กกพ. ศึกษา “บล็อกเชน” รับมือพฤติกรรมผู้ใช้ไฟฟ้าเปลี่ยน


เพิ่มเพื่อน    

(คมกฤช ตันตระวาณิชย์)

        สถานการณ์การซื้อขายไฟฟ้าในปัจจุบันนั้นได้เปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบหลายๆ อย่าง ทำให้ทั้งผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ซื้อต้องปรับเปลี่ยนวิธีการและรูปแบบต่างๆ ให้ก้าวทันการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันนั้นถือว่าเป็นการเริ่มต้นเพียงเท่านั้น แต่หลายคนคงจะเคยได้ยินมาบ้างว่าต่อไปในอนาคตการซื้อขายไฟฟ้าอาจจะทำได้เองโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง รวมถึงผู้ใช้ก็อาจจะไม่ใช้ผู้ใช้เพียงอย่างเดียว อาจจะสามารถผลิตและขายเองได้

        แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็ต้องการศัยการพัฒนาของเทคโนโลยีมาต่อยอดให้สามารถเกิดขึ้นจริงได้ ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็ต้องหันมาให้ความสนใจกับเรื่องพวกนี้มากขึ้น รวมถึงหน่วยงานของภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับและดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ที่จะต้องตื่นตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากในอนาคตการซื้อขายไฟฟ้าสามารถทำได้โดยเสรี แต่ก็จำเป็นจะต้องมีแบบแผนให้ดำเนินการ รวมถึงข้อกำหนดที่จะไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบไปมากกว่ากัน

        ทั้งนี้ กกพ.จึงได้ริเริ่มโครงการทดสอบนวัตกรรม ที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน หรือ ERC Sandbox (อีอาร์ซี แซนด์บ็อกซ์) ซึ่ง กกพ.ยังคงตั้งจุดหมายใน 3 เรื่อง คือ ความมั่นคงทางด้านพลังงาน, สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ รวมถึงกระตุ้นให้กับหน่วยงานต่างๆ เข้ามารับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยโครงการดังกล่าวจะมีกลไลที่สำคัญคือการศึกษาโครงสร้างตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า Peer to peer Energy Trading (เพียร์ ทู เพียร์ เอนเนอร์ยี่ เทรดดิ้ง)

        หรือระบบการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างประชาชนกับประชาชน หรือระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกับชุมชนโดยรอบ ซึ่งจะทำให้ลดความสูญเสียไฟฟ้าในระบบสายส่ง โดยเทคโนโลยี Blockchain (บล็อกเชน) จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การซื้อขายแบบเพียร์ ทู เพียร์ ที่ทำให้รายย่อยสามารถซื้อขายได้สะดวก และราคาเหมาะสม เพราะเป็นการตกลงราคาที่พึงพอใจในหลายรูปแบบ เช่น การบิดดิ้ง สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั่วไปได้ ซึ่งมีการเปิดให้ผู้ประกอบการต่างๆ เข้ามายื่นใบสมัครเข้าร่วมโครงการ

        โดยประโยชน์ของเทคโนโลยีบล็อกเชน คือ ทำให้ข้อมูลเชื่อถือได้ โดยใช้กระบวนการและขั้นตอนที่น้อยลง ซึ่งในด้านพลังงาน แต่ก็ถือว่ามีจุดอ่อนอยู่ 2 ด้าน คือระบบ Infrastructure (อินฟราสตรัคเจอร์) หรือโครงสร้างพื้นฐานและการทำ Energy Trading (เอนเนอร์ยี่ เทรดดิ้ง) เนื่องจากอุปกรณ์จะเชื่อมไปยังตัวกลางทั้งหมด ทำให้เสี่ยงต่อการโดนแฮ็กข้อมูล หรือโดนแทรกแซงตัวเลข อีกทั้งในภาคของการกำกับดูแล มองว่าก็น่าจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะมีการร่างกฎระเบียบให้รองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน แต่อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องมีการเตรียมพร้อมและศึกษาการใช้ระบบนี้อย่างละเอียดตั้งแต่ระยะเริ่มต้นนี้ด้วย เพื่อจะเป็นพื้นฐานให้การเปลี่ยนผ่านนั้นไม่สะดุด

        นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวว่า กกพ.เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  เดือน มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าเสรี ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูประดับประเทศด้านพลังงาน เพื่อขอความเห็นชอบการยกเว้นนโยบายที่กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว (เอนแฮนซิ่ง ซิงเกอร์ บายเออร์ : Enhancing Single Buyer) ภายในเดือน เม.ย.นี้

        โดยให้ดำเนินภายใต้โครงการอีอาร์ซี แซนด์บ็อกซ์ เพื่อทดสอบระบบการซื้อขายไฟฟ้าเสมือนจริง ซึ่งจะเป็นการติดตามดูพฤติกรรมของผู้บริโภคและประสิทธิภาพของระบบว่าจะมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นโครงการดังกล่าวได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1.จะเป็นลักษณะการศึกษา ไม่มีผลกระทบต่อระบบโดยรวม และกลุ่มที่ 2.จะเป็นการซื้อขายไฟฟ้าจริง เพียร์ ทู เพียร์ หรือการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างประชาชนกับประชาชนโดยไม่ผ่านระบบจำหน่าย

        ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องปลดล็อกนโยบายเอนแฮนซิ่ง ซิงเกอร์  บายเออร์ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้จริง เพื่อดูพฤติกรรมของผู้ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันว่าจะมีผลกระทบในแต่ละมิติอย่างไร ทั้งมิติค่าไฟฟ้า และมิติภาพรวมของระบบ รวมถึงการกำหนดอัตราจัดเก็บค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานสำหรับการซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะของเพียร์ ทู เพียร์ ที่ต้องการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าหลักด้วย

        อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโครงการอีอาร์ซี แซนด์บ็อกซ์ มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 34 โครงการ จาก 183 โครงการที่สมัครเข้ามา ซึ่งเห็นได้ว่าคนที่ทำธุรกิจได้และสนใจพลังงานรูปแบบใหม่นี้ ขณะนี้มีการอนุมัติไปแล้ว 8 โครงการที่เป็นเพียร์ ทู เพียร์ เอนเนอร์ยี่ เทรดดิ้ง ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งทั้ง 8 โครงการจะใช้เวลาทดสอบระบบประมาณ 3 ปี หากประสบผลสำเร็จก็จะขยายไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

        โดยในภาพรวม กฟผ.จะต้องปรับตัว เพราะการควบคุมจะยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น การเปิดเสรีจะทำให้แรงดันไฟฟ้าในพื้นที่มีปัญหา จะต้องพยากรณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าให้ชัดเจนว่าช่วงไหน พื้นที่ใด มีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เข้าระบบมากน้อยแค่ไหน เพื่อผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักให้เพียงพอ โดยในอนาคตสัดส่วนการแชร์ไฟฟ้าของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จะเปลี่ยนไปมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองในพื้นที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นความท้าทายในการวางแผนการผลิตเพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุน ซึ่งคาดว่าภายใน 10 ปี จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

        นายคมกฤชกล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและประชาชนหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบหลักลง โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน ทำให้การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากเดิม 80-90% ถือเป็นความท้าทาย ขณะที่ปัจจุบันผู้ผลิตไฟใช้เองและสามารถขายได้ด้วย  หรือที่เรียกว่า Prosumer (โปรซูเมอร์) ในประเทศไทยนั้น ยังมีปริมาณไม่มาก แต่ต่อไปหากมีจำนวนเพิ่มขึ้นจึงต้องมีการพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

        “ด้วยพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ กกพ.จะต้องศึกษารูปแบบและวิธีดำเนินการในหลายประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ยังไม่สามารถรองรับการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ๆ ได้” นายคมกฤชกล่าว

        อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลนี้ กกพ.เองจึงมีการเดินทางเพื่อศึกษาการดำเนินงานในแนวทางเดียวกันนี้ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการทดสอบภายใต้โครงการแซนด์บ็อกซ์ สำหรับการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบเพียร์ ทู เพียร์ ของบริษัท Kansai Electric Power (คันไซ อิเล็กทริก พาวเวอร์) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าที่มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) 17% เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น ด้วยกำลังผลิตไฟฟ้า 34 กิกะวัตต์ และได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาเป็นตัวกลางซื้อขายไฟฟ้า

        นอกจากนี้ กกพ.ยังจะเสนอ กพช.พิจารณาแนวทางส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย ตามนโยบายของภาครัฐ โดยจะร่วมมือกับหน่วยภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสมาคมยานยนต์ จัดทำในลักษณะพื้นที่แซนด์บ็อกซ์เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคและตลาดรถยนต์อีวี ซึ่งจะเสนอ  กพช.เห็นชอบกำหนดอัตราค่าบริการชาร์จไฟฟ้าใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น ส่วนอัตราค่าบริการชาร์จไฟฟ้าทั่วไปสำหรับพื้นที่ของเอกชนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการแซนด์บ็อกซ์ จะยังคงเป็นไปตามอัตราชั่วคราวที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน

        “ตอนนี้บอร์ด กกพ.กำลังดูกันอยู่ว่าจะกำหนดอัตราใหม่อย่างไร จะกำหนดเป็นพื้นที่ โดยดูตามพฤติกรรมการใช้ เช่น พื้นที่ไหนมีผู้ใช้บริการชาร์จไฟฟ้ามาก อัตราก็จะเก็บแพงกว่าพื้นที่ที่มีการใช้บริการน้อย หรือจะเป็นกำหนดอัตราตามช่วงเวลาในแต่ละวัน ซึ่งภายใต้แซนด์บ็อกซ์นี้จะใช้เวลาทดลอง 1-2 ปี“ นายคมกฤชกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"