คว้านลึกปัญหาฝุ่นพิษ ถึงเวลาผลักดัน กม.อากาศสะอาดเพื่อ "หายใจ”


เพิ่มเพื่อน    

 

 

       ประเทศไทยวนกลับมาเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ฝุ่นพิษขนาดเล็กกว่าเส้นผม 30 เท่า ที่สูดดมเข้าไปเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพิ่มอัตราการตาย 
    ประเด็นนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล เพราะองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กล่าวไว้ว่า “การหายใจด้วยอากาศที่มีคุณภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน" การที่คนไทยใช้ชีวิตเปื้อนฝุ่นพิษ หลายเมืองถูกห่มคลุมด้วยหมอกควันมรณะต่อเนื่องเป็นเดือน ถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้มีระบบการบริหารจัดการคุณภาพอากาศที่สะอาด 
    แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลยังคงออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ แผนระยะสั้น-กลาง-ยาวที่คลอดออกมายแก้ที่ปลายเหตุ หลายภาคส่วนวิพากษ์วิจารณ์ไทยไม่สามารถผ่านพ้นวังวนฝุ่น PM 2.5 นี้ไปได้
    ในงานเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 22 เรื่อง “ฝุ่น 2.5 : แก้ปัญหาอย่างไรให้ยั่งยืน” ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันก่อน เหล่านักวิชาการรั้วจามจุรีจากคณะต่างๆ เจาะลึกความรุนแรงของปัญหานี้ พร้อมเสนอทางแก้เชิงโครงสร้าง แม้ต้องใช้เวลา แต่ถ้าไม่เริ่มลงมือ ปัญหาจะทับถมจนเกินเยียวยา โดยมีชีวิตของประชาชนเป็นเดิมพันรายวัน  

 

รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  


    รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2561 มีการพูดถึงปัญหาความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 เกิดคำว่า “แดงทั้งแผ่นดิน” สื่อถึงค่าฝุ่นที่กระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ปีนี้สถานการณ์มลพิษฝุ่น PM 2.5 ยังเกิดขึ้นอีก หากย้อนดูไทม์ไลน์ประเทศไทยเริ่มเก็บค่าฝุ่น PM 2.5 ครั้งแรกเมื่อปี 2554 แต่ไม่มีการรายงานค่าแก่ประชาชน ต่อมาปี 2561  กรีนพีซและเครือข่ายเรียกร้องให้รัฐตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 เพราะมีรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ จนกระทั่งภาครัฐประกาศดัชนีคุณภาพอากาศใหม่รวม PM 2.5 มาจนถึงปัจจุบันได้เห็นข้อมูลสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ทั้งระดับความรุนแรงของฝุ่นที่อันตรายและส่งผลกระทบในวงกว้าง สะท้อนการเรียกร้องสิทธิได้อากาศสะอาดสำเร็จจุดหนึ่ง  ปี 2562 รัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน ปี 2563 มีปัญหาฝุ่นเกิดซ้ำ รัฐคลอด 12 มาตรการลดฝุ่นพิษ  แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แม้สองปีที่ผ่านมาประชาชนเข้าใจและได้ความรู้เกี่ยวกับ PM 2.5 รวมถึงการตรวจวัดคุณภาพอากาศมากขึ้น แต่ความเร็วและความรุนแรงของฝุ่น PM 2.5 มาเร็วและรุนแรงมากขึ้น 
    “แม้รัฐจะมีมาตรการแก้ไขระยะสั้นกลางและยาว แต่ขาดตัวชี้วัดความสำเร็จร่วมกัน เราอยากให้ใช้ตัวชี้วัดคืออากาศสะอาด และมองมิติเรื่องสุขภาพสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ความท้าทายในการแก้ PM 2.5 จะไปถึงระดับค่ามาตรฐานรายวันและรายปีตามเกณฑ์ WHO ได้อย่างไร รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนและระบบโครงสร้าง เพราะมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องต้องมีการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เพราะมีหลายปัจจัยก่อฝุ่นพิษ" รศ.ดร.ศิริมา กล่าว 

 

ฝุ่นพิษห่มคลุมกรุงเทพมหานคร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน


    การแก้ปัญหาแบบยั่งยืนนั้น รศ.ดร.ศิริมากล่าวว่า เราต้องการอากาศสะอาดเพื่อทุกคนด้วยการมีส่วนร่วมในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนต้องมีการจัดการที่แหล่งกำเนิดทั้งการเกษตรยั่งยืน การจัดการเชื้อเพลิง ชาวบ้านเรียก “ชิงเผา”  เพราะไม้ขีดก้านเดียวถูกที่สุดแล้ว แต่นอกจากเผาก็มีวิธีบริหารจัดการเชื้อเพลิงรูปแบบอื่นๆ ต้องแก้ให้ครบวงจร แก้ปัญหาปากท้อง ทำให้ชาวบ้านตระหนักรู้ว่าการเผาป่าเท่ากับทำลายซูเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติ ปัญหาฝุ่นไม่ได้มีเฉพาะเมืองใหญ่อย่าง กทม. หรือเชียงใหม่ อีกแนวทางเป็นการจัดการเมืองน่าอยู่ จัดการจราจรและนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาขับเคลื่อนจริงจัง 
    อีกข้อติดขัดเป็นเรื่องการตรวจวัดเ ธอระบุว่าหลายพื้นที่ยังขาดเครื่องตรวจวัด ฉะนั้น ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังของประชาชน ส่วนผู้ได้รับผลกระทบขึ้นกับการเข้าถึงข้อมูล การตระหนักถึงการป้องกันตนเองและการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ด้านนโยบายเสนอการบังคับใช้กลไกทางภาษี กลไกปรับโครงสร้าง เราต้องมีเป้าหมายอากาศสะอาดเป็นเป้าเดียวกัน รวมถึงการป้องกันการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะนี้ไม่มีอะไรการันตีว่า เครื่องฟอกอากาศที่จำหน่ายได้มาตรฐานป้องกันฝุ่นจิ๋วได้ 
    “การแก้ปัญหา PM 2.5 ขออย่าให้เป็นการแก้แบบไฟไหม้ฟาง เราอยากได้อากาศสะอาดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและแต่ละพื้นที่มีบริบทต่างกัน แก้ไขจากล่างขึ้นบน ส่วนการจะไปให้ถึงเป้าหมาย WHO รัฐบาลต้องมีเป้าหมายชัดเจน อาจไม่ใช้ค่ากำกับควบคุมทั้งประเทศ สามารถเลือกประกาศเป็นเขตพื้นที่ รายจังหวัด อย่างที่ประเทศจีนดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ก็ยังเชื่อมั่นพลังภาคประชาสังคม  และถ้ารัฐบาลตัดสินใจฟังเสียงประชาชนขยับค่ามาตรฐานให้เข้มข้นขึ้น เราจะเห็นค่าสีแดง เพราะตัวเลขต่ำลง ฉะนั้น ประชาชนอย่าตระหนกตกใจ แต่จะต้องเตรียมตัวตั้งรับ  ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม" รศ.ดร.ศิริมากล่าว

 

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ 

 

    มาตรการกฎหมายแก้วิกฤติฝุ่นได้ รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ และผู้ก่อตั้ง ThailandCan.org กล่าวว่า PM 2.5 ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพจากอากาศที่ไม่สะอาด อยากชวนให้คิดเรื่องกฎหมายอากาศสะอาด แรกที่ปัญหาฝุ่นพิษเข้ามามีดรามาเกิดขึ้น หลังนักวิชาการช่วยอธิบายเกิดเวทีเรียนรู้ร่วมกันและมีเป้าหมายร่วมกัน อากาศสะอาด ไม่ใช่ติดหล่มกับคำว่า “มลพิษทางอากาศ" มนุษย์ต้องการอากาศหายใจ หากอากาศปนเปื้อนมลพิษโดยเฉพาะฝุ่นพิษที่ WHO บอกเป็นตัวการตายก่อนวัยอันควร ทุกคนมีสิทธิได้รับอากาศสะอาด แต่ไม่มีการบัญญัติในกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เราสามารถตีความได้ สิทธิอากาศสะอาด แปลว่า เรามีคุณภาพชีวิตที่ไม่ย่ำแย่ เป็นสิทธิที่เรามีตลอดเวลาตั้งแต่เกิด สิทธิที่จะมีชีวิตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน หากมีสิ่งกระทบทำให้ใช้ชีวิตอย่างไม่ปกติสุข ต้องสวมหน้ากากหายใจไม่สะดวก สุขภาพย่ำแย่ ปอดทรุดโทรม มีงานวิจัยยืนยันประชากรกลุ่มเสี่ยงจะตายเร็วขึ้น ฝุ่นจิ๋วมองไม่เห็น คนจึงละเลย อดีตขาดการรายงานทั้งที่มีอานุภาพสูงทำลายอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย 
    “ ผลกระทบเหล่านี้เราไม่ได้ยินยอมถูกยัดเยียดและไม่มีการปกป้องชีวิตของประชาชน แถมมีผู้ได้ประโยชน์ ทางกฎหมายเรียกว่าความไม่เป็นธรรมและความไม่ยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม มันยิ่งกว่าแค่เหลื่อมล้ำ เป็นการยัดเยียดความตายไม่ชอบธรรมทางกฎหมาย ขณะนี้มีการเปิดประเด็นกฎหมายอากาศสะอาดสูตร reform Plus เพราะใช้กฎหมายหนึ่งฉบับแก้ปัญหาซับซ้อนของฝุ่นพิษไม่ได้ ต้องเป็นเครื่องมือคว้านลึกความรุนแรงเชิงโครงสร้าง " รศ.ดร.คนึงนิจ กล่าว
    นักกฎหมายจุฬาฯ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาแบบเดิมเป็นการแก้แบบเดิมๆ วนๆ เป็นการแก้ปัญหาเหนือน้ำ ไม่ได้คว้านลึกลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็ง เราต้องการเปลี่ยนโครงสร้าง จะมีแค่ดัชนีคุณภาพอากาศและร่าง พ.ร.บ.การจัดการอากาศสะอาดอย่างเดียวไม่พอ เพราะจะติดกับดักเดิมความรุนแรงเชิงโครงสร้างนั้นมองไม่เห็นชัดแบบความรุนแรงทางตรงมาจากความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ปลาใหญ่กินปลาเล็ก จะแก้ปัญหาวิธีคิดแบบเดิมๆ วนอยู่กับที่ไม่ไปไหน เช่น การนำคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมาประชุมกัน หรือเน้นกฎหมายเชิงลงโทษมากกว่าเชิงส่งเสริม คิดแต่เรื่องแก้ปลายน้ำโดยไม่ยอมแตะเรื่องต้นน้ำเวลานี้ ยิ่งแก้ยิ่งพันเป็นลิงแก้แห ทั้งมาตรการระยะสั้น กลางและยาว
    PM 2.5 เป็นภาพสะท้อนของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนของไทย นักกฎหมายคนเดิมบอกว่า ไทยไม่มีการบันทึกค่าเสียหายหรือความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ไม่มีกรีนจีดีพีจึงเติบโตแบบทำลายฐานทรัพยากร เราลงทุนทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง อีกทั้งกฎหมายส่งเสริมการลงทุนไม่ช่วยผ่องถ่ายภาระอันหนักอึ้งด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยาน แถมมีการทำกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้ส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายที่ส่วนกลางแบกรับแทนผู้ก่อมลพิษ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ก็ยังไม่ผ่าน ขอย้ำว่าประชาชนมีสิทธิคู่หน้าที่ มีหน้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม มีสิทธิไม่ตายก่อนวัยอันควร สิทธิในสุขภาพ สิทธิในอากาศสะอาด สิทธิที่จะหายใจสะอาด รัฐมีอำนาจคู่กับหน้าที่และความรับผิดชอบ 
    “ ขณะนี้เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทยกำลังดำเนินการเชิงกระบวนการจากล่างขึ้นบน เพื่อให้ภาคประชาสังคมตระหนักรู้ เข้าใจ และร่วมกันออกแบบโครงสร้างกฎหมายอากาศสะอาดที่ต้องการ เราไม่เร่งรีบ เพราะประชาชนยังไม่รู้สิทธิตัวเองชัดเจน ที่ผ่านมาคุยกับกลุ่มเหยื่อ กลุ่มเสี่ยงมลพิษ เก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ เพราะแหล่งกำเนิดมลพิษของแต่ละภาคต่างกัน ความหนักเบาปัญหาไม่เหมือนกัน ก่อนจะนำข้อมูลมาประมวลต่อจิ๊กซอว์ออกแบบกฎหมายนี้"
    รศ.ดร.คนึงนิจกล่าวอีกว่า สิทธิที่จะหายใจอากาศเป็นสิทธิที่ต้องค่อยเป็นค่อยไปในการจะเกิด แต่ไม่ใช่ยื้อเวลา  สิทธิของประชาชนก่อให้เกิดหน้าที่รัฐ ถ้ารัฐไม่ทำรัฐต้องรับผิดชอบ ประชาชนไปฟ้องศาลได้ถ้ารัฐไม่จัดการแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะไม่ยั่งยืนแล้ว ยังเป็นความล้มเหลวด้วย จึงจำเป็นที่ภาคประชาชนและนักวิชาการจะต้องเริ่มผลักดันให้มีกฎหมายอากาศสะอาดสูตร Reform plus ที่สามารถคว้านลึกความรุนแรงเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง เวลานี้มีเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทยมาช่วยกัน ถ้ายังไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ปีหน้าก็ต้องเผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 อีก รวมถึงนักสังคมศาสตร์มองว่า อย่าขู่ประชาชน ถ้าใช้ยาแรงแก้ปัญหาจะยอมมั้ย

รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันขนส่งจุฬาฯ 

 

    นอกจากจี้เรื่องกฎหมาย เวทีนี้ยังเสนอวิธีการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากภาคขนส่งผ่านมุมมอง รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันขนส่งจุฬาฯ กล่าวว่า ปริมาณฝุ่นพิษมีความสำคัญอย่างมากกับปริมาณการจราจรความชื้น ความเร็วลม นอกจากนี้ยังพบว่าตั้งแต่เวลาเที่ยงวันถึงสองทุ่มปริมาณฝุ่นน้อยกว่าช่วงดึกหลังเที่ยงคืน เพียงแต่เรามองไม่เห็น หากจะลดปริมาณฝุ่นในเมืองจากภาคขนส่ง ในส่วนรถใหม่ปี 2564 รัฐมีแผนกำหนดรถยนต์ใหม่ มีมาตรฐานไอเสีย EURO 5 และ EURO 6 และมีมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงที่สอดคล้องกัน แต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมอ.นำมาตรฐานไอเสีย EURO 4 มาใช้กับรถจักรยานยนต์ แสดงถึงความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตาม การยกระดับมีต้นทุนการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐาน แต่รัฐบาลยังขาดกลไก ไม่เคยพูดถึงต้นทุนทางสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ซึ่งเป็นการพัฒนาความยั่งยืน รัฐบาลต้องลงมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง 
    “ในไทยมีรถเมล์อายุ 20 ปีขึ้นไปมากกว่า 35% และใช้ดีเซลมากกว่า 77% ทำอย่างไรจะเกษียณรถเก่าเหล่านี้ออกจากระบบ ปัจจุบันไทยไม่มีกฎหมายกำหนดอายุรถโดยสาร เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย ในประเทศไทยรถโดยสารตรวจสภาพไม่ผ่านเกณฑ์มากกว่า 50% ซึ่งมาจากสาเหตุควันดำ" รศ.ดร.มาโนชกล่าว 
    สำหรับข้อเสนอในการลดฝุ่นและมลพิษอื่นๆ จากภาคขนส่ง ผอ.ศูนย์ความปลอดภัยชีวอนามัย กล่าวว่า ต้องยกระดับมาตรฐานรถใหม่และน้ำมันเชื้อเพลิงควบคู่กันไปมาตรการที่เป็นไปได้สำหรับรถเก่า จำกัดอายุรถอายุมากกว่า 10 ปีห้ามเข้าเขตเมือง ปรับเพิ่มภาษีรถอายุเกิน 7 ปีหรือ10 ปี รวมทั้งส่งเสริมให้ลดการใช้รถส่วนบุคคล ทดแทนรถเก่าด้วยรถใหม่คุณภาพสูง ปรับปรุงโครงสร้างและสถานะการเงินของ ขสมก. ส่งเสริมโครงข่ายรถเมล์ให้ทำหน้าที่เป็นระบบป้อนให้ระบบรถไฟฟ้าที่กำลังทยอยเพิ่มมากขึ้น เร่งแก้ปัญหาการเดินทางขาแรกและขาสุดท้าย ส่งเสริมทางเดินเท้า พัฒนาฟุตปาธและถนนให้ขับขี่จักรยานได้สำคัญ เพื่อให้ระบบรถไฟฟ้าที่ลงทุนมหาศาลได้ทำงานอย่างเต็มที่ 
    “ที่สำคัญการกำหนดค่าเป้าหมาย PM 2.5 และแผนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายที่ชัดเจน เมื่อไหร่ไทยจะมีอากาศสะอาด และอากาศสะอาดไม่ใช่ของฟรี มีต้นทางเศรษฐกิจ แต่สามารถจัดการได้ถ้านำต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมมาคำนวณร่วมด้วย ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันขับเคลื่อน นอกจากนี้การสื่อสารจากภาครัฐสู่ประชาชนต้องเป็นข้อเท็จจริง ถูกต้อง และแม่นยำ" รศ.ดร.มาโนช กล่าว 

 

คนกรุงเทพฯ สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นพิษ ลดผลกระทบต่อสุขภาพ


    วิธีอยู่รอดในสภาวะมลพิษ PM 2.5 ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ กล่าวว่า ขนาดที่เล็กมากของฝุ่น PM 2.5 ทะลุทะลวงเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ถ้าแบบเฉียบพลัน คือระคายเคืองอาการแพ้ แต่ที่น่ากังวลผลกระทบระยะยาวต่อระบบทางเดินหายใจ และฝุ่น PM 2.5 มีหลักฐานยืนยันชัดเจนก่อมะเร็งปอด จำเป็นต้องป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยสวมอย่างถูกวิธี เพราะเราต้องอยู่กับสภาพอากาศที่มีมลพิษ ไม่สวมขณะออกกำลังกายหรือนอน ปกติในอาคารที่เป็นระบบปิดฝุ่นน้อยกว่าภายนอกอยู่แล้ว แต่ต้องหมั่นทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศที่มีความสามารถในการกรองจับฝุ่นใช้ไส้กรองหรือระบบไฟฟ้าสถิตจะช่วยลดฝุ่นเ พิ่มคุณภาพอากาศได้ แต่เหมาะกับการใช้ในพื้นที่ปิดเท่านั้น ส่วนกิจกรรมการแจกหน้ากากที่หน่วยงานต่างๆ แจกจ่ายตามสถานที่ต่างๆ  รวมถึงศูนย์ความปลอดภัยอาชีวอนามัยฯ แจกหน้ากาก N95 ตามคณะต่างๆ ในจุฬาฯ เพิ่มจุดตรวจวัดค่าฝุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่มหาวิทยาลัย แม้จะไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่กระตุ้นให้รับรู้ปัญหามลพิษ รู้การใส่หน้ากากที่ถูกวิธี สร้างความตระหนักกับคนในองค์กร เห็นตรงกันถึงเวลาเรียกร้องสิทธิมีอากาศสะอาดหายใจ รวมถึงประชาชนต้องเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน 
    วิจัยเชิงรุกหาวิธีป้องกันการสูดฝุ่นมรณะ อีกความเคลื่อนไหวบรรเทาปัญหาสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ  รศ.ร.ต.อ.หญิง ภญ.ดร.สุชาดา สุขหร่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอผ่านเวทีนี้ว่า คณะเภสัชศาสตร์ผนึกกำลังกับวิศวกรรมศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ ทำงานวิจัยเชิงรุก เพราะฝุ่นพิษกระทบทางสุขภาพ โดยศึกษาบทบาทของตัวยาจากธรรมชาติในการลดอันตรายเมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายแล้วเพื่อเจือจางการเกิดพิษ เพราะฝุ่นก็เหมือนสารแขวนตะกอนในอากาศ ตัวยาทำให้ตกตะกอนและไม่ฟุ้ง แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ประสิทธิภาพงานวิจัย เราพัฒนามาได้ครึ่งทางแล้ว ก่อนจะส่งให้องค์การอาหารและยา (อย.) รับรองนวัตกรรม ตัวยานี้พ่นเพียง 7 นาทีจะเห็นผล ช่วยลดปริมาณฝุ่นเมื่อเกิดวิกฤติ การรวมพลังของทุกสาขาวิชาชีพสำคัญ นวัตกรรมนี้ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้ นวัตกรรมนี้ได้รับการบ่มเพาะจาก CU INNOVATION นอกจากนี้ กำลังวิจัยพัฒนาหน้ากากกันฝุ่นเพิ่มมูลค่า เราจะฝ่าฟันไปให้สำเร็จ

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"