ระเบิดศึกซักฟอก อภิปรายไม่ไว้วางใจ


เพิ่มเพื่อน    

 

ซักฟอกมีใบเสร็จน็อกรัฐบาล  สภาไล่ไม่ได้ แต่ประชาชนจะขับไล่เอง 

                ตลอดช่วงสัปดาห์หน้า แวดวงการเมืองต่างพุ่งเป้าความสนใจไปที่ศึกซักฟอก การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่จะเป็นการกลับมาอีกครั้งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังห่างหายไปจากการเมืองไทยร่วม 7 ปี นับจากการอภิปรายครั้งสุดท้ายสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงปี 2556  โดยศึกซักฟอกรอบนี้ ฝ่ายค้านมีการโหมโรงมาเป็นแรมเดือนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็มีการเตรียมการตั้งรับกันแน่นหนา ทำให้คาดว่าการเมืองไทยตลอดสัปดาห์หน้านี้จะมีความเข้มข้นระดับหนึ่ง

                วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ อดีตประธานรัฐสภา และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่น อดีต รมว.มหาดไทย, อดีต รมว.คมนาคม, อดีต รมว.เกษตรฯ, อดีตรองนายกฯ ที่อยู่ในถนนการเมืองไทยมาร่วม 40 ปี ย้ำว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ ฝ่ายค้านมีหลักฐานชัดเจนแบบที่การเมืองเรียกกันว่า เป็นใบเสร็จที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีบางคนแน่นอน ซึ่งหากรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่สามารถชี้แจงประเด็นข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านได้ ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและต่อตัวรัฐมนตรีคนดังกล่าว จนเกิดเป็นกระแสประชาชนไม่ยอมรับตามมา

                "ฝ่ายค้านได้เตรียมตัวเป็นอย่างดีในการอภิปรายครั้งนี้ เรามีความพร้อม ต่างฝ่ายต่างก็ทำหน้าที่ ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็ทำหน้าที่ในการที่จะชี้แจงต่อประชาชน จากนั้นประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าหลักฐานของฝ่ายค้านพอเพียงหรือไม่ และการชี้แจงของฝ่ายรัฐบาลรับฟังได้หรือไม่ ส่วนการลงมติ ก็เป็นกติกา ส่วนการลงคะแนนเสียง ทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็ชนะทุกครั้ง แต่ไม่ใช่ว่าชนะอย่างเดียว แต่หลังจากนั้น ที่ผ่านมาก็ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีลาออก หรือยุบสภาตามมา เพราะผลที่ตามมาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มันเป็นผลต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในทางการเมือง

ส.ส.ฝ่ายค้านที่จะขึ้นอภิปรายเขาก็รับรองเรื่องหมัดเด็ด เพราะเป็นโอกาสที่ดี ที่ตัว ส.ส.ฝ่ายค้านที่จะลุกขึ้นอภิปราย ตัวเขาก็ต้องสอบให้ผ่าน จึงต้องทำการบ้านก่อนอภิปรายเต็มที่ รัฐบาลก็เช่นกัน ก็เป็นโอกาสของรัฐมนตรีที่ต้องทำงานเก่งและต้องตอบฝ่ายค้านให้ได้ ไม่ใช่ว่ามาทำงานมั่วๆ เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ทุจริตอย่างไร ก็จะมีการชี้ให้เห็น

                บ้านเมืองก็เป็นแบบนี้ ที่ก็ดีกว่ายุคที่ไม่มีสภา เพราะเมื่อไม่มีสภาก็ไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากรัฐบาลชี้แจงไม่ได้ ประชาชนก็จะตำหนิ อยู่ไม่ได้ หากตอบไม่ได้ จะอยู่ได้ยังไง เพราะประชาชนเดือดร้อน หากตอบไม่ได้ เขาก็บอกกันว่าตอบไม่ได้ แล้วอยู่ได้ยังไง ในเมื่อเขาเดือดร้อน พูดตรงๆ สภาขับไล่ไม่ได้หรอก แต่ประชาชนจะขับไล่เอง หากประชาชนไม่ต้อนรับ เขาก็ต้องไปเอง ใครจะหน้าด้านอยู่ได้ "

                ...เชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ประชาชนจะไม่ผิดหวัง จะเห็นได้ว่าฝ่ายค้านมีความตั้งใจ มีการเตรียมการกันมานานเป็นเดือน เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้เป็นการอภิปรายครั้งแรกของฝ่ายค้านชุดนี้ในการทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หากฝ่ายค้านทำหน้าที่ไม่ได้ดี ฝ่ายค้านก็เสีย ฝ่ายค้านจึงตั้งใจจะทำให้ประชาชนเห็นประจักษ์ให้ได้ว่าได้ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ว่า ไม่ตั้งใจทำงาน ทำแค่ไปฟังคนเล่ามา แล้วหยิบหนังสือพิมพ์มาอภิปราย แบบนี้ไม่ได้ แต่ต้องทำงานแบบเจาะลึก

...ช่วงที่ผ่านมา ในการทำหน้าที่ในสภาของฝ่ายค้านชุดนี้ จากที่ผมทำงานการเมืองมาร่วม 40 ปี ก็ไม่ผิดหวังในพวกเดียวกันคือฝ่ายค้าน แน่นอนว่าอาจจะมีข้อบกพร่องอะไรบ้าง แต่ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่อย่างดีในการเป็นฝ่ายค้าน ในอดีตคนมักจะพูดกันว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ดี พรรคการเมืองอื่นสู้ประชาธิปัตย์ไม่ได้ แต่ก็พบว่าการทำงานของฝ่ายค้านรอบนี้ หลายพรรคการเมืองในซีกฝ่ายค้านบทบาท เช่น การอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน

                ...สิ่งที่ประชาชนจะได้จากการอภิปรายครั้งนี้ ก็คือฝ่ายค้านจะมีการชี้ช่องให้เห็นว่ารัฐบาลบกพร่องอย่างไร และควรให้รัฐบาลบริหารประเทศอยู่ต่อไปหรือไม่ เพื่อมาแก้ปัญหาประชาชนในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องปัญหาปากท้อง การดำเนินการในเรื่องการให้สิทธิเสรีภาพ ประเทศเราตอนนี้มีปัญหาเยอะ ทั้งเรื่องภัยแล้ง ปัญหาฝุ่นละออง แล้วก็ยังมีปัญหาเรื่องคุณธรรมจริยธรรมที่อยู่ท่ามกลางความเศร้า การท่องเที่ยวที่กำลังทำท่าจะดีตอนนี้ก็หยุดชะงักลง ไม่มีอะไรที่ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกที่ดี ก็ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านจะได้ชี้ประเด็นต่างๆ ออกมา โดยหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้นลงแล้วหากรัฐบาลกลับไปปรับปรุงตัวเสียใหม่ ก็ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบหน้าก็อาจจะไม่มีน้ำหนักก็ได้

                หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวต่อไปว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านครั้งนี้จะมีความเข้มข้นในเรื่องของเนื้อหาในการอภิปราย เพราะข้อมูลเนื้อหาที่อ่อนๆ ฝ่ายค้านได้มีการตัดออกไป ยืนยันได้ว่าข้อมูลที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายจะเป็นเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน เชื่อได้ว่าเมื่อประชาชนได้เห็นและรับทราบข้อมูลทั้งหมดของฝ่ายค้าน ก็คิดว่ารัฐบาลรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายถึงจะชนะการออกเสียงในสภา แต่หลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลง ก็เชื่อว่าคงจะต้องมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะคงอยู่ยาก หากนายกรัฐมนตรีไม่ปรับคณะรัฐมนตรีหรือปรับวิธีการทำงานใหม่ เพราะข้อมูลของฝ่ายค้านจะมีความชัดเจนในการแสดงให้เห็นว่าการทำงานของรัฐบาลด้อยประสิทธิภาพและไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาที่ใหญ่ๆ ของประเทศ เช่น เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

                ฝ่ายค้านจะอภิปรายโดยชี้ให้ชัด จะมีการชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องและคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ไม่เหมาะสมในการที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะข้อมูลของฝ่ายค้านก่อนจะนำมาสู่การอภิปรายครั้งนี้เรามีการพูดคุยกันหลายรอบ ไม่ใช่ว่าใครอยากจะพูดอะไรก็ได้ แต่เรามีการพูดคุยกันในแต่ละพรรคของพรรคร่วมฝ่ายค้านก่อน จากนั้นแต่ละพรรคก็นำข้อมูลดังกล่าวไปหารือกันในที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านจนเห็นว่าข้อมูลเพียงพอในการอภิปราย

ยันซักฟอกทุจริตมีใบเสร็จโชว์

                เมื่อถามว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเรื่องทุจริต ตามที่เขียนไว้ในญัตติที่ยื่นต่อประธานสภา มีข้อมูลชัดเจนหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาชาติ ระบุว่า มีเรื่องทุจริต บริหารงานบกพร่อง ขาดคุณธรรม จริยธรรม เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น รธน.ฉบับแรกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งรัฐมนตรี ส.ส.และ ส.ว. เพราะฉะนั้นเราต้องหยิบประเด็นที่ รธน.บัญญัติเรื่องให้นักการเมืองมีจริยธรรม ฝ่ายค้านเห็นว่าตอนที่ผู้นำรัฐบาลเวลานี้ สมัยทำรัฐประหารปี 2557 อ้างว่านักการเมืองไม่ดี ขาดคุณธรรม จริยธรรม เมื่อ รธน.บัญญัติออกมาแล้วเราก็เห็นว่า รธน.ยังมีข้อบกพร่องด้านนี้ ทั้งหมดเราจะอภิปรายให้เห็นในสภา

                "ข้อมูลของฝ่ายค้านเป็นข้อมูลใหม่ที่เมื่อเรานำมาอภิปรายในสภา ก็คิดว่าประชาชนคงจะยอมรับ ให้รัฐมนตรีคนนั้นยังอยู่เป็นรัฐมนตรีต่อไปคงไม่ได้ เพราะทั้งหมดเป็นข้อมูลที่ชัดเจน เรียกได้ว่าเป็นข้อมูลที่มีใบเสร็จ เพราะถ้าทุจริตต้องมีใบเสร็จ เพราะการอภิปรายถ้าพูดเรื่องทุจริต คนพูดต้องมีหลักฐานมีใบเสร็จ ทุกอย่างต้องมีหลักฐาน เพราะตอนนี้เป็นการอภิปรายในยุคใหม่แล้ว จะมาอภิปรายกันแบบน้ำท่วมทุ่ง เอามันส์เข้าว่าคงไม่ได้ ประชาชนไม่ฟังแล้วแบบนั้น การอภิปรายรอบนี้ต้องอภิปรายที่มีจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันด้วยหลักฐาน ส่วนการปฏิบัติงานที่ไม่มีคุณธรรม จริยธรรม แม้ไม่มีใบเสร็จ แต่ฝ่ายค้านจะชี้ให้เห็นชัดว่าเข้าข่ายกับ รธน.ในมาตราใด"

                -ฝ่ายค้านมั่นใจว่าจะเปิดแผลนายกฯ และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายได้?

                คือเอาเป็นว่ามีน้ำหนักก็แล้วกัน ตอนนี้ยังพูดอะไรไม่ได้ เพราะตัวรัฐมนตรีเขาอาจจะชี้แจงได้ก็ได้ แต่เราก็คิดว่ายาก เพราะหากเอาหลักฐานเป็นใบเสร็จมายืนยันมันก็ยาก เราต้องการให้ประชาชนทั้งประเทศเห็นว่า รัฐบาลมีข้อบกพร่องในเรื่องอะไรที่เราได้เขียนตั้งญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเอาไว้ ทั้งเรื่องการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ เรื่องการไม่ซื่อสัตย์สุจริต ในเรื่องการไร้คุณธรรมและไร้ซึ่งจริยธรรมในการบริหารประเทศ รวมถึงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ที่หลักฐานเราก็มีในเรื่องนี้

                ส่วนในญัตติที่ขอเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรี ที่พูดถึงเรื่องการแก้ปัญหาภาคใต้ของนายกฯ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ เราก็จะอภิปรายโดยมีหลักฐานมาแสดงให้ชัดเจน ก็จะมีการอภิปรายให้เห็นว่าการแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้มีความคืบหน้า ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่มีการพูดกัน ก็จะมีหลักฐานใหม่ๆ ก็ขอให้รอฟังการอภิปราย ส่วนที่ถ้อยคำในญัตติที่ระบุพฤติการณ์ของนายกฯ และรัฐมนตรีที่อาจดูรุนแรง ก็มองว่าเป็นเรื่องปกติที่ผ่านมาการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแต่ละครั้งก็เขียนกันแบบนี้ เป็นญัตติเรียกแฟน หากเขียนกันแบบธรรมดาๆ ใครจะสนใจ แต่ว่าเวลาอภิปรายต้องอยู่ในขอบเขตของญัตติ ในอดีตยังเคยมีเขียนรุนแรงกว่านี้อีก จนบางทีอ่านญัตติของฝ่ายค้านแล้วยังคิดว่ารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่าว่าแต่จะเป็นรัฐมนตรีต่อไปเลย จะเป็นคนยังไม่ได้เลย แต่การอภิปรายประธานสภาก็จะดูว่าจะให้มีการอภิปรายอย่างไรอยู่แล้ว เพราะหากไปอภิปรายในสิ่งที่ไม่ได้เขียนในญัตติ ประธานก็อาจจะพิจารณาเห็นว่าสิ่งที่อภิปรายไม่เห็นเขียนไว้ในญัตติ จึงจำเป็นที่ญัตติต้องเขียนกว้างๆ ไว้

                "ญัตติการขออภิปรายไม่ไว้วางใจ หากเป็นการประหารชีวิตก็คือการประหารชีวิตในทางการเมือง ที่ก็คือต้องถูก ป.ป.ช.สอบสวน ต้องถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือเป็นโทษหนักทางการเมือง ไม่ใช่โทษทางคดีอาญา ประหารชีวิต เพราะอย่างเรื่องใบเสร็จทุจริตคอร์รัปชัน ก็ต้องนำไปสู่ ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ต้องส่งเรื่องไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ"

                หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวต่อว่า การอภิปรายรอบนี้ ที่เบื้องต้นฝ่ายค้านจะอภิปรายกันสามวันสามคืน สำหรับตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่รู้เลยว่านายกฯ จะอยู่ทนได้ถึงสามวันหรือไม่ เพราะพลเอกประยุทธ์ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เช่นเดียวกับอีก 5 รมต. ที่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อโดนอภิปรายหนักๆ จะมีสติปัญญา สติในการที่จะตอบในเรื่องที่ถูกอภิปราย แต่เราก็อยากให้เมื่อข้อมูลที่เราอภิปรายไป ก็อยากให้ รมต.ได้ตอบเต็มที่ เพราะเป็นโอกาสได้ชี้แจง เพราะประชาชนจะเชื่อการอภิปรายของฝ่ายค้านหรือการตอบของรัฐมนตรีก็อยู่ที่หลักฐานของฝ่ายค้านและการชี้แจงของ รมต. ซึ่งหากรัฐมนตรีตอบได้ดี ประชาชนก็อาจศรัทธา อยากให้รัฐบาลทำงานต่อก็ได้ แต่หากชี้แจงตอบไม่ได้เรื่อง แม้รัฐมนตรีจะชนะตอนโหวตลงมติ ก็ไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญ เพราะหากตอบไม่ได้ ประชาชนจะรับไม่ได้ เพราะหลายครั้งในอดีต ที่พอจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ก็มีทั้งการปรับ ครม.-รัฐบาลลาออกหรือยุบสภาฯ แล้วรอบนี้อภิปรายกันสามวันสามคืน และเป็นการอภิปรายสมัยใหม่ ที่ฝ่ายค้านจะมีเอกสารหลักฐานที่นำมาแสดงให้เห็นได้ โดยเท่าที่ประเมินคิดว่าการอภิปรายรอบนี้ คนที่จะถูกอภิปรายหนักสุดก็คงเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนคนอื่นๆ ก็ตามลักษณะการทำงานที่มีการแบ่งตามอำนาจหน้าที่

                -ในฐานะอดีต รมว.มหาดไทย เท่าที่ได้ติดตามการทำงานพลเอกอนุพงษ์ ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย หลายปีที่ผ่านมาการทำงานในตำแหน่ง มท.1 มาร่วม 6 ปี และเท่าที่เห็นข้อมูลที่จะอภิปรายพลเอกอนุพงษ์เป็นอย่างไรบ้าง?

                เท่าที่ทราบจาก ส.ส.ฝ่ายค้านที่จะอภิปราย เขาก็บอกว่าเขามีหลักฐานค่อนข้างจะชัดเจนในเรื่องไม่ตรงไปตรงมา ท่านก็มีหน้าที่ชี้แจง ผมเองก็เคยเป็น รมว.มหาดไทย ก็รู้ว่าเราทำอะไร สมัยผมเป็นรัฐมนตรีผมไม่เคยกลัวเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเรารู้ว่าเราบริสุทธิ์ใจในการทำ และไม่เคยคิดโกงบ้านโกงเมือง เราก็ต้องตอบได้ 

                การอภิปรายครั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีชื่อรัฐมนตรีจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจถึง 9 คน แต่ฝ่ายค้านคุยกันแล้ว เห็นว่าคนไหนน้ำหนักยังอ่อนอยู่ก็ตัดออกไป คนที่เหลือที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงมีน้ำหนัก แต่จะหนักแค่ไหนอยู่ที่การอภิปราย ที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปราย พลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตร และพลเอกอนุพงษ์ พร้อมกันไม่ใช่เพราะเป็นเรื่อง 3 ป. แต่เกิดขึ้นจากหลักฐาน ไม่ได้อภิปรายโดยตั้งใจให้ทั้ง 3 คนแตกความสามัคคี แต่พอดีว่าฝ่ายค้านมีหลักฐานเกี่ยวกับ 3 คนนี้ก็ต้องอภิปราย อีกทั้งตอนพิจารณาว่าจะอภิปรายใคร เราไม่ได้เอาเรื่องของพรรคการร่วมรัฐบาลเป็นตัวตั้งแต่เราเอาเรื่องการทำงานของรัฐมนตรีเป็นตัวตั้ง ไม่ได้คิดไปว่าจะอภิปรายรัฐมนตรีพลังประชารัฐกี่คน จะต้องอภิปรายรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์หรือไม่ ฝ่ายค้านก็นำข้อมูลมากางดูกันหมด จนได้ข้อสรุปอภิปรายไป 6 คนรวมนายกฯ เพียงแต่ทั้งหมดอยู่ในฝ่ายพลังประชารัฐ ฝ่ายค้านไม่ได้คิดแต่ว่าจะต้องอภิปรายคนของพลังประชารัฐ เพราะหากมีรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองอื่นที่ทำงานบกพร่อง สมควรอภิปราย เราก็ต้องอภิปราย คือพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลอื่นอาจจะมี แต่ฝ่ายค้านที่มาดูข้อมูลแล้วเห็นว่ายังไม่มีน้ำหนักพอ และเราคิดว่าหลังอภิปราย หากรัฐบาลยังอยู่ต่อไป การอภิปรายครั้งนี้ย่อมไม่ใช่ครั้งสุดท้าย คนที่ถูกอภิปรายรอบนี้หากข้อมูลของฝ่ายค้านชัดเจน แต่เขายังเอาไว้ให้เป็นรัฐมนตรีต่อไป ก็เป็นเรื่องของเขา แต่รัฐมนตรีคนอื่นที่ยังไม่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ก็อาจเป็นรอบหน้าก็ได้

กางประวัติศาสตร์การเมือง ซักฟอกย้อนหลังได้ตั้งแต่เริ่มเกิด

                สำหรับการอภิปรายที่จะมีขึ้น ซึ่งฝ่ายวอร์รูมรัฐบาล โดยเฉพาะทีมงานการเมืองทั้งที่เป็น ส.ส.และไม่ได้เป็น ส.ส.ของพลังประชารัฐย้ำว่า ไม่ควรมีการอภิปรายย้อนหลังไปถึงยุค คสช.โดยเฉพาะการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ไม่เช่นนั้นอาจจะมีการประท้วงนั้น เรื่องนี้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่าฝ่ายค้านสามารถอภิปรายย้อนหลังได้แน่นอน โดยยกตัวอย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีตขึ้นมาแสดงเหตุผลในเรื่องนี้ โดยบอกว่าตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายคน เช่น พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นรัฐมนตรีตั้งแต่ยุค คสช. บริหารงานมาแล้ว 5 ปีต่อเนื่องจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน การอภิปรายที่รัฐบาลจะมาห้ามไม่ให้อภิปราย เรื่องนี้ต้องทำตามข้อบังคับ ไม่ใช่ใครจะมาห้ามกันได้ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับ

                ในฐานะเคยเป็นอดีตประธานสภาเคยนั่งอยู่บังลังก์ประธานสภาฯ และยังเป็นอดีต รมต.ที่ถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย ก็เห็นว่าข้อบังคับการประชุมสภาฯ ที่มีเรื่องของการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยเฉพาะ พบว่าไม่ได้มีการเขียนไว้ว่าให้อภิปรายได้แค่ไหน อย่างไร

                "หากรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมีข้อบกพร่องในการบริหารงานตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว แต่ข้อมูลนั้นยังไม่เคยถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ สภาฯ ยังไม่เคยลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนนั้น ฝ่ายค้านย่อมสามารถอภิปรายได้"

                ...ยกตัวอย่างเช่น สมัยผมเป็นรัฐบาลในรัฐบาลท่านบรรหาร ศิลปอาชา ตอนนั้นฝ่ายค้านคือพรรคประชาธิปัตย์ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ บรรหาร ฝ่ายค้านก็อภิปรายตั้งแต่เรื่องนายบรรหารเกิดที่ไหน ยกกระดาษมาหนึ่งแผ่น บอกว่ามีเอกสารหลักฐานชัดเจนอ้างว่าไม่ได้เกิดเมืองไทย เกิดที่เมืองจีน เลยขาดคุณสมบัติที่จะเป็นนายกฯ ก็คืออภิปรายถึงขั้นว่าเกิดที่ไหนได้ อันนี้ยกตัวอย่างให้เห็น เรื่องนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชวน หลีกภัย ย่อมจำได้ เพราะตอนนั้นท่านเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แล้วท่านบรรหารก็ชี้แจงโดยมีเอกสารต่างๆ เช่น ใบเกิดอะไรต่างๆ แล้วก็ชนะได้รับเสียงไว้วางใจ แต่สุดท้ายท่านก็ยุบสภาฯ

                ...หรืออีกหนึ่งตัวอย่าง สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทย ก็อภิปรายไม่ไว้วางใจอภิสิทธิ์เรื่องใบ สด. 9 ปลอม ไม่ได้ไปเกณฑ์ทหาร ก็คืออภิปรายเรื่องเก่าตั้งแต่ยังไม่ได้เข้ามาเล่นการเมือง แล้วก็ลงมติกันไป เมื่อมารอบนี้การอภิปรายของฝ่ายค้านไม่ได้จะมาอภิปรายพลเอกประยุทธ์เรื่องการเกณฑ์ทหารอะไร แต่จะมาอภิปรายว่าสมัยรัฐบาล คสช.ที่ทำรัฐประหารมา ได้ทำอะไรไปบ้างที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ฝ่ายค้านจึงย่อมอภิปรายได้ ไม่ใช่จะมาปิดปากให้อภิปรายเฉพาะแค่ช่วงรัฐบาลปัจจุบันที่อยู่มา 6 เดือน เพราะ รธน.ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้นำเรื่องเก่ามาอภิปราย ข้อบังคับก็ไม่ได้ห้าม แล้วธรรมเนียมปฏิบัติในอดีตก็เห็นแล้วว่าทำได้ การอภิปรายย้อนหลังจึงทำได้ ไม่เห็นแปลก เพราะขนาดไปอภิปรายอ้างว่าท่านบรรหารเกิดที่เมืองจีน ยังไปรู้มากกว่าตัวเขาเสียอีก แล้วท่านบรรหารก็มาชี้แจง ซึ่งเรื่องล้มล้างรัฐธรรมนูญ พลเอกประยุทธ์ก็ต้องมาตอบว่าจริงๆ เป็นอย่างไร

                ...และที่บอกว่าหากฝ่ายค้านจะอภิปรายเรื่องเก่า จะมีองครักษ์พิทักษ์มาเสนอให้ปิดอภิปราย เป็นการพูดแบบลอยๆ ทำไม่ได้ เพราะการอภิปรายรอบนี้ฝ่ายค้านยื่นไป 6 คน สมมุติว่าฝ่ายค้านอภิปรายพลเอกประยุทธ์ยังไม่จบ แล้วมาอ้างว่าตกลงกันไม่ได้ เพราะมีการอภิปรายย้อนเรื่องเก่าแล้วจะใช้เสียงข้างมากขอปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทันที แต่ในข้อบังคับเขียนว่า หลังจากการอภิปรายเสร็จสิ้น ให้ไปลงมติกันในวันรุ่งขึ้น ในเมื่อยังไม่มีการอภิปราย และฝ่ายค้านยังไม่อภิปรายสรุป แล้วจะมาขอลงมติได้อย่างไร เพราะหากเป็นแบบนี้ถือว่าญัตติยังไม่ครบถ้วน ปิดประชุมไม่ได้ ยกเว้นแต่จะปิดอภิปรายตัวบุคคลได้ เช่น หากอภิปรายพลเอกประยุทธ์จนสมควรแล้ว และมีการเสนอในที่ประชุมว่า ประเด็นเริ่มวน ซ้ำประเด็นแล้ว จนมี ส.ส.หารือต่อที่ประชุมว่า เห็นควรให้ยุติการอภิปราย แต่ว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ เช่น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พลเอกอนุพงษ์ ยังไม่ได้อภิปราย ก็ยังปิดอภิปรายไม่ได้ เพราะเป็นญัตติอภิปรายรายบุคคล

                ดังนั้นต้องอภิปรายให้ครบถ้วน จนมีการสรุปคนสุดท้าย แล้วไปโหวตในวันรุ่งขึ้น รัฐบาลจึงไม่ควรกังวลมากเกินไป เพราะการทำงาน รัฐมนตรี นายกฯ ก็ทำกับมือ เขาก็ต้องตอบได้ อย่างผมเป็นรัฐมนตรี ผมก็ต้องย่อมอยากให้ฝ่ายค้านอภิปราย จะได้มีโอกาสชี้แจง เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องปกติของสภาฯ ในระบอบประชาธิปไตยที่ฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่มีหลายอย่าง เช่น การยื่นกระทู้สด การอภิปรายโดยไม่ลงมติ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

                ทั้งหมดเป็นกระบวนการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าไม่มีการอภิปรายสิ มันเรื่องประหลาด หากเป็นฝ่ายค้านแล้วตรวจสอบรัฐบาลไม่ได้ แต่หากรัฐบาลทำงานได้ดี หาข้อบกพร่องไม่ได้ แล้วมาอภิปรายกลั่นแกล้ง แบบนั้นประชาชนก็จะประณามฝ่ายค้าน เพราะประชาชนมีตา มีหูที่จะฟังได้ ก็เป็นการทำงานตรวจสอบคนเป็นรัฐมนตรีด้วย ไม่ใช่ทำงานได้อย่างเดียว แต่ต้องชี้แจงเป็นด้วย คนเป็นรัฐมนตรีก็ต้องมีคุณสมบัติพิเศษ ทำงานเก่ง มีความซื่อสัตย์ มือสะอาด แล้วชี้แจงได้เคลียร์ หากชี้แจงไม่เคลียร์ก็ไม่ควรจะเป็นต่อ

เชื่อจบอภิปรายขั้นต่ำต้องปรับ ครม.

                อดีตประธานสภา กล่าวถึงเรื่องการรับมือของฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะการตั้งทีมวอร์รูม ทีมองครักษ์คอยประท้วงฝ่ายค้านว่า ทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คนฝ่ายรัฐบาลก็ต้องแสดงท่าทีห่วงใยกันในฐานะพวกเดียวกัน แต่ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไรสำหรับคนที่จะอภิปราย เพราะฝ่ายค้านจะอภิปรายในกติกาโดยมีประชาชนคอยติดตาม ซึ่งการอภิปรายรอบนี้จะตื่นเต้นมากกว่าในอดีต เพราะจะมีเช่นการนำเสนอข้อมูลผ่านแผ่นชาร์ตต่างๆ ในห้องประชุม ซึ่งเมื่อฝ่ายค้านอภิปรายอยู่ในกรอบ หากจะมีองครักษ์มาประท้วงแบบไม่เป็นเรื่องเป็นราวก็จะเสียเวลาเปล่าๆ ควรเอาเวลาไปให้รัฐมนตรีตอบชี้แจงฝ่ายค้านจะดีกว่า ไม่เช่นนั้นอาจทำให้การอภิปรายยืดเยื้อ รอบนี้การอภิปราย ส.ส.อาจอภิปรายกันไม่มากแต่ใช้เวลาแต่ละเรื่องให้มันเคลียร์ จึงไม่ได้อยากให้มาประท้วงกันระหว่างการอภิปราย เพราะหากฝ่ายค้านอภิปรายไม่ดีเอง ประชาชนก็จะลงโทษฝ่ายค้าน แต่หากรัฐบาลตอบได้ดี รัฐบาลก็ได้คะแนน เพราะก็มีหลายครั้งหลายหนที่รัฐบาลตอบได้ดี เขาก็ได้คะแนน

                ...สำหรับการปรับคณะรัฐมนตรีหลังการอภิปรายเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี แต่ในฐานะผมอยู่ในการเมืองไทยมา 40 กว่าปี หลายครั้งที่ผ่านมาการปรับ ครม.ก็เกิดหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ บางทีก็มีนายกรัฐมนตรีลาออก อย่างเช่นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยแรก พออภิปรายเสร็จ เรื่อง ส.ป.ก.ยังไม่ทันโหวตก็ยุบสภาก่อน เพราะพรรคร่วมรัฐบาลบอกว่าไม่ไหว คุณชวนก็เลยยุบสภาเพื่อให้ไปเลือกตั้งกันใหม่ หรือกรณีสมัยท่านบรรหาร ศิลปอาชา ก็ยุบสภาเพื่อให้ไปเลือกตั้งใหม่ หลายครั้งก็มีการอภิปรายหลังอภิปรายเสร็จก็ปรับ ครม. ไม่เคยเห็นการอภิปรายครั้งใดเสร็จสิ้นแล้วรัฐบาลจะอยู่ในสภาพเดิม เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือการชี้ช่องให้รัฐบาลเห็นว่ารัฐบาลมีข้อบกพร่องอย่างไร

                -หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจจบลง หากนายกฯ ไม่ปรับ ครม.หรือทำอะไรเลยจะเป็นอย่างไร จะอยู่ยากไหมในทางการเมือง?

                ก็คิดว่าคืออยู่ได้ แต่จะอยู่แบบไหน อยู่แบบประชาชนไม่ยอมรับ คนเป็นนายกรัฐมนตรีย่อมไม่สบายใจ เขาก็ต้องหาวิธีการให้เขาอยู่ได้ ซึ่งการอยู่ได้ก็มีหลายอย่าง การปรับคณะรัฐมนตรีก็เป็นอีกวิธีการหนึ่ง โดยที่การปรับ ครม.ก็ไม่ได้เสียหายอะไร ถือว่าเป็นโอกาสของรัฐบาล เพราะตอนนำมาทำงานใน ครม. ตอนแรกก็ยังไม่รู้ความสามารถของแต่ละคน แต่เมื่อทำงานไปสักระยะก็เห็นว่ามันควรเปลี่ยนคนได้บ้าง ก็เป็นโอกาสทำได้ เพราะหากอยู่ดีๆ นายกฯ ไปปรับเขาเลย คนโดนปรับก็อาจคิดว่าทำไมมาปรับ แต่เมื่อถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายก็จะทำให้นายกฯ ถือโอกาสปรับ ครม. เพื่อให้ ครม.มีความเข้มแข็งทำงานได้ดียิ่งขึ้น ก็เป็นโอกาสของนายกฯ ที่พอปรับหลังอภิปรายแล้ว รัฐบาลก็ทำงานดีขึ้น ก็อยู่ต่อไปอีกสักระยะ จึงเป็นโอกาสดีที่นายกฯ จะได้มีโอกาสคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีกันบ้าง

                หัวหน้าพรรคประชาชาติ-พรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน กล่าวอีกว่า ฝ่ายค้านก็มีการป้องกันไม่ให้ประเด็น ข้อมูลการอภิปรายรั่วไหลก่อนการอภิปรายจะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งเรื่องการพยายามหาข่าวจาก ส.ส.รัฐบาลกับ ส.ส.ฝ่ายค้าน มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะ ส.ส.ก็รู้จักกัน เป็นเพื่อนฝูงกันทั้งนั้น ก็อาจมีมาสอบถามแต่คงไม่ได้ข้อมูลอะไรลึกๆ ทั้งหมด เช่นจะอภิปรายอย่างไร เพราะ ส.ส.ฝ่ายค้านเขาเก็บข้อมูลของเขามาเอง บางคนก็เก็บตัว ขนาดในพรรคด้วยกันเองเขายังไม่ให้รู้เลยว่าคนนั้นจะอภิปราย ก็จะไม่ให้รู้ว่าอภิปรายประเด็นใดบ้าง เขาก็จะไปเตรียมตัว อาจมีคนรู้บ้างก็เช่นหัวหน้าพรรค แต่เขาก็คงขอว่าไม่ขอเล่าให้ฟังทั้งหมด 

                ส่วนกรณีเสียงโหวตไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านจะแตกแถวหรือมีงูเห่าหรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่ทราบ เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองในฝ่ายค้านต้องว่ากันเอง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรถึงฝ่ายค้านผนึกกำลังกัน เสียง ส.ส.ไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านก็ไม่ชนะรัฐบาล เพราะฝ่ายรัฐบาลเสียงเยอะกว่าและมีงูหลายตัว ฝ่ายค้านไม่ได้มุ่งหวังว่าจะชนะด้วยเสียงโหวต แต่ต้องการให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเพื่อให้ประชาชนได้ชั่งน้ำหนัก ว่ารัฐบาลควรจะทำอย่างไรต่อไป เพราะว่าผลการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ที่ต่อเนื่องมาจากยุคคสช. ผมก็เชื่อว่าความเดือดร้อนของประชาชนปรากฏทั่วไปอยู่แล้ว ฝ่ายค้านก็เพียงชี้จุดต่างๆ ให้เห็นว่าประชาชนเดือดร้อนอย่างไร

เตรียมขับงูเห่าหลังเปิดตัวเข้า พปชร.

                หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวปิดท้ายถึงการดำเนินการกับนายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี  พรรคประชาชาติ ที่ลงมติออกเสียงโหวตเรื่องต่างๆ ในห้องประชุมสภาที่ขัดกับแนวทางของพรรคประชาชาติ และล่าสุดไปปรากฏตัวในงานนัดกินข้าวร่วมกับ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐเมื่อเร็วๆ นี้ว่า พรรคประชาชาติได้ตั้งกรรมการสอบสวนนายอนุมัติก่อนหน้านี้แล้ว โดยกรรมการได้เรียกนายอนุมัติมาชี้แจงแต่เขาไม่ยอมเดินทางมา โดยเรียกมาสามครั้งแต่ก็ไม่มาและทำเพียงแค่ทำหนังสือชี้แจง ก็ต้องรอดูผลสรุปของคณะกรรมการว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ผมก็คิดว่าเราคงต้องดำเนินการไปตามกรอบข้อกฎหมายเหมือนกับที่พรรคการเมือง เพราะเมื่อมี พ.ร.บ.พรรคการเมืองและมีข้อบังคับพรรคประชาชาติ  เราก็ต้องทำตามกติกา เมื่อเขาไม่เต็มใจอยากจะอยู่กับพรรคประชาชาติต่อ ต้องการจะไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่นก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ประชาชนในเขตเลือกตั้งก็ต้องตัดสินใจว่าเมื่อตอนเลือกตั้งเขาลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคประชาชาติ ประชาชนเลือกเขาในนามพรรคประชาชาติ พรรคไม่ได้ทำผิดอะไร  เพียงแต่อยากจะได้อะไรบางอย่างจากรัฐบาลซึ่งไม่ใช่อุดมการณ์ เมื่อไม่มีอุดมการณ์อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร

                "การเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนในพื้นที่จะตัดสินใจเองว่าใครผิดใครถูก และครั้งหน้าจะเลือกคนแบบนี้อีกหรือไม่ วันนี้พูดง่ายๆ ตรงๆ เมื่อเขาไม่อยากอยู่ก็ไม่รู้จะให้อยู่ต่อทำไม แต่การดำเนินการเราก็ต้องมีเหตุผลแจ้งต่อ กกต.ถึงการให้พ้นจากพรรคประชาชาติ เพราะจะลาออกเองก็ไม่ได้ จะพ้นจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. พรรคก็ต้องดำเนินการขับออก".

ญัตติซักฟอก ในศึกปะทะเดือด 'รัฐบาล VS ฝ่ายค้าน'

                สำหรับการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับ 5 รัฐมนตรีในคณะรัฐบาล ที่ฝ่ายค้านนำโดยสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย  ประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเมื่อวันที่ 31 มกราคม มีรายละเอียดของญัตติดังกล่าวบางส่วนดังนี้

                "...ขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๕๑ ตามรายนามดังต่อไปนี้

๑.พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

๒.พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

๓.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

๔.พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

๕.นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

๖.ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์"

                ทั้งนี้ ในเอกสารญัตติดังกล่าวระบุพฤติการณ์ที่ฝ่ายค้านเห็นว่าสมควรนำไปสู่การขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจดังนี้           

"พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัมนตรีและรัมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เป็นผู้ไม่ยึดมั่นและศรัทธาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ล้มล้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญใช้อำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรมละเมิดหลักนิติธรรมและสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างกว้างขวางเป็นผู้นำประเทศที่กร่างเถื่อน มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู ปิดปากผู้ที่มีความเห็นต่าง ชอบก่นด่าเมื่อถูกซักถาม เมื่อได้อำนาจมาโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็สร้างกลไกในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อมุ่งสืบทอดอำนาจของตนเอง

                ปล่อยให้มีการทุจริตเต็มบ้านเต็มเมืองใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง บริวารและพวกพ้องเข้าข้างคนชั่วที่เป็นพวก โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม บริหารราชการแผ่นดินโดยขาดความรู้ความสามารถผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ขาดคุณธรรมจริยธรรมแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรมเรียกได้ว่าเป็นยุคยุติธรรมหมด ตรงบังคับใช้กฎหมายโดยเลือกปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักความเสมอภาค

                ไม่เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญไม่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เปิดเผย ไม่มีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม

                มีการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติทุจริตต่อหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

                ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังใช้งบประมาณของรัฐสร้างคะแนนนิยมให้กับตนเองและพรรคการเมือง โดยมิได้คำนึงถึงภาระด้านงบประมาณของประเทศเป็นยุคเงินกำลังจะหมดคลัง ไม่ยึดตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ลุแก่อำนาจ ขาดภาวะผู้นำ ไม่เสริมสร้างให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุก และสามัคคีปรองดองกัน แต่กลับสร้างความขัดแย้งให้ขยายวงกว้างล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการดูแลด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจกับประชาชนทุกภาคส่วนจนก่อให้เกิดสภาพ 'รวยกระจุก จนกระจาย' ประชาชนสิ้นหวัง

                ให้ความสำคัญกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่าปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ล้มเหลวในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลอกลวงประชาชนไม่ทำตามนโยบายที่พรรคการเมืองที่สนับสนุนตนหาเสียงไว้ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ราคาพืชผลทางการเกษตรและลดภาษีเงินได้ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์การบริหารราชการแผ่นดินของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งผลกระทบและความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างกว้างขวางเป็นยุคที่ทุจริตเฟื่องฟู น้ำกำลังจะหมดเขื่อน มวลอากาศเป็นพิษเต็มเมืองเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงหากปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงจนประเทศถึงแก่ความล่มจมได้

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัมนตรี

ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและพวกพ้อง ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัมนตรี

ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านกฎหมายได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายด้านการเงินแก่รัฐจำนวนมาก บังคับใช้และตีความกฎหมายโดยไม่ยึดหลักการและบรรทัดฐานที่ถูกต้องจนทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องของอภินิหาร ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือและเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ชี้นำการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระและไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรงล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพขาดคุณธรรมและจริยธรรมมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ ฉ้อฉล ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง บริวารและพวกพ้อง กลั่นแกล้งข้าราชการประจำ ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ประจำของข้าราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างกว้างขวาง จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายละเว้นไม่ดำเนินการตามกฎหมายใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

                ดอน ปรมัตถ์วินัย รัมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

                บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรงล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพขาดคุณธรรมและจริยธรรม มีพฤติการณ์ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ประจำของข้าราชการเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องโดยมิใช่อำนาจหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามครรลองที่กำหนดไว้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทข้ามชาติส่อว่าจงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงนำพาชาติเข้าสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศและไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรงล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพขาดคุณธรรมและจริยธรรมไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทำตัวเป็นผู้มีอิทธิผลปกป้องพวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ.

..........................................................

          


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"