมั่นในตัวประธานสภาว่าคุมเกมได้
    เมื่อถามถึงการเตรียมพร้อมในการชี้แจง นายวิษณุกล่าวว่าดูตามญัตติที่เขายื่น ที่ว่าเล่นพวก เอื้อประโยชน์ จะเล่นที่ไหน เอื้อประโยชน์ใคร ทุกคนต้องไปคิดดูเอง ถ้าไม่มีแสดงว่าอีกฝ่ายหนึ่งแต่งขึ้นมา  แต่ถ้ามีทางให้แปลเช่นนั้นได้ก็เตรียมตอบ การอภิปรายคือการกล่าวหา อีกฝ่ายมีหน้าที่แก้ข้อกล่าวหา  มีหลักฐานก็นำมาแสดง ในอดีตเคยมีรัฐมนตรีคนหนึ่งเคยถูกอภิปรายเรื่องความเคลื่อนไหวทางการเงิน  ทำเอาท่านงงเพราะไม่รู้เรื่อง เมื่อลงมติผ่านไปมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบย้อนหลัง สุดท้ายจบไม่มีอะไรเพราะเป็นของปลอม ดังนั้นหลักคือต้องชี้แจง
    เมื่อถามว่ากลัวฝ่ายค้านจะนำเรื่องเสียบบัตรมาอภิปรายหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าไม่มีปัญหาหรอก  รัฐบาลผิดอะไรที่ต้องไปกลัว แต่เกรงไว้ก่อนนั้นดีทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นมันจะประมาท เพราะความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะที่ปรึกษาและวิปรัฐบาล กล่าวว่า เชื่อว่านายกฯ และรัฐมนตรีทุกคนมีความพร้อม มีการเตรียมทุกเรื่องที่คาดการณ์ว่าฝ่ายค้านจะนำมาอภิปราย รวมถึงข้อมูลในส่วนของรัฐบาลชุดที่แล้วบ้าง ครั้งนี้เราทำงานมาได้ 6 เดือน  หวังว่าข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายหลักๆ ควรมาจากรัฐบาลชุดนี้ รัฐมนตรีทุกคนเตรียมพร้อมนำข้อมูลต่างๆ มาสนับสนุนรัฐมนตรีทุกคนอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาล พวกเราทำงานกันอย่างใกล้ชิด
    “รัฐบาลเราทำงานกันเป็นระบบ จะไม่มีว่ายื่นครั้งนี้มีแต่พรรค พปชร. ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาล แล้วพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ จะไม่ช่วยเหลือกัน เนื่องจากเรามีนายกฯ คนเดียวกัน เมื่อนายกฯ ถูกอภิปราย  ข้อมูลทั้งหมดต้องมาจากทุกพรรคร่วมรัฐบาลและทุกกระทรวง โดยนายกฯ สามารถชี้แจงเองหรือมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องชี้แจงได้ และ ส.ส.มีเอกสิทธิ์ในการประท้วงหรือปฏิบัติตามข้อบังคับ” นายพุทธิพงษ์กล่าว
จี้แก้ญัตติอภิปราย
    เมื่อถามว่าคะแนนการลงมติของพรรคร่วมรัฐบาลต้องเท่ากันหมดเลยหรือไม่ นายพุทธิพงษ์กล่าวว่าบอกไม่ได้เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ทุกคน แต่เชื่อว่าด้วยความสามัคคีทำงานร่วมกันมาตลอดของพรรคร่วมรัฐบาล ทุกพรรคจะไปกำกับให้คะแนนทั้งหมดออกมาได้อย่างเป็นเอกภาพและพร้อมเพรียง
    ขณะเดียวกัน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เลขานุการวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในวันพุธที่ 5 ก.พ.จะมีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน เพื่อกำหนดวันและเวลาการอภิปรายที่ชัดเจนว่าจะเป็นวันใด ซึ่งวิปรัฐบาลเห็นว่าวันที่เหมาะสมควรเป็นวันที่ 20 ก.พ.เป็นต้นไป โดยใช้เวลาอภิปราย 3 วัน และลงมติ 1 วัน รวมเป็น 4 วัน ส่วนการประท้วงขององครักษ์พิทักษ์รัฐมนตรี หากอยู่ในกรอบ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็จะไม่มีการประท้วง แต่หากมีการอภิปรายไม่เป็นความจริง และย้อนเรื่องในอดีตก็ต้องประท้วง
     นายชัยวุฒิกล่าวอีกว่า วิปรัฐบาลจะยื่นเรื่องให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนฯ ตรวจสอบญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะประเด็นของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าเป็นญัตติเท็จ เพราะวิปรัฐบาลเห็นว่ามีข้อความอันเป็นเท็จขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภา หรือเป็นญัตติที่ต้องแก้ไขปรับปรุง โดยเฉพาะประเด็นที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์มีพฤติการณ์ไม่ยึดมั่นและศรัทธาต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ล้มล้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยมีพฤติการณ์ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่ได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ยังไม่เคยมีการฉีกรัฐธรรมนูญเลย รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็ยังใช้อยู่ และ พล.อ.ประยุทธ์ก็มาจากการเลือกตั้งตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญทุกประการ 
     เมื่อถามว่าหากเป็นเช่นนี้ฝ่ายค้านต้องยื่นญัตติใหม่หรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่าตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับประธานสภาจะวินิจฉัย ส่วนจะถูกมองว่าวิปรัฐบาลยื้อการอภิปรายหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่สภาต้องหารือกัน
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวเรื่องนี้ว่า การส่งเรื่องให้ประธานสภาวินิจฉัยก็เพื่อให้ฝ่ายค้านทบทวนญัตติดังกล่าวให้ถูกต้อง เพราะหากไม่ทบทวนก็ต้องอภิปรายญัตตินี้ และจะมีการประท้วงตั้งแต่เริ่มอภิปราย ทำให้การประชุมไม่ราบรื่น โดยหากส่งกลับไปวันที่ 3 ก.พ.เชื่อว่าฝ่ายค้านน่าจะแก้ไขทัน เนื่องจากยังอยู่ในกรอบเวลา 7 วัน จากนั้นในวันที่ 5 ก.พ. เวลา 09.00 น.จะประชุมร่วม 3  ฝ่าย เพื่อกำหนดกรอบและวันเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้ข้อยุติ
เปิดองครักษ์พิทักษ์นิติบัญญัติ
    ในช่วงเย็นนายวิษณุกล่าวถึงกรณีวิปรัฐบาลยื่นเรื่องให้นายชวนตรวจสอบญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านว่าไม่ทราบ ส่วนจะรุนแรงถึงขนาดที่ฝ่ายค้านต้องยื่นญัตติใหม่หรือไม่ก็ไม่ทราบเช่นกัน ทุกอย่างอยู่ที่ประธานสภาจะวินิจฉัย แต่ยอมรับว่าถ้อยคำในญัตติของฝ่ายค้านถือเป็นถ้อยคำที่รุนแรง
    นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ในฐานะประธาน ส.ส.พรรค พปชร.และวิปรัฐบาล เปิดเผยว่าได้เสนอต่อที่ประชุมวิปรัฐบาลให้กำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ 25 -27 ก.พ.นี้ และลงมติในวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งวิปรัฐบาลเห็นด้วยและจะเสนอให้นายกฯ และรัฐบาลรับทราบต่อไป 
    นายสุชาติกล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังได้หารือกำหนดตัวบุคคลคอยประท้วงกรณีฝ่ายค้านอภิปรายนอกประเด็นไว้แล้ว โดย พปชร.จะมีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล, นายวิเชียร ชวลิต  ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ,  น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี, นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. รวมถึงตนเองด้วย และในวันที่ 4 ก.พ.จะมีการพิจารณาความเหมาะสมเพิ่มเติม ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้วางตัวนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช, นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง และนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช ส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี และนายศุภชัย ใจสมุทร  ส.ส.บัญชีรายชื่อ 
“ส.ส.ส่วนนี้ไม่ใช่เอาไว้แก้ต่างให้ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร เพราะเชื่อว่านายกฯ และรองนายกฯ ชี้แจงได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว เราแค่คอยคุมเกมในสภาให้อยู่ในญัตติ เป็นองครักษ์พิทักษ์ฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของสภา ซึ่งจะลุกขึ้นประท้วงทันทีที่ฝ่ายค้านอภิปรายนอกประเด็น พูดตีกินรัฐบาลหรือย้อนเรื่องในอดีต” นายสุชาติกล่าว
      ด้านความเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน ตัวแทน 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา ได้ประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 
         โดยนายสมพงษ์กล่าวว่า วาระประชุม 1.กรอบเวลาอภิปราย 2.การวางยุทธศาสตร์ในการอภิปรายร่วมกันของฝ่ายค้าน รวมถึงการกำหนดลำดับผู้จะถูกอภิปราย 3.กำหนดประเด็นในการอภิปรายเพื่อไม่ให้ซ้ำกัน และ 4.กำหนดเวลาแต่ละพรรคการเมือง ก่อนสรุปเวลาที่จะใช้เพื่อเสนอต่อรัฐบาล
    นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะรองเลขาธิการพรรค อนค.กล่าวว่า อนค.เห็นว่าเวลาที่เหมาะสมในการอภิปรายคือ  3-4 วัน ถ้าจะกำหนด 2 วันอย่างที่รัฐบาลให้ข่าวคงไม่เหมาะสม โดยพรรคจะอภิปรายรัฐมนตรีทั้งหมด 4  คน คือ พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ ร.อ.ธรรมนัส พ รหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งแม้จะเป็นการอภิปรายครั้งแรกแต่เราก็ทำการบ้านอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าจะส่งผลกระเทือนต่อรัฐบาลแน่นอน 
ปูดขนกล้วยมาเป็นเครือ
         พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) ในฐานะเลขาธิการพรรค ปช.กล่าวว่า  การอภิปรายถือเป็นอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดของพรรคฝ่ายค้าน แม้เสียงไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลเพราะไม่ได้ตั้งใจใช้เสียงล้มรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ต้องการให้ประชาชนทราบข้อมูล โดยฝ่ายค้านมีข้อมูลที่โยงไปถึงการทุจริต การปฏิบัติที่ผิดกฎหมายและผิดจริยธรรม ซึ่งปล่อยไว้จะส่งผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชน  โดยพรรคจะใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการอภิปราย ซึ่งคิดว่าจะเป็นโอกาสดีที่นายกฯ และรัฐมนตรีที่ถูกพาดพิงจะได้ชี้แจง 
    นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ (พช.) ในฐานะหัวหน้าพรรค พช.กล่าวว่า รัฐบาลต้องใจกว้างให้ฝ่ายค้านอภิปรายได้เต็มที่ และหวังว่าองครักษ์ทั้งหลายคงมีเหตุผล  เพราะได้ข่าวมาว่าช่วงนี้ขนกล้วยกันมาเป็นเครือๆ ก็อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร และอยากให้ทุกคนเฝ้าดูด้วย
         นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย กล่าวว่า แม้เป็นพรรคเล็กและเป็น ส.ส.ใหม่ แต่ข้อมูลที่ได้มาเชื่อว่าจะส่งผลต่อรัฐบาลและมีการปรับเปลี่ยน ครม. หรือ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ไม่ได้ 
นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า นายชวนได้นัดหมายวิป 3 ฝ่าย ทั้งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประธานวิปฝ่ายค้าน และประธานวิปรัฐบาลเข้าหารือในวันที่ 5 ก.พ.นี้ เวลา 09.00 น. เพื่อกำหนดวาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยฝ่ายค้านอยากเรียกร้องให้บรรจุวาระการพิจารณาในช่วงกลางเดือน ก.พ.นี้ เพราะหากบรรจุวาระในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดสมัยการประชุมจะกดดันการทำงานของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ทำให้การอภิปรายไม่มีคุณภาพและประชาชนจะผิดหวัง
    “แนวทางการอภิปรายจะประชุมวิปฝ่ายค้านในวันที่ 4 ก.พ.เพื่อกำหนดตัวผู้อภิปรายเป็นรายประเด็น เบื้องต้นจะให้มีผู้อภิปรายทั้งหมด 20-25 คน และมีแนวโน้มเป็นไปได้สูงที่เนื้อหาการอภิปรายต้องย้อนหลังไปถึงการทำงานตั้งแต่สมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะเป็นสารตั้งต้นในการกระทำความผิด ซึ่งรัฐบาลจะปฏิเสธเรื่องดังกล่าวไม่ได้ และประชาชนเองก็อยากให้ฝ่ายค้านอภิปราย เพราะตลอด 6 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีการตรวจสอบใดๆ เลย”
    นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภา โพสต์เฟซบุ๊กว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่ต้องเชื่อมโยงกับรัฐบาลชุดก่อน ทั้งนี้เพราะผลจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด การบริหารงานที่ผิดพลาด ล้วนเกิดขึ้นจากนายกฯ รวมถึงรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันมาถึง 6 ปี 
    นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรค พท.กล่าวว่า อยากฝากถึงผู้ถูกอภิปรายโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์อย่าหนีการชี้แจง เพราะเป็นหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตย เชื่อว่าฝ่ายค้านมีข้อมูลเด็ดนำมาเปิดโปงได้ นายการุณ โหสกุล ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรค พท.กล่าวว่า อาการของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เกิดขึ้นคืออาการปากกล้าขาสั่น พยายามสร้างกระแสเพราะกลัวการตรวจสอบจากฝ่ายค้าน จนต้องเรียกลูกสมุนออกมาปกป้อง พร้อมขู่ฝ่ายค้านห้ามอภิปรายย้อนไปถึงยุครัฐบาล คสช. ซึ่งอยากบอก พล.อ.ประยุทธ์ว่าอย่าร้อนตัว ถ้าเป็นทองแท้ย่อมไม่แพ้ไฟ ยกเว้นอย่างเดียวคือสำนึกดีว่าตัวเองไม่ใช่ทองแท้ แต่เป็นแค่เศษตะกั่วเท่านั้น.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"