รธน.ฉบับหมกเม็ด ปูทาง 'คสช.' กินรวบ


เพิ่มเพื่อน    

หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ประเทศไทยได้เริ่มกลับเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากรัฐประหารสู่ระบอบประชาธิปไตย พร้อมกับคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

ขณะเดียวกันยังพบความเคลื่อนไหวของภาคีแม่น้ำ 4 สาย และภาคีเครือข่ายทหารที่ค่อยๆ เผยโฉมว่าต้องการปูทางให้ทหารสืบทอดอำนาจภายหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกลไกของรัฐธรรมนูญที่อ้างว่าเป็นฉบับปราบโกง แต่แท้จริงพบว่ามีหลายประเด็นมีการหมกเม็ดและค่อยๆ ทยอยเปิดกลไกที่ซ่อนเร้นเอาไว้

เริ่มตั้งแต่ระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนเป็น ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยมีเป้าหมายคือ ไม่ยินยอมให้พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวกุมเสียงข้างมากในสภาอย่างที่ไทยรักไทยและเพื่อไทยเคยทำมาแล้ว

รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังกำหนดให้วุฒิสภาสรรหาที่มาจากการคัดเลือกของ คสช.จำนวน 250 คนมีบทบาทดูแลประเทศ โดยเฉพาะมีอำนาจเห็นชอบนายกฯ ในระยะเวลา 5 ปีหลังการเลือกตั้งเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ หรือตัวแทนจาก คสช.กลับเข้ามาเป็นนายกฯ คนนอก เว้นแต่พรรคการเมืองสามารถจับมือกันได้ 376 เสียงก่อน

นอกจากนี้กฎหมายสูงสุดยังกำหนดให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาต้องเดินตามกรอบกติกาต่างๆ เช่นปฏิรูปประเทศอย่างน้อย 5 ปีผ่านมาตรา 257-261 ของ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 อาทิ ปฏิรูปการเมือง, การบริหารราชการแผ่นดิน, กฎหมาย, กระบวนการยุติธรรม, การศึกษา และด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น

รวมทั้งรัฐบาลยังต้องดำเนินกิจกรรมทางการเมืองให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีผ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 65, 142, 162 และ 275 และ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 เช่น การเสนองบประมาณต้องมาพร้อมแหล่งที่มาของเงิน และนโยบายต่างๆ ต้องคำนึงถึงยุทศาสตร์ชาติอีกด้วย โดยขั้นตอนหลักเกณฑ์และรายละเอียดต่างๆ จะอยู่ในความรับผิดชอบของ สนช.เป็นผู้กำหนด

โดยมีวุฒิสภา 250 คนคอยติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และ ครม.ต้องแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนดังกล่าวต่อรัฐสภาให้ทราบทุกสามเดือน หากไม่ทำตาม ส.ว.สามารถยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและเอาผิดได้

กฎหมายระดับตัวแม่ยังกำหนดบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไว้ด้วย อาทิ ป.ป.ช., กกต., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจมากกว่าเดิมเพื่อตรวจสอบ และติดตามการบริหารงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยคุณสมบัติของ ส.ส.และรัฐมนตรี แทนของเดิมที่ให้อำนาจวุฒิสภาสามารถถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยลงโทษใครได้

รวมทั้งทำงานเชิงรุกเข้าไปตรวจสอบ เสนอแนะหรือให้ความเห็น โดยไม่ต้องรอให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนได้ส่วนเสียยื่นร้องเรียนจึงจะสามารถทำงานได้ รวมทั้งอำนาจสั่งฟ้องคดีขององค์กรอิสระและให้โทษต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ ป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ที่สามารถอุ้มพวกพ้องหรือกลั่นแกล้งใครได้ตามอำเภอใจ ซึ่งรัฐธรรมนูญแอบหมกเม็ดไว้โดยไม่มีใครทราบ เป็นต้น

แต่นั่นยังไม่เท่ากับการเขียนให้หุ่นเชิดของ คสช.เลือกองค์กรอิสระเข้ามาทำหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้ตัวเองในอนาคต ด้วยการตั้งท่ากำหนดคุณสมบัติองค์กรอิสระไว้สูง และตอนแรก กรธ.ต้องการให้รีเซตองค์กรอิสระทั้งหมดเพื่อรองรับหน้าที่และอำนาจที่สูงขึ้น แต่สุดท้ายก็แอบเปิดช่องในบทเฉพาะกาลว่า ใครจะอยู่จะไปให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนั้นๆ ซึ่ง สนช.ที่ทหารเป็นคนแต่งตั้งเป็นผู้กำหนด

จนกระทั่งเกิดทฤษฎีสมคบคิดให้ 36 สนช.ยื่นรัฐธรรมนูญตีความ โดยใช้สถานะของผู้ตรวจการแผ่นดิน 2 คนเป็นหนูทดลอง ซึ่งภายหลัง สนช.แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปแม้คุณสมบัติจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาเป็นอำนาจของ สนช. ทำให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระไม่ว่าจะเป็น ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีประธานชื่อ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ คนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรองหัวหน้า คสช.ได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปแม้คุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เมื่อรวมกับ กกต.ที่ถูกเซตซีโร 5 คนเพราะผู้มีอำนาจไม่ต้องการ และล่าสุดสรรหาเข้ามาใหม่ 7 คน โดย 5 คนผ่านกลไกสรรหายุคร่มเงาของ คสช. จึงทำให้ คสช.คลุมองค์กรอิสระได้อย่างครบถ้วน

ดังนั้นทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 เครื่องไม้เครื่องมือของ คสช.จึงถือว่าสมบูรณ์แบบเพียบพร้อมอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นกลไกบีบพรรคใหญ่ให้เล็กลง ข่าวตั้งพรรคทหารของ คสช. สอดคล้องกับแนวโน้มการรีเซตสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อดูด ส.ส.เข้าพรรค ทุนประชารัฐ กฎหมายเอื้อประโยชน์ ส.ว.สรรหา 250 คน องค์กรอิสระต่างๆ ที่เครือข่ายตัวเองเลือกเข้ามาทั้งหมด จึงส่งผลให้ คสช.มีแนวโน้มจะกินรวบประเทศยิ่งกว่าระบอบทักษิณ เพราะอย่างน้อยก็ไม่สามารถครอบงำวุฒิสภาที่ประกอบไปด้วยสายเลือกตั้งและสรรหาได้ทั้งหมด รวมทั้งไม่มีอำนาจมาตรา 44

ด้วยอำนาจที่มากล้น... คสช.ต้องระวังกระแสตีกลับ เพราะคนไทยไม่ชอบการผูกขาดที่มีแนวโน้มอันตรายกว่านักการเมือง เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็ผูกพันกับชาวบ้านและยอมให้ตรวจสอบมากกว่าบุคคลในแม่น้ำหลายสายที่อ้างตัวเป็น “คนดี” แต่ไม่ยอมรับการถูกซักฟอก แถมยังขอให้สื่อลดราวาศอกอีกด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"