แกะรอยปัญหาคดีการเมืองล่าช้า ล้างวิกฤติศรัทธาของประชาชน


เพิ่มเพื่อน    

 

        คำถามหนึ่งของผู้คนในสังคมหลังเสร็จสิ้นคำพิพากษาคดีสำคัญที่มักได้ยินกัน คือการถามด้วยความรู้สึกคับข้องใจ ว่าเหตุใดคดีหนึ่งๆ นั้นถึงช้าเหลือเกิน ผ่านไปกว่า 10 ปี ถึงเพิ่งมีคำพิพากษา หากเป็นศาลชั้นต้น ก็จะมีเสียงค่อนแคะกันทำนองว่ากว่าจะถึงอุทธรณ์ ฎีกา คงอีกหลายปี จำเลยตายก่อน สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมไทยที่มีมาน้อยโดยตลอด ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากการให้การศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมไทยน้อยมากในการศึกษาทุกระดับชั้น กับอีกส่วนหนึ่งคือความบกพร่องและจุดอ่อนของกระบวนการยุติธรรมไทยเอง ที่ประกอบกันจนเกิดวิกฤติศรัทธาขึ้นมา

                หากมีใครสักคนลองทำแบบสำรวจเพื่อวิจัยเรื่องเหล่านี้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจขั้นตอนการทำงานและองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม ก็คงพบปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งสมควรที่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะนำไปพิจารณาปรับปรุงหลักสูตร นอกจากนี้ คดีดังที่เดินไปช้าด้วยเหตุใดก็ตาม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ย่อมซ้ำเติมความรู้สึกของประชาชนทั้งบนความไม่รู้ไม่เข้าใจ และอุปสรรคที่สั่งสมเข้ามาเป็นเหตุ ล้วนไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดทั้งสิ้น

                กระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย 3 หน่วยใหญ่ที่มีหน้าที่ทำคดี ตั้งแต่ 1.ตำรวจ 2.อัยการ 3.ศาล การที่คดีจะเดินไปช้าหรือเร็ว ก็ต้องดูทั้ง 3 ส่วน รวมถึงตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเองที่ให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน มิใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งคดีสำคัญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากถึงความล่าช้าในปัจจุบัน คงไม่พ้นคดีประเภท “ชุมนุมทางการเมือง” ทั้งหลายนั่นเอง ท่ามกลางวิกฤติความแตกแยกทางการเมือง โดยเฉพาะช่วงปี 2548-2557 ที่นำมาสู่การลงท้องถนน รวมถึงการแสดงออกต่อต้านรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ในช่วงหลัง ทำให้นักการเมือง แกนนำและผู้ชุมนุมต้องเดินขึ้นสำนักงานอัยการและศาลจนทุกวันนี้

                ความล่าช้าของคดีประเภทนี้ มีเหตุที่ต้องคำนึงถึงที่ขณะเกิดวิกฤติใน 10 กว่าปีนั้น มันคงเป็นไปไม่ได้โดยง่ายที่ตำรวจจะดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุมในสถานการณ์ที่มีการปะทะและเปลี่ยนขั้วอำนาจกันบ่อยครั้ง จนกระทั่งเมื่อสถานการณ์สงบแล้ว การเดินหน้าดำเนินคดีทั้งหลายจึงไปต่อได้ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในทุกวันนี้ คดีทั้งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), กลุ่ม กปปส. และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โดยภาพรวมส่วนใหญ่ก็มาถึงชั้นศาลแล้ว มีเพียงบางกลุ่มบางคนที่ยังคงค้างในชั้นอัยการ

                ซึ่งในชั้นอัยการ อาทิเช่น ผู้ต้องหาบางคนในคดีกลุ่ม  กปปส. ไม่มาตามนัดส่งฟ้องคดี มีเหตุที่ใช้อ้างเลื่อนได้ และไม่เข้าข่ายการหลบหนี ก็ทำให้อัยการได้แต่เลื่อนนัด ไม่สามารถให้ตำรวจขอศาลออกหมายจับได้ แน่นอนว่าเหตุเช่นนี้ก็มีส่วนทำให้คดีเดินไปได้ช้า จากการไม่ร่วมมือของผู้ต้องหาเอง ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างทางกฎหมายหรือปัญหาขั้นตอนปฏิบัติงานในชั้นอัยการหรือไม่ นอกจากนี้ พอนึกไปถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐบาล คสช. ก็มักมีเหตุต้องเลื่อนสั่งคดีกันหลายครั้ง ระหว่างรอตำรวจสอบเพิ่ม กลายเป็นภาระผู้ต้องหาและทนายที่ต้องลำบากเดินทางมารายงานตัวระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็กลับ น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ต้องพิจารณาแก้ไขความล่าช้าและภาระในส่วนนี้อย่างยิ่ง

                ขณะที่ในชั้นศาล ตามขั้นตอนแล้วนั้น กระบวนการในศาลชั้นต้นจะมีส่วนที่ช้าโดยปกติ คือการนัดสืบพยาน จำเป็นต้องใช้เวลาหลายเดือนในการเตรียมพยานหลักฐาน พยานบุคคลเข้าสืบต่อสู้คดีทั้งฝ่ายโจทก์-จำเลย เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน ไม่สามารถที่จะเร่งให้เสร็จโดยเร็วมากได้อยู่แล้ว  ส่วนการต่อสู้ในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา โดยปกติไม่ต้องสืบพยานบุคคลเพิ่ม เป็นการนำข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาสู้กันต่อ ขั้นตอนในการอุทธรณ์และฎีกาจึงสั้นกว่าศาลชั้นต้น ซึ่งนโยบายประธานศาลฎีกาปัจจุบัน กำหนดให้คดีในศาลชั้นต้นต้องเสร็จในเวลา 2 ปี ศาลอุทธรณ์ในเวลา 6 เดือน และศาลฎีกาในเวลา 1 ปี

                อุปสรรคความล่าช้าของคดีในชั้นศาล เห็นได้ชัดในช่วงของการนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา กรณีที่จำเลยถูกพิพากษาจำคุกจาก 2 ชั้นศาลมาแล้ว ศาลฎีกาคือจุดสุดท้ายที่อาจจะต้องเข้าคุกอย่างแท้จริง ทำให้มักมีจำเลยไม่มาศาลโดยอ้างเหตุป่วยเป็นเรื่องปกติ คดีจึงถูกเลื่อนอ่านคำพิพากษาให้ช้าออกไป หรือมีการใช้เทคนิคทางกฎหมาย เช่นกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ อย่างคดี นปช.ชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาฯ ซึ่งทำให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาไปได้ และล่าสุดคดีนี้ยังเลื่อนเป็นครั้งที่ 3 ด้วยเหตุส่งหมายให้จำเลยที่ไม่มาศาลไม่ได้ เพราะมีการย้ายที่อยู่ กรณีนี้จึงเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงความล่าช้าที่มาจากตัวจำเลย ยิ่งมีหลายคนยิ่งเหมือนจับปูใส่กระด้ง ตรงนี้ในส่วนของศาลและฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องพิจารณาว่า ควรจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่ออุดช่องว่างเหล่านี้หรือไม่ เพราะผลกระทบก็ตกอยู่กับกระบวนการยุติธรรมเอง

                ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การที่คดีล่าช้าหลายปี แต่ละกรณีมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากหลายฝ่ายประกอบกัน ซึ่งสมควรที่จะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ ให้สามารถทำคดีได้เร็วขึ้นตามเป้าหมาย ลดช่องทางประวิงคดีของผู้ต้องหาและจำเลยลงไป หรือหากคดีใดที่สามารถสั่งไม่ฟ้องในชั้นอัยการได้ก็สมควรที่จะทำทันที มิให้เป็นคดียืดเยื้อสร้างภาระแก่ผู้ต้องหาที่เป็นนักการเมือง แกนนำและผู้ชุมนุมทางการเมือง เพื่อฟื้นคืนศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมกลับมา.

 

  นายชาติสังคม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"