36อาจารย์นิติมธ.แย้งศาล ‘9งูเห่าอนค.’ซบภูมิใจไทย


เพิ่มเพื่อน    

 กกต.รับทราบคำสั่งศาล รธน.ยุบอนาคตใหม่ สั่งสำนักงานคัดคำวินิจฉัยส่วนตนก่อนดำเนินคดีอาญา ไล่บี้ 32 พรรคแจงกู้เงิน "ศรีสุวรรณ" ร้องเร่งฟันซ้ำ "ธนาธร-กก.บห." พร้อมยึดเงินเข้ากองทุน 36 อาจารย์นิติศาสตร์ มธ.ร่อนแถลงการณ์แย้งศาล 4 ประเด็น

    ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานได้รายงานให้ทราบกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากเหตุกู้เงินจำนวน 191.2 ล้านบาทจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ที่ กกต.จะต้องแจ้งให้พรรคอนาคตใหม่ปฏิบัติ โดยในส่วนของการดำเนินคดีอาญา ที่ประชุม กกต.ได้ให้สำนักงานไปขอคัดคำวินิจฉัย รวมถึงคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทุกคน เพื่อพิจารณาว่ามีกี่ประเด็นที่เข้าข่าย กกต.ต้องดำเนินคดีอาญา เนื่องจากการดำเนินคดีอาญาจะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ
    ส่วนการปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายหลังศาลมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา  เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง จะประกาศคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อห้ามไม่ให้บุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ ภาพเครื่องหมายของพรรคอนาคตใหม่ซ้ำ หรือพ้องกับชื่อ  ชื่อย่อ ภาพ เครื่องหมาย ของพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบตามมาตรา 94 วรรคสอง และจะออกหนังสือแจ้งไปยังหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้ส่งบัญชีและงบแสดงฐานะทางการเงิน รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินของพรรคกลับมายังนายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ  เพื่อแจ้งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินชำระบัญชีให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน 
    โดยหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ รวมถึงแจ้งให้ทราบว่า ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ไม่ได้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องไปสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ หากไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายในระยะเวลาดังกล่าวได้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนด 60 วัน ดังกล่าวตามมาตรา 101 (10)
    สำหรับกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบ 32 พรรคการเมืองที่มีการกู้เงินในลักษณะเดียวกันกับพรรคอนาคตใหม่ก่อนหน้านี้ นายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีหนังสือไปยังทั้ง 32 พรรคเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่ผ่านมา ให้ชี้แจงว่ารายการกู้ยืม เงินทดรองจ่าย เงินยืม ที่แสดงในรายการงบการเงินของพรรคปี 2561 ที่ยื่นต่อ กกต.นั้น เป็นการกู้แบบใด ยอดเงินที่มีการแจ้งนั้นเป็นการกู้จากบุคคลเดียว หรือเป็นยอดรวมที่กู้จากหลายบุคคล และกู้ในช่วงเวลาใด ก่อนหรือหลังการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560
    ในช่วงเช้า นายศรีสุวรรณกล่าวภายหลังเข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. ขอให้พิจารณาดำเนินคดีอาญากับพรรคอนาคตใหม่และนายธนาธร กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค จากเหตุพรรคกู้ยืมเงินจำนวน 191.2 ล้านบาทว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าพรรคอนาคตใหม่มีการกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 66 จะมีโทษทางอาญา ตามมาตรา 124 และ 125 ซึ่งเป็นโทษทางอาญา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงคือ กกต. ที่ต้องไต่สวน สอบสวน เพื่อรวบรวมข้อมูลหลักฐานดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ตามมาตรา 66 การที่มีผู้บริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาท กกต.จะต้องดำเนินการเรียกเงินที่เกินกฎหมายกำหนดเข้าสู่กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองต่อไป 
      นายศรีสุวรรณเปิดเผยด้วยว่า แต่ละพรรครายงานยอดเงินมาที่ กกต.ไม่เหมือนกัน แต่มีอยู่ 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ที่รายงานยอดเงินเกินกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งจะเอาผิดได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับ กกต.  หากไม่ดำเนินการหรือหากละเลย เพิกเฉย จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
นิติฯ มธ.แย้งศาลยุบ อนค.
     วันเดียวกัน คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ โดยมีข้อสังเกตและความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยและการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวในประเด็นดังต่อไปนี้ 
    1.พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน จึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ เมื่อพิจารณาลักษณะพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จะพบว่า กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้พรรคการเมืองสามารถใช้อำนาจมหาชนหรือใช้อำนาจรัฐในลักษณะที่มีอำนาจเหนือหรืออำนาจฝ่ายเดียว หากแต่ทำหน้าที่เพียงรวบรวมและก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน เพื่อให้มีโอกาสในการเข้าไปใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจมหาชนต่อไปเท่านั้น รวมทั้งพรรคการเมืองไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี หรือฝรั่งเศส พรรคการเมืองทั้งหลายต่างมีสถานะเป็นเพียงนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนทั้งสิ้น ดังนั้นการกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองในฐานะนิติบุคคลนั้นจึงสามารถทำได้ จึงไม่เห็นด้วยกับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า เมื่อไม่มีกฎหมายอนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ เงินกู้นั้นจึงเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560
    2.การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพโดยแท้ของเจ้าหนี้และคู่สัญญา การที่เจ้าหนี้ตกลงไม่คิดดอกเบี้ยเลย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ เป็นแต่เพียงการที่เจ้าหนี้ไม่ประสงค์จะเรียกค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืมหรือค่าเสียโอกาสในการหาประโยชน์จากเงิน แต่ไม่ทำให้เจ้าหนี้สูญเสียหรือเสียหายในทางทรัพย์สิน จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติทางการค้า ดังจะเห็นได้จากการที่มาตรา 7 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในกรณีที่มีการตกลงคิดดอกเบี้ยในหนี้เงิน แต่ไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ นั่นหมายความว่า ถ้าคู่สัญญาไม่คิดดอกเบี้ยเลย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าร้อยละ 7.5 กฎหมายก็ไม่เข้าไปแทรกแซง และปล่อยให้เป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญา จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า การไม่คิดอัตราดอกเบี้ยหรือคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นเรื่องปกติ ด้วยเหตุนี้การให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่ากฎหมายกำหนด จึงไม่ใช่การบริจาคหรือการให้ประโยชน์อื่นใด ตามนัยของมาตรา 66 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หากแต่เป็นหนี้สินที่พรรคการเมืองอาจก่อขึ้นได้ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน
    3.ข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่สามารถปรับเข้ากับมาตรา 72 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้  ศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ได้เชื่อมโยงการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่าสิบล้านบาท ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสอง เข้ากับมาตรา 72 วรรคสอง ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพื่อให้ศาลมีอำนาจในการออกคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) คณาจารย์นิติศาสตร์มีความเห็นว่า มาตรา 72 ไม่อาจนำมาใช้ตีความประกอบกับมาตรา 66 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้   เนื่องจากความมุ่งหมายของมาตรา 72 คือ การห้ามพรรคเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันมาจากการกระทำกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังเช่น เงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดอาญาหรือจากการค้ายาเสพติด เป็นต้น 
    ส่วนความมุ่งหมายตามมาตรา 66 นั้น เป็นการกำหนดจำนวนเงินอย่างสูงหรือเพดานการรับเงินรายได้ที่เป็นเงินบริจาค ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่เกินมูลค่าสิบล้านบาทต่อปี เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริจาครายใดใช้กลไกดังกล่าวในการครอบงำการดำเนินการของพรรคการเมือง เมื่อการกระทำตามมาตรา 66 ไม่อาจถูกเชื่อมโยงเข้ากับมาตรา 72 ได้ หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินที่ได้รับมานั้นมีแหล่งที่มาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของพรรคการเมืองตามมาตรา 66 จึงไม่ใช่เหตุในการยุบพรรคการเมืองได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) แต่อย่างใด
ตีความ กม.ต้องเป็นธรรม
    4.ความสำคัญของพรรคการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตย กับการใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ คณาจารย์นิติศาสตร์มีข้อสังเกตประการสำคัญต่ออำนาจในการออกคำสั่งยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องการยุบพรรคการเมืองตามหลักการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้น เกิดจากแนวคิดในเรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยจากภยันตรายอย่างร้ายแรงที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยไปสู่การปกครองในระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จหรือเผด็จการ จึงถูกใช้เฉพาะที่ได้ความอย่างชัดแจ้งและปราศจากข้อสงสัยว่าพรรคการเมืองหรือกลุ่มทางการเมืองกระทำการในลักษณะที่ต้องการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น โดยหลักแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะต้องจำกัดอำนาจตนเองในการใช้อำนาจยุบพรรคการเมือง หากไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งเช่นว่านั้น 
    แม้ว่าคณาจารย์นิติศาสตร์จะเคารพในแนวทางการตีความและการใช้ดุลยพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่าน แต่ตระหนักดีว่า นักวิชาการกฎหมายย่อมมีภาระหน้าที่ในการค้นหาแนวทางในการใช้และตีความกฎหมายที่เหมาะสมและเป็นธรรมที่สุด และนำเสนอแนวทางในการใช้และตีความดังกล่าวให้บรรดานักกฎหมายและสังคมได้ขบคิดพิจารณา เนื่องจากการใช้และการตีความกฎหมายที่เป็นธรรมเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐในสังคม คณาจารย์นิติศาสตร์เชื่อว่าปัญหาทางการเมืองไทยที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนานจะได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยการใช้การตีความกฎหมายอย่างถูกต้องและเป็นธรรม และระบอบประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ได้หากนักกฎหมายทำหน้าที่โดยปราศจากอคติ และผู้คนในสังคมร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลและความอดทนอดกลั้น
    สำหรับคณาจารย์นิติศาสตร์ที่ร่วมลงชื่อแถลงการณ์ดังกล่าว จำนวน 36 คน ได้แก่ 1.รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ 2.รศ.ดร.สุปรียา แก้วละเอียด 3.รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์  4.ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี 5.ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ 6.รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท 7.อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ  8.อ.คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร 9.ผศ.ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย 10.รศ.ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร 11.ดร.อำนาจ  ตั้งคีรีพิมาน 12.อ.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม 13.อ.กิตติภพ วังคำ 14.ผศ.สุรศักดิ์ บุญเรือง 15.อ.มาติกา วินิจสร  16.อ.ภัทรพงษ์ แสงไกร 17.รศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ 18.ศ.ดร.สุเมธ สิริคุณโชติ 19.รศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ 20.อ.ยศสุดา หร่ายเจริญ 21.ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต 22.ผศ.ดร.ตามพงษ์ ชอบอิสระ 23.ดร.ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี 24.ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง 25.อ.เอื้อการย์ โสภาคดิษฐพงษ์ 26.ศ.ดร.สหธน รัตนไพจิตร 27.อ.กีระเกียรติ พระทัย 28.อ.ฉัตรดนัย สมานพันธ์ 29.อ.ปทิตตา ไชยปาน 30.ดร.พนัญญา  ลาภประเสริฐพร 31.ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ 32.อ.สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ 33.ดร.นัษฐิกา ศรีพงษ์กุล 34.อ.พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ 35.อ.สุประวีณ์ อาสนศักดิ์ 36.อ.ปวีร์ เจนวีระนนท์
    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งนัดชุมนุมว่า "ไม่เห็นมีอะไร ขอให้ระมัดระวังกฎหมายอื่นๆ ด้วยแล้วกันถ้าชุมนุมกันภายนอก"
    เมื่อเวลา 19.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมรัฐสภาระหว่างที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ  ปรากฏว่ามี ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 9 คน ไปนั่งอยู่ฝั่งเดียวกับที่นั่ง ส.ส.พรรคภูมิใจไทย รวมทั้งบางคนยังไปร่วมรับประทานอาหารที่ห้องรับรอง ส.ส.พรรคภูมิใจไทย โดย ส.ส.ทุกคนติดบัตรที่หน้าอก แต่ได้คว่ำบัตรปิดชื่อของตัวเองไว้ ประกอบด้วย นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี ส.ส.กทม. เขต 23, ร้อยตำรวจตรี มณฑล โพธิ์คาย ส.ส.กทม. เขต 10, นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ ส.ส.กทม. เขต 21, นายเอกการ  ซื่อทรงธรรม ส.ส.แพร่ เขต 1, นายอนาวิล รัตนสถาพร ส.ส.ปทุมธานี เขต 3, นายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 1, นายฐิตินันท์ แสงนาค ส.ส.ขอนแก่น เขต 1, นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ,   นายสำลี รักสุทธี ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    ทั้งนี้ หนึ่งใน ส.ส.อนาคตใหม่เปิดเผยถึงสาเหตุที่ ส.ส.เหล่านี้ย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย เพราะเป็นพรรคที่เน้นการทำงาน ประกอบกับสภาพแวดล้อมของพรรคอยู่กันแบบพี่แบบน้อง ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นหรือยศถาบรรดาศักดิ์ จึงทำให้เกิดความสบายใจ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"