'สมศักดิ์'นำทีม ลงกำแพงเพชร ช่วยซ่อม'ส.ส.'


เพิ่มเพื่อน    


    ประชุม กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ถกหมวดสิทธิเสรีภาพ "โภคิน" ชี้ รธน.ทำสิทธิประชาชนอยู่ใต้บทเฉพาะกาล ต้องแก้ ม. 279 "สมชัย" เสนอคืนอำนาจถอดถอนให้ ส.ว. หรือเพิ่มสิทธิให้ปชช.ถอดนักการเมือง "ชูศักดิ์" ชงแก้ ม.49 กันใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เลือกซ่อมกำแพงเพชรคึกคัก แกนนำ พปชร.ตบเท้าลงพื้นที่ เพื่อไทยเย้ยรัฐบาลขาลง-ตระบัดสัตย์ ประชาชนจะให้บทเรียน
    ที่รัฐสภา เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ ก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้มีการพิจารณาบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่สามารถพิจารณาได้แล้วเสร็จ เนื่องจากมีความเห็นออกเป็น 2 ทาง ได้แก่ 1.ฝ่ายที่สนับสนุนให้แก้ไขมาตรา 256 ที่ได้ยกเหตุผลว่าสมควรให้มีการแก้ไขได้ง่ายขึ้นกว่าบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน และ 2.ฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไขมาตรา 256 เพราะเห็นว่าเมื่อมีการแก้ไขจะต้องมีการทำประชามติ อันเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณถึงประมาณ 3,000 ล้านบาท
    นายไพบูลย์กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 256 แม้ในที่ประชุมจะมีกรรมาธิการวิสามัญเสนอว่าจำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นสากล แต่จากการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการ พบว่าในหลายประเทศก็ได้กำหนดขั้นตอนของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยากกว่ากรณีของประเทศไทย เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่กำหนดให้เสียงข้างมาก 2 ใน 3 หรือบางประเทศต้องผ่านการลงมติให้ความเห็นชอบจากทีละสภา
    "ที่สำคัญมาตรา 256 มีเจตนารมณ์ต้องการแก้ไขปัญหาเสียงข้างมากลากไป ที่เกิดขึ้นกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จนถึงขั้นมีการเสนอเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งบุคคลที่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเวลานั้น ปัจจุบันกำลังดำรงตำแหน่ง ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลในปัจจุบัน จึงมีความเป็นไปได้ที่ ส.ว.ย่อมจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 256" นายไพบูลย์กล่าว 
    ต่อมา ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีวาระพิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
    นายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้จำนวนมาก แต่กลับถูกตัดด้วยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ส่งผลให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องมาอยู่ภายใต้บทเฉพาะกาล ทั้งๆ ที่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองไว้ในบทถาวรของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการแก้ไขบทเฉพาะกาลในมาตรานี้ โดยอาจจะกำหนดระยะเวลาการบังคับใช้เหมือนกับบทเฉพาะกาลในส่วนอื่นๆ ที่มีการกำหนดระยะเวลาเช่นกัน
     นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ กล่าวว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนเขียนไว้ดีในรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติกลับถูกดำเนินคดีความ ขณะที่สิทธิเสรีภาพที่หายไปที่ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิเสรีภาพในทางการเมืองที่ให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อกันถอดถอนคนในฝ่ายการเมืองได้ผ่านวุฒิสภา แต่ก็มีคำถามอีกว่า ในช่วงที่ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง สมควรที่จะมีสิทธิถอดถอนคนของฝ่ายการเมืองหรือไม่ แต่หากมีการตั้ง ส.ว.ชุดใหม่ ก็ควรให้อำนาจนี้กลับคืนมา หรืออีกทางคือพิจารณาว่าประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนคนในฝ่ายการเมืองหรือไม่ และถ้ามี ควรไปรวมอยู่กับอำนาจ ส.ว.เหมือนเดิมหรือไม่
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมาธิการวิสามัญฯ สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้พิจารณาศึกษาแก้ไขมาตรา 49 ว่าด้วยบุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ โดยมาตรานี้มีความมุ่งหมายป้องกันการใช้รัฐประหารและป้องกันการใช้กำลังมาล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญในอดีตจะให้อำนาจอัยการสูงสุดในการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชน แต่ปรากฏว่าครั้งหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าให้ประชาชนเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงเห็นว่ามาตรานี้มีปัญหาพอสมควร และมีการใช้มาตรานี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้แต่การเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ยังถูกกล่าวหาเป็นการล้มล้างการปกครองมาแล้ว ดังนั้น อยากเสนอว่าควรมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองฯ
    ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ จะรับข้อเสนอจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไปพิจารณา เพราะเห็นว่าหลายเรื่องที่กรรมาธิการวิสามัญฯ ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นนั้น ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการฯ มาบางส่วนแล้ว แต่เมื่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีข้อสังเกต ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ จะนำไปพิจารณา และกลับมาเสนอต่อที่ประชุมต่อไป
    วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อมเขต 2 จ.กำแพงเพชร ในวันที่ 23 ก.พ.นี้ ว่าตนในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งจากพรรคให้เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อมเขต 2 จ.กำแพงเพชร ได้พูดคุยกับ ส.ส.ในพื้นที่ใกล้เคียง ทุกคนพร้อมลงไปช่วยหาเสียงอย่างเต็มที่ โดยการลงพื้นที่ช่วยหาเสียงจะเริ่มในวันที่ 8 ก.พ.นี้ นอกจากนี้ในเบื้องต้นตนได้ให้นักกฎหมายของพรรคไปหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่ารัฐมนตรีของพรรคสามารถลงไปช่วยหาเสียงได้หรือไม่ ซึ่งทาง กกต.ให้คำตอบว่าทำได้ แต่เวลาลงไปช่วยจะต้องเป็นนอกเวลาราชการ ส่วน ส.ส.หากไม่มีประชุมสภาสามารถไปได้
     เมื่อถามว่า มีคนวิจารณ์การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้อาจมีการดึงอำนาจรัฐไปช่วยหาเสียง นายสมศักดิ์กล่าวว่า ช่วงเวลาราชการเราไม่ไปอยู่แล้ว และเราจะไม่เอาคนของรัฐหรือข้าราชการไปช่วยหาเสียงเด็ดขาด
     ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  บรรยากาศการรณรงค์หาเสียงของนายกัมพล ปัญกุล อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม เขต 2 กำแพงเพชร ในนามพรรคเพื่อไทย มีเสียงตอบรับในระดับที่ดี แต่การเลือกตั้งซ่อมที่ต้องสู้กับพรรคแกนหลักรัฐบาล ที่กุมอำนาจรัฐไว้ในมือ ไม่มีครั้งใดง่าย สิ่งที่ทีมหาเสียงพรรคเพื่อไทยสื่อสารกับพี่น้องประชาชนชาวเขต 2 กำแพงเพชร คือแม้การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะไม่ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่สามารถส่งสัญญาณดังๆ ถึงรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ว่าพี่น้องประชาชนรู้สึกอย่างไร พึงพอใจกับผลงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในระดับใด นโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เมื่อครั้งเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 ได้ทำตามที่หาเสียงและแถลงนโยบายต่อรัฐสภาหรือไม่ สัญญาว่าจะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ก็แก้เกี้ยวว่าเป็นแค่ยกตัวอย่างตอนหาเสียง จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท เท่ากันทั่วประเทศ พอมาเป็นรัฐบาลปรับจริงแค่ 5-6 บาท
      "โพลแทบทุกสำนักสะท้อนรัฐบาลขาลงเต็มสูบ แต่ดูเหมือนรัฐบาลไม่สนใจ ดังนั้น เสียงของพี่น้องประชาชน เขต 2 กำแพงเพชร จะทำหน้าที่แทนคนไทยทั้งประเทศว่า ประชาชนเดือดร้อนทั่วทุกหย่อมหญ้า ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเคารพและฟังเสียงประชาชน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง” นายอนุสรณ์กล่าว.    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"