“อุเทน” ว่าที่ผู้สมัครชิงพ่อเมืองมหานคร บินดูงานญี่ปุ่น “จราจร-ขยะ” ปรับใช้ กทม.


เพิ่มเพื่อน    

            ประเทศไทยเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มตัว หลังมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่เมื่อกลางปี 62 หลังถูกแช่แข็งมานาน ต่อไปถึงคิวการเลือกตั้งท้องถิ่น อีกสนามที่น่าสนใจคือการเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” ครั้งที่ 11 หลังจากห่างหายการเลือกตั้งมาหลายปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดย้อนไปตั้งแต่ปี 2556 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ เฉือนชนะ พล.ต.อ.ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ คู่แข่งจากพรรคเพื่อไทย แต่ต้องถูกให้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 59 และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ จวบจนปัจจุบัน

                ตามกำหนดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งที่ 11 ยังไม่ได้กำหนดวัน แต่คร่าวๆ น่าจะมีขึ้นปลายปีนี้แน่นอน พรรคการเมืองใหญ่เริ่มขยับกำหนดตัวผู้ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ เมืองหลวงกันแล้ว เช่นเดียวกันกับนายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย ได้เสนอตัวชิงชัย “พ่อเมืองมหานคร” ในนามอิสระไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ด้วยที่เจ้าตัวมั่นใจประสบการณ์ทางการเมืองที่เคยทำงานร่วมกับรัฐบาลมาหลายรัฐบาล และด้วยความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมศาสตร์จะสามารถแก้ปัญหาให้กับชาวกรุง โดยเฉพาะการจราจร ปัญหาขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเน่าเสีย และลดค่าครองชีพให้กับประชาชน

                โดยเฉพาะปัญหาด้านการจราจร ปัญหาขยะ ที่ กทม.แก้ไม่ตก “อุเทน” มองข้ามช็อต ใช้นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เป็นโมเดลในการแก้ปัญหา ด้วยนครโอซากามีหลายอย่างที่คล้ายกับกรุงเทพมหานคร ทั้งจำนวนประชากร รถยนต์ ผังเมือง จึงบินตรงสู่นครโอซากาเพื่อศึกษาดูงานนำทฤษฎีมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะ “การจราจร” กรุงเทพมหานครถูกจัดอันดับเป็นมหานครที่รถติดอันดับต้นๆ ของโลก ได้เข้าศึกษาดูงานที่ศูนย์จราจรกลางโอซากา ที่รวบรวมข้อมูลการจราจรทั้งหมด ที่ห้องควบคุมมีแผนผังแสดงการจราจรทุกเส้นทาง ความหนาแน่นของรถยนต์ รวมทั้งจอแสดงการจราจรแต่ละจุดแบบเรียลไทม์ ควบคุมสั่งการสัญญาณไฟโดยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด

                หรือถ้ามีการปิดการจราจร การก่อสร้าง จะมีเจ้าหน้าที่เทคนิคคอยคีย์ข้อมูลปรับสัญญาณไฟเพื่อเร่งระบายรถได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันได้ใช้ช่องทางสื่อสารกับประชาชนที่สัญจรอยู่บนถนนให้ทราบทางสถานีวิทยุ ประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ใช้รถบนถนนทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่หนาแน่นไปใช้เส้นทางอื่น เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เหมาะสมที่จะนำมาปรับใช้กับเมืองหลวงของประเทศไทย ที่ไม่ว่าผู้ว่าฯ กทม.คนไหน หรือรัฐบาลใดยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้

                ส่วนอีกปัญหาที่ชาวกรุงประสบคือปัญหาขยะ ที่ปัจจุบัน กทม.มีขยะกว่า 10,000 ตันต่อวัน ต้องเสียค่าฝังกลบตันละ 900 บาท แต่ละปีเสียงบประมาณไปมหาศาล คณะนายอุเทนได้เข้าเยี่ยมชมการบริหารจัดการขยะของนครโอซากา ที่โรงเผาขยะ Maishima Plant Incineration Plant ของบริษัท Hitachi Zosen เป็น 1 ใน 6 โรงเผาขยะที่มีอยู่ในนครโอซากา ซึ่งเป็นโรงกำจัดขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

                โดยใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ทุกขั้นตอนเป็นระบบปิด ขยะทุกอย่างที่เผาได้จะกลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยเริ่มตั้งแต่นำขยะจากบ้านเรือนประชาชน โรงเผาขยะสามารถเผาได้ทั้งขยะเปียกและขยะแห้ง ถ้าเป็นขยะเปียกกระบวนการทำงานขยะจะถูกอบให้แห้งก่อนเผา ส่วนขยะที่เป็นเหล็ก หรืออะลูมิเนียม จะถูกคัดแยกเพื่อนำไปจำหน่ายเป็นรายได้

                การทำงานของโรงเผาขยะ เมื่อขยะเข้าสู่เตาเผาจะใช้อุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียสขึ้นไป ความร้อนจะไปที่หม้อต้มน้ำเกิดเป็นไอเข้าสู่กังหันไอน้ำฉุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า  แต่ละวันสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 40 กิโลวัตต์ โดยไฟฟ้าที่ได้จะถูกนำไปใช้ในโรงงานส่วนที่เหลือ นำไปขายให้กับการไฟฟ้า ขยะ 100 ตันจะสามารถแปลงเป็นพลังงานได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์เป็นขี้เถ้าเพื่อนำไปฝังกลับหรือนำไปผสมซีเมนซ์ผลิตเป็นอิฐหนอนปูทางได้อีกโดยที่ไม่เสียเปล่า ส่วนก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้จะถูกทำความสะอาดก่อนโดยเครื่องดักกรองฝุ่นและกำจัดสารเคมี เหลือค่าไมโครไฟเบอร์เพียง 0.01 มาตรฐานเทียบเท่ายุโรป ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย

                ต่อด้วยการเยี่ยมชมโรงบำบัดน้ำเสียเอบีเอะ นครโอซากา มีโรงบำบัดน้ำเสียทั้งหมด 12 แห่ง โดยโรงบำบัดน้ำเสียดังกล่าวจะรับน้ำเสียจากบ้านเรือนประชาชน โรงงานอุตสาหกรรม เข้ามาเก็บพักไว้ในบ่อบำบัดขนาดใหญ่แล้วกำจัดขยะสิ่งสกปรกก่อน ทำให้ตกตะกอน แล้วเพิ่มอากาศทำให้น้ำที่เน่าเสียกลับมาเป็นน้ำดีตามกระบวนการ ขั้นตอนสุดท้ายใส่คลอรีนจนน้ำสะอาดก่อนที่จะปล่อยลงทะเล หรือแม่น้ำลำคลอง เพื่อให้ถูกสุขลักษณะ ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต

                นายอุเทน ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้เปิดเผยว่า จากการที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมทั้งหลายทั้งมวล เพื่อที่จะได้เห็นวิวัฒนาการและวิธีคิดของคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะชาวโอซากา ตั้งแต่การสร้างระเบียบวินัย การที่คนจะมีระเบียบวินัยไม่ใช่อยู่ๆ จะมีได้ จะต้องมีการสร้างกฎข้อบังคับและมีการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับอย่างจริงจังด้วยกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ มีศักยภาพ

                โดยเฉพาะคนของเขานอกจากมีระเบียบวินัย ยังมีวิวัฒนาการทางความคิด กรอบแนวคิดกระบวนการจัดการตั้งแต่ระบบการจราจรกระทั่งจัดเก็บขยะและนำขยะไปสร้างเป็นพลังงานไฟฟ้า และเรื่องการบำบัดน้ำสามารถที่จะนำไปใช้ในบ้านเมืองเราได้หลายๆ อย่าง

                "ต่อไปเป็นหน้าที่ของผม จะทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ นอกจากจะเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวแล้ว จะต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยด้วย โดยรถต้องไม่ติด ค่าโดยสารต้องถูกลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับคนในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เรื่องไฟฟ้า การจัดเก็บขยะ เผาขยะ จนกระทั่งถึงการบำบัดน้ำเสีย เพื่อนำไปปฏิบัติให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่

                ส่วนการลดค่าใช้จ่ายที่สามารถทำได้คือ เมื่อรถไม่ติดค่าโดยสารก็จะลดลง ค่าไฟฟ้าถูกลงได้โดยการเปลี่ยนพลังงานขยะมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ที่ผ่านมาที่ กทม.ทำคือการฝังกลบ สร้างมลพิษให้กับดินมากมายมหาศาล น้ำใต้ดินก็มีปัญหา ถ้าเราทำเป็นระบบเชื่อว่ากรุงเทพฯ จะน่าอยู่ 

                การแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ อันดับแรกคือลดการเลี้ยวขวา ลดจุดตัดยูเทิร์น ลดจุดจอดป้ายรถเมล์ ต้องเปลี่ยนใหม่หมด แต่ต้องไม่ฝืนธรรมชาติ ประชาชนของเรา ทราบดีว่าถ้าหักพร้าทีเดียวจะมีปัญหา เพราะคนของเรามีความเคยชิน ต้องค่อยๆ ทำ แต่ผมมั่นใจว่า 100 วันจะแก้ไขปัญหาจราจรได้ หรือถ้าทำได้ไม่ดี ทำดีไม่ได้เพียงพอ อยู่ไม่เกิน 500 วัน ลาออกแน่นอน" 

                เป็นอีกหนึ่งว่าที่ผู้ลงชิงชัยผู้ว่าฯ กทม.ที่น่าจับตา ด้วยประสบการณ์และผลงานที่ประจักษ์ ที่ได้รับการกล่าวขานเมื่อครั้งร่วมคณะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 54 อาจจะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่คนกรุงเทพฯ สามารถเลือกใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ.

 

พลาญชัย 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"