‘มิ่งขวัญ’ กัดฟันไม่ทิ้ง ‘ฝ่ายค้าน’ หวัง ‘อดเปรี้ยว วันนี้ ‘กินหวาน’ วันหน้า


เพิ่มเพื่อน    

        นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน ชื่อของ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” และ “พรรคเศรษฐกิจใหม่” วนเวียนอยู่กับข่าวการย้ายขั้วมาอยู่กับฝั่งรัฐบาลมาโดยตลอด

                ย้อนกลับไปในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้พรรคเศรษฐกิจใหม่ โดย “มิ่งขวัญ” จะตัดสินใจอยู่กับฝ่ายค้าน ในฐานะซีกประชาธิปไตยไปแล้ว แต่เคยเกิดข่าวลือว่า มีความพยายามติดต่อประสานงานเพื่อให้เข้าร่วมรัฐบาล

                มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า มี 1 แกนนำรัฐบาลที่รู้จักมักคุ้นกันดี ได้ประสานไปยัง “มิ่งขวัญ” เพื่อเจรจาพาที แต่ไม่ได้ลงลึก หากแต่หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ร้องขอในสิ่งที่ยากเกินจะให้ นั่นคือตำแหน่ง “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” หรือ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง"

                ว่ากันว่า “มิ่งขวัญ” เองรู้อยู่แก่ใจว่า สิ่งที่ขอไปนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะขุนพลเศรษฐกิจของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกล็อกไว้ให้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ตั้งแต่ปี่กลองเลือกตั้งยังไม่เริ่ม

                อย่างไรก็ดี แม้ตัว “มิ่งขวัญ” จะประกาศผ่านสื่อว่า จะไม่มาร่วม ทว่า ในช่วงก่อนสงกรานต์ปีที่แล้ว ได้มีการเปิดฉากเจรจาจากแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ไปยังลูกพรรคเศรษฐกิจใหม่อีก 5 ชีวิต

                การเจรจาครั้งนั้น ทำให้สมาชิกพรรคเศรษฐกิจใหม่บางคนลังเล เพราะเจตนารมณ์ของพรรคตอนเลือกตั้งคือ เป็นฝ่ายรัฐบาล

                แกนนำพรรครัฐบาลอ้าแขนต้อนรับ ส.ส.ป้ายแดงทั้ง 5 คน ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ แม้ “มิ่งขวัญ” จะไม่มาด้วยก็ตาม  เพราะต้องการพ้นสภาพปริ่มน้ำ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีการเปิดตัว

                และทุกครั้งที่ตกเป็นข่าว พรรคเศรษฐกิจใหม่จะออกมาชี้แจงว่า ยังอยู่กับ 7 พรรคฝ่ายค้านเหมือนเดิม เพียงแต่หากใครสังเกตจะเริ่มเห็นถึงท่าทีบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป

                ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2562 มีข่าวลืออีกครั้งว่า จะมี ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ย้ายมาอยู่กับรัฐบาลอีกครั้ง ก่อนที่ “มิ่งขวัญ” จะนำทีมออกมาชี้แจงประเด็นร้อน

                “มิ่งขวัญ” ยืนยันหนักแน่นอยู่กับ 7 พรรคฝ่ายค้าน ทว่า คำพูดของ “ภาสกร เงินเจริญกุล” เลขาธิการพรรค ดูไม่ปกติเท่าไหร่นัก

                “ถึงเราอยู่ฝ่ายค้าน ก็รู้สึกอึดอัดเช่นกัน เพราะเราก็มีอุดมการณ์ มีเอกสิทธิ์ในการจะออกเสียงตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้การทำงานของเราบางอย่างไม่ราบรื่น  ปัญหาปากท้องประชาชนบางอย่างก็ไม่ได้มีการพูดถึง พูดถึงแต่เรื่องการเมือง”

                หลังการชี้แจงไม่กี่วัน วันที่ 31 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมใหญ่พรรคเศรษฐกิจใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคใหม่ โดยให้ “มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่แทน “มิ่งขวัญ” ที่ลาออกไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562

                ขณะที่ความเห็นไม่ตรงกันภายในพรรคเด่นชัดหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการที่ 4 ส.ส.ของพรรค ได้แก่ นายมนูญ, นายภาสกร, นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ และนายสุภดิช อากาศฤกษ์ แสดงตนเข้าประชุมในญัตติด่วนขอให้สภา​ฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญ ศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ซึ่งสวนกับแนวทางพรรคฝ่ายค้าน

                ครั้งนั้น “มิ่งขวัญ” ไม่พอใจอย่างมาก ถึงขนาดกับออกมาทวงบุญคุณลูกพรรคว่า ได้เป็น ส.ส.วันนี้เพราะตัวเอง

                คลื่นลมยังคงแรงต่อเนื่อง แต่ต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2563 “เกียรติภูมิ สิริพันธุ์” อดีตรองหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่สายนายมิ่งขวัญ ออกมาเปิดเผยว่า มติเลือก “มนูญ” เมื่อเดือนสิงหาคมครั้งนั้นเป็นไปโดยมิชอบ เพราะไม่มีการแจ้งสมาชิก นอกจากนี้ยังแฉว่าเป็นการแอบจัดประชุมของคนกลุ่มหนึ่งในพรรคเท่านั้น

                ซึ่งย้อนกลับไปในวันเลือก “มนูญ” แกนนำหลักที่เข้าคือ นายมนูญ, นายศุภดิช อากาศฤกษ์ รองหัวหน้าพรรค, นายภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ล้วนตกเป็นข่าวโยงกับการย้ายขั้วทั้งสิ้น

                ขณะที่การทำงานร่วมกับฝ่ายค้านในระยะหลังๆ พรรคเศรษฐกิจใหม่ถูกตั้งข้อสงสัยมากขึ้น และเริ่มตีตัวออกห่าง 7 พรรคฝ่ายค้าน กระทั่งสัปดาห์ที่แล้วได้ประกาศแยกทางกับฝ่ายค้าน โดยอ้างว่าเพื่อไปทบทวนตัวเอง

                การแยกทางของพรรคเศรษฐกิจใหม่จากฝ่ายค้าน ไม่ต่างอะไรกับการย้ายขั้วไปอยู่กับรัฐบาลโดยอัตโนมัติ แต่น่าสนใจตรงที่มีการเลือกจังหวะเวลาก่อนจะเข้าสู่ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประหนึ่งว่า ต้องการแสดง “ความชัดเจน” เพื่อโชว์ให้ใครเห็น

                ขณะที่ “มิ่งขวัญ” เอง ยังยืนอยู่กับฝ่ายค้านต่อไป นั่นเพราะรู้ว่าคะแนนที่เศรษฐกิจใหม่ได้มา เกิดจากการเดินสายออกเวทีดีเบต โดยเฉพาะเวทีที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ไปร่วม ซึ่งหลายเวทีดูเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย จนถูกยกให้เป็น “คู่จิ้น” อยู่พักหนึ่ง

                กลุ่มคนที่เลือกพรรคเศรษฐกิจใหม่ จึงคาดคะเนได้ว่า ส่วนใหญ่คือฝ่ายที่ไม่เอา คสช. ดังนั้น การตัดสินใจย้ายขั้วมาอยู่กับรัฐบาล อาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า

                แน่นอนว่า บรรดาลูกพรรคที่ย้ายขั้วไป ไม่ต้องคำนึงผลกระทบแง่นี้นัก เพราะคิดว่า อาจเป็น ส.ส.เพียงสมัยเดียว หากแต่ “มิ่งขวัญ” ยังคงคาดหวังหากมีการเปลี่ยนขั้ว หรือการเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า

                “มิ่งขวัญ” ไม่ได้หวังแค่เป็นรัฐมนตรี เก้าอี้อะไรก็ได้ เพราะเคยผ่านตำแหน่งสำคัญมาแล้ว โดยเฉพาะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลพลังประชาชน แต่ฝันไกลกว่านั้น 

                หากจำกันได้ครั้งหนึ่ง เคยอาสาเป็นผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อหวังจะได้ถือธงนำพรรคเพื่อไทย แต่สุดท้ายถูกหลอกใช้จนกระอักเลือด

                การยังกัดฟันอยู่ฝ่ายค้านต่อ ทั้งที่ลูกพรรคย้ายขั้วแล้ว ก็เพราะประเมินแล้วว่า วิธีนี้จะต่อยอดตัวเองในวันข้างหน้าได้ หากเกิดอำนาจทางการเมืองเปลี่ยน

                อย่างน้อยก็ไม่ใช่เก้าอี้กิ๊กก๊อก. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"