มองผ่าน “อู่ฮั่น-อู่ตะเภา” โมเดล จากการฝึกสู่สถานการณ์จริง


เพิ่มเพื่อน    

    ความพร้อมในการปฏิบัติการรับมือในยาม “วิกฤติ” เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น ความพร้อมของรัฐในการเข้าแก้ไขปัญหาจึงมีความสำคัญ ดังนั้นการฝึกเพื่อเตรียมการจึงเป็นขั้นตอนที่หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละปีต้องมีการประเมินสถานการณ์ที่จะอุบัติขึ้นหลายกรณี

                การฝึกร่วมกันบนพื้นฐานด้านการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย (Humanitarian Assistance and Disaster Relief : HADR) การฝึกอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ขัดแย้ง (NEO) การฝึกรองรับการโจมตีทางเคมี ชีวะ รังสี นิวเคลียร์ และวัตถุระเบิด (Chemical Biological Radiological Nuclear and Explosive : CBRNE) ซึ่งเรามักจะเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกร่วมผสมคอบราโกลด์ร่วมกับมิตรประเทศ

                CBRNE ได้ถูกอธิบายไว้ว่าคือ chemical - สารเคมี biologic - ชีววิทยา radiologic - รังสีวิทยา nuclear - นิวเคลียร์และอุปกรณ์ระเบิดที่มีอานุภาพสูง (high yield explosive devices) CBRNE ถูกจัดเป็นภัยคุกคามของ เคมี ชีวะ รังสี นิวเคลียร์ และวัตถุระเบิด (CBRNE Threats )

                ที่ผ่านมาการฝึก CBRNE ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยการสมมุติภาพสถานการณ์ควบคู่ไปกับการฝึกอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ความขัดแย้ง มักไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสาธารณชนเท่าใดนัก แต่รัฐก็ประเมินว่าสถานการณ์ลักษณะนี้เป็น “ภัยคุกคาม” ที่อยู่ไกลตัวเข้ามาทุกที และไม่ใช่แค่การทำสงครามระหว่างคู่ขัดแย้งเท่านั้น แต่เป็นภาวะที่อุบัติขึ้นได้โดยธรรมชาติ

                เมื่อเกิดเหตุการณ์ “ไวรัสโคโรนา” แพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และทางการไทยต้องไปรับคนกลับมาประเทศ ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนในการดำเนินการค่อนข้างละเอียด มีข้อเรียกร้อง กดดัน ให้รัฐเข้าไปจัดการช่วยเหลือคนไทยอย่างเร่งด่วน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องนำแผนที่เคยฝึกซ้อมมานำเสนอเป็นแผนปฏิบัติเพื่อให้รัฐบาลอนุมัติ และนำมาปรับใช้ในสถานการณ์จริง

                เริ่มต้นด้วยการตั้งกองอำนวยการเพื่อบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานงานในการอพยพคนด้วยอากาศยาน ภายใต้ชื่อ “กองอำนวยการร่วมการบริหารงานในสถานการณ์ภาวะวิกฤติประจำพื้นที่สัตหีบ” มี “ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การนำคนไทยกลับสู่มาตุภูมิกรณีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ระหว่าง 4-28 ก.พ.2563” ตั้งที่สโมสรนายทหารสัญญาบัตร โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มี พล.ร.ท.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ หน้าที่หลักคือ อำนวยการ ดำเนินการตามแผนให้บรรลุเป้าหมาย

                นอกจากนั้นยังมีทีมปฏิบัติการ หัวหน้าชุดปฏิบัติเข้าควบคุมหน้างาน พร้อมจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ เครื่องมือสื่อสาร ยานพาหนะ ชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุดสนับสนุน ประเมิน ปฏิบัติงาน ควบคุมและรายงาน เพื่อรับคนไทยจากอากาศยานที่ได้จัดเตรียมไว้เพื่อไปส่งยังพื้นที่รองรับ ได้แก่ บ้านพักรับรองอ่าวดงตาล และคัดกรองผู้ที่มีอาการต้องเฝ้า

                ระวังขึ้นพาหนะต่างหากไปดูอาการที่โรงพยาบาลสิริกิติ์ฯ โดยมีทีมแพทย์จากทหาร และกระทรวงสาธารณสุขเข้าปฏิบัติการ พร้อมใช้มาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้ออย่างเข้มงวด

                นอกจากนี้ยังจัดเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประสานกับสื่อไทยและต่างประเทศ โดยมีกรมกิจการพลเรือนทหารเรือเป็นแกนหลักผ่านแอปพลิเคชันไลน์กลุ่มเพื่อส่งข่าวสาร นัดหมาย เผยแพร่ข้อมูล ภาพเหตุการณ์ มีการจัดตั้งเพลสเซ็นเตอร์เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมการทำงานของสื่อมวลชน รวมไปถึงการแถลงข่าวของโฆษก และทีมเจ้าหน้าที่ 2 ครั้ง เพื่อสื่อสารกับสังคมว่าได้ปฏิบัติงานเรื่องใดไปบ้าง

                การประสานงานของหน่วยในพื้นที่กับชาวบ้านและชุมชนรอบพื้นที่กักตัวผู้ที่กลับจากอู่ฮั่น เพื่อให้ความมั่นใจว่าการดำเนินการของกองอำนวยการไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายต่อเชื้อโรค โดยฝ่ายปกครองคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เลยไปถึงผู้นำชุมชน ต้องไปทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่

                การดำเนินการที่ไม่ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายมากนัก ก็เกิดจากการฝึกและเตรียมการเป็นประจำทุกปี ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบก็มีแผนการฝึกในลักษณะนี้ เพื่อรับมือวิกฤติที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากมีการประเมินสถานการณ์ในอนาคตว่าภัยคุกคามใดจะเกิดขึ้นบ้าง เพียงแต่รายละเอียดก็ต้องมีการปรับให้สอดรับกับสถานการณ์

                การแพร่ระบาดของ “ไวรัสโคโรนา” จึงเปรียบเสมือนสนามจริงของโลกที่ไว้ทดสอบการฝึกซ้อมของรัฐว่ามีจุดบกพร่องตรงไหน โดยเฉพาะประเทศจีน ที่มีประชากรจำนวนมาก และมีอิทธิพลต่อสภาพสังคม เศรษฐกิจของโลก เนื่องจากการเคลื่อนย้าย เดินทางของนักท่องเที่ยวจีนในขณะนี้อยู่ในอัตราที่สูงกว่าทุกประเทศ

                เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่กองทัพซึ่งเป็นหน่วยที่มีความพร้อมในการสนับสนุนภารกิจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นหลักในเรื่องการควบคุมโรคระบาด ก็ได้มีการฝึกซ้อมตามแผนอยู่แล้ว เพียงแต่ขนาดของวิกฤติที่มีการประเมินกันอาจจะต้องมีการคำนวณใหม่ในวันข้างหน้า.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"