ถลุงบิ๊กตู่-ทุบเจ้าสัว ยกแรกอภิปรายไม่ไว้วางใจ


เพิ่มเพื่อน    

 

           ผ่านไปแล้วกับแมตช์แรกของศึกซักฟอก การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เปิดฉากกันไปเมื่อวันจันทร์ที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยการอภิปรายจะไปสิ้นสุดในช่วงพฤหัสบดีที่ 27 ก.พ. และลงมติในวันศุกร์ที่ 28 ก.พ.

                ฉากแรกของศึกซักฟอก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กับ 5 รัฐมนตรี ที่ฝ่ายค้านโหมโรงว่าเป็น ศึกยุทธการรุ่งอรุณ ประมวลตั้งแต่เริ่มต้นการประชุมสภาฯ จนถึงช่วงเย็นย่ำ ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน กองเชียร์รัฐบาลก็คงบอกว่างานกร่อย ไม่สมราคุย ข้อมูลฝ่ายค้านไม่เห็นจะมีอะไรเด็ด เป็นแค่เวทีฝ่ายค้านใช้เวลาสภาฯ ด่าแหลก บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ โดยเนื้อหา ประเด็นไม่มีอะไรใหม่ เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องที่คนที่ติดตามการเมืองก็รู้มาก่อนแล้ว เช่น เรื่องการซื้อขายที่ดินของครอบครัว จันทร์โอชา กับบริษัทแห่งหนึ่ง ไม่ใช่ประเด็นใหม่ อีกทั้งเห็นว่าลีลาการอภิปรายของฝ่ายค้านก็เยิ่นเย้อ วกวน ไม่สามารถอธิบายเรื่องให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายๆ ขณะที่กองเชียร์ฝ่ายค้าน กลุ่มไม่ชอบพลเอกประยุทธ์และรัฐบาลย่อมเห็นแย้ง และคงส่งเสียงว่าฝ่ายค้านทำหน้าที่พอไปได้ กับการปอกเปลือก ชำแหละนายกฯ ได้ดุเด็ดเผ็ดมัน

                อันเป็นเรื่องปกติ ที่ใครเชียร์ฝ่ายไหน ก็ต้องบอกว่าฝ่ายตัวเองทำหน้าที่ได้ดี 

                ไฮไลต์ของการอภิปรายวันแรกในช่วงต้น หลัง สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย-ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ เปิดหัวถล่มแหลกบิ๊กตู่ ผ่านการใช้ถ้อยคำกระทบกระเทียบแบบแสบๆ คันๆ ตามสไตล์รุ่นใหญ่

                จากนั้น “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร" ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ดาบแรกของฝ่ายค้าน ก็ไล่ฟาด บิ๊กตู่ ร่วม 2 ชั่วโมงกว่า ซึ่งเนื้อหาโดยสรุปในคำอภิปรายของ ยุทธพงศ์ ก็คือการอภิปรายโดยเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อพยายามจะสื่อสารออกมาว่า การซื้อขายที่ดินย่านบางบอนของครอบครัวจันทร์โอชา กับบริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่มีการทำนิติกรรมซื้อขายกันในราคาร่วม 600 ล้านบาท โดยการชี้ประเด็นว่า การซื้อขายที่ดินดังกล่าวอาจไม่ชอบมาพากล เพราะแม้จะมีการซื้อขายในช่วงปี 2556 ที่ตอนนั้นพลเอกประยุทธ์ยังเป็น ผบ.ทบ. ยังไม่ได้เข้ามาเป็นหัวหน้า คสช. แต่ก็อาจมีการเอื้อประโยชน์กันภายหลังระหว่าง นายกฯ กับเจ้าสัว หลังพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ เช่น การเอื้อประโยชน์เรื่องที่ดิน-อาคารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่เป็นบริษัทเอกชนในเครือของเจ้าสัว ที่ยุทธพงศ์ระบุกลางที่ประชุมสภาฯ ว่า คือ เจ้าสัวเจริญ

                “ที่ดินดังกล่าวเป็นบ่อตกปลา ต้องถมดิน ต้นทุนรวมทั้งราคาที่ดินและที่ต้องใช้ในการถมดินร่วมเกือบหนึ่งพันล้านบาท แต่พบว่าที่ดินดังกล่าวจนถึงตอนนี้ยังไม่มีการทำอะไร ที่ดินแปลงดังกล่าวซื้อแล้วทำอะไรไม่ได้ เพราะอยู่ในพื้นที่สีเขียว โดยหลังมีการซื้อขายที่ดิน ก็พบว่าในบัญชีทรัพย์สินของพลเอกประยุทธ์มีเงินอยู่ในบัญชี 400 กว่าล้านบาท เรื่องนี้เป็นธุรกรรมที่น่าสงสัย เพราะมีการซื้อขายในราคาแพงเกินไป อีกทั้งบริษัทดังกล่าว เพิ่งตั้งบริษัทก่อนการซื้อขายแค่เจ็ดวัน แล้วไปนำเงินจากไหนมาร่วมหกร้อยกว่าล้านบาท เรื่องนี้จึงพัวพันกับเจ้าสัว เพราะเป็นการซื้อขายกับเจ้าสัว”

                โดย ยุทธพงศ์ ยังได้กล่าวในระหว่างการอภิปรายและแสดงหลักฐานเรื่องการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท 69 ดังกล่าวว่า มีความเชื่อมโยงกับบริษัทบางแห่งที่ไปจดทะเบียนที่บริติช เวอร์จิ้น และเป็นเครือข่ายของบริษัทขนาดใหญ่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าสัวคนดัง และการซื้อขายที่ดินดังกล่าวก็นำไปสู่การต่อสัญญากับบริษัทเอกชนที่บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยต่อสัญญาออกไปอีก 50 ปี ทั้งที่บริษัทผิดสัญญากับกรมธนารักษ์ที่ไม่สามารถสร้างโรงแรมในพื้นที่ได้ เมื่อต่อสัญญาออกไปก็ทำให้การทำโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างโครงการ NEW CBD BANGKOK หลังมีการย้ายโรงงานยาสูบออกไปเพื่อสร้างสวนสาธารณะ ทำให้ฝ่ายที่ได้ประโยชน์คือบริษัทเอกชนที่ก่อสร้างทำโครงการต่างๆ ในพื้นที่โดยรอบศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในโครงการ  NEW CBD BANGKOK ที่ก็คือเครือข่ายบริษัทของเจ้าสัว จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทของเจ้าสัว ทำให้นายกฯ มีพฤติการณ์ขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนตน

                นอกจากนี้ ยุทธพงศ์ ยังอภิปรายเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอส ทั้งที่สัญญาปัจจุบันยังเหลืออีกร่วมสิบปี แต่กลับมีการออกคำสั่ง คสช.จนนำไปสู่การแก้ไขสัญญาสัมปทานบีทีเอสออกไปอีกร่วมสามสิบปี จนทำให้การดำเนินโครงการได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน จึงเห็นว่าทั้งหมดไม่ได้หยุดที่เจ้าสัวคนเดียว แต่เป็นเรื่องระหว่างเจ้าสัวคนแรกไปสู่เจ้าสัวคนอื่นๆ

                อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์ก็ได้ใช้สิทธิ์ชี้แจงโดยทันควัน หลังนายยุทธพงศ์อภิปรายเสร็จสิ้นลง ที่เนื้อหาการชี้แจงก็เป็นการชี้แจงหักล้างคำอภิปรายของฝ่ายค้านทุกประเด็น ในเรื่องการซื้อขายที่ดิน

                "ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่บ่อตกปลา เป็นที่ดินแปลงใหญ่ร่วม 50 ไร่ มีถนนเลียบข้างหน้า จนต่อมาบิดาได้มีการติดป้ายประกาศขายที่ดินตั้งแต่ปี 2554 ก็มีคนมาติดต่อขอซื้อหลายราย แต่ก็ไม่ได้ขาย จนบริษัทดังกล่าวมาขอซื้อ ซึ่งผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริษัทของใคร เพราะตอนนั้นผมเป็น ผบ.ทบ. ผมก็ไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัวและไม่คิดว่าจะไปเอื้อประโยชน์กับใครได้ในอนาคต ราคาที่ดินดังกล่าวในท้องตลาดอยู่ที่ 609 ล้านบาท แต่ปี 2562 ขึ้นมาเป็น 812 ล้านบาท ก็เป็นการซื้อขายตามราคาตลาด มีการเสียภาษีถูกต้อง"

                ขณะที่ประเด็นที่ถูกพาดพิงเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องสัญญาเช่าบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทางพลเอกประยุทธ์ก็มอบหมายให้รัฐมนตรีบางคน เช่น วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ช่วยชี้แจง ที่สรุปก็คือย้ำว่า รัฐบาลทำทุกอย่างโดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนแต่อย่างใด

                อย่างไรก็ตาม สุดท้ายการจะประเมินว่าเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ ฝ่ายไหนจะเรียกคะแนนจากประชาชนได้ดีกว่ากัน คงต้องรอดูกันจนถึงวันสุดท้าย แต่ฝ่ายค้านก็คงต้องคิดหนักไม่น้อยว่า หากอภิปรายกัน 4 วันแล้ว ไม่มีหมัดน็อก หมัดเด็ดขย่มนายกฯ และ 5 รมต.ได้ แทนที่รัฐบาลจะอาการหนัก ฝ่ายค้านนั่นแหละที่จะงานกร่อย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"