โหวตลับ 5 ตุลาการศาลรธน.  จัดทัพ อำนาจที่ 4 ในมือสภาสูง


เพิ่มเพื่อน    


           วันอังคารนี้ 11 ก.พ. ที่ประชุมวุฒิสภาจะมีการพิจารณาวาระสำคัญนั่นก็คือ การ "ประชุมลับ-ลงมติลับ" เพื่อให้ความเห็นชอบรายชื่อ 5 ตุลาการศาล รธน.ชุดใหม่ ที่ศาลฎีกา-ศาลปกครองสูงสุดและคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาล รธน.รวม 3 ทาง ส่งชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นตุลาการศาล รธน.มาให้วุฒิสภาลงมติ "เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ"
           อันเป็นการประชุมพิจารณาหลังจากคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา จำนวน 5 รายชื่อ ที่มี พลเอกอู้ด เบื้องบน เป็นประธาน ได้พิจารณารายงานเสร็จสิ้นลงแล้ว หลังใช้เวลาในการพิจารณาตรวจสอบนานร่วม 5 เดือน นับแต่ที่ประชุมวุฒิสภามีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ 28 กันยายน 2562 กมธ.มีการขอขยายเวลาในการตรวจสอบ 4 ครั้ง จนที่ประชุมวุฒิสภาต้องงดใช้ข้อบังคับ เพื่อขยายเวลาการตรวจสอบให้ในครั้งที่ 4 เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาเป็นครั้งสุดท้าย ไม่สามารถขยายเวลาได้อีกแล้ว
           ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบางฝ่าย โดยเฉพาะคู่กรณีที่มีประเด็นคดีความในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ อย่าง "พรรคอนาคตใหม่" ว่าเหตุใดวุฒิสภาจึงใช้เวลาพิจารณาตรวจสอบประวัตินาน ทั้งที่ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุดและคณะกรรมการสรรหาฯ ได้มีการพิจารณาตรวจสอบกลั่นกรองคุณสมบัติมาก่อนแล้ว จนพรรคอนาคตใหม่ตั้งประเด็นว่า สาเหตุที่วุฒิสภาไม่ยอมเลือกตุลาการศาล รธน.เสียที น่าจะเป็นเพราะต้องการให้มีการตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่เสร็จสิ้นลงก่อน
           ทั้งนี้  5 รายชื่อว่าที่ตุลาการศาล รธน.ชุดใหม่ที่วุฒิสภาต้องโหวตมีรายชื่อดังนี้ วิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา, จิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา, อุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีฯ ในศาลฎีกา, ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด, นภดล เทพพิทักษ์ อดีตอธิบดีกรมเอเชียใต้ฯ
          โดย 5 ชื่อดังกล่าวจะมาแทน 5 ตุลาการศาล รธน.ชุดปัจจุบัน ที่ต้องพ้นวาระคือ นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาล รธน., ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งทั้ง 5 คนถือเป็นแผงอำนาจสำคัญของศาล รธน.ที่เข้ามาเป็นตุลาการศาล รธน.พร้อมกันหมดตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันปี 2563 รวมเวลา 12 ปี
        จิรชัย มูลทองโร่ย สมาชิกวุฒิสภาและโฆษกคณะกรรมาธิการสามัญสอบประวัติ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาล รธน. กล่าวว่า คาดว่าที่ประชุมวุฒิสภาน่าจะพิจารณาโหวตเรื่องนี้เสร็จภายในวันอังคารที่ 11 ก.พ.นี้ ซึ่งตลอดการประชุมวาระดังกล่าว ส.ว.จะพิจารณาประชุมลับทั้งหมด เพราะเป็นการรายงานผลการตรวจสอบประวัติทั้ง 5 คน ที่มีการเปิดรับข้อมูล ข้อร้องเรียนจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานรัฐมากถึง 18 หน่วยงาน เพื่อตรวจสอบประวัติของทั้ง 5 รายชื่อ
        ทั้งนี้ การประชุมลับดังกล่าว ส.ว.ทั้งหมด ที่มีด้วยกัน 250 คน จะโหวตเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ บางรายชื่อก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเห็นชอบครบทั้ง 5 คน หรืออาจจะไม่เห็นชอบทั้ง 5 ชื่อเลยก็ยังได้ โดยคนที่จะได้เข้าไปเป็นตุลาการศาล รธน.จะต้องได้เสียงเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 125 เสียง ถึงจะได้เป็นว่าที่ตุลาการศาล รธน.ชุดใหม่
           ซึ่งเรื่องการเลือกองค์กรอิสระ หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เมื่อเร็วๆ นี้คือ 27 มกราคม ส.ว.ชุดปัจจุบันมีการประชุมลับโหวตเลือก "กรรมการสิทธิมนุษยชน" ที่มีการเสนอชื่อมา 5 ชื่อ แต่ปรากฏว่า ที่ประชุมโหวตเห็นชอบแค่ 2 ชื่อคือ นางปรีดา คงแป้น และ ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี โดยโหวตไม่เห็นชอบ 3 ชื่อคือ น.ส.ลม้าย มานะการ ผศ.วิชัย ศรีรัตน์ และนายบุญเลิศ คชายุทธเดช จนทำให้ต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งกระบวนการรับสมัครกรรมการสิทธิฯ กันใหม่อีกรอบ
           ส่วนการประชุมลับ 11 ก.พ.นี้ การโหวตเห็นชอบตุลาการศาล รธน.จะซ้ำรอยการโหวตกรรมการสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ที่โหวตไม่ครบตามจำนวนชื่อที่ส่งมาให้ ส.ว.หรือไม่ ยังต้องรอติดตาม?
        หลังก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวมีบางรายชื่อใน 5 ชื่อมีข้อร้องเรียน จนทำให้กรรมาธิการฯ ใช้เวลาในการตรวจสอบนานหลายเดือน
        อนึ่ง ปัจจุบันตุลาการศาล รธน.มีด้วยกัน 9 คน โดยจะมี 5 คนพ้นจากตำแหน่ง เพราะอยู่ครบวาระ และจะมีอีก 4 คน ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 เพียงแค่ให้มีตุลาการศาล รธน.แค่ 7 คน ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่พิจารณาคดีได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องครบ 9 คน
        ด้วยเหตุนี้ การประชุมลับวุฒิสภา 11 ก.พ.นี้ เพียงแค่วุฒิสภาลงมติเห็นชอบแค่ 3 รายชื่อ ไม่ต้องครบ 5 ชื่อ ก็เพียงพอแล้ว และจากนั้นว่าที่ตุลาการศาล รธน.ชุดใหม่ก็จะต้องไปสะสางเรื่องของตัวเอง เช่น แจ้งขอลาออกจากราชการ-ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษา กรรมการบริษัทเอกชนต่างๆ ให้เรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมตัวเข้าไปเป็นตุลาการศาล รธน.
        และเนื่องจาก 5 ชื่อตุลาการศาล รธน.ที่จะหมดวาระ มีชื่อของ นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาล รธน.รวมอยู่ด้วย ดังนั้นตามกฎหมาย ตุลาการทั้งหมด ทั้งชุดปัจจุบัน 4 คน และชุดใหม่ ที่รวมกันแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 7 คน ต้องประชุมกันภายในเพื่อเลือก "ประธานศาล รธน.คนใหม่" จากนั้นประธานวุฒิสภาจะนำรายชื่อประธานศาล รธน.คนใหม่ และตุลการศาลร ธน.ชุดใหม่ นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
        หากเป็นไปตามนี้ คือวุฒิสภาเห็นชอบรายชื่อตุลาการศาล รธน.ชุดใหม่ อย่างน้อย 3 รายชื่อ หรือไม่ก็อาจครบ 5 ชื่อเลย จนต่อมามีสัญญาณชัดเจนว่ามีการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ก็จะทำให้ตุลาการศาล รธน. 5 คนที่จะต้องพ้นจากตำแหน่ง ไม่สามารถนัดประชุมเพื่อลงมติและอ่านคำวินิจฉัยคดีต่างๆ ได้อีกต่อไป เพราะถือว่าเข้าสู่ขั้นตอนรอการโปรดเกล้าฯ แล้ว
        อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ตุลาการศาล รธน.ได้นัดประชุมลงมติและอ่านคำวินิจฉัยคดีสำคัญคือ "คดียุบพรรคอนาคตใหม่" ในคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท ในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ.นี้ เวลา 15.00 น. ที่ถูกคาดหมายว่าอาจจะเป็นคดีสุดท้ายของตุลาการศาล รธน.ชุดปัจจุบัน 9 คน ที่จะลงมติ ขณะที่คดีอื่นๆ เช่น คดีหุ้นสื่อก่อนเลือกตั้ง ของ ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน รวม 64 คน ก็ต้องให้ตุลาการศาล รธน.ชุดใหม่เข้ามาตัดสินไป 
        แต่หากที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบรายชื่อตุลาการศาล รธน.ไม่ครบตามจำนวน ทำให้ยังมีตุลาการศาล รธน.ไม่ครบ 7 คน ก็อาจทำให้ตุลาการศาล รธน.ชุดปัจจุบันทั้งหมด ยังต้องทำหน้าที่ต่อไป 
        กลับกัน ถ้าหากสุดท้ายมีการโหวตเลือกตุลาการศาล รธน.ครบตามจำนวน ก็อาจทำให้บางฝ่าย เช่น พรรคอนาคตใหม่ เรียกร้องให้ตุลาการศาล รธน.ชุดปัจจุบัน 5 คนที่จะหมดวาระ ควรต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ควรมาตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่ 21 ก.พ.นี้ แต่ในความเป็นจริง ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็คงไม่มีผลอะไร เพราะถือว่าหากยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ก็ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อ อีกทั้งศาล รธน.ได้นัดอ่านคำวินิจฉัย 21 ก.พ.ไปล่วงหน้าแล้ว 
        ท่ามกลางกระแสข่าวว่า รายชื่อว่าที่ตุลาการศาล รธน.ที่ ส.ว.จะโหวตกันดังกล่าว บางรายชื่อหากได้รับความเห็นชอบ โดยเฉพาะถ้าทั้ง 5 ชื่อเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น เข้ามาเป็นตุลาการศาล รธน.ได้ทั้งหมด ก็อาจมีการเกาะกลุ่มเสนอชื่อใครบางคนที่มาจากสายศาลฎีกา ชิงเก้าอี้ “ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่” ที่ปัจจุบันในทางการเมืองต่างบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญคือ ”อำนาจที่ 4“ รองจาก ฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ มาหลายปีแล้วสำหรับการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา.  
วรพล กิตติรัตวรากูร


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"