โอดมรสุม5ลูกกระหนํ่าศก. เงินเฟ้อม.ค.เพิ่มขึ้น1.05%


เพิ่มเพื่อน    

 

"สมคิด" โอดมรสุม 5 ลูกกระหน่ำเศรษฐกิจไทย  มั่นใจฝ่าไปได้อย่าตื่นกลัว เชื่อจีดีพีปีนี้ยังโตได้ 2% สวดยับ "กนง." ลดดอกเบี้ยช้า บี้ทุกแบงก์หั่นช่วย ศก. คลังเตรียมชง ครม.เคาะ "ชิมช้อปใช้" เฟส 4 ขณะที่เงินเฟ้อเดือน ม.ค.เพิ่ม 1.05% สูงสุดรอบ 8 เดือน 

    ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานฉลองครบรอบ 17 ปี โพสต์ทูเดย์ หัวข้อ ถอดรหัสเศรษฐกิจปี 2020 ว่า การบริหารเศรษฐกิจของประเทศต้องมุ่งมั่น มั่นคง ไม่วอกแวก ไม่หวั่นเกรง ทำให้คนไม่ตื่นกลัว ไม่ตระหนก เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่ผ่านมาประเทศผ่านวิกฤติต้มยำกุ้ง โรคซาร์ส ไข้หวัดนก ตอนนั้นแรงกว่านี้ แต่ไม่กระทบ เพราะไม่มีโซเชียลมีเดียใส่ไข่
    ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีการเลือกตั้งมาถึงวันนี้ 1 ปีเต็ม ประเทศเจอมรสุมทีละลูก แต่ไม่ต้องตื่นกลัว จะผ่านไปได้ ลูกแรกกว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ใช้เวลา 7 เดือน ตั้งรัฐบาลได้เดือน ก.ค.2562 รักษาการ 11 กระทรวง เวลารักษาการการขับเคลื่อนงบประมาณทำได้ยาก เกียร์ว่างมาก เพราะรอว่าใครมาเป็นรัฐบาล โครงการใหญ่ต้องรอคนใหม่ ตัวเลขการลงทุนภาครัฐชะลอ
    ส่วนลูกที่สองคือสงครามการค้า สหรัฐอเมริกา จีน ไทย และทุกประเทศได้รับผลกระทบ แต่ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย หนักกว่าเพื่อน เพราะไทยส่งออกมาก รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมี ต้องการพึ่งส่งออก เศรษฐกิจภายในอ่อนแอ เกษตรรายได้ไม่ดีจนทำให้เราพึ่งการส่งออก ไม่ได้ไปพัฒนารากหญ้า
    "20 ปีที่ผ่านมา มีแต่จำนำข้าว เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครลงไปทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ตอนนี้การส่งออกแย่ รถยนต์ไม่ดี ในเมื่อเราเปลี่ยนแปลงช้า ก็ต้องสู้เต็มที่ ต้องมีสินค้าออกมากขึ้น หลีกเลี่ยงซัพพลายเชนไม่กี่ตัว การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แรงมาก ต้องมีสมดุล" นายสมคิดกล่าว และยืนยันว่าเศรษฐกิจไม่ถดถอย และมีความสมดุลในและนอกมาตลอด รัฐบาลทำมาตลอด หากไม่ทำ วันนี้เศรษฐกิจโลกตก เศรษฐกิจไทยแย่ สิงคโปร์เหลือไม่ถึง 1% ของไทยโตได้ 2% ก็ถือว่าดีแล้ว อย่าไปเทียบเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นคนละเรื่อง ไทยผ่านการเติบโตในลักษณะนี้มาแล้วเมื่อ 10 ปีก่อน
    สำหรับมรสุมลูกที่ 3 ค่าเงินบาท ใครคิดว่าเป็นระเบิดลูกใหญ่ เมื่อพอเศรษฐกิจดีขึ้น เกินดุลบัญชีสะพัด เงินสำรองระหว่างประเทศมาก เป็นสวรรค์ของนักลงทุนที่นำเงินลงทุนเข้ามาแสวงหากำไรในประเทศ ที่ผ่านมาคลังให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาท แต่มีประเทศใหญ่จ้องว่าไทยแทรกแซงค่าเงินบาท วันนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เป็นผลดีต่อผู้ส่งออก แต่ผู้ประกอบการก็ไม่ควรหวังค่าเงินบาทอย่างเดียว ต้องพัฒนาตัวเองด้วย ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่จะเร่งลงทุนเครื่องจักร เพราะหักลดหย่อนภาษีได้ 2.5 เท่า หากไม่ลงทุนอีกอย่าโวยวาย
    มรสุมลูกที่ 4 เรื่องไวรัสโคโรนา อย่าไปตกใจ ตอนเกิดซาร์ส ขอให้เชื่อใจสาธารณสุข คนไทยผ่านมาทั้งซาร์สและไข้หวัดนก ผ่านมาได้ หากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มา คนไทยต้องเที่ยวไทย โดยกระทรวงการคลังจะออกมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 4 หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก็จะออกมาแล้ว
    ลูกสุดท้ายลูกที่ 5 เรื่องงบประมาณ 2563 ตั้งแต่เดือน ต.ค. ยังไม่ได้ใช้ ศาลรัฐธรรมนัดเดือน ก.พ. แต่คาดว่างบประมาณจะใช้ได้เดือน พ.ค.2563 ทำให้มีเวลาใช้เงินแค่ 4 เดือนเท่านั้น ได้สั่งให้ส่วนราชการเตรียมการไว้เลย หากมีปัญหาให้เตรียมกู้เงินหรือออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขายให้รายย่อย ซึ่งทำได้กระทรวงการคลังเตรียมไว้แล้ว
    ส่วนกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% เป็นการตัดสินใจที่ช้าไปหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญญาให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ย กนง.ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย ไม่มีประโยชน์ จะลดทำไม อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไปทุบธนาคารพาณิชย์ให้ลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ กระตุ้นให้การลงทุนขยายตัว
    "จากวันนี้ถึงครึ่งปี งบใช้ได้ไม่เต็มสูบ ต้องประคองรวมกัน ไม่ได้ชี้ว่าใครผิด ทำให้ประชาชนสิ้นหวัง ทุกอย่างจะผ่านพ้นไป เศรษฐกิจโตได้ 2% ถือว่าทำได้ดีพอสมควรแล้ว รัฐบาลต้องทำอีอีซีให้เกิด เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค เชื่อว่าการลงทุนจะมา เพราะมีรถไฟความเร็วสูง มีสนามบินรับนักท่องเที่ยวปีละ 10 ล้านคน มีท่าเรือท่องเที่ยว มีรถไฟความเร็วไปกรุงเทพฯ-ระยองได้ภายใน 1 ชั่วโมง ที่มีโรงงานเป็นพันโรงงาน เศรษฐกิจของไทยจะขยายเติบโตขึ้นมาก" รองนายกฯ ระบุ
    ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวว่า มาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 4 จะเสนอ ครม.ภายในเดือน ก.พ.นี้ ตอนนี้ผู้เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบ และเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในประเทศ การบริโภค และการท่องเที่ยว ส่วนการกู้เงิน และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน คลังเตรียมไว้หมดแล้ว สามารถกู้ได้ แต่จะต้องรอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าจะพิจารณางบประมาณ 2563 อย่างไร
    น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือน ม.ค.2563 ดัชนีอยู่ที่ 102.78 เพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2562 และเพิ่มขึ้น 1.05% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2562 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันในอัตราสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน นับจากเดือน พ.ค.2562 ที่ขยายตัว 1.15% และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศอีกครั้ง ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักราคาอาหารสดและพลังงานออกจากการคำนวณ ดัชนีอยู่ที่ 102.82 เพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2562 และเพิ่มขึ้น 0.47% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.2562 
     สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือน ม.ค.2563 เพิ่มขึ้น 1.05% เพราะหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่ม 1.82% เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า ไข่และผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ส่วนผักสดลดลง ขณะที่หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.62% เช่น น้ำมัน ค่าโดยสาร เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การรักษาและบริการส่วนบุคคล การบันเทิง การอ่าน การศึกษา แต่การสื่อสาร ยาสูบ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลง
    “เงินเฟ้อเดือน ม.ค.ที่เพิ่มขึ้น เพราะมีเทศกาลตรุษจีน ที่มีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ราคาสินค้าเกษตรบางรายการสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว และการกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 9 เดือนของหมวดพลังงาน รวมทั้งได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาล จากโครงการประกันรายได้ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้เกษตรกรและประชาชนมีรายได้มาจับจ่ายเพิ่มขึ้น” ผอ.สนค.กล่าว
    ทั้งนี้ หากพิจารณา 422 รายการที่คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 238 รายการ เช่น ข้าวเหนียว ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ไข่ไก่ กับข้าวสำเร็จรูป น้ำมันดีเซล ค่าโดยสารรถประจำทาง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง 106 รายการ เช่น ผักสดชนิดต่างๆ นมผง เป็นต้น และสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 78 รายการ
สำหรับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา เดือน ม.ค.2563 ยังไม่เห็นชัดเจน น่าจะเห็นผลชัดในเดือน ก.พ. เพราะจะทำให้การบริโภคอาหารนอกบ้านลดลง จากการที่ประชาชนไม่อยากออกไปนอกบ้าน และอาจจะฉุดให้ราคาลดลงตาม แต่ยังคาดว่าไตรมาสแรกปีนี้น่าจะขยายตัวใกล้เคียง 1% ส่วนทั้งปียังคงยืนยันเป้าหมายที่ 0.4-1.2% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.8% โดยอาหารสดและน้ำมันจะยังเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดเงินเฟ้อ รวมถึงสินค้าเกษตรบางรายการจะสูงขึ้นจากภาวะภัยแล้ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"